SDG Updates | บทบาท ‘ผู้หญิง’ ในพื้นที่ทางการเมือง ต้องเผชิญกับความท้าทายใดในเส้นทางนี้

แพรวพรรณ ศิริเลิศ*

เมื่อเป็นนักการเมืองหญิง ไม่ว่าบทบาทไหนก็ไม่ง่าย การเลือกตั้งปี 2566 นับเป็นการเลือกตั้งที่ประชาชนตื่นตัวมากที่สุดในประวัติศาสตร์ มีกระแสนักการเมืองหน้าใหม่เกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก ขณะที่แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีมีทั้งสิ้น 62 คนจาก 43 พรรคการเมือง เป็นผู้หญิงจำนวน 9 คน และแม้ปัจจุบัน ผู้หญิงจะเข้ามามีบทบาทสำคัญทางการเมืองมากยิ่งขึ้น แต่หลายครั้งจะเห็นว่าบทบาทของนักการเมืองหญิงกลับถูดลดทอนคุณค่าความน่าเชื่อถือเพียงเพราะ “ความเป็นหญิง” ทั้งที่แท้จริงแล้ว การที่ผู้หญิงมีบทบาทสำคัญในการเป็นผู้นำนั้น สามารถสร้างผลกระทบในเชิงบวก เช่น ช่วยลดช่องว่างค่าจ้างระหว่างเพศ (gender pay gap) ช่วยสร้างการเปลี่ยนแปลงทางนโยบายและวัฒนธรรมในสถานที่ทำงานที่ครอบคลุมต่อทุกเพศ

รายงานผลสำรวจของ The Rockefeller Foundation พบว่าชาวอเมริกันให้ความเห็นว่าการมีผู้หญิงในตำแหน่งผู้นำมากขึ้นจะช่วยสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลดีอย่างมีนัยสำคัญในการทำงานที่เป็นประโยชน์ทั้งชายและหญิง รวมถึงช่วยลดช่องว่างค่าจ้างระหว่างเพศในงานเดียวกัน และสามารถดึงดูดให้เกิดพนักงานที่มีความหลากหลายมากขึ้น[1] แม้จะดูเป็นผลในเชิงบวก แต่เมื่อศึกษาข้อมูลของสหภาพรัฐสภา (Inter-Parliamentary Union :IPU) กลับพบว่าประเทศไทย มีสัดส่วนของนักการเมืองหญิงที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกและรั้งท้ายมากที่สุดในกลุ่มประเทศอาเซียน[2]

SDG Updates ฉบับนี้ พยายามฉายภาพผู้หญิงในแง่มุมของบทบาทการเป็นผู้นำ โดยเฉพาะในบริบทของบทบาททางการเมืองไทยที่ยึดโยงสู่ระดับโลก ทั้งนี้ ก็มุ่งหวังว่าจะเป็นการยกระดับสร้างบรรทัดฐานความเท่าเทียมทางเพศ (gender equality) ในสังคมให้ดีขึ้น พร้อมค้นหาว่าสิ่งใดเป็นอุปสรรคที่ขัดขวางผู้หญิงในการดำรงตำแหน่งผู้นำหรือบทบาททางการเมือง แม้ปัจจุบันขนบธรรมเนียมเดิม ๆ จะเปลี่ยนแปลงไป แต่เพราะสาเหตุใดที่ทำให้ประเทศไทยยังคงมีสัดส่วนนักการเมืองหญิงรั้งท้ายต่ำกว่าค่าเฉลี่ยโลกเช่นนี้


01 – สัดส่วนช่องว่างระหว่างเพศของนักการเมืองไทย เมื่อเปรียบเทียบกลุ่มประเทศอาเซียน

