รายงานธนาคารโลกเผยว่า ความมั่งคั่งโลกใน 20 ปีที่ผ่านมา แลกมาด้วยธรรมชาติและปัญหาความเหลื่อมล้ำที่เพิ่มขึ้น

รายงานฉบับใหม่จากธนาคารโลก (World Bank) แสดงให้เห็นว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจที่ไม่ให้ความสำคัญกับทุนธรรมชาติที่หมุนเวียนได้และทุนมนุษย์ เทียบเท่ากับผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) หรือตัวชี้วัดดั้งเดิมอื่น ๆ ไม่สามารถเรียกได้ว่าเป็นการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน

รายงาน ‘The Changing Wealth of Nations 2021‘ โดยธนาคารโลก ที่เผยแพร่เมื่อ 27 ตุลาคม 2021 ศึกษาความมั่งคั่งของทั้งหมด 146 ประเทศ ในช่วงปี 1995 – 2018 โดยการวัดมูลค่าทางเศรษฐกิจของทุนทางธรรมชาติที่หมุนเวียนได้ (เช่น ป่าไม้ พื้นที่เพาะปลูก และทรัพยากรในมหาสมุทร) ทุนธรรมชาติที่ไม่สามารถหมุนเวียนได้ (เช่น แร่ธาตุและเชื้อเพลิงฟอสซิล) ทุนมนุษย์ (รายได้ตลอดช่วงชีวิตของบุคคล) ทุนที่ถูกผลิตขึ้น (เช่น อาคารและโครงสร้างพื้นฐาน) และสินทรัพย์สุทธิต่างประเทศ

ข้อมูลจากรายงาน พบว่า ความมั่งคั่งทั่วโลกเติบโตขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในช่วงปี 1995 – 2018 แต่ก็ต้องแลกมากับการจัดการสินทรัพย์ทางธรรมชาติบางประเภทอย่างไม่ยั่งยืน เช่น การตัดไม้ทำลายป่า ปริมาณมวลปลาที่ลดลงจากการประมงเกินขนาด เป็นต้น และยังทำให้ช่องว่างความเหลื่อมล้ำด้านความมั่งคั่งของแต่ละประเทศขยายกว้างขึ้น โดยส่วนแบ่งความมั่งคั่งระดับโลกของประเทศที่มีรายได้ต่ำมีการเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อย และยังคงต่ำกว่า 1% ของความมั่งคั่งของโลก แม้ว่าจะมีปริมาณประชากรมากถึง 8% ของประชากรโลกทั้งหมดก็ตาม

นอกจากนี้ ผู้หญิงยังมีส่วนแบ่งความมั่งคั่งระดับโลกไม่เท่าเทียมกับผู้ชาย โดยข้อมูลในปี 2018 พบว่า ผู้หญิงทั่วโลกครอบครองทุนมนุษย์เพียง 37% ซึ่งเพิ่มขึ้นเพียง 2 จุดเปอร์เซนต์จากปี 1995 เท่านั้น และความเหลื่อมล้ำนี้เกิดขึ้นในแทบทุกภูมิภาค

รายงานฉบับนี้ต้องการชี้ให้เห็นว่า ประเทศที่ใช้ทรัพยากรจนหมดเพื่อผลประโยชน์ระยะสั้นกำลังทำให้เศรษฐกิจของประเทศอยู่บนเส้นทางการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืน และฐานข้อมูลที่ปรากฏจะสามารถเป็นประโยชน์ต่อผู้กำหนดนโยบายที่ต้องการพัฒนาการประเมินการเติบโตทางเศรษฐกิจที่คำนึงถึงมูลค่าของสินทรัพย์ธรรมชาติให้แม่นยำขึ้น และให้มูลค่าแก่ทุนมนุษย์อย่างยุติธรรมมากขึ้น

ประเด็นดังกล่าว เกี่ยวข้องกับ
#SDG8 การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและงานที่มีคุณค่า
- (8.4) ปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรของโลกในการบริโภคและการผลิตอย่างต่อเนื่อง และพยายามที่จะแยกการเติบโตทางเศรษฐกิจออกจากความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นไปตามกรอบการดำเนินงาน 10 ปี ว่าด้วยการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน โดยมีประเทศที่พัฒนาแล้วเป็นผู้นำในการดำเนินการไปจนถึงปี พ.ศ. 2573
#SDG10 ลดความเหลื่อมล้ำภายในและระหว่างประเทศ
- (10.1) บรรลุการเติบโตของรายได้ของกลุ่มประชากรร้อยละ 40 ที่มีรายได้ต่ำสุด อย่างก้าวหน้าและยั่งยืน โดยให้มีอัตราเติบโตสูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศ ภายในปี พ.ศ. 2573

ที่มา :
Human, natural capital key to sustainable economic growth, World Bank says (Reuters)
Global Wealth Has Grown, But at the Expense of Future Prosperity: World Bank (World Bank)

Last Updated on พฤศจิกายน 29, 2021

Author

  • Natetida Bunnag

    Social Media Manager - ตัวแทน 'คนธรรมดา' ในชุมชนนักวิชาการ อ่าน แปล และสื่อสารเรื่องความยั่งยืน

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น