ความเป็นมา
ในปี พ.ศ. 2558 (ค.ศ. 2015) องค์การสหประชาชาติเสนอวาระการพัฒนา 2030 (Agenda 2030) ในการประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ซึ่งวาระการพัฒนาระดับโลกนี้ก็คือการร่วมกันบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ภายในปี พ.ศ. 2579 หรือ ค.ศ. 2030 นั่นเอง วาระการพัฒนา 2030 และ SDGs ได้รับการตอบรับอย่างดีจากประเทศสมาชิก โดยมีประเทศสมาชิกทั้งหมด 193 ประเทศลงนามรับรองวาระการพัฒนาดังกล่าวในวันที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2558 ประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งที่ลงนามรับรองวาระการพัฒนาดังกล่าว
หลังจากเสร็จสิ้นการประชุม พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มีคำสั่งให้แต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (กพย.) ชุดใหม่ขึ้น ซึ่งประกอบด้วยตัวแทนจากทุกกระทรวง ตัวแทนภาคเอกชน (สภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย) และตัวแทนภาควิชาการ (สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย สถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ และสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย) และภายใต้ กพย. นี้ก็มีอนุกรรมการอีก 3 คณะ (ในขณะนั้น และอีก 1 คณะตั้งในภายหลัง) ประกอบด้วย
- คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน
- คณะอนุกรรมการส่งเสริมความเข้าใจและประเมินผลการพัฒนาที่ยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
- คณะอนุกรรมการพัฒนาระบบข้อมูลสารสนเทศเพื่อการสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืน
- (เพิ่มเติมภายหลัง) คณะอนุกรรมการว่าด้วยการประเมินด้านสิ่งแวดล้อมเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Environmental Assessment: SEA)
ในการนี้ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ในฐานะที่เป็นแหล่งทุนวิจัยหลักแหล่งหนึ่งของประเทศ และเป็นสมาชิกของคณะอนุกรรมการข้างต้น จึงเห็นว่า สกว. ควรมีหน่วยที่สนับสนุนงานวิจัยเชิงยุทธศาสตร์เพื่อสนับสนุนการทำงานของ กพย. และการขับเคลื่อน SDGs ในประเทศไทยในภาพรวม จึงได้ร่วมมือกับคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในการตั้ง “โครงการประสานงานการวิจัยเพื่อสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืน” หรือ SDG Move ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2559
SDG Move ในปี 2559 – 2562
SDG Move ได้ทำหน้าที่เป็น Strategic Research Issue Unit (SRI Unit) ภายใต้ชื่อ “โครงการประสานงานการวิจัยเพื่อสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืน” ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2559 ทำงานติดตามความก้าวหน้าทางวิชาการทั้งในและต่างประเทศ และกำหนดทิศทางและทำหน้าที่ให้ทุนวิจัยของ สกว. ที่เกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อน SDGs ในประเทศไทย ซึ่งในช่วง 4 ปี ระหว่างปีพ.ศ. 2559 – 2562 นั้นได้ให้ทุนเกี่ยวกับการศึกษาวิจัยสถานการณ์เป้าหมายทั้ง 17 เป้าหมาย และการศึกษาเกี่ยวกับการนำ SDGs ไปปฏิบัติในพื้นที่จริง
