SDG Spotlight – 7 ข่าว SDGs น่าสนใจในรอบสัปดาห์ที่ 2 ประจำเดือนธันวาคม 2565

จากการสำรวจข่าวสารความเคลื่อนไหวที่เกี่ยวข้องและส่งผลต่อการขับเคลื่อน SDGs ระหว่างวันที่  3 – 9 ธันวาคม 2565 มีข่าวสารความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจ ดังนี้

ภาครัฐยอมรับ 3 ข้อเรียกร้องกำแพงกันคลื่น หลังเครือข่ายประชาชนทวงคืนชายหาดชุมนุมกดดัน

6 ธันวาคม 2565 กลุ่ม Beach for life และเครือข่ายประชาชนทวงคืนชายหาด 94 องค์กรทั่วทั้งภาคใต้และภาคตะวันออกรวมตัวกันเคลื่อนพลมาปักหลักประท้วงที่หน้ากระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อยื่นข้อเรียกร้อง 3 ข้อ ได้แก่

1) ยกเลิกมติ ครม. ที่ให้อำนาจกรมโยธาฯ ในการป้องกันชายฝั่ง
2) เรียกร้องให้รัฐให้โครงการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นต้องกลับมาทำการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA)
3) ฟื้นฟูชายหาดที่เสียหายจากกำแพงกันคลื่น ต่อมาวันที่ 7 ธันวาคม Beach for Life ได้มีการเจรจากับตัวแทนกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่ง Beach for life ได้ยื่นเงื่อนไขให้มีการร่างข้อตกลงร่วมกัน ระหว่างกลุ่มเครือข่าย กับนายวราวุธ ศิลปะอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม แต่ผลปรากฏว่านายวราวุธ ไม่ลงนามข้อตกลงนำกระบวนการ EIA มาใช้ในการก่อสร้างร้างโครงการกำแพงกันคลื่น 

ล่าสุดเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม หน่วยงานต่าง ๆ รับหลักการและดำเนินการตาม 3 ข้อเรียกร้อง ด้วยกลไกคณะกรรมการศึกษา คือรับไว้เพื่อเข้าไปศึกษาเพิ่มเติม โดยในคณะกรรมการจะมีสัดส่วนจากภาคประชาชน นักวิชาการจากภาคประชาชน 3 คน นักวิชาการจากหน่วยงานรัฐ 3 คน หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และมีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เป็นเลขา กลุ่ม Beach for life และเครือข่ายจึงได้ประกาศยุติการชุมนุมในเวลา 21.30 น. เนื่องจากผลการเจรจาเป็นที่น่าพอใจ

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อน SDG14 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 14.2 บริหารจัดการและปกป้องระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่งอย่างยั่งยืนเพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบทางลบที่มีนัยสำคัญ เป้าหมายย่อยที่ 14.5 ภายในปี 2563 อนุรักษ์พื้นที่ทางทะเลและชายฝั่งอย่างน้อยร้อยละ 10 ให้เป็นไปตามกฎหมายในประเทศและระหว่างประเทศ และเป้าหมายย่อยที่ 14.b จัดให้ชาวประมงพื้นบ้านรายเล็กเข้าถึงทรัพยากรทางทะเลและตลาด และ SDG 16 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 16.7 สร้างหลักประกันว่าจะมีกระบวนการตัดสินใจที่มีความรับผิดชอบ ครอบคลุม มีส่วนร่วม

เข้าถึงได้ที่ : เจรจาเป็นผล รัฐบาลยอมรับตั้งกรรมการเพื่อดำเนินตามข้อเรียกร้องทั้ง 3 ข้อ (เฟซบุ๊กเพจ : Beach for life)

