ฉีดวัคซีนแล้วปลอดภัยจริงหรือ? หากทุกคนเข้าถึงวัคซีนได้ไม่เท่าเทียม

The People’s Vaccine Alliance สอบถามความคิดเห็นนักระบาดวิทยา 77 คนจาก 28 ประเทศ ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงมีนาคมที่ผ่านมา เกี่ยวกับประเด็นวัคซีนโควิด-19 โดย 2 ใน 3 ของนักระบาดวิทยาที่ร่วมตอบแบบสอบถามมีความคิดเห็นว่า วัคซีนโควิด-19 ที่มีอยู่จะไร้ประสิทธิภาพในการรับมือกับโควิด-19 สายพันธุ์ต่าง ๆ ภายในระยะเวลา 1 ปี หรืออาจน้อยกว่านั้น หากการเข้าถึงวัคซีนยังไม่ทั่วถึง ไม่เท่าเทียม และไม่เพียงพอสำหรับประชากรทั้งโลก โดยเฉพาะสำหรับประชากรในประเทศที่ยากจน

กล่าวอีกนัยหนึ่ง วัคซีนโควิด-19 ทั้งหมดที่มีอยู่ในปัจจุบัน จะไม่สามารถรับมือกับโรคระบาดนี้ได้หากการแจกจ่ายวัคซีนไม่ทั่วถึง เพราะการที่ประชาชนได้รับวัคซีนอย่างไม่ถ้วนหน้านั้น จะทำให้โลกของเราขาดภูมิคุ้มกันหมู่ (herd immunity) ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการยับยั้งการกลายพันธุ์ของไวรัสโคโรน่า 2019 หรือในแง่หนึ่งคือการยับยั้งการเกิดสายพันธุ์ใหม่ ๆ ขึ้น (variants) ทั้งนี้  The People’s Vaccine Alliance เองก็ได้เตือนว่า หากอิงตามอัตราการฉีดในปัจจุบันแล้ว ภายในปีหน้า จะมีประชากรในประเทศยากจนเพียงแค่ 10 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่จะได้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19

ขณะที่การกลายพันธุ์หรือสายพันธุ์ใหม่ยังคงเกิดขึ้น หากเราไม่สามารถยับยั้งให้ได้โดยเร็วที่สุด วัคซีนทั้งหมดที่มีอยู่ในปัจจุบันก็จะไร้ประสิทธิภาพไปโดยปริยาย มากไปกว่านั้น ก็จะต้องมีการคิดค้นและผลิตวัคซีนใหม่ขึ้นมา เพื่อที่จะนำมาใช้ในการรับมือกับสายพันธุ์ใหม่ ๆ ต่อไป

นอกจากนี้ ผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่ที่ได้ร่วมตอบแบบสอบถาม มองตรงกันว่าการแบ่งปันเทคโนโลยีและทรัพย์สินทางปัญญา (open sharing of technology and intellectual property) ของบรรดาบริษัทเภสัชกรรม เพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงได้นั้น จะช่วยเพิ่มจำนวนวัคซีนและช่วยให้ทุกคนได้รับวัคซีนอย่างทั่วถึงมากขึ้น ซึ่งอาจจะเป็นทางออกของปัญหานี้ได้ โดยล่าสุดเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ทางสหรัฐฯ ได้เริ่มมีการสนับสนุนการยกเว้นการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญา (waiver of intellectual property protections) ที่ถูกผูกขาดโดยบริษัทเภสัชกรรม ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีที่จะช่วยให้เราผ่านพ้นจากวิกฤติการณ์ของโรคระบาดครั้งนี้ไปได้ อย่างไรก็ตาม เฉพาะสหรัฐฯ ประเทศเดียวที่สนับสนุนคงไม่เพียงพอ หากประเทศหรือองค์กรอื่น ๆ อาทิ สหภาพยุโรป (EU) และประเทศที่ร่ำรวยไม่ร่วมมือกันช่วยผลักดันให้เกิดการแบ่งปันเทคโนโลยีและทรัพย์สินทางปัญญาด้วยเช่นกัน

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ

#SDG3 สุขภาพและสุขภาวะที่ดี

– (3.3) ยุติการแพร่กระจายของโรคติดต่อที่สำคัญ

– (3.8) ส่งเสริมการมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า การเข้าถึงยา และบริการสาธารณสุขจำเป็นที่มีคุณภาพ และปลอดภัย

– (3.b) การวิจัยพัฒนาและการเข้าถึงวัคซีนและยาสำหรับโรคไม่ติดต่อและโรคติดต่อ รวมถึงสิทธิสำหรับประเทศกำลังพัฒนาที่จะใช้บทบัญญัติในความตกลงว่าด้วยสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับการค้าอย่างเต็มที่ ในเรื่องการผ่อนปรนเพื่อจะปกป้องสุขภาพสาธารณะและการเข้าถึงยาโดยถ้วนหน้า

#SDG17 หุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

– (17.16) ยกระดับหุ้นส่วนความร่วมมือระดับโลกเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

นอกจากนี้ การเข้าถึงวัคซีนได้เท่าเทียมหรือไม่ยังเกี่ยวข้องกับ  #SDG1 (ความยากจน)  และ #SDG10 (ความเหลื่อมล้ำ) เป็นต้น

แหล่งที่มา:

https://www.oxfam.org/en/press-releases/two-thirds-epidemiologists-warn-mutations-could-render-current-covid-vaccines

https://www.oxfam.org/en/press-releases/peoples-vaccine-alliance-lauds-us-decision-break-open-covid-19-monopolies-and-urges

Author

  • Sorravit Ma

    Knowledge Communication [Intern] | นักศึกษาฝึกงานผู้ฝันใฝ่ในสังคมที่ดีกว่า

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น