SDG Interviews | คุยกับ ศุภวุฒิ บุญมหาธนากร: สวนผักคนเมืองเชียงใหม่ กับการก่อร่างฝันบนความยั่งยืน

 สัมภาษณ์และเรียบเรียงโดย ญาณิน จิวะกิดาการ หุยากรณ์

เมื่อวันที่  22 มีนาคม ที่ผ่านมา หน้าเพจโซเชียลมีเดียส่วนตัวของ ศุภวุฒิ บุญมหาธนากร สถาปนิกชุมชนจาก ใจบ้านสตูดิโอ มีการโพสต์โยนหินถามทางเกี่ยวกับ “พื้นที่อาหารในเมืองสำหรับทุกคนเพื่อเผชิญ Covid-19 ร่วมกัน” สำหรับเมืองเชียงใหม่ ไอเดียในตอนนั้นเป็นในเชิงคอนเซ็ปต์อยู่ แต่สรุปได้ว่าควรร่วมกันสร้างสวนหรือกระทั่งบ่อปลาหรือเล้าไก่ที่สร้างผลผลิตรวมถึงการจ้างงานเพื่อช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยที่ได้รับผลกระทบหนักจากวิกฤตโควิด-19 ซึ่งสำหรับตัวผู้เขียนเองเมื่อได้อ่านเนื้อหาของโพสต์ก็รู้สึกว่าเป็นความคิดที่นำหน้าและกล้าหาญ แน่นอนว่าการบรรเทาผลกระทบจากโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ในตอนนั้นจะเป็นการเน้นความช่วยเหลือแบบฉุกเฉินเพื่อให้ชีวิตยังดำเนินต่อไปได้ ไม่ว่าจะเป็นการบริจาคอาหาร สิ่งของจำเป็น การแจกจ่ายเงินช่วยเหลือ การผ่อนผันชำระ ฯลฯ แม้เราจะเห็นภาพการปลูกผักสวนครัวรายย่อยเพื่อบริโภคในครัวเรือนบ้าง แต่การทำพื้นที่สร้างความมั่นคงทางอาหารสำหรับคนเมืองในตอนนั้นที่เพิ่งเริ่มมีการล็อกดาวน์เป็นเรื่องเกินคาด เพราะอะไร เพราะกว่าจะได้สร้างสวนสร้างไร่ ได้ผลผลิตมาบริโภคหรือขายจะต้องใช้เวลาเป็นเดือน นั่นแปลว่าคนคนนี้มองแล้วว่าวิกฤตนี้จะยาวนานและต้องสร้างความช่วยเหลือในรูปแบบที่ยั่งยืนเชิงรุก

ศุภวุฒิ บุญมหาธนากร สถาปนิกชุมชนจาก ใจบ้านสตูดิโอ ผู้ร่วมก่อตั้ง “สวนผักคนเมือง เชียงใหม่”

แน่นอนว่ามีเสียงตอบรับสนับสนุนรวมถึงตัวผู้เขียนเองก็เช่นกัน ในมโนจิตตอนนั้นคิดฝันแค่ว่าเมืองเชียงใหม่จะมีพื้นที่สีเขียวเป็นสวนผักชุมชนเป็น island กระจายไปทั่วเมืองและนั่นเป็นแค่ความฝันของตัวเอง แต่ในวันนี้สิ่งที่เราเห็นบอกเราว่าฝันที่เริ่มจุดโดยศุภวุฒิในนาม “สวนผักคนเมืองเชียงใหม่” มันยิ่งใหญ่ไปกว่านั้นและเกิดเป็นสิ่งมหัศจรรย์ก็คงจะไม่มากเกินไปถ้าเรารู้ว่าการสร้างพื้นที่สีเขียวเป็นพื้นที่สาธารณะของเมืองในประเทศไทยนั้นมันยากเพียงใด ไม่แน่ว่าจะเป็นโมเดลต้นแบบการเกิดพื้นที่อาหารหรือพื้นที่สาธารณะอื่นๆ ในเมืองได้เลย

