การล่าสัตว์ป่าคุ้มครองเพื่อการบริโภคเนื้อภายในประเทศ เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคติดต่อระหว่างสัตว์และคน

การล่าสัตว์ป่าเพื่อบริโภคภายในประเทศ ไม่เพียงส่งผลกระผลกระทบต่อการอนุรักษ์ชนิดพันธุ์สัตว์ป่าท่ีอพยพย้ายถิ่นเท่านั้น แต่ยังเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน เช่น โควิด-19 ในอนาคตอีกด้วย

รายงาน ‘CMS Report: Impacts of Taking, Trade and Consumption of Terrestrial Migratory Species for Wild Meat จัดทำโดย Center for International Forestry Research (CIFOR) เพื่อเสนอต่อสำนักงานเลขานุการอนุสัญญาว่าด้วยการอนุรักษ์ชนิดพันธุ์สัตว์ป่าท่ีอพยพย้ายถิ่น (Convention on the Conservation of Migratory Species of Wild Animals: CMS) เป็นรายงานฉบับแรกที่ได้ศึกษาและนำเสนอผลกระทบของการลักลอบนำสัตว์ป่าออกจากถิ่นที่อยู่ การค้า และการบริโภคผลิตภัณฑ์จากสัตว์ป่าที่ได้รับการคุ้มครองใน CMS พบว่า 70% ของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่อยู่ภายใต้ CMS ถูกล่าเพื่อบริโภคเนื้อ ทำให้จำนวนประชากรสัตว์ลดลงอย่างมาก และอาจนำไปสู่การสูญพันธุ์ของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่อพยพย้ายถิ่นหลายชนิดพันธุ์

วัตถุประสงค์หลักของการล่าสัตว์อพยพย้ายถิ่นที่ได้รับการคุ้มครอง คือ เพื่อการบริโภคเนื้อ คิดเป็น 47 ชนิดสายพันธุ์ จากทั้งหมด 67 ชนิดสายพันธุ์ที่ถูกล่า รองลงมา คือ เพื่อกิจกรรมทางประเพณี การใช้ทำยา ความขัดแย้งระหว่างมนุษย์กับสัตว์ป่า การจับสัตว์โดยไม่ตั้งใจ และเพื่อการกีฬาหรือการล่ารางวัล โดยสัตว์ป่าที่ถูกคุกคามจากลักลอบล่ามากที่สุดคือ กอริลลาและชิมแพนซี

รายงานฉบับนี้ระบุว่า การลักลอบนำสัตว์ป่าที่ได้รับการคุ้มครองมาเพื่อการบริโภคนั้นเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นภายในประเทศมากกว่าระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นผลมาจากหลายปัจจัย เช่น กฎหมายและระเบียบข้อบังคับของประเทศที่อาจขาดความชัดเจนหรือล้าสมัย ความขัดแย้งในประเทศและการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการใช้ที่ดิน การขยายตัวของเมือง และการบริโภคเนื้อสัตว์ป่าเป็นอาหารเพื่อแสดงถึงความหรูหรา เป็นต้น

การลับลอบนำสัตว์ป่าออกจากถิ่นที่อยู่อาศัยและเพื่อการบริโภคนอกจากจะเป็นภัยคุกคามต่อระบบนิเวศโดยตรงแล้ว รายงานยังชี้ให้เห็นการเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดการระบาดของโรคจากสัตว์สู่คน (zoonotic diseases) เช่นที่เกิดขึ้นในอดีต อาทิ โรคฝีดาษลิง (monkeypox) ไข้หวัด SARS ไวรัสอีโบลาสายพันธุ์ Sudan และ Zaire ที่ทำให้เกิดการติดต่อระหวางคนสู่คนได้ในเวลาต่อมา

ข้อมูลเมื่อเจาะลึงลงไปในชนิดพันธุ์สัตว์ป่าอพยพย้ายถิ่น 105 ชนิดพันธุ์ที่ศึกษาในรายงานนี้ พบเชื้อไวรัสก่อโรคติดต่อสัตว์สู่คนถึง 60 ชนิด ซึ่งอาจนำมาสู่การเกิดการระบาดใหญ่ในอนาคต ตามที่นักวิทยาศาสตร์หลายคนเชื่อว่าเป็นสาเหตุของการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ในปัจจุบัน

อนุสัญญาว่าด้วยการอนุรักษ์ชนิดพันธุ์สัตว์ป่าท่ีอพยพย้ายถิ่น (Convention on the Conservation of Migratory Species of Wild Animals: CMS) เป็นอนุสัญญาด้านสิ่งแวดล้อมของสหประชาชาติ กำหนดขึ้นเพื่อการอนุรักษ์ทั้งชนิดพันธุ์สัตว์ป่าบนบกในทะเลและนกตลอดช่วงเวลาที่มีการอพยพย้ายถิ่นทั้งหมด 593 ชนิดพันธุ์ (species)

ประเด็นดังกล่าว เกี่ยวข้องกับ
#SDG3 การมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี
- (3.3) ยุติการแพร่กระจายของเอดส์ วัณโรค มาลาเรีย และโรคเขตร้อนที่ถูกละเลย และต่อสู้กับโรคตับอักเสบ โรคติดต่อทางน้ำ และโรคติดต่ออื่นๆ ภายในปี 2573
#SDG15 การใช้ประโยชน์จากระบบนิเวศบนบก
- (15.7) ปฏิบัติการอย่างเร่งด่วนเพื่อจะยุติการล่าและการขนย้ายชนิดพันธุ์พืชและสัตว์คุ้มครอง และแก้ปัญหาทั้งอุปสงค์และอุปทานต่อผลิตภัณฑ์สัตว์ป่าที่ผิดกฎหมาย

ที่มา : Wild meat consumption leads to increased risk of zoonotic diseases: UN report (The Hill)
Eating wild meat significantly increases zoonotic disease risk: UN report (UN News)

Last Updated on กันยายน 17, 2021

Author

  • Natetida Bunnag

    Social Media Manager - ตัวแทน 'คนธรรมดา' ในชุมชนนักวิชาการ อ่าน แปล และสื่อสารเรื่องความยั่งยืน

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น