50BY30: เรียนรู้อุบัติเหตุทางถนนจากอดีต เพื่ออนาคตที่การตายและบาดเจ็บจะลดลงครึ่งหนึ่งภายในปี 2573

ข้อมูล 50 สาเหตุการเสียชีวิตในประเทศไทยต่อประชากร 100,000 คนจาก worldlifeexpectancy.com ชี้ อุบัติเหตุทางท้องถนนเป็นสาเหตุการเสียชีวิตของไทยอันดับที่ 5 และไทยก็มีอันดับอัตราการเสียชีวิตจากท้องถนนสูงสุดเป็นอันดับที่ 37 ของโลก ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ไทยพูดถึงกันทุกปี โดยเฉพาะในทุกเทศกาลของการเดินทางกลับภูมิลำเนา เช่นเดียวกันกับสัปดาห์เทศกาลปีใหม่ไทยนี้ที่พยากรณ์โรคและภัยสุขภาพรายสัปดาห์ของกรมควบคุมโรค ฉบับที่ 15/2564 ประจำสัปดาห์ที่ 15 (วันที่ 11-17 เม.ย. 2564) ได้แสดงความห่วงกังวลของการใช้รถและถนนที่อาจมีโอกาสเกิดอุบัติเหตุทางถนนมากขึ้น

ข้อมูลการวิจัยภายใต้ “โครงการ​วิจัยเพื่อเมืองไทยไร้อุบัติเหตุ” โดยฮอนด้า ยามาฮ่า และศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทย เมื่อมีนาคมที่ผ่านมา ศึกษาอุบัติเหตุทางถนนจาก 1,000 กรณีศึกษา ระหว่าง พ.ศ. 2559 – 2563 และระบุข้อค้นพบสำคัญว่า ‘กลุ่มวัยรุ่น’ เป็นกลุ่มที่ประสบอุบัติเหตุมากที่สุด เช่นเดียวกับข้อมูลสถิติจากศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน ในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2564 วันที่ 29 ธันวาคม 2563 ถึง 4 มกราคม 2564 ที่ชี้ว่าช่วงวัยที่ประสบอุบัติเหตุสูงสุด คือ อายุ 20 – 24 ปี

โดยปัจจัยสำคัญ 4 ด้านที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุทางถนน ได้แก่ ตัวผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์และรถยนต์ ทักษะและประสบการณ์ในการขับขี่ รูปแบบของการเกิดอุบัติเหตุ สภาพถนนและสิ่งแวดล้อม ซึ่งอุบัติเหตุทางถนนหลัก ๆ มาจากตัวผู้ขับขี่ ทักษะ และประสบการณ์ ตามมาด้วยสภาพถนนและสิ่งแวดล้อม

ซึ่งอุบัติเหตุส่วนใหญ่มาจากผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์มากกว่าผู้ขับขี่รถยนต์ ในกรณีของรถจักรยานยนต์นั้น ร้อยละ 49 เกิดจากการประเมินสถานการณ์ผิดพลาด (Perception Failure) ร้อยละ 32 เกิดจากการตัดสินใจผิดพลาดขณะเผชิญสถานการณ์ฉุกเฉิน (Decision Failure) และร้อยละ 13 เกิดจากการควบคุมรถผิดพลาด (Reaction Failure) โดยเฉพาะการใช้เบรกเพื่อชะลอความเร็วหรือหยุดรถ

ทั้งนี้ การขับขี่รถจักรยานยนต์ที่ใช้ความเร็วสูงกว่า 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง หากประสบอุบัติเหตุจะยิ่งเสี่ยงต่อการเสียชีวิตสูงขึ้น โดยข้อมูลชี้ว่า มากกว่าร้อยละ 40 ของผู้เสียชีวิตมีการบาดเจ็บที่ศีรษะและในจำนวนนี้ ร้อยละ 66 เป็นเพราะ ‘ไม่สวมหมวกกันน็อกขณะขับขี่’ เช่นเดียวกับข้อมูลจากกิจกรรมรณรงค์สุขภาวะ ‘การสื่อสารสงกรานต์ปลอดเหล้า ถนนปลอดภัยในสถานการณ์โควิด-19’ ของมูลนิธิสื่อเพื่อสุขภาวะ ที่ชี้ข้อมูลการเสียชีวิตในช่วงสงกรานต์ปี 2563 ว่า ผู้ใช้รถจักรยานต์ยนต์เป็นกลุ่มหลัก 84.3% ที่เสียชีวิต และ 3 ใน 4 หรือ 75.6 % ไม่สวมหมวกกันน็อก พร้อมกับที่ชี้ว่า การขับรถเร็วเป็นสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิตในช่วงสงกรานต์ปี 2563 ถึง 49.7% มากกว่าปี 2562 ที่ทำให้อุบัติเหตุมีความรุนแรงเพิ่มขึ้นที่ 56.89% เสียชีวิต ณ จุดเกิดเหตุทันที

ส่วนในกรณีของรูปแบบที่ทำให้ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์เสียชีวิตมากที่สุดมาจากการชนตัดหน้าร้อยละ 80 เป็นการชนกับรถยนต์ที่เลี้ยวตัดหน้า ร้อยละ 66 เป็นการชนกับท้ายรถยนต์คันอื่น โดยอุบัติเหตุมักจะรุนแรงขึ้นเมื่อเกิดในเวลากลางคืน