มันมหัศจรรย์ตรงไหน พื้นที่สีเขียวที่เป็นส่วนผักในเมืองไม่ใช่เรื่องใหม่ เป็นกระแสความเคลื่อนไหวมานานและในกรุงเทพมหานครก็มีภาคีเครือข่ายที่เข้มแข็งแอ็คทีฟเช่นกัน ในช่วงวิกฤตโควิดฯ เทศบาลนครเชียงใหม่ก็ใช้พื้นที่สวนสาธารณะมาปลูกผักแจกจ่ายฟรี แต่กำลังจะบอกว่าการเกิดสวนผักขนาด 3 ไร่ บนพื้นที่ของหลวง พื้นที่ทิ้งร้างเต็มไปด้วยขยะก่อสร้าง ณ ใจกลางเมืองที่เป็นพื้นที่สำคัญเชิงยุทธศาสตร์เมื่อดูเนื้อที่เมืองเชียงใหม่ ทั้งหมดใช้เวลาเพียง 2 เดือนในการปรับสภาพพื้นที่เดิมเป็นแปลงเพาะปลูกที่วันนี้มีการเชิญชวนคนเชียงใหม่ทั้งเมืองมาร่วมกันปลูกพืชพันธุ์ได้ โดยเป็นการขับเคลื่อนจากล่างขึ้นบนและไม่ได้รอเงินงบประมาณส่วนกลางลงมาเพื่อเริ่มลงมือ คุณเคยเห็นเมืองไหนในประเทศทำได้แบบนี้ไหม จะไม่ให้เรียกว่าเป็นตำนานคงจะไม่ได้แล้ว

ความรู้สึกทั้งอึ้ง ทั้งตื่นเต้นและสงสัยว่า มันเป็นไปได้อย่างไร จนอยู่ไม่ติดต้องติดต่อสัมภาษณ์เจ้าของไอเดียและผู้ประสานงานสวนผักคนเมืองเชียงใหม่มาคุยกัน แล้วก็พบว่า ที่เกิดสวนผักคนเมืองเชียงใหม่ขึ้นมาได้นี้ไม่ได้เป็นเรื่องฟลุ้ก แต่เกิดได้ด้วยสิ่งต่างๆ จากการทำงานพัฒนาเมืองที่ผ่านมาของใจบ้านสตูดิโอร่วมกับภาคีภาคประชาสังคม ประกอบกับจังหวะที่เหมาะสม สงสัยแล้วใช่ไหมคะว่าคุยอะไรกันบ้าง ต้องแอบบอกล่วงหน้าว่าเตรียมตัวรับพลังแรงบันดาลใจกันไว้ดีๆ ค่ะ

ผังแนวคิดการออกแบบพื้นที่และขั้นตอนการดำเนินงาน

มีมุมมองอย่างไรกับการระบาดของโควิด-19 ในเชียงใหม่

ในภาพรวมส่วนตัวมองว่าเป็นการจัดสมดุลของธรรมชาติ การระบาดครั้งนี้ทำให้กิจกรรมทุกอย่างช้าลง ชะลอลง  และสะท้อนให้เห็นว่าเมือง สังคมที่เราอยู่นั้นเป็นอย่างไร  เห็นผลกระทบที่เกิดขึ้นกับลุ่มเปราะบางซึ่งเป็นผลมาจากการที่เมืองไม่มีกลไกในการรับมือ ดูแลสิ่งเหล่านี้มาแต่แรก 

ในภาพรวมเรารู้สึกว่าเป็นเรื่องธรรมชาติจัดสมดุลให้ทุกอย่างช้าลง การพัฒนาโลกที่ผ่านมามันเร่งเร้า โคโรนาไวรัสทำให้ทุกอย่างหยุดลง หากเมืองของเราเป็นร่างกาย ไวรัสกำลังสะท้อนให้เห็นว่า เมืองที่เราอยู่มีระบบอย่างไร เศรษฐกิจเป็นอย่างไร  การระบาดสะท้อนถึงสิ่งเหล่านี้ แค่การระบาดก็ทำให้เชียงใหม่ได้รับผลกระทบอย่างหนัก  และเห็นว่ามนุษย์ไม่ได้ครอบครองทุกสิ่งทุกอย่าง เราเป็นเพียงส่วนหนึ่งของธรรมชาติเท่านั้น อีกเรื่องที่ทำให้เห็นว่าเมืองไม่มีกลไกที่ทำให้ทุกคนเท่ากัน  ทำให้กลุ่มเปราะบางได้รับผลกระทบ รู้สึกว่าตนเองเพิกเฉยกับสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ได้  

