ESCAP เผยเเพร่รายงานฉบับใหม่ ชี้เเรงงานในเอเชีย-เเปซิฟิกกว่า 2.1 พันล้านคน เข้าไม่ถึงงานที่มีคุณค่าเเละการคุ้มครองทางสังคม

เมื่อ 6 กันยายน ที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมสำหรับเอเชียและแปซิฟิก (Economic and Social Commission for Asia and the Pacific: ESCAP)  ได้เผยเเพร่รายงานฉบับใหม่ชื่อ ‘Social Outlook for Asia and the Pacific: The Workforce We Need’ ระบุถึงสถานการณ์แรงงานในภูมิภาคเอเชีย-เเปซิฟิก ว่า เเรงงานกว่า 2.1 พันล้านคนถูกปฏิเสธไม่ให้เข้าถึงงานที่มีคุณค่า (decent work) การดูแลสุขภาพ (healthcare) และการคุ้มครองทางสังคม (social protection) เเม้ว่าจะมีนโยบายและเครื่องมือการจัดการจำนวนมากที่รัฐบาลสามารถใช้เพื่อแก้ไขปัญหาข้อบกพร่อง สร้างหลักประกันว่าสิทธิความต้องการของเเรงงานและครอบครัวของพวกเขาจะถูกยกระดับให้ดีขึ้นก็ตาม

Armida Salsiah Alisjahbana รองเลขาธิการองค์การสหประชาชาติเเละเลขาธิการของ ESCAP ระบุถึงข้อค้นพบที่น่าสนใจซึ่งปรากฏในรายงานฉบับดังกล่าว อาทิ

  • ในช่วงการเเพร่ระบาดของโรคโควิด-19 พบว่าผู้คนกว่า 243 ล้านคนถูกผลักเข้าสู่ภาวะยากจน โดยครึ่งหนึ่งของประชากรทั้งหมดในภูมิภาคเอชีย-เเปซิฟิกดิ้นรนเพื่อมีชีวิตรอดโดยไม่มีเงินสดใช้ ขณะที่หนึ่งในสามของเเรงงานไม่มียาหรือเข้าไม่ถึงการรักษาพยาบาลขั้นพื้นฐาน และหนึ่งในสี่ไม่มีอาหารเพียงพอที่จะดำรงชีวิต ซึ่งปัญหานี้ทำให้ผลิตภาพการผลิตลดต่ำลงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลก 
  • สองในสามของเเรงงานทั้งหมดในภูมิภาคเอเชีย-เเปซิฟิกได้รับการจ้างงานอย่างไม่เป็นทางการหรือเป็นเเรงงานนอกระบบ (informal worker) โดยมักได้รับค่าจ้างที่ต่ำภายใต้สภาพการทำงานที่เป็นอันตรายและไม่มีสัญญาจ้างที่ชัดเจน ส่งผลให้แรงงานกว่าครึ่งหนึ่งอยู่ในภาวะยากจน
  • เเรงงานมากกว่าครึ่งของเเรงงานในภูมิภาคเอเชีย-เเปซิฟิกถูกกีดกันจากการคุ้มครองทางสังคม เป็นผลให้การเผชิญกับโรคระบาด ภัยพิบัติ ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ หรือกระทั่งเหตุการณ์ทั่วไปในชีวิตประจำวัน อาทิ การป่วยไข้ การตั้งครรภ์ หรือการสูงวัย จึงมักส่งผลเสียต่อชีวิตความเป็นอยู่ของคนในครัวเรือน
  • เเรงงานในภูมิภาคเอเชีย-เเปซิฟิกไม่มีความพร้อมที่จะปลดล็อกโอกาสใหม่ ๆ เเละตอบสนองความต้องการในชีวิตให้กับตนเองและครอบครัวได้อย่างสมบูรณ์ ทั้งยังต้องเผชิญกับความท้าทายอย่างต่อเนื่องที่เกิดจากกระแสการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ สังคมสูงอายุ และการเปลี่ยนผ่านสู่สังคมยุคดิจิทัล

