เกษตรกรไทยเปลี่ยนมาเลี้ยงหมูหลุมเพื่อลดผลกระทบจาก Climate Change ที่ทำให้อากาศร้อนและน้ำแล้งรุนแรง

สภาพอากาศที่ร้อนรุนแรงในปัจจุบัน ทำให้เกษตรกรหลายคนเปลี่ยนวิธีการเลี้ยงหมู จากเดิมที่เคยเลี้ยงในคอกปูน ก็เปลี่ยนมาเลี้ยงหมูหลุมที่อยู่ในพื้นที่โปร่ง อากาศถ่ายเทดี การปรับปรุงโรงเรือนให้อุณหภูมิต่ำลง ช่วยลดความเครียดของหมูที่เกิดจากความร้อน และลดการสูญเสียผลผลิตจากโรคสัตว์ โดยเกษตรกรรายย่อยในราชบุรีได้รวมตัวจัดตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชนกลุ่มหมูหลุมอินทรีย์ ต.ดอนแร่ ที่มีสมาชิกรวมกว่า 20 ราย มีหมูหลุมในระบบมากกว่า 2,000 ตัว และเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อปรับตัวจากผลกระทบทางสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้น

นอกจากปัญหาอุณหภูมิร้อนจัดแล้ว ฤดูแล้งทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูประสบปัญหาน้ำไม่เพียงพอ เพราะการเลี้ยงหมูพ่อพันธ์และแม่พันธ์ใช้น้ำเฉลี่ยวันละ 130 ลิตรต่อตัว โดยหมูขุนใช้น้ำถึงวันละ 40 ลิตรต่อตัว ทำให้น้ำที่สำรองไว้ก่อนหน้านี้เริ่มไม่เพียงพอ และต้องมีการซื้อน้ำเพิ่ม ทำให้ต้นทุนการเลี้ยงหมูสูงขึ้นและจะส่งผลทำให้ราคาจำหน่ายหมูสูงขึ้นในช่วงนี้ 

ข้อมูลจากบทความ The Effect of Climate Change-Induced Temperature Increase on Performance and Environmental Impact of Intensive Pig Production Systems ที่เผยแพร่ในวารสาร Sustainability เมื่อปี 2020 รายงานว่า การปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากมนุษย์ (GHG) เป็นต้นเหตุสำคัญของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เฉพาะการปล่อยก๊าซฯ จากการผลิตอาหารคิดเป็น 19% ถึง 29% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลก โดยส่วนใหญ่มาจากภาคเกษตรกรรม สำหรับภาคปศุสัตว์มีส่วนก่อให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากมนุษย์ทั่วโลก 15% โดยการเลี้ยงหมูคิดเป็น 9% ของการปล่อยที่เกี่ยวข้องกับปศุสัตว์ทั้งหมด ในขณะเดียวกันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศคุกคามความมั่นคงอาหารทั่วโลกและส่งผลกระทบต่อผลผลิตจากการปศุสัตว์ เช่น ผลกระทบต่อการผลิตอาหารสัตว์โรคในสัตว์ หรือความเครียดจากความร้อน ปัจจุบัน อุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้น 0.61 องศาเซลเซียสแล้ว เมื่อเทียบกับยุคก่อนอุตสาหกรรม และคาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดสถานการณ์สัตว์ตายจากความเครียดที่มาจากความร้อนบ่อยขึ้นโดยเฉพาะในช่วงฤดูร้อน

ผลกระทบจาก Climate Change ที่ส่งผลกระทบต่อการปศุสัตว์ เชื่อมโยงกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) เป้าหมายที่ 2 ยุติความหิวโหย บรรลุความมั่นคงทางอาหาร และยกระดับโภชนาการ และส่งเสริมเกษตรกรรมที่ยั่งยืน ในประเด็น เกษตรกรรมที่ยั่งยืนและปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และช่วยพัฒนาคุณภาพดิน (2.4) และ เป้าหมายที่ 13 ปฏิบัติการอย่างเร่งด่วนเพื่อต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และผลกระทบที่เกิดขึ้น 

ที่มา: Thai PBS

Last Updated on มีนาคม 31, 2021

Author

  • Natetida Bunnag

    Social Media Manager - ตัวแทน 'คนธรรมดา' ในชุมชนนักวิชาการ อ่าน แปล และสื่อสารเรื่องความยั่งยืน

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น