เมืองของเราไม่มี master plan เพื่อการใช้ประโยชน์ที่ดินที่เหมาะสม เมืองของเราถูกออกแบบให้มีแต่การป้องกัน

เมื่อพูดถึงการระดมความช่วยเหลือในภาวะการแพร่ระบาดโควิดคนมักนึกถึงการบริจาคอาหารสำเร็จค่อนข้างมาก อะไรทำให้เรามองว่าการปลูกผักในปริมาณที่สามารถเลี้ยงคนสามร้อยครัวเรือน ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาอย่างน้อยกว่าสองเดือนถึงจะสามารถช่วยเหลือ/แก้ไขปัญหาด้านการขาดแคลนอาหารได้จริง

จริงๆ เรามองว่าผักเป็นผลลัพธ์ปลายทาง เพราะเราต้องการให้พื้นที่สาธารณะถูกใช้เพื่อประชาชน อันนี้เป็นความตั้งใจในภาพใหญ่ เมืองของเราไม่มี master plan เพื่อการใช้ประโยชน์ที่ดินที่เหมาะสม เมืองของเราถูกออกแบบให้มีแต่การป้องกัน เมื่อเกิดปัญหาขึ้นจึงมีแต่มาตรการป้องกันห้ามทำสิ่งต่าง ๆ เราจึงต้องการให้เมืองมีพื้นที่ส่วนกลางสำหรับการทำสิ่งที่เป็นประโยชน์เหล่านั้นกับคนในเมือง

ส่วนที่สองเรามองว่าสวนผักเป็นเครื่องมือในการสร้าง เชื่อมโยงความสัมพันธ์ในย่านนั้น ๆ เรื่องนี้ได้รับแรงบันดาลใจจาก  Greening the Ghetto  ที่เป็นเรื่องราวของ Majora Carter ผู้หญิงผิวสีที่ลุกขึ้นมาทำ urban farm บนพื้นที่รกร้างในมหานครนิวยอร์ก ซึ่งสุดท้ายได้ทำให้คนได้เข้ามาทำความรู้จักกัน  เป็นจุดที่ถักทอความสัมพันธ์ และลดช่องว่างระหว่างชนชั้น ความรวย-ความจน เป็นการใช้พื้นที่ร่วมกันเพื่อสานความสัมพันธ์ในสังคม จนเป็นกระแสรูปแบบการเปลี่ยนแปลงที่กระเพื่อมไปถึงเมืองอื่นๆ ในสหรัฐอเมริกา เช่นเมืองดีทรอยต์เป็นต้น

ในฐานะสถาปนิกชุมชนคิดว่าปัจจัยอะไรที่ส่งผลให้พื้นที่นี้เกิดการเปลี่ยนแปลงฟื้นฟู พัฒนาพื้นที่นี้จนเป็นรูปธรรมขึ้นมาได้

