Human Rights Watch เผยแพร่คู่มือสิทธิมนุษยชนสำหรับผู้สื่อข่าวในมหกรรมฟุตบอลโลก 2022

อีกเพียง 3 วันเท่านั้น มหกรรมกีฬาฟุตบอลที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของโลกจะหวนกลับมาเปิดฉากอีกครั้ง ซึ่งรอบนี้จะจัดการแข่งขันกันตั้งแต่วันที่ 20 พฤศจิกายน – 18 ธันวาคม 2565 โดยมีประเทศกาตาร์รับหน้าที่เป็นเจ้าภาพหลัก 

แน่นอนว่าการเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกไม่ใช่เรื่องง่ายดายเท่าไรนัก เพราะต้องเตรียมความพร้อมเรื่องสนามการแข่งขันที่ต้องมีอย่างน้อย 10 สนาม แต่ละสนามต้องมีความจุอย่างน้อย 40,000 ที่นั่ง อีกทั้งยังต้องเตรียมสถานที่รองรับนักกีฬา สื่อมวลชน รวมถึงแฟนบอลจากทั่วโลกที่จะหลั่งไหลเข้ามาชมการแข่งขันจำนวนมาก และล่าสุด “ประเด็นสิทธิมนุษยชน” ก็ได้ถูกหยิบนำมาเป็นอีกหนึ่งในข้อตรวจสอบและตั้งคำถามต่อความพร้อมในการเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก เนื่องจากกรณีการเตรียมการของกาตาร์ถูกวิพากษ์วิจารณ์ และร้องเรียนจากทั้งสื่อมวลชนและองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนอย่างต่อเนื่องในเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ครอบคลุมถึงการละเมิดสิทธิแรงงานข้ามชาติ (Migrant Worker Rights) สิทธิสตรี (Women’s Rights) สิทธิของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ (Lesbian, Gay, Bisexual, and Transgender (LGBT) People’s Rights) และสิทธิในการสื่อสารและแสดงความเห็น (Freedom of Expression and Press Freedom)

โดยรายงานสำคัญ 75 หน้าที่เผยแพร่โดย Equidem องค์กรการกุศลด้านสิทธิมนุษยชนและสิทธิแรงงานในลอนดอน ระบุถึงข้อค้นพบที่น่าตกใจหลายเรื่อง อาทิ แรงงานข้ามชาติที่ถูกเกณฑ์มาสร้างสนามสำหรับใช้เเข่งฟุตบอลโลกต้องทำงานหนักภายใต้สภาวะที่ไม่เอื้ออำนวย ไม่ได้รับค่าจ้างที่เป็นธรรม และถูกนายจ้างอายัดหนังสือเดินทางทำให้ไม่สามารถเดินทางกลับประเทศบ้านเกิดได้ โดยจากการให้สัมภาษณ์ของเเรงงานชาวอินเดียมากกว่า 60 คนที่เดินทางมาทำงานในโครงการก่อสร้างเพื่อรองรับการจัดฟุตบอลโลก พวกเขาต่างระบุไปในทิศทางเดียวกันว่านายหน้าจัดหางานมีการคิดค่าธรรมเนียมเกินจริง ส่งผลให้ตนเป็นหนี้ตั้งเเต่ก่อนเริ่มงาน  ขณะที่ข้อมูลจากหนังสือพิมพ์ The Guardian ระบุว่านับตั้งเเต่วันที่กาตาร์ได้รับเลือกเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกจนถึงปัจจุบัน มีเเรงงานต่างชาติเสียชีวิตเเล้วกว่า 6,500 คน ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลขององค์การเเรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization : ILO) ที่เปิดเผยว่าปี 2563 เพียงปีเดียวมีแรงงานต่างชาติเสียชีวิต 50 คน บาดเจ็บสาหัสมากกว่า 500 คน และอีกประมาณ 37,600 คนได้รับบาดเจ็บเล็กน้อยถึงปานกลาง

ทั้งนี้ หากย้อนกลับไปในปี 2553 ซึ่งเป็นปีที่สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (Fédération Internationale de Football Association: FIFA) ตัดสินใจเลือกกาตาร์เป็นเจ้าภาพฟุตบอล ปี 2565 จะพบว่า ณ ตอนนั้นกระบวนการคัดเลือกไม่ได้มีการตรวจสอบประเด็นสิทธิมนุษยชน และไม่มีเงื่อนไขที่กำหนดไว้เกี่ยวกับการคุ้มครองแรงงานข้ามชาติ ซึ่งจำเป็นสำหรับการสร้างโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ อีกทั้งยังไม่มีการตรวจสอบถึงข้อกังวลด้านสิทธิมนุษยชนสำหรับผู้สื่อข่าวและการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศ กระทั่งปี 2560 สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ จึงได้นำนโยบายสิทธิมนุษยชนมาใช้ โดยให้คำมั่นว่าจะใช้ “มาตรการส่งเสริมการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน และจะใช้มาตรการที่เพียงพอสำหรับการปกป้องแรงงานข้ามชาติและผู้ที่เสี่ยงต่อการถูกละเมิดสิทธิทุกคน”

