SDG Spotlight – 5 ข่าว SDGs น่าสนใจในรอบสัปดาห์ที่ 2 ประจำเดือนมกราคม 2566

จากการสำรวจข่าวสารความเคลื่อนไหวที่เกี่ยวข้องและส่งผลต่อการขับเคลื่อน SDGs ระหว่างวันที่  7 มกราคม – 13 มกราคม 2566 มีข่าวสารความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจ ดังนี้

รายงานล่าสุด เผยว่าปี 2565 อุณหภูมิมหาสมุทรของโลกจะร้อนที่สุด หวั่นผลกระทบภัยพิบัติโลกรวน

อุณหภูมิพื้นผิวน้ำทะเลมีผลต่อสภาพอากาศของโลก การที่มหาสมุทรร้อนขึ้นจะทำให้เกิดสภาพอากาศที่สุดขั้วมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นพายุไต้ฝุ่น หรือเฮอริเคน รวมไปถึงความชื้นในอากาศที่เพิ่มขึ้น ทำให้ฝนตกหนักและน้ำท่วมรุนแรง ยิ่งไปกว่านั้นน้ำที่ร้อนขึ้นยังส่งผลกระทบต่อระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น เเละส่งผลกระทบรุนแรงต่อพื้นที่ชายฝั่ง โดยการที่อุณหภูมิอากาศของโลกร้อนขึ้นอย่างน่ากังวล หน่วยบริการและสังเกตการณ์ชั้นบรรยากาศโคเปอร์นิคัส (Copernicus Atmospheric Monitoring Service) เปิดเผยว่า 8 ปีที่ผ่านมา เป็นช่วงเวลาที่โลกร้อนที่สุด เเละในปี 2565 อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกขึ้นเป็นอันดับ 5 ของปีที่ร้อนที่สุดนับตั้งแต่เริ่มมีการบันทึกมา 

ปัจจุบันโลกร้อนขึ้นเฉลี่ย 1.2 องศาเซลเซียสจากระดับก่อนยุคอุตสาหกรรม (ปี 2393-2443)  ซึ่งเป็นผลมาจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมาในปริมาณมากขึ้น จากกิจกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์ ส่งผลกระทบให้เกิดภาวะโลกร้อน สภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง และภัยพิบัติที่รุนแรงขึ้น อย่างไรก็ดี แม้จะมีความตกลงปารีสที่พยายามยับยั้งโลกร้อนไม่ให้โลกร้อนเกิน 1.5 – 2 องศาเซลเซียส แต่ดูเหมือนว่ายังเกิดการลงมือทำไม่เพียงพอต่อความเร่งด่วนของปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งหากโลกร้อนเกิน 1.5 องศาเซลเซียสจะส่งผลอันตรายต่อผู้คนทั่วโลก  

ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG13  โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 13.1 เสริมภูมิต้านทานและขีดความสามารถในการปรับตัวต่ออันตรายและภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกี่ยวข้องกับภูมิอากาศในทุกประเทศ และ 13.2 บูรณาการมาตรการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในนโยบาย ยุทธศาสตร์ และการวางแผนระดับชาติ

เข้าถึงได้ที่ : รายงานล่าสุดเปิดเผยว่า ปี 2022 เป็นปีที่อุณหภูมิมหาสมุทรของโลกร้อนที่สุดนับตั้งแต่เริ่มบันทึกมาในปี 1958 กังวลผลกระทบภัยพิบัติโลกรวน – Environman

สตช.ขอขยายเวลา ‘พ.ร.บ.ต้านซ้อมทรมาน-อุ้มหาย’ เผยไม่ได้คัดค้าน อ้างเครื่องมือไม่พร้อม 

เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2566 เว็บไซต์ ‘iLaw’ รายงาน สืบเนื่องจากพระราชบัญญัติการป้องกันและปราบปรามการทรมานการกระทำให้บุคคลสูญหาย หรือ พ.ร.บ.ซ้อมทรมานอุ้มหาย ได้ผ่านสภาทั้ง 2 สภา คือสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ก่อนที่จะนำมาสู่การประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อ 25 ตุลาคม 2565 โดยจะมีผลบังคับใช้ 120 วันหลังประกาศ หรือวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2566 โดยเมื่อวันที่ 6 มกราคม 2566 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ หรือ สตช. ทำหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม (โดยผ่านอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ) ขอขยายเวลาบังคับใช้ ‘พ.ร.บ.ป้องกันซ้อมทรมานอุ้มหาย’ ซึ่งอ้างว่าเครื่องมือไม่พร้อมและเจ้าหน้าที่ยังขาดความเข้าใจ โดยมี พลตำรวจเอกดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) เป็นผู้ลงนาม ประเด็นสำคัญของหนังสือฉบับนี้ คือ ขอเสนอความเห็นให้ “ขยายเวลา” การบังคับใช้ เฉพาะในหมวด 3 การป้องกันการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ออกไปก่อน เท่ากับว่าเฉพาะหมวดนี้เท่านั้นที่จะถูกขยายเวลาออกไป ส่วนหมวดอื่นๆ ยังมีผลบังคับใช้ตามวันที่กำหนดไว้ ซึ่งด้านภาคประชาชนได้ร่วมคัดค้านอย่างหนัก เนื่องจากเหตุผลไม่เหมาะสมและขอให้เอาประชาชนเป็นที่ตั้ง

ขณะที่ เมื่อวันที่ 13 มกราคม พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้ตอบคำถามสื่อมวลชนว่า กรณีที่ สตช.ขอขยายเวลาบังคับ พ.ร.บ.อุ้มหายฯ ไว้ว่า ไม่ได้มีเจตนาคัดค้าน และยินดีปฏิบัติตาม เพียงแต่ต้องการขยายระยะเวลาเพื่อเตรียมความพร้อมและได้ซักซ้อมก่อนปฏิบัติงานเท่านั้น

ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG16 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อย 16.1 ลดความรุนแรงทุกรูปแบบ และ 16.3 ส่งเสริมหลักนิติธรรมในระดับชาติ และสร้างหลักประกันว่าทุกคนสามารถเข้าถึงความยุติธรรมอย่างเท่าเทียม

เข้าถึงได้ที่ : สตช. ขอเลื่อนบังคับใช้ ‘พ.ร.บ.ต้านซ้อมทรมาน-อุ้มหาย’ อ้างเครื่องมือไม่พร้อม | ประชาไท Prachatai.com หรือ ไม่ได้คัดค้าน แต่ยังไม่พร้อม สตช.ขอขยายเวลา ‘พ.ร.บ.อุ้มหายฯ’ เพราะตำรวจยังไม่มีความรู้-ไม่มีงบ – thematter

ภาครัฐประกาศแต่งตั้ง “คณะอนุกรรมการฯ” แก้ปัญหาผู้ได้รับผลกระทบจาก ‘เขื่อนสิรินธร’

หน่วยงานภาครัฐตอบรับข้อเรียกร้องผู้ชุมนุม “เขื่อนสิรินธร” ประกาศแต่งตั้ง “คณะอนุกรรมการกำหนดหลักเกณฑ์ให้ความช่วยเหลือราษฎรที่ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างเขื่อนสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี” แล้วในวันที่ 12 มกราคม 2566  หลังการชุมนุมเป็นวันที่ 3 โดยกลุ่มผู้ไดัรับผลกระทบจากการก่อสร้างเขื่อนสิรินธร เรียกร้องให้ คณะอนุกรรการฯ เริ่มทำงานให้เร็วที่สุด ประชุมนัดแรกต้องเกิดขึ้นภายใน 7 วัน ระบุ เนื่องจากได้รับผลกระทบและรอการชดเชยเยียวยากว่า 50 ปีแล้ว ประกาศพร้อมยกระดับการชุมนุมหากยังไม่คืบ