การเปลี่ยนแปลงต้องอาศัยพลังของคน จะเห็นว่าอะไรที่ไม่มีพลังของคนไปร่วมด้วยมักจะอยู่ได้ไม่นาน ไม่ยั่งยืน ยกตัวอย่าง เช่น โครงการเชียงใหม่ 2029 ป่าในเมือง ได้จัดทำผังแม่บทการเพิ่มพื้นที่สีเขียวระยะยาว (สมุดปกเขียว) ที่เราเข้าไปประชุมนำเสนอกับหน่วยงานต่างๆ เมื่อปีที่แล้วนั้น ในระยะยาวต้องมีการเชื่อมโยงกับหน่วยงานของรัฐ แต่ไม่ได้เชื่อมโยงกับตัวคนโดยตรง มันจึงไม่เห็นการขับเคลื่อนที่เป็นรูปธรรมนัก แต่งานที่ขับเคลื่อนได้มักเกิดจากคนและแรงขับเคลื่อนของเครือข่ายในชุมชน ซึ่งสำหรับพื้นที่นี้ เราสังเกตเห็นมาหลายปีแล้วว่ามันไม่ได้ถูกใช้ประโยชน์อย่างที่ควรจะเป็น ทั้งๆ ที่อยู่กลางเมืองใกล้กับชุมชน ในเมืองเชียงใหม่มักมีพื้นที่รกร้างเยอะมากที่เจ้าของพื้นที่ (เทศบาลฯ) น่าจะสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้มากกว่านี้  แต่เมื่อศึกษาข้อกฎหมายจึงเข้าใจว่า การใช้พื้นที่ดังกล่าวมีขั้นตอนที่ซับซ้อน ต้องอาศัยอำนาจตัดสินใจจากส่วนกลาง จึงไม่มีหน่วยงาน/บุคคลในระดับท้องถิ่น อยากริเริ่มหรือคิดลงมือทำ

งานสร้างจินตภาพร่วมที่มีการศึกษาแสดงผลฉากทัศน์ที่เป็นปริมาณของโปรเจ็กต์ “เชียงใหม่ 2029 ป่าในเมือง” เพื่อเป็นพลังในการสร้างความร่วมมือจากทุกภาคส่วน แม้โปรเจ็คจะเริ่มบนฐานของวิกฤตเช่นเดียวกัน (โลกร้อนและหมอกควันในพื้นที่) แต่หากเป็นจินตภาพที่ไม่ได้ผูกเชื่อมกับคนในพื้นที่ก็ขับเคลื่อนออกไปได้ยาก

จากมุมมองส่วนตัว การเปลี่ยนแปลงนั้นต้องการการนำอย่างมีกระบวนการ (facilitating) ความเป็นสถาปนิกทำให้เรามองเห็นภาพที่จะเกิดขึ้นในเชิงกายภาพ และเข้าใจว่าจะใช้เครื่องมือเชิงกายภาพเข้าไปเปลี่ยนแปลง สร้างความสัมพันธ์ของคนได้อย่างไร ส่วนวิธีการนั้นไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว ปรับเปลี่ยนเรียนรู้ไปเป็นรายกรณี

ในการเจรจากับหน่วยงานของรัฐต้องมีการนำเสนอภาพสิ่งที่จะเกิดขึ้นว่าที่เป็นประโยชน์และไม่ยุ่งยากมาก นำเสนอให้เห็นถึงผลกระทบทางสังคม (impact) ที่จะเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม เช่น สวนผักบนเนื้อที่ 3 ไร่นี้จะสามารถผลิตพืชผลที่หล่อเลี้ยงคนได้กี่ครัวเรือน เมื่อเทียบกับการลงทุนผลประโยชน์ทางตรงทางอ้อมที่จะเกิดขึ้น  และเชิญเครือข่ายประชาชนไปร่วมช่วยสนับสนุนแนวคิดและออกแบบการลงมือทำ เมื่อประชาชนเห็นว่ามีนักวิชาการคอยสนับสนุนก็จะเกิดพลังมากขึ้น ไม่โดดเดี่ยว

เมื่อยกประเด็นดังกล่าวขึ้นมาเสนอในช่วงสถานการณ์โควิดฯ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้ง เทศบาลฯ และจังหวัดต่างไม่รู้ว่าต้องเริ่มต้นทำอะไรอย่างไร เพราะเป็นสถานการณ์ไม่ปกติ การใช้พลังงานของผู้คนเข้ามาผลักดันเรื่องดังกล่าว ช่วยกันคิด วางแผน และลงมือทำ บนความสัมพันธ์ความสัมพันธ์ที่มีความเข้าใจและเชื่อใจกัน ว่าแนวคิดดังกล่าวไม่ได้มีประโยชน์แอบแฝง จึงสามารถริเริ่มขับเคลื่อนโครงการนี้ได้ในที่สุด

