กลุ่มประเทศ G7 ตกลงยุติให้เงินอุดหนุนการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินทั้งหมดภายในปี 2021

กลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ 7 ประเทศ (G7) ได้แก่ สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส เยอรมนี แคนาดา อิตาลี และญี่ปุ่น ร่วมด้วยสหภาพยุโรป ตกลงที่จะยุติการอุดหนุนเงินทุนระหว่างประเทศให้โครงการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากถ่านหินภายในสิ้นปีนี้ (2021) และลดการสนับสนุนการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลทั้งหมด หลังการประชุมของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสภาพอากาศและสิ่งแวดล้อมของกลุ่มประเทศ G7 เมื่อวันศุกร์ที่ 21 พฤษภาคม ที่ผ่านมา

การยุติการสนับสนุนการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลถือเป็นก้าวสำคัญของโลกเพื่อจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกให้ไม่สูงเกิน 1.5 องศาเซลเซียส จากก่อนอุตสาหกรรม ตามข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) ซึ่งจะช่วยหลีกเลี่ยงผลกระทบที่รุนแรงที่สุดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้

แถลงการณ์ร่วมที่ออกหลังการประชุมมีใจความสำคัญว่า “(เรา) ให้คำมั่นที่จะดำเนินการตามขั้นตอนที่เป็นรูปธรรมเพื่อยุติการสนับสนุนโดยตรงของรัฐบาลครั้งใหม่ต่อการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากถ่านหินทั่วโลกภายในสิ้นปี 2021 ผ่านความร่วมมือเพื่อการพัฒนา (Official Development Assistance: ODA) สินเชื่อเพื่อการส่งออก การลงทุน และการสนับสนุนทางการเงินและการส่งเสริมการค้า”

ความตั้งใจนี้สอดคล้องกับข้อเรียกร้องจากสำนักงานพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) ว่า การพัฒนาเชื้อเพลิงฟอสซิลครั้งใหม่ทั้งหมดจะต้องสิ้นสุดภายในปี 2021 เพื่อให้โลกมีโอกาสในจำกัดอุณหภูมิเฉลี่ยให้สูงขึ้นไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซศียส หน่วยงานเฝ้าระวังด้านพลังงานทั่วโลกคาดการณ์ว่าการเพิ่มขึ้นของการใช้พลังงานจากถ่านหินหลังจากการล็อกดาวน์ทั่วโลกในปีที่ผ่านมาจะเป็นต้นเหตุของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกครั้งใหญ่เป็นอันดับสองของปีนี้

ในขณะที่ รีเบคก้า นิวซัม หัวหน้าฝ่ายการเมืองของกรีนพีซ สหราชอาณาจักร กล่าวว่า “คำมั่นสัญญาเหล่านี้มีมากเกินไปและยังคงคลุมเครือ เราต้องการให้มีเป้าหมายที่เฉพาะเจาะจงและกำหนดให้มีการดำเนินการตามเวลาที่กำหนดไว้”

การยุติการใช้พลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิลเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เกี่ยวข้องกับ SDGs ในเป้าหมาย ..
- SDG7 พลังงานสะอาดที่เข้าถึงได้ ในประเด็น ความร่วมมือระหว่างประเทศในการเข้าถึงการวิจัยและเทคโนโลยีพลังงานที่สะอาด (7.a)
- SDG13 ต่อสู้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในประเด็น  บูรณาการมาตรการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในนโยบาย ยุทธศาสตร์ และการวางแผนระดับชาติ (13.2)

ที่มา : BBC , The Guardian

Last Updated on มกราคม 12, 2022

Author

  • Natetida Bunnag

    Social Media Manager - ตัวแทน 'คนธรรมดา' ในชุมชนนักวิชาการ อ่าน แปล และสื่อสารเรื่องความยั่งยืน

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น