การชุมนุมครั้งนี้ สืบเนื่องจากมีผู้ได้รับผลกระทบจากเขื่อนสิรินธร โดยเฉพาะกลุ่มลำโดมน้อยมีประมาณ 4,250 คนรวมถึงผู้ได้รับผลกระทบจากกลุ่มอื่น ๆ ที่ยังคงรอความช่วยเหลือ ซึ่งจากข้อมูลการชดเชยช่วยเหลือราษฎรผู้ได้รับผลกระทบ กรณีเขื่อนสิรินธร The Isaan Record เปิดเผยว่า มีการจ่ายค่าที่ดินไปเพียง 39,000 ไร่ จากพื้นที่น้ำท่วมทั้งหมด 180,000 ไร่ของเขื่อนสิรินธร และยังคงเหลือที่ดินอีก 141,000 ไร่ ที่รัฐบาลยังไม่จ่ายเงินค่าที่ดินให้กับราษฎร ซึ่งเป็น “สิทธิ” ของประชาชนที่ถูกลืม นอกจากนั้นทางรัฐบาลเคยนำพื้นที่มาจัดเป็นนิคมขึ้นให้ผู้สูญเสียที่ดินทำกิน และที่อยู่อาศัย ครอบครัวละ 15 ไร่ แต่ที่ดินที่ได้รับนั้น ไม่เหมาะสำหรับเป็นพื้นที่ทำการเกษตร เนื่องจากเป็นพื้นที่ลาดชัน ดินเป็นหินลูกรังเเละหินดาน ทำให้ในปัจจุบันพื้นที่ดังกล่าวจึงกลายเป็นพื้นที่ร้าง

อย่างไรก็ดี การสร้างเขื่อนสิรินธร ทำให้เกิดน้ำท่วมบนที่ดินของชาวบ้าน กว่า 180,000 ไร่ เป็นผลกระทบที่เกิดขึ้นมากว่า 50 ปี แต่ ณ ปัจจุบันยังมีผู้ไม่ได้รับการเยียวยาอยู่อีกหลายพันคน นอกจากนั้นเงินเยียวยาที่รัฐจ่ายให้กับบางรายก็เป็นจำนวนที่น้อยมาก และจากผู้ได้รับผลกระทบกว่า 10,000 ราย มีผู้ไดัรับการชดเชยไปประมาณ 3,000 – 4,000 รายเท่านั้น

ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG1 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 1.4 ภายในปี 2573 สร้างหลักประกันว่าทุกคน โดยเฉพาะที่ยากจนและเปราะบาง มีสิทธิเท่าเทียมกันในการเข้าถึงทรัพยากรทางเศรษฐกิจ รวมถึงการเข้าถึงบริการขั้นพื้นฐาน การเป็นเจ้าของและมีสิทธิในที่ดินและทรัพย์สินในรูปแบบอื่นที่เหมาะสม และบริการทางการเงิน ซึ่งรวมถึงระบบการเงินระดับฐานราก และ SDG16 สังคมสงบสุข ยุติธรรม และสถาบันเข้มแข็ง โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 16.7 สร้างหลักประกันว่าจะมีกระบวนการตัดสินใจที่มีความรับผิดชอบ ครอบคลุม มีส่วนร่วม และมีความเป็นตัวแทนที่ดี ในทุกระดับการตัดสินใจ

เข้าถึงได้ที่ : ตั้ง “คณะอนุกรรมการฯ” แก้ปัญหาผู้ได้รับผลกระทบจากเขื่อนสิรินธร – greennews

ไทยเข้าร่วมประชุม ‘Voice of the Global South Summit’ ส่งเสริมการมุ่งสู่ยุคโลกาภิวัตน์
ที่มีมนุษย์เป็นศูนย์กลาง

เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2566 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เข้าร่วมพิธีเปิดของการประชุม “Voice of the Global South Summit” ผ่านระบบการประชุมทางไกล การประชุมดังกล่าวจัดขึ้นภายใต้หัวข้อหลัก “เสียงของประเทศกำลังพัฒนา สู่การพัฒนาที่มีมนุษย์เป็นศูนย์กลาง” (Voice of the South: For Human-centric Development) โดยตาม นายนเรนทร โมที นายกรัฐมนตรีอินเดีย ซึ่งเป็นประธานกลุ่ม G20 ประจำปี 2566  ได้เชิญประเทศไทยและประเทศกำลังพัฒนาที่มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมความร่วมมือใต้-ใต้และมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับอินเดีย รวมทั้งสิ้น 10 ประเทศ เข้าร่วม

เนื้อหาสาระที่ไทยได้นำเสนอให้อินเดียในฐานะประธาน G20 เป็นกระบอกเสียงให้กับประเทศกำลังพัฒนาในการกำหนดระบบธรรมาภิบาลโลกและผลักดันระบบเศรษฐกิจโลก ประกอบด้วย 3 แนวคิด ได้แก่ (1) แสวงหาแนวทางการพัฒนาแบบองค์รวมสู่ความสมดุลมากขึ้นตามโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG Economy Model) ของไทยกับแนวคิดวิถีชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Lifestyle for Environment: LiFE) ของอินเดีย (2) ผลักดันให้กระบวนทัศน์ด้านการพัฒนามุ่งยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนผ่านการระดมทุนและการกระชับความร่วมมือใต้-ใต้และไตรภาคี และ (3) เสริมสร้างความยืดหยุ่นของห่วงโซ่อุปทานโดยผลักดันการพัฒนากลไกระดับโลกเพื่อประกันการเข้าถึงอาหาร พลังงาน และปุ๋ยในราคาที่เหมาะสม อย่างไรก็ดี การประชุมข้างต้น มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเวทีสำหรับประเทศกำลังพัฒนาในการแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นความท้าทายระดับโลกและหาทางออกร่วมกันที่จะเร่งแก้ปัญหาด้านการพัฒนาตามข้อริเริ่มของอินเดียที่ประสงค์ให้วาระการเป็นประธาน G20 สะท้อนมุมมองของประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งจะนำไปสู่การหารือและขยายผลต่อไปในการประชุมผู้นำ G20 ณ กรุงนิวเดลี ที่อินเดียจะเป็นเจ้าภาพระหว่างวันที่ 9 – 10 กันยายน 2566

ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG 8 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 8.4 ปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรของโลกในการบริโภคและการผลิตอย่างต่อเนื่อง และพยายามที่จะไม่เชื่อมโยงระหว่างการเติบโตทางเศรษฐกิจและความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม ว่าด้วยการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืนโดยมีประเทศที่พัฒนาแล้วเป็นผู้นำในการดำเนินการไปจนถึงปี 2573 และ SDG 17 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 17.13 เพิ่มพูนเสถียรภาพเศรษฐกิจมหาภาคของโลก โดยรวมถึงผ่านทางการประสานงานนโยบายและความสอดคล้องเชิงนโยบาย และ 17.9 เพิ่มพูนการสนับสนุนระหว่างประเทศสำหรับการดำเนินการด้านการเสริมสร้างขีดความสามารถที่มีประสิทธิผลและมีการตั้งเป้าในประเทศกำลังพัฒนาเพื่อสนับสนุนแผนระดับชาติที่จะดำเนินงานในทุกเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน รวมถึงผ่านทางความร่วมมือแบบเหนือ-ใต้ ใต้-ใต้ และไตรภาคี

เข้าถึงได้ที่ : นายกรัฐมนตรีเข้าร่วมการประชุม Voice of the Global South Summit ส่งเสริมการมุ่งสู่ยุคโลกาภิวัตน์ที่มีมนุษย์เป็นศูนย์กลาง – กระทรวงการต่างประเทศ 