ชาวบ้านเกาะหลีเป๊ะร้องรัฐตรวจสอบเอกชนบุกรุกและกั้นรั้วกระทบวิถีชีวิต

วันที่ 7 ธันวาคม 2565 ชาวบ้านบนเกาะหลีเป๊ะรวมตัวกันบริเวณชายหาดหน้าโรงเรียนบ้านอาดังเพื่อเรียกร้องภาครัฐให้ตรวจสอบการที่เอกชนสร้างรั้วปิดเส้นทางสัญจร โดยมีการถือป้ายระบุข้อความ อาทิ หยุดการสร้างรั้วกั้นถนนดั้งเดิมที่เด็ก ๆ ใช้เดินมาโรงเรียน ขอให้รัฐบาลตรวจสอบเอกสารสิทธิที่รุกที่อยู่อาศัยของชาวเล ทั้งนี้การสร้างรั้วกั้นทางสัญจรดังกล่าวกระทบวิถีชีวิตของของชาวบ้านหลายมิติ โดยเฉพาะทำให้เกิดอุปสรรคในการเดินทางไปโรงเรียนของเด็ก ๆ บนเกาะ และทำให้ชาวบ้านไม่สามารถเดินทางมาลงเรือเพื่อออกไปทำการประมงได้ โดยนายจำนงค์ จิตรนิรัตน์ ผู้แทนมูลนิธิชุนชนไท ระบุว่า “ชาวเลต้องการความเป็นธรรมในเรื่องการตรวจสอบเอกสารสิทธิในที่ดินและเตรียมการเดินทางไปยื่นหนังสือให้กับนายกรัฐมนตรี”

ต่อมาวันที่ 9 ธันวาคม 2565 นายชาตรี ณ ถลาง ปลัดจังหวัดสตูล ได้ลงเดินทางไปยังชุมชนของชาวเลอูรักลาโว้ยและบริเวณใกล้เคียงกับโรงเรียนบ้านเกาะอาดังเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงและหารือถึงแนวทางแก้ไขข้อพิพาทดังกล่าว อย่างไรก็ดีเนื่องจากกระบวนการเข้าสู่ชั้นศาลแล้ว จึงได้มีการเสนอให้ทนายของมูลนิธิชุมชนไทย ยื่นคำขอคุ้มครองชั่วคราวต่อศาล ขอให้เปิดทางพิพาทดังกล่าวตลอด 24 ชั่วโมง จนกว่าศาลจะมีคําพิพากษาต่อไป

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อน SDG10 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 10.2 ให้อำนาจและส่งเสริมความครอบคลุมด้านสังคม เศรษฐกิจและการเมืองสำหรับทุกคน และ SDG16 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 16.7 สร้างหลักประกันว่าจะมีกระบวนการตัดสินใจที่มีความรับผิดชอบ ครอบคลุม มีส่วนร่วม

เข้าถึงได้ที่ : ชาวบ้านเกาะหลีเป๊ะ ร้อง! เอกชนทำรั้วเหล็กปิดถนน ที่ใช้สัญจรไปมาเป็นประจำ จนเดือดร้อนกันอย่างหนัก (มติชนออนไลน์) และ ‘ชาวเลหลีเป๊ะ’ เตรียมบุกทำเนียบ พนมมือท่วมหัววอนนายก-อนุชาเร่งแก้ความเดือดร้อน (The Reporter)

ส.ส. และ ส.ว. ปัดตกร่างปลดล็อกท้องถิ่น ดับฝันการกระจายอำนาจ

วันที่ 7 ธันวาคม 2565 มีการประชุมรัฐสภาเพื่อโหวตร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พุทธศักราช …. แก้ไขเพิ่มเติมหมวด 14 การปกครองส่วนท้องถิ่น หรือ ร่างปลดล็อกท้องถิ่น ที่เสนอโดย นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จำนวน 76,591 คน ผลการลงมติปรากฏว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภาโหวตรับหลักการ 254 คะแนน ไม่รับหลักการ 245 คะแนน และงดออกเสียง 129 คะแนน ซึ่งตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 กำหนดให้การพิจารณารับหลักการร่างแก้รัฐธรรมนูญ ต้องได้เสียงเห็นชอบจากรัฐสภาไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง หรือ ไม่น้อยกว่า 361 เสียง ร่างรัฐธรรมนูญปลดล็อกท้องถิ่นฉบับนี้จึงตกไป