นอกจากนี้ SDG Move ยังทำงานกับภาคีเครือข่ายภายในประเทศจากหลายภาคส่วนตลอด 4 ปีที่ทำงานกับ สกว. ทั้ง ภาครัฐ เช่น สำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) สำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.ทส.) กรมองค์การระหว่างประเทศกระทรวงต่างประเทศ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เป็นต้น ภาคเอกชน เช่น Global Compact Network Thailand (GCNT) และ CP All เป็นต้น ภาคประชาสังคม เช่น คณะกรรมการประสานงานองค์การพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) เครือข่ายองค์กรพัฒนาเอกชนด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เครือข่ายของสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน เป็นต้น องค์กรระหว่างประเทศและ NGO ระหว่างประเทศ เช่น World Wildlife Fund (WWF) Gruppo Jobel สหภาพยุโรป และองค์การสหประชาชาติ เป็นต้น และเครือข่ายภาควิชาการที่ทำงานเกี่ยวกับประเด็นเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนทั่วประเทศ
SDG Move ในปี 2563
ปีพ.ศ. 2562 เป็นปีแห่งการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่หลายประการที่เกี่ยวกับงานวิจัย และ SDGs ทั้งในระดับโลกและในประเทศไทย การเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับงานวิจัยที่สำคัญคือ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยกฎหมายบังคับใช้ในวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 ส่งผลสะเทือนระบบวิจัยทั้งระบบและนำไปสู่การเปลี่ยนสภาพของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ไปเป็น สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (สกสว.) แทน ทำให้บทบาทของการให้ทุนรายโครงการ และโครงการประสานงานภายใต้ สกว. เดิมหยุดการดำเนินการ และเข้าสู่ระบบการวิจัยใหม่ที่เรียกสั้นๆ ว่า ระบบ ววน. (วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม)
ด้วยเหตุนี้ โครงการประสานงานการวิจัยเพื่อสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งเป็นชื่อเต็มของ SDG Move ต้องหยุดการดำเนินงานเมื่อสิ้นสุดโครงการระยะที่ 2 ในปี พ.ศ. 2562 ไปโดยปริยาย ดังนั้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2563 เป็นต้นมา SDG Move ได้ขยับกลับมาอยู่ภายใต้ศูนย์วิจัยด้านนโยบายเศรษฐกิจสีเขียว (PRO-Green) คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ภายในชื่อทางการ คือ “โครงการวิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน” พร้อมโลโก้ใหม่ที่มีความทันสมัยมากขึ้น และสื่อสารพันธกิจหลักของ SDG Move คือการขับเคลื่อน SDG ไปข้างหน้า ผ่านวงล้อ SDGs ที่กำลังหมุน
ในช่วงเวลสที่ SDG Move ได้ดำเนินการในฐานะส่วนหนึ่งของศูนย์ PRO-Green แล้วพบว่า SDG Move น่าจะมีศักยภาพพอที่จะดำเนินการตามระเบียบเกี่ยวกับศูนย์วิจัยของคณะได้ และน่าจะทำได้เต็มที่กว่านี้หากมีทรัพยากรมากขึ้น และมีสถานะที่เป็นทางการมากขึ้นหากขยับขึ้นมาเป็นศูนย์วิจัยอีกศูนย์หนึ่งของคณะ หลังจากหารืออาจารย์ที่มีความสนใจหลายท่าน จึงตัดสินใจที่จะเสนอตั้งเป็นศูนย์วิจัยขึ้นภายในคณะเศรษฐศาสตร์ ซึ่งการที่มีสถานะเป็นศูนย์วิจัยที่ชัดเจนและเป็นทางการจะทำให้สามารถทำงานร่วมกับองค์กรระหว่างประเทศ อย่างองค์การสหประชาชาติที่เพิ่งประสานงานมาเพื่อพบปะและหารือเกี่ยวกับการขับเคลื่อน SDGs ในประเทศไทยที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2563 ที่ผ่านมาได้อย่างคล่องตัวและเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น
SDG Move ในปี 2564
ปี 2564 นี้เป็นปีที่ 6 ของการก่อตั้ง SDG Move ด้วยความตั้งใจที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาองค์ความรู้ เชื่อมโยงเครือข่ายทุกภาคส่วนเพื่อขับเคลื่อน SDGs อย่างเต็มศักยภาพ ในปีนี้ จึงได้มีการเปลี่ยนสถานะจากโครงการสู่การจัดตั้งเป็นศูนย์วิจัยภายใต้คณะเศรษฐศาสตร์ โดยใช้ชื่อว่า
“ศูนย์วิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน: Centre for SDG Research and Support (SDG Move)”
วิสัยทัศน์และพันธกิจ
