ควันหลงไฟป่าสหรัฐฯ ปนเปื้อนระบบจ่ายน้ำเป็นวงกว้าง และคงอยู่ในพื้นที่ได้นานกว่าที่คิด

วิศวกรด้านสิ่งแวดล้อมได้ศึกษาการปนเปื้อนในระบบจ่ายน้ำประปาในพื้นที่เกิดเหตุไฟป่าในสหรัฐอเมริกา พบว่า ในช่วงสี่ปีที่ผ่านมามีการปนเปื้อนสารก่อมะเร็งในโครงข่ายส่งน้ำที่ครอบคลุมเขตให้บริการประชาชนถึงกว่า 240,000 คน

ในปี 2020 เกิดไฟป่าในสหรัฐอเมริกามากกว่า 58,000 ครั้ง และยังคงส่งผลกระทบต่อชีวิตและความเป็นอยู่ของคนในพื้นที่แม้ว่าไฟจะมอดดับลงไปแล้ว โดยเฉพาะเมื่อไฟป่าได้สร้างความเสียหายให้กับระบบจ่ายน้ำสะอาด ทั้งท่อจ่าย บ่อน้ำ และท่อประปาที่ส่งน้ำไปถึบ้านเรือนเพื่ออุปโภคและบริโภค เนื่องจากเมื่อควันพิษจากไฟป่าถูกดูดเข้าสู่ระบบจ่ายน้ำ และเมื่ออุณหภูมิที่สูงจัดทำให้ชิ้นส่วนพลาสติกในระบบปล่อยสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อร่างกายออกมา ซึ่งสารปนเปื้อนเหล่านี้จะแทรกซึมเข้าไปในท่อส่งน้ำ และค่อยๆ ระบายออกอย่างช้าๆ พร้อมกับน้ำ ซึ่งอาจกินเวลาเป็นหลายสัปดาห์หรือหลายเดือนหลังจบเหตุการณ์ไฟป่าแล้ว

อันตรายจากการบริโภคน้ำที่ปนเปื้อนที่เกิดขึ้นได้ทันที เช่น อาการปวดศีรษะ คลื่นไส้ เวียนศีรษะ และอาเจียน และหากเมื่อร่างกายได้รับสารเบนซีน ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง ในปริมาณที่เกินค่ามาตรฐานความปลอดภัยแม้เพียงระยะเวลาสั้น ๆ ก็อาจส่งผลกระทบต่อจำนวนเซลล์เม็ดเลือดขาวที่ทำหน้าที่ปกป้องร่างกายจากเชื้อโรคต่างๆ ได้

นักวิจัยได้ทำการสำรวจชุมชนที่ฟื้นตัวจากไฟป่าและภัยธรรมชาติอื่น ๆ พบว่าระบบน้ำอย่างน้อยเจ็ดแห่งมีการปนเปื้อนสารเคมีที่เป็นอันตราย และหลายครัวเรือนไม่ได้รับการเตือนภัยถึงการปนเปื้อนที่เกิดขึ้นจากหน่วยงานผู้รับผิดชอบอย่างเพียงพอ จากการศึกษาในหลายๆ กรณี ทำให้สรุปได้ว่า สำนักงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อมของสหรัฐฯ (U.S. Environmental Protection Agency) ไม่ได้มีการบังคับให้ผู้ให้บริการสาธารณูปโภคด้านน้ำแจ้งผู้ใช้บริการให้ทราบอย่างชัดเจนถึงความเสี่ยงของการปนเปื้อนในน้ำที่เกิดขึ้นหลังเหตุการณ์ไฟป่า ประชาชนหลายส่วนจึงต้องแบกรับความเสี่ยงด้านสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นเนื่องจากมีข้อมูลไม่เพียงพอ

นักวิจัยให้คำแนะนำว่า หลังเกิดเหตุการณ์ไฟป่า ให้ถือว่าน้ำดื่มในพื้นที่ไม่ปลอดภัยและสะอาดพอที่จะบริโภคได้ จนกว่าจะมีการทดสอบทางเคมีว่าไม่มีการปนเปื้อนสูงเกินกว่ากำหนด และหากระบบน้ำในครัวเรือนสูญเสียแรงดัน น้ำเปลี่ยนสี หรือเสียหายจากความร้อน มีการแตกหรือรั่วของท่อน้ำ หรือส่วนอื่นๆ ให้พิจารณาเป็นสัญญาณว่าอาจมีการปนเปื้อนของน้ำเกิดขึ้นแล้ว

แนวทางในการแก้ไขความเสี่ยงด้านสาธารณสุขตามที่นักวิจัยได้เสนอคือการสนับสนุนเงินทุนทั้งจากภาครัฐและท้องถิ่นให้หน่วยงานสาธารณสุข เพราะเป็นผู้มีประสบการณ์ในการจัดการกับสถานการณ์การปนเปื้อนของน้ำที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ และสามารถให้คำแนะนำทางเทคนิคต่อหน่วยงานที่ดูแลระบบสาธารณูปโภคเพื่อป้องกันการสร้างผลกระทบด้านสุขภาพต่อประชาชนวงกว้างได้ในอนาคต

การปนเปื้อนสารเคมีในน้ำ เกี่ยวข้องกับ SDGs ในเป้าหมาย ..
- #SDG3 การมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี ในประเด็น  ลดจำนวนการตายและการป่วยจากสารเคมีอันตรายและจากการปนเปื้อนและมลพิษทางอากาศ น้ำ และดิน (3.9)
- #SDG6 น้ำสะอาดและสุขอนามัยที่ดี ในประเด็น ยกระดับคุณภาพน้ำโดยลดมลพิษ ขจัดการทิ้งขยะและลดการปล่อยสารเคมีและวัสดุอันตราย ลดสัดส่วนน้ำเสีย (6.3)

ที่มา : The Conversation

Last Updated on กรกฎาคม 7, 2021

Author

  • Natetida Bunnag

    Social Media Manager - ตัวแทน 'คนธรรมดา' ในชุมชนนักวิชาการ อ่าน แปล และสื่อสารเรื่องความยั่งยืน

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น