A close up of a tree

Description automatically generated
งานสร้างจินตภาพสำหรับการเจรจาโปรเจ็กต์สวนผักคนเมืองเชียงใหม่กับเทศบาลนครเชียงใหม่และผู้ว่าราชการจังหวัด (บน) และภาพจริงของพื้นที่ ณ วันที่ 28 พฤษภาคมซึ่งก็คือประมาณ 2 เดือนให้หลัง (ล่าง)

กล่าวได้ว่าเอาวิกฤตมาเป็นโอกาสในการทำเปลี่ยนแปลงพื้นที่รกร้างผืนนี้ให้เป็นพื้นที่สีเขียวของเมือง

ใช่ เพราะการพูดเฉพาะประเด็นเชิงโครงสร้างและการจัดการพื้นที่สีเขียวเฉยๆ มันไม่ค่อยมีพลัง คือ มีพลังกับเฉพาะกลุ่ม  แต่ไม่ได้ส่งผลต่อคนหมู่มาก การพูดเช่นนี้ไม่ได้แปลว่าเราไม่ให้ความสำคัญกับ urban farm เราก็ให้ความสำคัญกับสวนผักคนเมืองในฐานะการเป็นต้นแบบ เป็นพื้นที่ในการแลกเปลี่ยน สำหรับประชาชนผู้ที่อยากมีสวนผัก พื้นที่สีเขียวในพื้นที่ของตน อีกทั้งย่านดังกล่าวยังอยู่ใกล้สถานศึกษาจึงเป็นแหล่งเรียนรู้ที่ดีอีกทางหนึ่ง

นอกจากนี้ หากเรามองในเชิงพื้นที่เราจะเห็นว่า ด้านหนึ่งของสวนฯ จะติดกับย่านช้างคลานที่เป็นพื้นที่ธุรกิจ ไนท์บาร์ซาร์ โรงแรมห้าดาว โรงเรียนเอกชนต่างๆ แต่อีกด้านหนึ่งก็เป็นพื้นที่อยู่อาศัยในที่ดินของรัฐที่ค่อนข้างแออัดติดคลองแม่ข่า ซึ่งคนเหล่านี้ทำงานภาคบริการให้กับเมืองของเรา นี่คือภาพของขั้วความแตกต่างในเมือง ดังนั้นสวนผักจึงจะเป็นเสมือนสะพานที่เชื่อมต่อพื้นที่สองส่วนนี้เข้าด้วยกันเพราะมันเป็นพื้นที่สาธารณะที่ทุกคนสามารถเข้าถึง เข้ามาใช้ประโยชน์ร่วมกันได้

สวนผักคนเมืองเชียงใหม่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วท่ามกลางข้อกฎหมายที่ซับซ้อนในการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินในเมืองได้อย่างไร

ตามเงื่อนไขในทางกฎหมายพื้นที่นี้ยังไม่ได้รับการอนุมัติอย่างเป็นทางการ เนื่องจากพื้นที่นี้เป็นพื้นที่สาธารณประโยชน์ หนังสือสำคัญที่หลวง (นสล.) ต้องขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี ตามที่ศึกษาไม่มีกรณีใดเลยที่ นสล. ถูกนำมาใช้ประโยชน์อย่างจริงจัง ด้วยเงื่อนไขทางกฎหมายที่ให้ผู้ว่าราชการเสนอว่าให้ทดลองบุกเบิกใช้พื้นที่ตามแนวทางดังกล่าวในระยะเวลา 1 ปี ก่อน หากเห็นผลไปในทางที่ดีก็จะมีการเสนอเข้า ครม. ต่อไป ในความเห็นส่วนตัวตนมองว่าการใช้งบประมาณราว 1 ล้านบาทในการจัดการกับพื้นที่ดังกล่าวถือเป็นงบประมาณที่เล็กน้อยและคุ้มค่ามากๆ