วิสัยทัศน์ (Vision): SDGs ในประเทศไทยขับเคลื่อนได้สำเร็จโดยใช้ความรู้และความร่วมมือจากภาคส่วนต่าง ๆ
พันธกิจ (Mission): “เชื่อมไทย เชื่อมโลก เพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน” ผ่านการดำเนินงาน ดังต่อไปนี้
- ติดตามองค์ความรู้และการขับเคลื่อน SDGs ทั้งในและต่างประเทศ
- ส่งเสริม จัดการและพัฒนาองค์ความรู้ที่สนับสนุนการขับเคลื่อน SDGs ในประเทศไทยและในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะงานวิจัยเชิงนโยบาย
- เชื่อมโยงเครือข่ายวิชาการทุกระดับทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงเชื่อมโยงภาควิชาการกับภาคส่วนอื่น ๆ เพื่อการขับเคลื่อน SDGs
- ส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยเน้นแต่ไม่จำกัดอยู่ที่ระดับอุดมศึกษา
SDG Move ในฐานะ National SDSN Host
ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2563 SDG Move ประสบความสำเร็จในการทำงานร่วมกับศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสถาบันเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (สทย.) ภายใต้ สวทช. ในการรับรองอย่างเป็นทางการในการจัดตั้ง “Sustainable Development Solutions Network Thailand (SDSN Thailand)” ซึ่งเป็นสาขาเครือข่ายนักวิชาการนักวิชาการระดับโลก ก่อตั้งขึ้นเมื่อปีค.ศ. 2012 นำโดย Prof. Jeffrey Sachs จาก Columbia University สหรัฐอเมริกา โดยเป็นเครือข่ายวิชาการที่ทำงานกับองค์การสหประชาชาติ ทำหน้าที่ ‘Mobilizing Experts’ ทำงานร่วมกับองค์การสหประชาชาติเพื่อหา ‘โซลูชั่น’ ให้การพัฒนาที่ยั่งยืน ปัจจุบันมีสมาชิกเครือข่ายมากกว่า 800 สถาบันทั่วโลก และในหลายประเทศมีเครือข่ายระดับชาติ
เครือข่าย SDSN Thailand มีหน่วยงานเจ้าภาพ คือ
- ศูนย์วิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Move) ในนามคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- ศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- สถาบันเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (สทย.) ภายใต้สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)
และปัจจุบัน มูลนิธิพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) อยู่ระหว่างการประสานความร่วมมือเพื่อเป็นเจ้าภาพในการขับเคลื่อนร่วมกัน
SDSN Thailand มีเป้าหมาย ..
- เพื่อการสร้างการปรึกษาหารือแบบหลายภาคส่วนในประเด็น SDGs (Multi-stakeholder Dialogue)
- ทำงานวิจัยเชิงนโยบายและผลิตข้อเสนอในการขับเคลื่อน SDGs
- สนับสนุนให้เกิดเครือข่ายเชิงประเด็นเพื่อการขับเคลื่อน SDGs และ
- การส่งเสริมการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
การจัดตั้ง SDSN Thailand ได้รับความอนุเคราะห์จากหลายองค์กรที่สำคัญ ได้แก่ กรมองค์การระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ สถาบันคลังสมองของชาติ และและสถานทูตสวิตเซอร์แลนด์ประจำประเทศไทย ที่ช่วยผลักดันอย่างต่อเนื่อง
สมาชิกปัจจุบันของ SDSN Thailand (พฤษภาคม พ.ศ. 2564) ได้แก่
- สถาบันพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA)
- สถาบันไทยพัฒน์
- มูลนิธิมั่นพัฒนา
- มูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย
- สาขาภูมิศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
- Freeland
- คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- สาขารัฐประศาสนศาสตร์ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
- สถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
- คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
- วิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
- มหาวิทยาลัยสยาม