นอกจากความเคลื่อนไหวของสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติแล้ว ล่าสุดก็มีการตื่นตัวอย่างเตรียมพร้อมจาก Human Rights Watch ซึ่งได้เผยแพร่ ‘Human Rights Reporters’ Guide for 2022 FIFA World Cup’ เพื่อสนับสนุนข้อมูลด้านสิทธิมนุษยชนสำหรับผู้สื่อข่าวที่ติดตามรายงานการแข่งขันฟุตบอลโลก โดยคู่มือแนะนำนี้มีทั้งสิ้น 42 หน้า ครอบคลุมถึงการสรุปข้อกังวลของ Human Rights Watch ที่เกี่ยวข้องกับการเตรียมการของกาตาร์ ในการเป็นเจ้าภาพการแข่งขันฟุตบอลโลก และสรุปปัญหาที่กว้างขึ้นเกี่ยวกับการปกป้องสิทธิมนุษยชนในประเทศ ทั้งยังอธิบายถึงนโยบายด้านสิทธิมนุษยชนของสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ และวิธีการที่สามารถจัดการกับการละเมิดอย่างร้ายแรงในกาตาร์ได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นและลดความเสียหายให้น้อยลง

Minky Worden ผู้อำนวยการโครงการริเริ่มระดับโลกของ Human Rights Watch กล่าวว่า “การแข่งขันฟุตบอลโลกดึงดูดสื่อจากนานาชาติและแฟน ๆ ฟุตบอลให้ความสนใจ แต่ด้านมืดของการแข่งขันกำลังเกมฟุตบอล” และระบุอีกว่า “มรดกของฟุตบอลโลกปี 2565 ขึ้นอยู่กับการแก้ไขของกาตาร์ต่อการเสียชีวิตและการละเมิดอื่น ๆ ของแรงงานข้ามชาติ ซึ่งต้องปฏิรูปแรงงานและปกป้องสิทธิมนุษยชนสำหรับทุกคนในกาตาร์ ไม่ใช่แค่สำหรับแฟนบอลและนักฟุตบอลเท่านั้น”

จึงน่าจับตาว่ามหกรรมฟุตบอลที่คนทั้งโลกต่างรอคอยมากว่า 4 ปี จะเปิดฉากและดำเนินการแข่งขันไปในทิศทางใด กาตาร์และสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติจะล้างภาพการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ถูกตีแผ่จนแทบจะบดบังความสนใจของการแข่งขัน เพื่อตอบคำถามและประนีประนอมกับคนทั่วทุกมุมโลกที่มิอาจยอมรับและสนับสนุนเกมการแข่งขันอันโอฬารที่สร้างขึ้นบนเลือดและหยาดเหงื่อของการกดขี่ขูดรีด 

● อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
ESCAP เผยเเพร่รายงานฉบับใหม่ ชี้เเรงงานในเอเชีย-เเปซิฟิกกว่า 2.1 พันล้านคน เข้าไม่ถึงงานที่มีคุณค่าเเละการคุ้มครองทางสังคม
Voice of SDG Move | 01 พัฒนาการของศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์: ประวัติศาสตร์ของรากฐานแห่งความยั่งยืน
 ILO รับข้อตกลงแรงงานระดับโลกฉบับแรก เสริมคุณค่าด้านสภาพการทำงานและสิทธิ ให้ครอบคลุมนักฟุตบอลอาชีพทั้งชายและหญิง

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG5 ความเท่าเทียมทางเพศ
– (5.1) ยุติการเลือกปฏิบัติทุกรูปแบบที่มีต่อผู้หญิงและเด็กหญิงในทุกที่
#SDG8 งานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ
– (8.7) ดำเนินมาตรการที่มีประสิทธิภาพโดยทันที เพื่อขจัดแรงงานที่ถูกบังคับ ยุติความเป็นทาสสมัยใหม่และการค้ามนุษย์ และยับยั้งและกำจัดการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้ายที่สุด ซึ่งรวมถึงการเกณฑ์และการใช้ทหารเด็ก และภายในปี 2568 ยุติการใช้แรงงานเด็กในทุกรูปแบบ
– (8.8) ปกป้องสิทธิแรงงานและส่งเสริมสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ปลอดภัยและมั่นคงสำหรับผู้ทำงานทุกคน รวมถึงผู้ทำงานต่างด้าว โดยเฉพาะหญิงต่างด้าว และผู้ที่ทำงานเสี่ยงอันตราย
#SDG16 ความสงบสุข ยุติธรรม และสถาบันเข้มแข็ง
– (16.2) ยุติการข่มเหง การแสวงหาประโยชน์อย่างไม่ถูกต้อง การค้ามนุษย์ และความรุนแรงและการทรมานทุกรูปแบบที่มีต่อเด็ก
– (16.10) สร้างหลักประกันว่าสาธารณชนสามารถเข้าถึงข้อมูลและมีการปกป้องเสรีภาพขั้นพื้นฐาน โดยเป็นไปตามกฎหมายภายในประเทศและความตกลงระหว่างประเทศ

แหล่งที่มา:
Qatar: Rights Abuses Stain FIFA World Cup (Human Rights Watch)
“กาตาร์” กับรอยด่างเจ้าภาพฟุตบอลโลก 2022 (Thai PBS)

ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ภายใต้โครงการเร่งรัดการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านสุขภาพของประเทศไทย

Last Updated on พฤศจิกายน 18, 2022

Author

  • Atirut Duereh

    Knowledge Communication | สนใจประเด็นสันติภาพ ความมั่นคงมนุษย์ เเละสิ่งเเวดล้อมทางทะเล ใช้ชีวิตโดยเชื่อในสมดุลมากกว่าความสมบูรณ์เเบบ

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น