แต่เนื่องจากพื้นที่ยังไม่ผ่านการอนุญาตทำให้ไม่สามารถใช้งบประมาณจากภาครัฐได้ ทำได้เพียงการสนับสนุนเครื่องจักร เครื่องมือในการปรับปรุงที่ดินเท่านั้น  จึงนำมาสู่การระดมทุนเพื่อนำร่อง นับเป็นเครื่องมือของการมีส่วนร่วมว่าทุกคนได้ร่วมกันสร้าง ที่สำคัญเบื้องหลังเรานำเสนอให้ทุกคนเห็นว่างบที่ได้ระดมทุนเกิดรายได้ เกิดผลผลิตอย่างไร 

สถานการณ์การระดมทุนในปัจจุบันยังถือว่าอีกยาวไกล แต่ก็มีหน่วยงานสนับสนุนทุนเช่น ถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) ได้ติดต่อยื่นข้อเสนอและอาจได้รับงบประมาณสนับสนุนเพื่อให้โครงการเป็นประโยชน์กับชุมชน นอกจากนี้ยังมีกลุ่มพรรคการเมืองเข้าร่วมสนับสนุนเช่นกัน

การสงเคราะห์แบบให้เปล่านั้นแม้ว่าจะมีความจำเป็นอยู่บ้างแต่ไม่ยั่งยืน และเป็นการลดทอนคุณค่าและศักยภาพของคน 

แนวทางที่จะทำให้สวนดำเนินการด้วยตัวเองต่อไปได้อย่างยั่งยืน

เป้าหมายมี 3 อย่างหลัก คือ 1. สร้างรายได้ให้คนไร้บ้านและคนที่อยู่ริมคลองแม่ข่าซึ่งสูญเสียงานแบบถาวรและมีทักษะการเกษตร 2. สร้างรายได้จากผลผลิตที่จะเกิดขึ้นในฟาร์ม ในส่วนนี้จำเป็นต้องมีผู้จัดการฟาร์มเข้ามาช่วยบริหารจัดการให้เกิดผลผลิตที่สามารถสร้างรายได้ได้จริง ซึ่งกำลังหาทุนสนับสนุนจากแหล่งอื่น  ขณะนี้มีทีมอาสาสมัครจาก green ranger เข้ามาช่วยในเรื่องนี้  3. การกระจายผลผลิตให้ผู้เข้ามามีส่วนร่วมโดยจะใช้ระบบคูปอง เช่น หากมีผู้เข้ามารดน้ำ ดูแลสวนเป็นครั้งๆ ก็จะได้รับคูปองที่สามารถนำไปแลกผลผลิตในฟาร์มได้ อีกส่วนหนึ่งจะนำมาขายให้กับประชาชนทั่วไปสามารถเข้ามาซื้อได้ในราคาที่เป็นธรรม เรียกว่า ตลาดคุณธรรม นอกจากนี้ยังมีแนวคิดต่อไปว่าในอนาคตอาจมีการเปิดพื้นที่ให้เกษตรกรที่ปลูกสินค้าเกษตรอินทรีย์นำผลผลิตที่ไม่ผ่านมาตรฐานของห้างสรรพสินค้าชั้นนำแต่ยังอยู่ในคุณภาพดีมาขายให้กับประชาชนในราคาย่อมเยา เพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงสินค้าเกษตรอินทรีย์ได้

กระบวนการบริหารจัดการลักษณะนี้จะเห็นได้ว่าเป็นความพยายามที่จะไม่ให้เกิดการแจกจ่าย หรือให้ค่าตอบแทน/ผลผลิตแบบให้เปล่า เพราะเชื่อว่าการสงเคราะห์แบบให้เปล่านั้นแม้ว่าจะมีความจำเป็นอยู่บ้างแต่ไม่ยั่งยืน และเป็นการลดทอนคุณค่าและศักยภาพของคน การทำให้คนสามารถบรรลุศักยภาพของตนเองน่าจะคือเป้าหมายสำคัญของการพัฒนามนุษย์ 