แอมเนสตี้ ประณามการละเมิดสิทธิที่อ่าว ‘กวนตานาโม’ ตลอด 21 ปีที่ผ่านมา

ก่อนการครบรอบ 21 ปีของการเปิดสถานเรือนจำ ‘กวนตานาโม’ ซึ่งเป็นเรือนจำที่ทางการสหรัฐอเมริกาได้กักขังชาวมุสลิมเกือบ 780 คน ไว้โดยไม่เคยแจ้งข้อกล่าวหาหรือพิจารณาคดีมาเป็นเวลาหลายปี  โดย เอริกา เกบารา-โรซาส (Erika Guevara-Rosas) ผู้อำนวยการ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล สหรัฐอเมริกา เผยว่า เป็นเรื่องที่น่าเศร้าที่ 21 ปี หลังจากการเปิดเรือนจำนอกประเทศ ซึ่งได้รับการออกแบบมาโดยเฉพาะเพื่อหลบเลี่ยงหลักนิติธรรม (Rule of Law) โดยทางการสหรัฐยังคงกักขังชาย 35 คนไว้ในเรือนจำกวนตานาโม โดยผู้ถูกกักขังส่วนใหญ่ยังไม่เคยถูกแจ้งข้อกล่าวหาอาชญากรรมเลยด้วยซ้ำ ไม่มีใครเคยได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม และผู้ถูกกักขังหลายคนถูกทรมาน

เอริกา เกบารา-โรซาส ระบุเพิ่มเติมว่า ประธานาธิบดีโจ ไบเดน จะต้องแก้ไขความผิดพลาดนี้เสียที รัฐบาลจะต้องส่งตัวผู้ถูกกักขังที่ยังเหลืออยู่ซึ่งไม่ได้รับการแจ้งข้อกล่าวหาอาชญากรรมไปยังประเทศที่ปลอดภัยและเคารพสิทธิมนุษยชนของพวกเขา และสำหรับกรณีที่มีพยานหลักฐานที่รับฟังได้อย่างเพียงพอภายใต้มาตรฐานกฎหมายระหว่างประเทศเพื่อดำเนินคดีความผิดทางอาญาที่ยอมรับในระดับสากล จะต้องผ่านกระบวนการศาลที่เป็นธรรม โดยไม่ใช้โทษประหารชีวิต นับว่าเรือนจำกวนตานาโม เป็นจุดด่างพร้อยที่ไม่อาจลบออกได้ในประวัติศาสตร์ของสหรัฐอเมริกา ซึ่งหวังว่าประธานาธิบดีไบเดนจะจบเรื่องราวนี้ลงได้แล้วในทศวรรษนี้

ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG 16 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 16.2 ยุติการข่มเหง การแสวงหาประโยชน์อย่างไม่ถูกต้อง การค้ามนุษย์ และความรุนแรงและการทรมานทุกรูปแบบที่มีต่อเด็ก และ 16.10 สร้างหลักประกันว่าสาธารณชนสามารถเขาถึงข้อมูลและมีการปกป้องเสรีภาพขั้นพื้นฐาน โดยเป็นไปตามกฎหมายภายในประเทศและความตกลงระหว่างประเทศ

เข้าถึงได้ที่ : แอมเนสตี้ประนามการละเมิดสิทธิที่อ่าว ‘กวนตานาโม’ ตลอด 21 ปีที่ผ่านมา – amnesty 

ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ภายใต้โครงการเร่งรัดการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านสุขภาพของประเทศไทย

Author

  • Praewpan Sirilurt

    Knowledge Communication | มนุษย์ผู้เชื่อว่า “การสื่อสารสามารถเชื่อมต่อความรู้สึกของกันและกันได้” ไม่ว่าจะเป็นใคร อยู่ที่ไหน หรือเผชิญกับอะไรอยู่ การสื่อสารจะช่วยบอกเล่าเรื่องราวส่งไปให้แก่ผู้อื่นได้รับรู้

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น