สาระสำคัญโดยสรุปของร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ได้แก่ 1) การให้ท้องถิ่นมีอำนาจทำบริการสาธารณะทุกเรื่องยกเว้นเรื่องความมั่นคง 2) การให้ท้องถิ่นได้รับการจัดสรรงบประมาณร้อยละ 50 จากรายได้ทั้งหมดของรัฐ 3) สภา / ผู้บริหารท้องถิ่น ต้องมาจากการเลือกตั้ง 4) ห้ามส่วนกลางก้าวก่ายท้องถิ่น และการเพิกถอนคำสั่งต้องไปร้องศาลปกครอง 5) ให้สิทธิประชาชนสามารถเข้าชื่อกันเพื่อถอดถอนผู้บริหารท้องถิ่นได้

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อน SDG10 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 10.2 ให้อำนาจและส่งเสริมความครอบคลุมด้านสังคม เศรษฐกิจและการเมืองสำหรับทุกคน และ SDG16 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 16.7 สร้างหลักประกันว่าจะมีกระบวนการตัดสินใจที่มีความรับผิดชอบ ครอบคลุม มีส่วนร่วม

เข้าถึงได้ที่ : แก้รัฐธรรมนูญภาคห้า: ร่างแก้รัฐธรรมนูญ #ปลดล็อกท้องถิ่น ไม่ได้ไปต่อ เสียงเห็นชอบไม่ถึงครึ่ง-ส.ว.เห็นชอบแค่ 6 เสียง (iLaw)

กสม. ชี้หน่วยงานศาสนาต้องไม่เลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งสุขภาพ

วันที่ 8 ธันวาคม 2565 นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และ บุญเกื้อ สมนึก ที่ปรึกษาประจำคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยถึงเรื่องที่มีการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งสุขภาพจากกรณีที่สถานปฏิบัติธรรมแห่งหนึ่งประกาศผ่านเว็บไซต์ให้ผู้หญิงที่มีความสนใจจะบวชชีกับสถานปฏิบัติดังกล่าวต้องแสดงหนังสือรับรองผลการตรวจเชื้อเอชไอวี ว่าคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) พิจารณาแล้วเห็นว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 27 ให้การรับรองว่า บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมาย มีสิทธิ เสรีภาพ และได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคล ไม่ว่าด้วยเหตุความแตกต่างในเรื่องสภาพทางกายหรือสุขภาพ หรือเหตุอื่นใด จะกระทำมิได้ นอกจากนี้มาตรา 31 ยังให้การรับรองเสรีภาพของบุคคลในการนับถือศาสนา ซึ่งย่อมมีเสรีภาพในการปฏิบัติหรือประกอบพิธีกรรมตามหลักศาสนาของตน 

ทั้งนี้สถานปฏิบัติธรรมชี้แจงว่าการประกาศให้ยื่นผลตรวจโรค ซึ่งครอบคลุมถึงโรคเอดส์ วัณโรค ไวรัสตับอักเสบ และสารเสพติด นั้นไม่ได้มีเจตนาลิดรอนสิทธิและเลือกปฏิบัติแต่อย่างใด แต่เป้าหมายคือเพื่อดูแลผู้ที่มาบวชร่วมกันเป็นหมู่มากให้สามารถอาศัยร่วมกันได้อย่างถูกสุขอนามัย ด้านกระทวงสาธารณสุขเปิดเผยว่าเชื้อเอชไอวีจะไม่ติดต่อผ่านการทำกิจวัตรประจำวัน แต่จะสามารถติดต่อผ่านการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ติดเชื้อโดยไม่ใช้ถุงยางอนามัย การใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้ติดเชื้อ หรือการได้รับเลือดจากผู้ติดเชื้อเท่านั้น ซึ่ง กระทรวงสาธารณสุข และ กสม. ได้นำข้อเท็จจริงดังกล่าวนี้เผยแพร่ไปยังหน่วยงานศาสนาต่าง ๆ เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง และป้องกันการเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อน SDG5 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 5.1 ยุติการเลือกปฏิบัติทุกรูปแบบที่มีต่อผู้หญิงและเด็กหญิงในทุกที่ SDG10 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 10.2 ให้อำนาจและส่งเสริมความครอบคลุมด้านสังคม เศรษฐกิจและการเมืองสำหรับทุกคน และเป้าหมายย่อยที่ 10.3 สร้างหลักประกันว่าจะมีโอกาสที่เท่าเทียมและลดความไม่เสมอภาคของผลลัพธ์ รวมถึงการขจัดกฎหมาย นโยบาย และแนวทางปฏิบัติที่เลือกปฏิบัติ และ SDG16 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 16.b ส่งเสริมและบังคับใช้กฎหมายและนโยบายที่ไม่เลือกปฏิบัติเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