นอกจากนี้ ความโกลาหล นับเป็นจุดเปลี่ยนที่จะทำให้เกิดงานที่สร้างสรรค์ เพราะงานที่ยังไม่มีความอินุงตุงนังแปลว่าการเปลี่ยนแปลงที่แท้จริงยังไม่เกิดขึ้น 

ผลสำเร็จและความยั่งยืนจากสมดุลระหว่าง head-hand-heart

เรารู้สึกว่างานพัฒนาชุมชนที่สำเร็จจะมีรูปแบบพื้นฐานที่สำคัญอย่างหนึ่งคือการที่มีผู้คนเข้ามามีส่วนร่วม การเป็นเจ้าของไปตลอดทาง และมีสามสิ่งนี้เป็นเคมีร่วมกัน – head (หัว) hand (มือ) และ heart (หัวใจ) เคยมีหลายกรณีที่โครงการตั้งต้นด้วยเครือข่ายภาคประชาชน พอมันไปได้ดี หน่วยงานรัฐก็ดึงไปเป็นโครงการของหน่วยงาน ยกระดับเป็นนโยบาย แต่ผลลัพธ์ตอนหลังกลับออกมาไม่ค่อยค่อยดี สรุปคือ นโยบาย (หัว) ตอนแรกมันดีแต่เมื่อมันมีแต่การลงแรงงาน (มือ) โดยขาดพลังของความเข้าใจว่าเราทำสิ่งนี้ไปทำไม (หัวใจ) งานที่เป็นงานระยะยาวก็ยากจะสำเร็จ เราจึงมองว่าโครงการถ้ามันจะสำเร็จเป็นโครงการของประชาชน โดยประชาชนได้มันควรออกมาในรูป hero with thousand faces มันจะมีผู้นำคนเดียวไม่ได้ มันควรมีเคมีคำตอบสำหรับแนวทางในการทำงานพัฒนาชุมชน

นอกจากนี้ ความโกลาหล นับเป็นจุดเปลี่ยนที่จะทำให้เกิดงานที่สร้างสรรค์ เพราะงานที่ยังไม่มีความอินุงตุงนังแปลว่าการเปลี่ยนแปลงที่แท้จริงยังไม่เกิดขึ้น เพราะการเปลี่ยนผ่านจากเก่าไปสู่ใหม่ ทำให้ทุกคนเริ่มไปอยู่ขอบของความไม่รู้เพื่อจะเริ่มนำข้อมูล ความรู้ที่ต่างฝ่ายต่างมี เข้ามาประกอบกันใหม่ ความโกลาหลนิดๆ จึงเป็นจุดสำคัญที่ทำให้คนรู้สึกว่าต้องเปลี่ยนแปลง เกิดความสร้างสรรค์แนวทางใหม่ๆ

อะไรเป็นพลัง แรงผลักดัน สร้างความมั่นใจในการริเริ่มงานที่มี impact ใหญ่ๆ ให้เมืองได้เรื่อยๆ

ทุกคนที่ทำงานด้านการพัฒนามีประสบการณ์การเรียนรู้ในชีวิตที่สำคัญ เราต่างผ่านเรื่องยากๆ มาได้ทั้งนั้น เมื่อผ่านเรื่องยากเราจะได้ประสบการณ์ที่ล้ำค่า ได้เติบโตไปอีกขั้นหนึ่ง  ถ้าเราจดจำประสบการณ์แบบนี้กับชีวิตของเราได้ อุปสรรคที่ผ่านเข้ามาจะเป็นตัวสำคัญที่ขับเคลื่อนเราไปเรื่อยๆ มันเป็นสมการเดียวกันกับการพัฒนามันต้องเผชิญกับปัญหา ซึ่งสวนทางกับ วัฒนธรรมแบบเก่าที่ทุกคนไม่เผชิญหน้ากับปัญหา เลี่ยงที่จะถกกันเรื่องของปัญหาเพื่อป้องกันความขัดแย้งนั้นสวนทางกับการใช้ชีวิตของเราที่หากเรายอมเผชิญหน้า และศิโรราบให้กับปัญหาบ้าง เพราะในโลกของการพัฒนานั้น เราไม่รู้บ้างก็ได้ ยอมรับความเปราะบางบ้าง ต้องยอมรับว่าปัญหาอุปสรรคเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนา ซึ่งเรื่องนี้จำเป็นมากๆ ในเรื่องของการทำงานพัฒนาเครือข่ายที่เข้ามาร่วมกันเป็นเจ้าของ เราอาจเป็นตัวตั้งในช่วงแรก แต่ในช่วงหลังมันควรจะกลายเป็นของคนทั้งเมือง


