ประกาศผู้ชนะ SDG Action Awards ประจำปี 2022 สะท้อนแรงบันดาลใจ ในการลงมือทำตามเป้าหมาย SDGs

เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2565 ได้มีการประกาศผู้ชนะ UN SDG Action Awards ครั้งที่ 5 ณ กรุงบอนน์ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี เพื่อสนับสนุนการดำเนินการ ความคิดริเริ่ม หรือนวัตกรรมที่สร้างแรงบันดาลใจ และการเปลี่ยนแปลงในการขับเคลื่อน SDGs ระดับโลก สำหรับปีนี้มีผู้ชนะทั้งหมด 4 ท่าน ซึ่งการผนึกกำลังครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมาและแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นอย่างต่อเนื่องถึงการดำเนินการตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

UN SDG Action Awards ประจำปี 2565 (ค.ศ. 2022) จัดขึ้นโดย UN SDG Action Campaign เป็นการมอบรางวัลให้แก่บุคคล องค์กร ภาคประชาสังคม รัฐบาล มูลนิธิ เครือข่าย และผู้นำภาคเอกชนจากทั่วทุกมุมโลกที่สร้างผลงานที่มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ (Creative) สามารถวัดผลได้ (Scalable) และเน้นการเปลี่ยนแปลง (Transformative) อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งเป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นว่าทุกฝ่ายสามารถมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนการดำเนินการเพื่ออนาคตที่ยั่งยืนบนโลกใบนี้ได้

โครงการที่ส่งเข้าประกวดจะต้องเข้ามีการดำเนินการสอดคล้องกับ 3 หมวดหมู่ คือ
Mobilize: สามารถสร้างการขับเคลื่อนให้เกิดกับบุคคล และองค์กรจำนวนมากมีการดำเนินการเพื่อให้บรรลุ SDGs ในขณะเดียวกันก็สร้างพันธมิตรระหว่างต่างชุมชน ต่างสังคมด้วย
Inspire: สร้างแรงบันดาลใจให้ผู้คนเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมและนโยบายเพื่อให้บรรลุ SDGs ในขณะเดียวกันก็ร่วมส่งเสริมคุณค่าของความหวังและความสามัคคี
Connect: เชื่อมโยงภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อยกระดับความก้าวหน้าในการดำเนินการตาม SDGs สร้างความแข่งแกร่งให้กับกรปรึกษาหารือและความเชื่อใจกันระหว่างประชาชนและสถาบันในทุกระดับ

สำหรับปีนี้ มีผู้ได้รับคัดเลือกเข้ารอบสุดท้ายกว่า 3,000 รายการ จาก 150 ประเทศทั่วโลก และจากผลการตัดสิน ได้ผู้ชนะรางวัล UN SDG Action Awards ประจำปีนี้ 4 ท่าน ได้แก่ 

1. Paola Andrade Arellano – ผู้ชนะในหมวด Mobilize จากสาธารณรัฐเอกวาดอร์ ก่อตั้งโครงการ ‘SUPvivors SAY NO MORE’ เสริมพลังให้แก่ผู้รอดชีวิตจากการถูกล่วงละเมิดทางเพศ (sexual abuse) ให้เป็น ‘SUPER survivors’ เพื่อให้ผู้รอดชีวิตตระถึงศักยภาพตนเองในฐานะตัวแทนการเปลี่ยนแปลง ซึ่งแคมเปญนี้ชาวเอกวาดอร์มีส่วนร่วมกว่า 11 ล้านคน และสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้รอดชีวิตหลายแสนคนออกมาพูด นำเสนอประเด็นการถูกล่วงละเมิดทางเพศเผยแพร่ออกไปให้สาธารณะรับทราบ เพื่อช่วยเปิดโปงคดีล่วงละเมิดทางเพศหลายพันคดีที่ถูกซุกอยู่ใต้พรมและไม่ได้รับโทษ นับว่าสร้างแรงกดดันทางสังคมได้เป็นอย่างดีจนทำให้หน่วยงานระดับชาติหันมาสนใจปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศมากขึ้น 

