วิกฤตสภาพภูมิอากาศ อาจทำให้คนมากถึง 8 พันล้านคนทั่วโลกเสี่ยงต่อมาลาเรียและไข้เลือดออก เพราะอากาศอุ่นขึ้น

หากระดับก๊าซเรือนกระจกยังคงสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง อาจมีคนมากกว่า 8 พันล้านคนทั่วโลกที่มีความเสี่ยงต่อมาลาเรียและไข้เลือดออกภายในปี 2080 ตามการคาดการณ์ใหม่จากสถาบันทางการแพทย์ในลอนดอน

การศึกษา ‘Projecting the risk of mosquito-borne diseases in a warmer and more populated world: a multi-model, multi-scenario intercomparison modelling study‘ นำโดย London School of Hygiene & Tropical Medicine (LSHTM) ซึ่งตีพิมพ์ลงวารสาร The Lancet Planetary Health ในเดือนนี้ พบว่า อัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ยังคงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในปัจจุบันอาจทำให้อุณหภูมิเฉลี่ยโลกสูงขึ้นประมาณ 3.7 องศาเซลเซียสจากยุคก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรมภายในปี 2100 โดยอุณหภูมิเฉลี่ยที่สูงขึ้นนั้นทำให้ฤดูกาลแพร่เชื้อของทั้งมาลาเรียและไข้เลือดออกยาวนานขึ้นในอีก 50 ปีข้างหน้านี้ โดยจะเพิ่มขึ้นมากกว่าหนึ่งเดือนสำหรับไข้มาลาเรีย และเพิ่มขึ้นยาวนานกว่าสี่เดือนสำหรับไข้เลือดออก

นักวิจัยได้คาดการณ์สถานการณ์เลวร้ายที่สุด (worst case scenario) ของตัวเลขผู้ป่วยจากโรคที่มียุงเป็นพาหะทั้งสองโรคนี้ สำหรับโรคไข้มาลาเรียประมาณการว่าคนจำนวน 8.4 พันล้านคนจะตกอยู่ในความเสี่ยงในปี 2078 (89.3% ของประชากรโลกประมาณ 9.4 พันล้านคน) และสำหรับโรคไข้เลือดออก ประมาณการว่าจะมีคนที่มีความเสี่ยงทั้งหมด 8.5 พันล้านคนในปี 2080 โดยผู้ที่มีความเสี่ยงสูงสุด คือ คนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ลุ่มและเขตเมือง

ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกระบุว่ามาลาเรียคร่าชีวิตผู้คนไปมากกว่า 400,000 คนต่อปี โดยมีผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นเด็ก ในปี 2019 ที่ผ่านมา ผู้ป่วยมากกว่า 90% จากทั้งหมดประมาณ 230 ล้านราย อาศัยอยู่ในทวีปแอฟริกา

ในขณะที่จำนวนผู้ป่วยไข้เลือดออกมีการรายงานน้อยกว่าตัวเลขจริง โดยประชากรเกือบครึ่งหนึ่งทั่วโลกมีความเสี่ยงที่จะเป็นไข้เลือดออก ในแต่ละปี คาดว่ามีผู้ติดเชื้อถึง 100 – 400 ล้านคน และคร่าชีวิตผู้คนไป 20,000 รายต่อปี

การศึกษานี้ยังค้นพบอีกว่า จำนวนผู้ป่วยมาลาเรียในบางประเทศ เช่น เอริเทรีย ซูดาน และโคลอมเบีย เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา และจำนวนผู้ป่วยไข้เลือดออกที่รายงานต่อองค์การอนามัยโลกเพิ่มขึ้นมากกว่าแปดเท่าในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา

นักวิจัยให้ความเห็นว่า ความพยายามในการควบคุมโรคมาลาเรียและไข้เลือดออกในปัจจุบันอาศัยการควบคุมประชากรยุงและการลดติดต่อระหว่างยุงกับผู้คนเป็นหลักเท่านั้น การศึกษานี้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสามารถป้องกันผู้คนนับล้านจากการติดเชื้อมาลาเรียและไข้เลือดออกได้ และหากไม่สามารถลดอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกลงได้ ผู้กำหนดนโยบายและเจ้าหน้าที่สาธารณสุขควรเตรียมพร้อมรับมือทุกสถานการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต

วิกฤติสภาพภูมิอากาศและโรคติดต่อที่มียุงเป็นพาหะ เกี่ยวข้องกับ SDGs ในเป้าหมาย ..
- #SDG3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี ในประเด็น ยุติการแพร่กระจายของเอดส์ วัณโรค มาลาเรีย และโรคเขตร้อน (3.3)
- #SDG13 ต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในประเด็น ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (13.2)

ที่มา : The Guardian , EurekAlert

Last Updated on กรกฎาคม 14, 2021

Author

  • Natetida Bunnag

    Social Media Manager - ตัวแทน 'คนธรรมดา' ในชุมชนนักวิชาการ อ่าน แปล และสื่อสารเรื่องความยั่งยืน

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น