SDG Updates | สำรวจความพร้อมของไทยในการรับมือโควิด-19 ผ่าน Human Development Index (HDI)

ญาณิน จิวะกิดาการ หุยากรณ์

UNDP เผยไทยมีทุนความพร้อมดีในการรับมือ Covid-19 แต่เศรษฐกิจที่พึ่งพาการท่องเที่ยวเป็นความเปราะบางเฉียบพลันต่อไวรัสระดับสูงที่สุดของโลก

ในทุกปี สำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nations Development Programme: UNDP) จะมีการเผยแพร่ดัชนี้บ่งบอกระดับการพัฒนาของประเทศสมาชิกที่เรียกว่า Human Development Index (HDI) หรือดัชนี้การพัฒนามนุษย์ 

แม้ในทางปฏิบัติ HDI ในทางปฏิบัติถูกอ้างอิงในฐานะที่เป็นตัวชี้วัดการพัฒนาที่เพิ่มขึ้นมาจากผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (Gross Domestic Product: GDP) ซึ่งเป็นตัวชี้วัดการพัฒนาในมิติของเศรษฐกิจ แต่ในความตั้งใจ HDI สร้างขึ้นด้วยความเชื่อว่าคุณภาพของคนและชีวิตของพวกเขาต่างหากคือสิ่งที่สะท้อนการพัฒนาของประเทศที่ต้องให้ความสำคัญที่สุด ซึ่งในตัวมันเองนี้เกี่ยวข้องกับการสร้างคนให้พร้อมต่อวิกฤตได้อย่างมากโดยเฉพาะในบริบทที่ประชาชนต้องพยุงตัวเอง ด้วยตัวเอง เพราะมิอาจรอคอยความช่วยเหลือจากภายนอกหรือส่วนกลางตลอดเวลา

สิ่งที่เราจะต่อยอดได้จากดัชนีตรงนี้ คือแนวทางการพัฒนาและการติดตามผลที่มุ่งไปที่ทรัพยากรมนุษย์ในหลักสากล ยังไม่คำนึงถึงโครงสร้างมิติอื่นที่ต่างกันไปในกลุ่มคนจากแต่ละพื้นที่ และตัวองค์กรที่จัดทำเองก็ยอมรับว่าเป็นตัวชี้วัดที่ไม่ได้ครบถ้วนในตัวเอง ยังคงไม่สามารถรวมเอาตัวแปรที่สำคัญเช่น ความยากจน ความเหลื่อมล้ำ ความมั่นคงในมนุษย์ อำนาจในการตัดสินใจ เข้ามารวมในตัวชี้วัดได้ ผู้ที่สนใจการจัดทำ HDI สามารถศึกษาได้จากแหล่งข้อมูลของ UNDP โดยตรง

อย่างไรก็ตาม ล่าสุด เพื่อเป็นการตอบรับกับสภาพการณ์ปัจจุบัน UNDP ได้เผยการประเมินสถานะการพัฒนามนุษย์ในแง่ของการรับมือกับวิกฤตการระบาดของโควิด-19 ใช้ชื่อว่า COVID-19 and Human Development นำเสนอทั้งในรูปแบบรายงานและในรูปแบบ dashboard ที่ผู้สนใจเข้าไปเลือกชั้นข้อมูลให้แสดงผลของประเทศต่างๆ เป็นกราฟิกเข้ามาแสดงร่วมกันเพื่อให้เห็นภาพกว้างของทั้งความพร้อมและความเปราะบางของประชากรในแต่ละประเทศ ทั้งนี้เป็นการประเมินจากฐานข้อมูลปีค.ศ. 2018 เป็นส่วนมาก จะถูกนำมาจัดเรียงแล้วแบ่งเป็นกลุ่มเท่าๆ กัน แสดงสีเรียงลำดับค่าสูงต่ำจากการเปรียบเทียบในกลุ่มประเทศทั้งหมด 189 ประเทศ โดยไม่ได้เป็นการบ่งบอกว่าสถานะตามตัวชี้วัดดังกล่าวอยู่ในระดับดีเพียงพอหรือไม่ได้มาตรฐานแต่อย่างไร

ลำดับด้านความพร้อมในการรับมือโควิด-19

หลักการของการประเมินส่วนนี้ค่อนข้างตรงไปตรงมา คือเป็นการผนวกกันของ (1) กลุ่มตัวชี้วัดการพัฒนาในมนุษย์รวมกับระดับความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ-สังคม (2) ทรัพยากรในระบบสาธารณสุขของประเทศ และ (3) ระดับการเข้าถึงเครือข่ายความเชื่อมโยงของประชาชน เมื่อเทียบกันในกลุ่มประชาคมอาเซียน จากกลุ่มตัวชี้วัดดังกล่าว พบว่าประเทศสิงคโปร์มีความพร้อมในการรับมือโควิด-19 มากที่สุด และประเทศกัมพูชามีความพร้อมน้อยที่สุดเมื่อเทียบกับคนในประเทศอื่นๆ 