นอกจากนี้ รายงานยังระบุถึงนโยบายที่จะช่วยเเก้ปัญหาการจ้างงานที่ไม่เป็นธรรมเเละช่วยหนุนเสริมให้เเรงงานมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ได้เเก่ ประการแรก นโยบายตลาดแรงงานที่มีประสิทธิภาพผ่านการเรียนรู้ตลอดชีวิต (life-long learning) และการพัฒนาทักษะ จะช่วยส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม (just transition) ไปสู่การจ้างงานที่มีคุณค่า และช่วยให้เเรงงานเข้าถึงโอกาสขั้นพื้นฐานและมาตรฐานการดำรงชีวิตที่เพียงพอ 

ประการต่อมา การขยายการคุ้มครองสุขภาวะทางสังคม (social health protection) อย่างทั่วถึงเเก่คนทุกคนจะช่วยยกระดับสุขภาพ ความมั่นคงทางรายได้ และประสิทธิภาพการทำงานของเเรงงานได้อย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากที่ผ่านมาพบว่าเเรงงานจำนวนมากต้องจ่ายเงินเพื่อรักษาพยาบาลด้วยตัวเองโดยไม่ได้รับสิทธิประโยช์ใด ๆ จากการเจ็บป่วย (sickness benefits) โดยเฉพาะในช่วงการเเพร่ระบาดของโควิด-19 พบว่ากว่า 60% ของเเรงงานในเอเชีย-เเปซิฟิกตกอยู่ในภาวะดังกล่าว

ประการสุดท้าย การใช้ประโยชน์จากโปรเเกรมจำลองการคุ้มครองทางสังคมของ ESCAP (ESCAP Social Protection Simulator) ซึ่งกำหนดชุดโปรแกรมพื้นฐานของแผนคุ้มครองที่ครอบคลุมทั้งเด็ก ผู้สูงวัย และผู้ทุพพลภาพ โดยกำหนดระดับผลประโยชน์ในระดับเดียวกับผลประโยชน์เฉลี่ยทั่วโลก จากการศึกษาของ ESCAP พบว่าการทำตามโปรแกรมนี้ จะช่วยลดความยากจนในภูมิภาคเอเชีย-เเปซิฟิกลงครึ่งหนึ่ง ซึ่งนับว่าเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า

การจ้างงานที่มีคุณค่า การขยายการคุ้มครองทางสังคม และการรักษาพยาบาลที่คนทุกคนเข้าถึงได้จึงเป็นเรื่องสำคัญเเละควรเป็นเรื่องที่ถูกยกระดับให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะเรื่องเหล่านี้จะส่งผลให้เเรงงานเเละครอบครัวก้าวพ้นจากกับดักความยากจนเเละมีคุณภาพชีวิตของดีขึ้น ซึ่งเป็นหนึ่งในการดำเนินการขับเคลื่อนเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้วยเช่นกัน

● อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
ILO รายงานสภาพการทำงานภาคเกษตรไทย พร้อมชี้แรงงานข้ามชาติ ยังเผชิญการจ้างงานที่ไม่เป็นธรรม
ข้อยกเว้นทางกฎหมายและการจ้างงานนอกระบบ อุปสรรคต่อการมีงานที่มีคุณค่าของแรงงานทำงานบ้าน
รายงาน ILO ชี้ โควิด-19 เป็นเหตุให้ภาวะว่างงานเพิ่มสูงทั่วโลก อัตราเยาวชนไม่มีการศึกษาและไม่มีงานทำเพิ่มขึ้นกว่า 1.5 %
ความยากจน-ความเหลื่อมล้ำ และการว่างงาน แซงหน้าโควิด-19 เป็น 2 อันดับแรกที่ผู้คน “กังวล” มากที่สุด