นอกจากนี้ อุบัติเหตุทางถนนที่มีความรุนแรงสูงมักเกิดในเขตชานเมืองและชนบท ส่วนใหญ่เกิดบนถนนสายรอง รถจักรยานยนต์ที่เกิดเหตุบนถนนขนาด 4 ช่องจราจรมักเกิดบนไหล่ทางที่เป็นจุดไม่ปลอดภัยในการสัญจร ในงานวิจัยชิ้นนี้ยังได้มีข้อเสนอทางนโยบายที่น่าสนใจ 6 ข้อ ดังนี้

  1. ทบทวนหลักสูตรการอบรมผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ เน้นทักษะการคาดการณ์อุบัติเหตุ การตัดสินใจ และการควบคุมรถเมื่ออยู่ในสถานการณ์เสี่ยง
  2. ทบทวนขั้นตอนการออกใบอนุญาตขับขี่รถจักรยานยนต์ เน้นทักษะการคาดการณ์อุบัติเหตุ
  3. บังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดกับผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ที่ทำผิดกฎจราจร พร้อมกับนำเทคโนโลยีมาใช้ในการป้องปรามและตรวจจับมาใช้คุมความเร็วมากขึ้น
  4. ผลักดันนโยบายการออกแบบถนนให้คำนึงถึงความปลอดภัยของรถจักรยานยนต์ เน้นจุดกลับรถ ทางแยกและทางเข้าออกต่าง ๆ ลดความเร็วของกระแสจราจรในเขตชุมชน และปรับปรุงระยะการมองเห็นตามทางแยก เป็นต้น  
  5. รณรงค์ให้ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์หมั่นตรวจสอบดูแลรักษาอุปกรณ์เพื่อความปลอดภัย และ
  6. พิจารณาจัดตั้งศูนย์วิเคราะห์ข้อมูลอุบัติเหตุแห่งชาติ

ไม่เพียงเท่านั้น อีกหนึ่งปัจจัยความเสี่ยงของการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนยังรวมถึงโครงสร้างการผลิตตามเศรษฐกิจของจังหวัดที่แตกต่างกันตามภาคการเกษตร อุตสาหกรรม และบริการด้วย ตามข้อมูลอุบัติเหตุจราจรและเศรษฐกิจจังหวัด ตั้งแต่ปี 2553 – 2563 ที่ศูนย์ความปลอดภัยทางถนนเผยแพร่และมติชนออนไลน์เรียบเรียง ระบุว่า จังหวัดที่มีกิจกรรมท่องเที่ยว (อาทิ ภูเก็ต เชียงใหม่ ชลบุรี) จังหวัดที่เป็นทางผ่านขนส่งสินค้าและผู้คน (อาทิ ชลบุรี สมุทรปราการ สมุทรสาคร) และจังหวัดที่มีแรงงานและคนต่างถิ่นพำนักเพราะเป็นที่ตั้งอุตสาหกรรม (อาทิ ลำพูน พระนครศรีอยุธยา) ย่อมส่งผลต่อรูปแบบการสัญจรทางท้องถนนที่คับคั่งและอาจมีโอกาสเกิดอุบัติเหตุด้วย

เข้าถึงได้ที่; 50BY30

ดังนั้น ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ นอกจากการตั้งจุดตรวจและจับตามองอุบัติเหตุทางถนนแล้ว การทำความเข้าใจจากข้อมูลวิจัยจะช่วยให้ไทยสามารถเตรียมพร้อมสู่ ทศวรรษที่สองของการดําเนินการเพื่อความปลอดภัยทางถนน พ.ศ. 2564 – 2573 (2021 – 2030) ได้ดีขึ้น อย่างน้อยก็เพื่อให้การบาดเจ็บและการเสียชีวิตจากท้องถนนลดลงครึ่งหนึ่ง ‘50BY30’ ได้

“อุบัติเหตุทางถนนสามารถป้องกันได้ การเสียชีวิตจํานวนมากที่เกิดขึ้นจากอุบัติเหตุทางถนนเป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้ เป็นความรับผิดชอบร่วมของทุก ๆ คน และต้องช่วยกันสร้างโลกที่ปลอดภัยสําหรับคนรุ่นต่อไป”

– สมเด็จพระราชาธิบดีคาร์ลที่ 16 กุสตาฟ (Carl XVI Gustaf) แห่งสวีเดน, การประชุม The 3rd Global Ministerial Conference on Road Safety กรุง Stockholm ประเทศ Sweden วันที่ 19 – 20 กุมภาพันธ์ 2563

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวกับ #SDG3 สุขภาพสุขภาวะที่ดีสำหรับทุกคน (3.6) ลดจำนวนการตายและบาดเจ็บจากอุบัติเหตุทางถนนทั่วโลกลงครึ่งหนึ่ง ภายในปี 2573

แหล่งที่มา:
https://ddc.moph.go.th/brc/news.php?news=18052&deptcode=brc
https://www.worldlifeexpectancy.com/country-health-profile/thailand
https://thestandard.co/unlocking-covid-19-during-songkran-increases-the-risk-of-road-accidents/
https://www.matichon.co.th/economy/auto/news_2607443

Last Updated on เมษายน 11, 2021

Author

  • Thiraphon Singlor

    Editor | อยากรู้ความคิดของคนต่างพื้นเพ ต่างสังคมและวัฒนธรรม สนใจความเป็นไปของโลก ความมั่นคง และการพัฒนา แล้วนำมาถ่ายทอดร้อยเรียงเรื่องราวเล่าให้ฟัง

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น