สำหรับประเทศไทย UNDP ยังจัดให้อยู่ในกลุ่มที่มีความพร้อมเป็นลำดับต้นๆ ของภูมิภาค ซึ่งเมื่อดูในรายละเอียดแล้วจะพบว่าประเทศเรามีทุนทางมนุษย์และทุนทางสังคมเชิงการเข้าถึงเครือข่ายต่างๆ ในระดับค่อนข้างสูง และยังสามารถพัฒนาความพร้อมในตัวชี้วัดด้านจำนวนของแพทย์ต่อประชากร และสัดส่วนของการใช้จ่ายของรัฐบาลเพื่องานสาธารณสุขได้

A screenshot of a cell phone

Description automatically generated

ลำดับด้านความเปราะบางต่อการระบาดของโควิด-19

แม้จะเป็นการประเมินจัดอันดับคนละประเภทกันกับข้างต้นแต่เป็นที่น่าสนใจว่าการเรียงลำดับในกลุ่มประเทศประชาคมอาเซียนในเรื่องของความเปราะบางต่อวิกฤตโควิด-19 ยังคงเรียงในแบบเดียวกันกับด้านความพร้อมในการรับมือไม่ผิดเพี้ยน คือประเทศกัมพูชาเปราะบางที่สุด และประเทศสิงคโปร์เปราะบางน้อยที่สุด อย่างไรก็ตาม ตัวชี้วัดที่นำมาเสนอในส่วนของความเปราะบางฯ อาจถูกแบ่งเป็นกลุ่มใหญ่ได้แก่ (1) จำนวนประชากรในภาวะความยากจน (2) จำนวนผู้ที่ตกหล่นจากความคุ้มครองทางสังคมและสวัสดิการแรงงาน และ (3) ความเปราะบางทางเศรษฐกิจแบบเฉียบพลัน

สำหรับประเทศไทย ตัวชี้วัดที่สามารถนำไปพิจารณาลดความเปราะบางลงได้มากอันดับหนึ่งคือการพึ่งพารายได้จากนักท่องเที่ยวต่างประเทศ และตามด้วยการพึ่งพารายได้จากการส่งเงินกลับบ้าน ทั้งสองประเด็นนี้มีความอ่อนไหวมากเมื่อความเคลื่อนไหวของผู้คนถูกควบคุม และส่งผลต่อไปยังความเปราะบางส่วนอื่นๆ โดยเฉพาะความยากจนและความเหลื่อมล้ำ 

A screenshot of a cell phone

Description automatically generated

สิ่งเหล่านี้สะท้อนอะไรบ้าง

ประการแรก ต้องเน้นย้ำว่าข้อมูลที่นำเสนอมามิได้เป็นตัวแทนของประสิทธิภาพหรือความสำเร็จต่อการรับมือไวรัสระบาด จากรายงานนี้ สิงคโปร์เป็นประเทศที่มีความพร้อมมากที่สุด และมีความเปราะบางต่ำที่สุด กลับมีจำนวนผู้ป่วยติดเชื้อมากกว่าในประเทศเวียดนามที่มีจำนวนผู้เสียชีวิตเป็นศูนย์ เราทราบกันดีว่าตัวแปรที่สำคัญที่สุดที่จะส่งผลกับประสิทธิภาพการรับมือต่อวิกฤต (ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตแบบใดก็ตาม) มีมากมายตามบริบทพื้นที่ แต่ที่ปฏิเสธไม่ได้ก็น่าจะเป็นการทำงานรับมือโควิด-19 ของรัฐบาลที่ส่งผลต่อประเทศอย่างชัดเจน ดังเช่นประเทศเวียดนามที่มีผลงานโดดเด่นมากจากการควบคุมที่รวดเร็วและเข้มงวด

ดังนั้น ประการที่สอง ความหมายที่แท้จริงของการแสดงข้อมูลการประเมินดังกล่าวน่าจะเป็นการสื่อสารกับหน่วยงาน ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการจัดการวิกฤตโรคระบาด ได้ระลึกไปถึงทุนทางมนุษย์ สังคม เศรษฐกิจ ที่มีอยู่ก่อนและมีส่วนในการปฏิบัติการเพื่อรับมือกับโควิด-19 ในครั้งนี้ รวมถึงทบทวนความเปราะบางที่ไม่ได้นึกถึงว่าเป็นความเปราะบางสักนิด 

หากช่วงเวลาปกติได้กลับมาถึง อย่างน้อยประเทศไทยก็พอจะเห็นแนวทางจากตัวชี้วัดเหล่านี้ว่าจะสะสมทุนเพื่อตั้งรับสถานการณ์ฉุกเฉินระลอกหน้าอย่างไร

อ้างอิง

COVID-19 AND HUMAN DEVELOPMENT: Exploring global preparedness and vulnerability http://hdr.undp.org/sites/default/files/covid-19_and_human_development.pdf

Last Updated on มกราคม 4, 2022

Author

  • Yanin Chivakidakarn Huyakorn

    Deputy Director of Knowledge Communications | คุณแม่นอนน้อย ผู้ชอบนั่งฝันกลางวันว่า วันหนึ่งจะตื่นมาในแดนอิเซไค มีชีวิตใหม่เป็นน้องสาวของจอมคนแดนฝัน

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น