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG1 ขจัดความยากจน
– (1.1) ภายในปี 2573 ขจัดความยากจนขั้นรุนแรงของประชาชนทุกคนในทุกพื้นที่ให้หมดไป ซึ่งในปัจจุบันความยากจนวัดจากคนที่มีค่าใช้จ่ายดำรงชีพต่ำกว่า $1.90 ต่อวัน
– (1.3) ดำเนินการให้ทุกคนมีระบบและมาตรการการคุ้มครองทางสังคมในระดับประเทศที่เหมาะสม รวมถึงการคุมครองทางสังคมขั้นพื้นฐานและบรรลุการครอบคลุมถึงกลุ่มที่ยากจนและเปราะบาง ภายในปี 2573
– (1.4) ภายในปี 2573 สร้างหลักประกันว่าชายและหญิงทุกคน โดยเฉพาะที่ยากจนและเปราะบาง มีสิทธิเท่าเทียมกันในการเข้าถึงทรัพยากรทางเศรษฐกิจ รวมถึงการเข้าถึงบริการขั้นพื้นฐาน การเป็นเจ้าของและมีสิทธิในที่ดินและทรัพย์สินในรูปแบบอื่น มรดก ทรัพยากรธรรมชาติ เทคโนโลยีใหม่ที่เหมาะสม และบริการทางการเงิน ซึ่งรวมถึงระบบการเงินระดับฐานราก
– (1.5) ภายในปี 2573 สร้างภูมิต้านทานให้แก่คนยากจนและคนที่อยู่ในสถานการณ์เปราะบางและลดการเผชิญหน้าและความเสี่ยงต่อเหตุการณ์รุนแรง/ภัยพิบัติอันเนื่องมาจากภูมิอากาศ เศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม
– (1.b) สร้างกรอบนโยบายที่เหมาะสมในระดับประเทศ ระดับภูมิภาค และระดับนานาชาติ บนฐานของยุทธศาสตร์การพัฒนาที่สนับสนุนความยากจน (pro-poor) และคำนึงถึงความละเอียดอ่อนเชิงเพศภาวะ (gender-sensitive) เพื่อจะสนับสนุนการเร่งการลงทุนเพื่อปฏิบัติการขจัดความยากจน
#SDG3 สุขภาพเเละความเป็นอยู่ที่ดี
– (3.8) บรรลุการมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า รวมถึงการป้องกันความเสี่ยงทางการเงิน การเข้าถึงการบริการสาธารณสุขจำเป็นที่มีคุณภาพ และเข้าถึงยาและวัคซีนจำเป็นที่ปลอดภัย มีประสิทธิภาพ มีคุณภาพ ในราคาที่สามารถซื้อหาได้
#SDG8 งานที่มีคุณค่าเเละการเติบโตทางเศรษฐกิจ
– (8.3) ส่งเสริมนโยบายที่มุ่งเน้นการพัฒนาที่สนับสนุนกิจกรรมที่มีผลิตภาพ การสร้างงานที่มีคุณค่า ความเป็นผู้ประกอบการ ความสร้างสรรค์และนวัฒกรรม และให้การสนับสนุนการรวมตัวและการเติบโตของวิสาหกิจรายย่อย ขนาดเล็ก และขนาดกลาง ตลอดจนการเข้าถึงบริการทางการเงิน
– (8.5) บรรลุการจ้างงานเต็มที่และมีผลิตภาพ และการมีงานที่มีคุณค่าสำหรับหญิงและชายทุกคน รวมถึงเยาวชนและผู้มีภาวะทุพพลภาพ และให้มีการจ่ายที่เท่าเทียมสำหรับงานที่มีคุณค่าเท่าเทียมกัน ภายในปี 2573
– (8.8) ปกป้องสิทธิแรงงานและส่งเสริมสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ปลอดภัยและมั่นคงสำหรับผู้ทำงานทุกคน รวมถึงผู้ทำงานต่างด้าว โดยเฉพาะหญิงต่างด้าว และผู้ที่ทำงานเสี่ยงอันตราย
#SDG10 ลดความเหลื่อมล้ำ
– (10.2) ให้อำนาจและส่งเสริมความครอบคลุมด้านสังคม เศรษฐกิจและการเมืองสำหรับทุกคน โดยไม่คำนึงถึงอายุ เพศ ความบกพร่องทางร่างกาย เชื้อชาติ ชาติพันธุ์ แหล่งกำเนิด ศาสนา หรือสถานะทางเศรษฐกิจหรือสถานะอื่น ๆ ภายในปี 2573

แหล่งที่มา: The Right Policies Can Protect the Workers of Asia and the Pacific (IISD)

ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ภายใต้โครงการเร่งรัดการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านสุขภาพของประเทศไทย

Last Updated on กันยายน 12, 2022

Author

  • Atirut Duereh

    Knowledge Communication | สนใจประเด็นสันติภาพ ความมั่นคงมนุษย์ เเละสิ่งเเวดล้อมทางทะเล ใช้ชีวิตโดยเชื่อในสมดุลมากกว่าความสมบูรณ์เเบบ

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น