ยิ่งอุณหภูมิโลกร้อนขึ้น ปัญหาสุขภาพจิตและการใช้ความรุนแรงจะยิ่งเพิ่มมากขึ้น

ผลงานวิจัยในหลายประเทศพบว่าอุณหภูมิโลกที่เพิ่มขึ้นสัมพันธ์กับอัตราการฆ่าตัวตายและการมีพฤติกรรมใช้ความรุนแรงที่เพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับปัญหาความผิดปกติทางด้านอารมณ์และภาวะวิตกกังวลที่จะทวีความรุนแรงขึ้นด้วย

เมื่อพิจารณาความเชื่อมโยงระหว่างอุณหภูมิที่สูงขึ้นและอัตราการฆ่าตัวตาย การศึกษาในประเทศอังกฤษและเวลส์ระหว่างปี 1993-2003 เผยให้เห็นว่า เมื่ออุณหภูมิในช่วงเวลาหนึ่งสูงกว่า 18°C อุณภูมิทุก ๆ 1°C ที่เพิ่มขึ้น เท่ากับความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายของประชากรที่เพิ่มขึ้น 3.8%

และเมื่อพิจารณาประเด็นการใช้ความรุนแรงของผู้คน การศึกษาในประเทศฟินแลนด์ระหว่างปี 1996-2013 พบว่า อุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นทุก ๆ 1°C ทำให้เหตุอาชญากรรมทั่วประเทศเพิ่มขึ้น 1.7% และมีการประมาณว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอาจทำให้เกิดการทำร้ายร่างกายในสหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้น 1.2 ล้านครั้ง เมื่อเปรียบเทียบกับโลกที่ไม่มีวิกฤตด้านภูมิอากาศ

อุณหภูมิที่สูงขึ้นส่งผลกระทบทางลบต่อสุขภาพจิตไม่ต่างกับสุขภาพกาย โดยทำให้เกิดความผิดปกติในการนอนหลับ ซึ่งอาจนำมาซึ่งความหงุดหงิด ต่อเนื่องไปสู่การเกิดพฤติกรรมหุนหันพันแล่น และอาจกลายเป็นความรุนแรงได้ อีกทั้งยังทำให้ระดับฮอร์โมนเซโรโทนินในสมอง ซึ่งทำหน้าที่ควบคุมความรู้สึก อารมณ์ และพฤติกรรม ลดลงไปจากเดิม ซึ่งสัมพันธ์กับการเกิดภาวะซึมเศร้า ภาวะวิตกกังวล และความผิดปกติทางด้านอารมณ์อื่น ๆ

ในอนาคต สถานการณ์การเกิดคลื่นความร้อนจะร้อนและคงอยู่นานขึ้น รวมถึงอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นเรื่อย ๆ การเตรียมพร้อมเพื่อปรับเปลี่ยนสิ่งแวดล้อมในการใช้ชีวิตให้เหมาะสมกับโลกที่ร้อนขึ้นจำเป็นต่อการมีสุขภาพจิตและความเป็นอยู่ที่ดี โดยเฉพาะพื้นที่เขตเมือง ซึ่งจะเป็นกลายเป็นถิ่นฐานหลักของมนุษย์สองในสามของโลกในปี 2050

ตัวอย่างการจัดการเพื่อลดผลกระทบจากอากาศร้อน อาทิ การพัฒนาระบบการไหลเวียนของอากาศภายในอาคารและการปรับชั่วโมงการทำงานให้เหมาะสมในช่วงที่อากาศร้อนจัด หรือการสร้าง “เกาะความเย็น (cool islands)” ในเขตเมืองของปารีส ด้วยการเพิ่มพื้นที่สีเขียวและสีน้ำเงิน เช่น สวนสาธารณะ สระน้ำ และสระว่ายน้ำ เพื่อให้ชาวเมืองได้ใช้เป็นพื้นที่หลบร้อน

นอกจากนี้ การให้ความรู้ผู้คนเกี่ยวกับผลกระทบของความร้อนที่มีต่อสุขภาพจิตและการใช้ความรุนแรง จะช่วยให้ผู้คนเข้าใจความสำคัญของการดำเนินการเพื่อการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและให้การสนับสนุนมากขึ้น

ประเด็นดังกล่าว เกี่ยวข้องกับ
#SDG3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี
- (3.4) ลดการตายก่อนวัยอันควรจากโรคไม่ติดต่อให้ลดลงหนึ่งในสาม ผ่านทางการป้องกันและการรักษาโรค และสนับสนุนสุขภาพจิตและความเป็นอยู่ที่ดี ภายในปี พ.ศ. 2573
#SDG13 ต่อสู้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
- (13.1) เสริมภูมิต้านทานและขีดความสามารถในการปรับตัวต่ออันตรายและภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกี่ยวข้องกับภูมิอากาศในทุกประเทศ
#SDG16 สันติภาพ ความยุติธรรม และสถาบันที่เข้มแข็ง
- (16.1) ลดความรุนแรงทุกรูปแบบและอัตราการตายที่เกี่ยวข้องในทุกแห่งให้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

ที่มา : Violence and mental health are likely to get worse in a warming world (The Conversation)

Last Updated on พฤศจิกายน 10, 2021

Author

  • Natetida Bunnag

    Social Media Manager - ตัวแทน 'คนธรรมดา' ในชุมชนนักวิชาการ อ่าน แปล และสื่อสารเรื่องความยั่งยืน

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น