มาถึงตรงนี้ผู้เขียนรู้สึกดีใจว่าดีจังเลยที่เมืองเชียงใหม่มีใจบ้านสตูดิโอและเครือข่ายภาคีต่างๆ ที่เข้มแข็งร่วมกันสร้างเมืองทะลุข้อจำกัดต่างๆ ในวิกฤตการของโลกเช่นนี้ได้ ก็เลยแอบลองถามศุภวุฒิทิ้งท้ายการคุยครั้งนี้ว่า ไปช่วยเมืองอื่นๆ ทั่วประเทศไทยหน่อยไหมดีไหม ศุภวุฒิให้คำตอบที่หากมานั่งคำนึงดีๆ แล้วเราจะรู้สึกได้ถึงการเดินทางของเขาที่ได้พบคำตอบต่อแก่นของตัวเองและเชื่อมไปถึงสังคมโดยรวม

ตอนเริ่มแรกๆ ที่ทำงานพัฒนาชุมชน รู้สึกว่าหน่วยงานไม่มีการวางผังหรือจัดระเบียบอะไรเลย จึงคิดว่าเพราะหน่วยงานและพื้นที่ขาดความรู้เลยไปทำงานวางผังให้ แต่พอทำไปจึงรู้ว่าการวางผัง/วางแผนที่ดีบางทีก็ไม่ใช่คำตอบ เพราะวัฒนธรรมการทำงานที่มีช่องว่างมากๆ จึงตัดสินใจเข้าไปทำงานร่วมแบบมีส่วนร่วมมากขึ้น  และเมื่อสองปีที่แล้วค้นพบว่าผู้คน ทั้งเจ้าหน้าที่รัฐและคนในชุมชนต่างก็มีศักยภาพ แต่วัฒนธรรมที่เป็นอยู่ต่างหากที่เป็นอุปสรรคของการพัฒนา มันไม่ทำให้คนค้นพบศักยภาพจากข้างใน ไม่เกิด self value ทั้งคนในชุมชน เจ้าหน้าทีรัฐ ดังนั้นการทำงานพัฒนาแบบแว้บๆ กระโดดไปมาหลายๆที่ เราคิดว่ามันไม่ค่อยเกิดประโยชน์ เราเลยหันมากระโดดลงไปร่วมทำกับชุมชน หน่วยงาน เป็นเหมือนเพื่อน ที่ช่วยกันสร้างวัฒนธรรมใหม่ๆให้เกิดขึ้นมา  

ขอสรุปว่ากลุ่มศุภวุฒิจะร่วมสร้างปรากฎการณ์การพัฒนาชุมชนในเชียงใหม่อย่างต่อเนื่อง ไม่แว้บไปไหนอย่างแน่นอน คนเชียงใหม่จะไม่เข้ามาร่วมขบวนกันหน่อยหรือคะ

ติดตามกิจกรรมของ “สวนผักคนเมือง เชียงใหม่” ได้ที่ เฟซบุ๊ก สวนผักคนเมืองเชียงใหม่ – Chiangmai Urban Farm

Last Updated on ธันวาคม 20, 2021

Author

  • Yanin Chivakidakarn Huyakorn

    Deputy Director of Knowledge Communications | คุณแม่นอนน้อย ผู้ชอบนั่งฝันกลางวันว่า วันหนึ่งจะตื่นมาในแดนอิเซไค มีชีวิตใหม่เป็นน้องสาวของจอมคนแดนฝัน

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น