ทศวรรษแห่งสมุทรศาสตร์เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนกับ 4 โซลูชันจากโครงการ Flagship ที่ออกสำรวจใต้ท้องทะเลลึก

ทะเลลึก” (deep ocean) เป็นพื้นที่ที่มีความซับซ้อนแต่มีบทบาทสำคัญในการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ด้วยการเก็บกักคาร์บอนส่วนเกินและความร้อน เคลื่อนกระแสน้ำในมหาสมุทร และเป็นแหล่งของแร่ธาตุหายากสำคัญที่มนุษย์นำมาใช้เป็นชิ้นส่วนผลิตเทคโนโลยี อาทิ คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ และแบตเตอรี่ กระนั้น ราว 80% ของทะเลลึกยังไม่เคยมีการสำรวจมาก่อน

เพื่อที่จะสามารถปกป้องความอุดมสมบูรณ์ของความหลากหลายทางชีวภาพใต้ท้องทะเลไปพร้อมกับใช้ประโยชน์จากทรัพยากรเหล่านี้ได้ดีขึ้น จะต้องสำรวจและพัฒนาองค์ความรู้ด้านระบบนิเวศทะเลลึกให้มากยิ่งขึ้น คณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยสมุทรศาสตร์ (Intergovernmental Oceanographic Commission – IOC) โดย Global Stakeholder Forum จึงอำนวยความร่วมมือภาคีหุ้นส่วนระหว่างบรรดานักสมุทรศาสตร์ รัฐบาล และภาคอุตสาหกรรม และเปิดรับข้อเสนอ “โซลูชันด้านสมุทรศาสตร์” ภายใต้สมุทรศาสตร์เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน พ.ศ. 2564 – 2573 (UN Decade of Ocean Science for Sustainable Development 2021 – 2030) ซึ่งล่าสุดได้อนุมัติ 4 โครงการ Flagship ที่น่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็นด้านระบบตัวชี้วัดทะเลลึกหลากมิติ การสำรวจและวิจัยร่วมกับประเทศกำลังพัฒนา การศึกษาทะเลลึกเพื่อการป้องกันภัยธรรมชาติ และการสร้างเครือข่ายระดับโลกเพื่อปกป้องพื้นที่ ‘Twilight Zone’

  • Deep Ocean Observing Strategy (DOOS)กิจกรรมของโครงการนี้พยายามหาคำตอบเกี่ยวกับทะเลลึก โดยได้พัฒนาระบบตัวชี้วัดทะเลลึกอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ที่เรียกว่า ‘Essential Ocean Variables’ (EOVs) เพื่อการสำรวจให้เห็นภาพของทะเลลึกในหลายมิติ
  • Challenger 150โครงการนี้พยายามจัดการกับแหล่งองค์ความรู้เกี่ยวกับทะเลลึก โดยจะเติมช่องว่างของความรู้ที่หายไปด้วยการสำรวจ การสังเกต และการติดตามสถานการณ์ จากการทำงานร่วมกับประเทศกำลังพัฒนาในการวิจัยทะเลลึกอย่างเข้มข้น ในภายภาคหน้าอาจวางแผนพัฒนาระบบติดตามอย่างเป็นกิจลักษณะเพื่อลดผลกระทบจากการสำรวจที่อาจมีต่อแหล่งที่อยู่อาศัยและทรัพยากรในทะเลลึก
  • One Ocean Network for Deep Observationโครงการนี้เน้นจากจุดที่ว่าอันตรายทางธรรมชาติ อาทิ ภูเขาไฟระเบิด แผ่นเปลือกโลกเคลื่อนที่ สึนามิ มักเกิดขึ้นใต้ทะเลและมหาสมุทร ดังนั้น เพื่อที่จะสามารถป้องกันภัยดังกล่าวได้ จะต้องอาศัยข้อมูลองค์ความรู้ด้านทะเลลึกประกอบกัน ให้สามารถพัฒนาระบบติดตามและระบบเตือนภัยล่วงหน้าโดยเฉพาะที่อาจเกิดขึ้นบริเวณชายฝั่ง
  • Joint Exploration of the Twilight Zone Ocean Network (JETZON) เครือข่าย JETZON เป็นการสร้างและประสานความร่วมมือในระดับระหว่างประเทศและความเชี่ยวชาญของสหวิชาชีพ เพื่อปกป้องพื้นที่บริเวณ ‘Twilight Zone’ ให้ครอบคลุมสเกลทั่วโลก ซึ่งเป็นพื้นที่ท้องทะเลที่ความลึก 200 – 1000 เมตรและอยู่นอกอาณาเขตของรัฐ โดยมีประชากรปลาขนาดใหญ่และยังไม่ถูกใช้ประโยชน์ ทั้งยังมีบทบาทต่อวัฏจักรเคมีในโลกและเป็นพื้นที่กักเก็บคาร์บอน อย่างไรก็ดี เพราะความเข้าใจเช่นนั้นยิ่งเพิ่มความกดดันและความกังวลต่อการแสวงหาประโยชน์ เช่น การทำประมงที่ไม่ยั่งยืน และการทำเหมืองใต้ท้องทะเลลึก เป็นต้น

ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจร่วมติดตามอ่านความเคลื่อนไหว Decade Actions ของ #SDG14 หรือยื่นข้อเสนอโซลูชันสมุทรศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นประเด็นมลพิษทางทะเล ความเชื่อมโยงของมหาสมุทรและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และอื่น ๆ สามารถลงทะเบียนเข้าร่วมและติดตามข้อมูลได้ ที่นี่

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG14 ทะเลและทรัพยากรทางทะเลและมหาสมุทร
-(14.a) เพิ่มความรู้ทางวิทยาศาสตร์ พัฒนาขีดความสามารถในการวิจัย และถ่ายทอดเทคโนโลยีทางทะเล โดยคำนึงถึงหลักเกณฑ์และแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการถ่ายทอดเทคโนโลยีทางทะเลของคณะกรรมาธิการสมุทรศาสตร์ระหว่างรัฐบาล เพื่อจะพัฒนาคุณภาพของมหาสมุทรและเพิ่มพูนให้ความหลากหลายทางชีวภาพในทะเลมีส่วนสนับสนุนการพัฒนาของประเทศกำลังพัฒนามากขึ้น
#SDG17 หุ้นส่วนความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
-17.16 ยกระดับความร่วมมือระดับโลกเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยส่งเสริมความร่วมมือจากภาคส่วนที่หลากหลายซึ่งจะระดมและแบ่งปันความรู้ ความเชี่ยวชาญ เทคโนโลยี และทรัพยากรเงิน เพื่อจะสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในทุกประเทศ โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา

แหล่งที่มา:
Decade Actions Explore the Deep (IISD)

Last Updated on ธันวาคม 15, 2021

Author

  • Thiraphon Singlor

    Editor | อยากรู้ความคิดของคนต่างพื้นเพ ต่างสังคมและวัฒนธรรม สนใจความเป็นไปของโลก ความมั่นคง และการพัฒนา แล้วนำมาถ่ายทอดร้อยเรียงเรื่องราวเล่าให้ฟัง

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น