2. Billie Dumaliang – ผู้ชนะในหมวด Inspire จาก Masungi Georeserve พื้นที่อนุรักษ์ในประเทศฟิลิปปินส์ ก่อตั้งโครงการ The Masungi Story ให้เยาวชนเขียนถ่ายทอดเรื่องราวอนาคตของลุ่มน้ำที่ถูกลืม พร้อมวางแนวทางพลิกโฉมต้นน้ำเพื่อต่อสู้กับการตัดไม้ทำลายป่า สนับสนุนการท่องเที่ยวเชิงธรณีวิทยา (Geo-tourism) โดยแสดงให้เห็นว่าการท่องเที่ยวไม่จำเป็นต้องสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในทางลบและคนหนุ่มสาวกลุ่มเล็ก ๆ สามารถสร้างพันธมิตรระหว่างกันเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงด้วยความกล้าหาญ ความคิดสร้างสรรค์ และพละกำลังที่มีได้อย่างยอดเยี่ยม

3. Steven Stavrou – ผู้ชนะในหมวด Connect จากโครงการ CyprusInno ศูนย์บ่มเพาะสตาร์ทอัพแห่งแรกของโลกที่ตั้งอยู่ในเขตปลอดทหาร (demilitarized zone) ตั้งขึ้นบนความคิดริเริ่มส่งเสริมการสร้างสันติภาพผ่านนวัตกรรมของเยาวชนโดยพัฒนา CyprusInno ให้เป็นพื้นที่ทำงานร่วมกัน (co-working space) เชื่อมโยงผู้คนในพื้นที่ที่ถูกแบ่งแยกได้มารวมกลุ่มกันเพื่อทำงานและทำลายกำแพงความขัดแย้งระหว่างพรมแดน มุ่งแสดงให้เห็นว่าแม้แต่สิ่งที่มีความซับซ้อนและความท้าทายที่มีมาอย่างยาวนาน ก็สามารถแก้ไขได้ด้วยสันติภาพและนวัตกรรม

สำหรับศูนย์ CyprusInno ตั้งอยู่ที่สาธารณรัฐไซปรัส หมู่เกาะในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน เป็นพื้นที่ที่ถูกแบ่งแยกออกเป็นสองโซน โดยพื้นที่ทางตอนเหนือถูกปกครองโดยชาวไซปรัสเชื้อสายตุรกี ส่วนพื้นที่ทางตอนใต้ถูกปกครองโดยชาวไซปรัสเชื้อสายกรีก ซึ่งพื้นที่ดังกล่าว มีความขัดแย้งกันมาเป็นเวลากว่าสี่ทศวรรษ ศูนย์ CyprusInno มีจุดมุ่งหมายในการจัดตั้งขึ้น เพื่อให้ชาวกรีกและชาวตุรกีได้มารวมกลุ่มกัน ผ่านการพัฒนาเป็นพื้นที่ธุรกิจ เพื่อสร้างความร่วมมือระหว่างชุมชนและผู้ประกอบการ พยายามใช้การพัฒนาเศรษฐกิจเป็นกลไกในการสร้างสันติภาพ

4. Srishti Bakshi – ผู้ชนะในหมวด Changemaker เป็นรางวัลการชื่นชมยอมรับประเภทบุคคล Srishti เป็นนักการตลาดที่ผันตัวมาเป็นนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิสตรีชาวอินเดีย จากเรื่องราวการเดินทางแสวงบุญระยะทาง 3,800 กิโลเมตร ตลอด 240 วันทั่วประเทศอินเดีย ซึ่งได้พบกับผู้คนกว่าหนึ่งแสนคน ทำให้รับรู้ถึงความรุนแรงและความไม่เท่าเทียมกันทางเพศที่เกิดขึ้นในประเทศ จึงนำเรื่องราวการเดินทางที่เกิดขึ้น มาจัดทำเป็นภาพยนตร์สารคดี WOMB: Women Of My Billion เพื่อถ่ายทอดให้เห็นถึงอารมณ์และความเป็นจริงที่ผู้หญิงในอินเดียปัจจุบันต้องเผชิญ ภาพยนตร์สารคดีดังกล่าว ได้เข้าฉายในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติอันทรงเกียรติกว่า 15 แห่ง และกวาดรางวัลจากผู้ชมถึง 11 รางวัล นับเป็นอีกหนึ่งการขับเคลื่อนที่ยิ่งใหญ่ด้านสิทธิสตรี

รับชม UN SDG Action Awards Ceremony 2022 และ สามารถรอติดตามรายละเอียดผลงานผู้ชนะ UN SDG Action Awards 2022 ได้ใน SDGs in action

● อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
Stand to End Rape (STER) ต่อสู้กับความรุนแรงทางเพศในสถาบันอุดมศึกษาในไนจีเรีย ด้วยการเปลี่ยนแปลงระดับชาติ
ผู้หญิงยังคงเผชิญกับ ‘ความรุนแรงบนฐานของเพศสภาพ’ (GBV) ในแต่ละวัน แต่รัฐบาลและงานด้านมนุษยธรรมยังให้ความสำคัญน้อยเกินไป
เชื่อมคนนับล้านผ่าน Sustainable Development Festival รับฟังเสียงภาคประชาสังคม เพื่อผลักดันการขับเคลื่อนประเทศอิตาลีสู่ความยั่งยืน 
ทลายอุปสรรคด้วย Signs TV ช่องทีวีภาษามือเคนยา ที่เชื่อว่าการพัฒนาที่เป็นธรรมต้องคำนึงถึงคนพิการมาก่อน
NextWave Plastics จับมือคู่แข่งทางธุรกิจ สร้างเครือข่ายระดับโลกแห่งแรกที่ปฏิรูปห่วงโซ่อุปทานเพื่อลดขยะพลาสติกในมหาสมุทร

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG5 ความเท่าเทียมทางเพศ
– (5.1) ยุติการเลือกปฏิบัติทุกรูปแบบที่มีต่อผู้หญิงและเด็กหญิงในทุกที่
– (5.2) ขจัดความรุนแรงทุกรูปแบบที่มีต่อผู้หญิงและเด็กหญิงทั้งในที่สาธารณะและที่รโหฐาน รวมถึงการค้ามนุษย์ การกระทำทางเพศ และการแสวงประโยชน์ในรูปแบบอื่น
#SDG12 การผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน
– (12.b) พัฒนาและดำเนินการใช้เครื่องมือเพื่อจะติดตามตรวจสอบผลกระทบของการพัฒนาที่ยั่งยืน สำหรับการท่องเที่ยวที่ยั่งยืนที่สร้างงานและส่งเสริมวัฒนธรรมและผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น
#SDG15 ระบบนิเวศบนบก
– (15.2) ส่งเสริมการดำเนินการด้านการบริหารจัดการป่าไม้ทุกประเภทอย่างยั่งยืน หยุดยั้งการตัดไม้ทำลายป่า ฟื้นฟูป่าที่เสื่อมโทรม และเพิ่มการปลูกป่าและฟื้นฟูป่าทั่วโลกอย่างจริงจัง ภายในปี 2563
– (15.4) สร้างหลักประกันว่าจะมีการอนุรักษ์ระบบนิเวศภูเขาและความหลากหลายทางชีวภาพของระบบนิเวศเหล่านั้น เพื่อจะเพิ่มพูนขีดความสามารถของระบบนิเวศเหล่านั้นที่จะให้ผลประโยชน์อันสำคัญต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ภายในปี 2573
#SDG16 ความสงบสุข ยุติธรรมและสถาบันเข้มแข็ง
– (16.1) ลดความรุนแรงทุกรูปแบบและอัตราการตายที่เกี่ยวข้องในทุกแห่งให้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ  
– (16.2) ยุติการข่มเหง การแสวงหาประโยชน์อย่างไม่ถูกต้อง การค้ามนุษย์ และความรุนแรงและการทรมานทุกรูปแบบที่มีต่อเด็ก

แหล่งที่มา: 
UN SDG Action Awards Winner of the 2022 – SDG Action Awards 
Winners of UN SDG Action Awards Announced as the Global Week to #Act4SDGs comes to an end with over 130 million actions taken around the world 

ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ภายใต้โครงการเร่งรัดการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านสุขภาพของประเทศไทย

Last Updated on ตุลาคม 19, 2022

Author

  • Praewpan Sirilurt

    Knowledge Communication | มนุษย์ผู้เชื่อว่า “การสื่อสารสามารถเชื่อมต่อความรู้สึกของกันและกันได้” ไม่ว่าจะเป็นใคร อยู่ที่ไหน หรือเผชิญกับอะไรอยู่ การสื่อสารจะช่วยบอกเล่าเรื่องราวส่งไปให้แก่ผู้อื่นได้รับรู้

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น