เข้าถึงได้ที่ : กสม. ชี้ สถานปฏิบัติธรรมให้ผู้ที่ต้องการบวชแสดงผลตรวจ HIV เป็นการเลือกปฏิบัติไม่เป็นธรรมด้วยเหตุแห่งสุขภาพ (The Standard)

 สภานักศึกษา มช. ร้องรัฐบาลไทย อเมริกา และอาเซียน กดดันรัฐบาลเมียนมาให้เลิกประหารนักศึกษา

วันที่ 6 ธันวาคม 2565 สภานักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้ยื่นจดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรีประเทศไทย เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย และเลขาธิการอาเซียน เพื่อเรียกร้องให้มีการกดดันและแทรกแซงรัฐบาลเมียนมาให้ยกเลิกการประหารนักศึกษา 7 คน และให้จัดการไต่สวนนักโทษทางการเมืองอย่างยุติธรรมและโปร่งใส โดยข้อความตอนหนึ่งของจดหมายดังกล่าวระบุว่า “ชีวิตมนุษย์นั้นศักดิ์สิทธิ์ เกินกว่าจะให้รัฐกำจัดทิ้งเพราะมีความเห็นต่างทางการเมือง”

กระแสต่อต้านการประหารชีวิตในเมียนมาปะทุขึ้นอีกครั้ง หลังจากศาลพิเศษเรือนจำอินเส่งตัดสินคดีเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2565 ว่านักศึกษา 7 คน ซึ่งเป็นนักเคลื่อนไหวทางการเมืองและต่อต้านรัฐบาลเผด็จการทหารต้องโทษประหารชีวิต เนื่องจากได้สังหารอดีตนายพลเกษียณรายหนึ่งเสียชีวิตเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ขณะที่โฆษกของกองทัพเมียนมาอ้างว่าศาลเมียนมามีความเป็นอิสระและการจับกุมนักเคลื่อนไหวทางการเมืองก็เป็นไปตามกระบวนการ

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อน SDG 16 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 16.1 ลดความรุนแรงทุกรูปแบบและอัตราการตายที่เกี่ยวข้อง เป้าหมายย่อยที่ 16.3 ส่งเสริมหลักนิติธรรมทั้งในระดับชาติและระหว่างประเทศ และ 16.10 สร้างหลักประกันว่าสาธารณชนสามารถเขาถึงข้อมูลและมีการปกป้องเสรีภาพขั้นพื้นฐาน

เข้าถึงได้ที่ : รวมพลังต้านประหาร 7 นักศึกษาในพม่า วอนรัฐบาลไทย-อาเซียน-อเมริกาเข้าแทรกแซง (สำนักข่าวชายขอบ)

ไทยไร้ชื่อลงนามแถลงการณ์ประณามจีน กรณีละเมิดสิทธิมนุษยชนชาวอุยกูร์

สมาชิกสหประชาชาติ 50 ประเทศร่วมลงนามในแถลงการณ์ประณามจีนต่อกรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชนชาวอุยกูร์ในซินเจียงว่าอาจเข้าข่ายอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ โดยเนื้อหาส่วนหนึ่งของแถลงการณ์ระบุถึงสถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนดังกล่าวว่ามีทั้งการกักขัง การแบ่งแยก เลือกปฏิบัติ โดยมีพื้นฐานจากความแตกต่างด้านเชื้อชาติและศาสนา จำกัดการแสดงออกถึงอัตลักษณ์และการปฏิบัติศาสนกิจ ทำลายมัสยิดและศาลเจ้า การบังคับบุคคลให้สูญหาย การบังคับใช้แรงงาน การแยกครอบครัว และการบังคับทำแท้ง ขณะที่ผ่านมา รัฐบาลจีนปฏิเสธทุกข้อกล่าวหาเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน

ทั้งนี้ประเทศที่ร่วมลงนามในแถลงการณ์โดยส่วนมากจะเป็นประเทศตะวันตก อาทิ อิตาลี ฟินแลนด์ ฝรั่งเศสเยอรมนี  ยูเครน สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา ขณะที่ประเทศจากเอเชียที่ร่วมลงนามมีเพียง 3 ประเทศ ได้แก่ ญี่ปุ่น ตุรกี และอิสราเอล

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อน SDG 16 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 16.1 ลดความรุนแรงทุกรูปแบบและอัตราการตายที่เกี่ยวข้อง เป้าหมายย่อยที่ 16.3 ส่งเสริมหลักนิติธรรมทั้งในระดับชาติและระหว่างประเทศ และ 16.10 สร้างหลักประกันว่าสาธารณชนสามารถเขาถึงข้อมูลและมีการปกป้องเสรีภาพขั้นพื้นฐาน

เข้าถึงได้ที่ : 50 ชาติร่วมแถลงประณามจีน กรณีละเมิดสิทธิมนุษยชนอุยกูร์อาจเข้าข่าย ‘ก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ’ (Thairath Plus)

ตำรวจสกัดจับรถลักลอบขนชาวโรฮิงญาที่มุ่งหน้าสู่สงขลา

วันที่ 7 ธันวาคม 2565 เจ้าหน้าที่หน่วยบริการประชาชน ตำรวจทางหลวงวังมะนาว ต.วังมะนาว อ.ปากท่อ จ.ราชบุรี สกัดจับชาวโรฮิงญา 48 คน ซึ่งโดยสารรถรถทัวร์รับจ้างไม่ประจำทางมากับนายหน้าชาวไทย 3 คนจากจังหวัดสุพรรณบุรีเพื่อเดินทางไปยังจังหวัดสงขลาเพื่อส่งต่อให้กับนายหน้าอีกกลุ่มที่จะมารับไปอีกทอด แม้จะยังไม่ชัดเจนว่าเหตุการณ์นี้เป็นส่วนหนึ่งของขบวนการค้ามนุษย์ด้วยหรือไม่ แต่ก็สะท้อนว่าการลักลอบธุรกิจสีดำอย่างการขนชาวโรฮิงญาในไทยยังคงดำเนินอยู่อย่างต่อเนื่อง แม้ว่าที่ผ่านมาจะมีความพยายามเปิดเผยปัญหานี้ โดยเฉพาะการเปิดเผยของ พล.ต.ต. ปวีณ พงศ์สิรินทร์ ที่จุดกระแสความสนใจเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อน SDG10 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 10.7 อำนวยความสะดวกในการอพยพและเคลื่อนย้ายคนให้เป็นไปด้วยความสงบ ปลอดภัยเป็นไปตามระเบียบ SDG16 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 16.2 ยุติการข่มเหง การแสวงหาประโยชน์อย่างไม่ถูกต้อง การค้ามนุษย์ และความรุนแรงและการทรมานทุกรูปแบบที่มีต่อเด็ก

เข้าถึงได้ที่ : จับ 48 โรฮิงญา – 3 คนนำพาชาวไทย บนรถทัวร์มุ่งหน้าภาคใต้ (ไทยพีบีเอส) 

ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ภายใต้โครงการเร่งรัดการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านสุขภาพของประเทศไทย

Author

  • Atirut Duereh

    Knowledge Communication | สนใจประเด็นสันติภาพ ความมั่นคงมนุษย์ เเละสิ่งเเวดล้อมทางทะเล ใช้ชีวิตโดยเชื่อในสมดุลมากกว่าความสมบูรณ์เเบบ

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น