ความเท่าเทียมทางเพศ เป็นหนึ่งในประเด็นปัญหาความท้าทายของสังคมไทย แรกเริ่มเดิมที่สิทธิในการมีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างการเลือกตั้ง ก็ไม่ได้รับรองสำหรับทุกเพศ โดยบางประเทศใช้เพศ ฐานะ วุฒิการศึกษา เป็นตัวกำหนดว่าบุคคลใดควรมีสิทธิเลือกตั้ง ขบวนการต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมทางเพศจึงต้องต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิเลือกตั้งสำหรับผู้หญิง[3] ขณะที่ สังคมไทยในยุคสมัยปัจจุบัน จะเห็นว่าผู้หญิงได้เริ่มเข้ามามีบทบาทสำคัญในทุกภาคส่วนมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นในภาคธุรกิจหรือแม้แต่ภาคการเมือง ทำให้ผู้หญิงมีบทบาทในการทำงานหาเลี้ยงครอบครัว มีส่วนร่วมในการบริหารบ้านเมือง ผ่านการเป็นตัวแทนทางการเมือง เช่น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ผู้บริหารและสมาชิกสภาระดับท้องถิ่น ซึ่งการที่ผู้หญิงเข้ามามีบทบาทในแวดวงการเมืองเพิ่มขึ้น ได้รับการยอมรับว่าบทบาทของนักการเมืองหญิง จะมีความละเอียดอ่อน รอบคอบ รวมถึงในเชิงแนวคิดการพัฒนาจะมีความมุ่งเน้นไปทางด้านการส่งเสริมคุณภาพชีวิตซึ่งจะมีความครอบคลุมกว่าผู้ชาย [4]

แม้ดูเหมือนเป็นผลในเชิงบวก แต่เมื่อศึกษารายงาน Women in parliament in 2022 ของสหภาพรัฐสภา (Inter-Parliamentary Union : IPU) พบว่า จากข้อมูล ณ วันที่ 1 มกราคม  2566 ผู้หญิงมีสัดส่วนในสภาทั่วโลกอยู่ที่ 26.5% เพิ่มขึ้นจากเดิมเพียง 0.4 % เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว (ปี 2565) ซึ่งค่าเฉลี่ยของผู้หญิงในสภาทั่วโลกอยู่ที่ 26.1% และถึงแม้ทศวรรษนี้ สัดส่วนของผู้หญิงในสภาจะมีความก้าวหน้าเพิ่มขึ้น แต่ก็ยังคงแสดงถึงการเติบโตที่ช้าที่สุดในรอบหกปี โดยประเทศที่มีผู้หญิงในสภาติดอันดับต้น ๆ ของโลก ได้แก่ อันดับ 1 รวันดา อันดับ 2 คิวบา อันดับ 3 นิการากัว และครองอันดับ 4 ร่วมกันสี่ประเทศ ได้แก่ อันดอร์รา  เม็กซิโก นิวซีแลนด์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ตามมาด้วยอันดับ 8 ไอซ์แลนด์ อันดับ 9 คอสตาริกา และอันดับ 10 สวีเดน ขณะที่ ประเทศไทยรั้งท้ายอยู่อันดับที่ 122 ส่วนประเทศที่รั้งอันดับท้ายสุด คือ ประเทศคูเวตและเยเมน ครองอันดับที่ 186 ได้ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 0% [5]

ขณะที่ ข้อมูลประจำเดือนมิถุนายน 2566 ของสหภาพรัฐสภา (Inter-Parliamentary Union) พบว่าในการเลือกตั้งปี 2566 ประเทศไทยมีสัดส่วนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ทั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งและแบบบัญชีรายชื่อ ทั้งหมดจำนวน 500 คน มีสัดส่วนผู้หญิงเพียง 96 คน ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 19.2% [6] ซึ่งเมื่อเทียบกับการเลือกตั้งปี 2562 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร มีจำนวน 445 คน เป็นผู้หญิง 74 คน ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 16.6% นับว่าเมื่อเทียบกับการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว ประเทศไทยถือว่ามีความก้าวหน้าด้านสัดส่วนของนักการเมืองหญิงอยู่พอสมควร

อันดับอาเซียนอันดับโลกประเทศค่าเฉลี่ย
164เวียดนาม 30.3
267สิงคโปร์29.1
384ฟิลิปปินส์ 27.3
4106ลาว 22.0
5108อินโดนีเซีย 21.6
6110กัมพูชา 20.8
7122ไทย 19.2
8154มาเลเซีย 13.5
9160บรูไน ดารุสซาลาม 11.8
10Suspendedเมียนมา 
ตารางที่ 1 : เปรียบเทียบการจัดอันดับกับกลุ่มประเทศอาเซียน

แต่เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มประเทศอาเซียน จะพบว่าค่าเฉลี่ยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหญิงของไทยยังคงมีสัดส่วนที่รั้งท้าย โดยไทย จัดอยู่ในอันดับที่ 7 จาก 10 อันดับ ขณะที่ เวียดนาม ถือเป็นประเทศที่มีสัดส่วนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหญิงมากที่สุด ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 30.3 % ตามด้วย สิงคโปร์ 29.1% ฟิลิปปินส์ 27.3% ลาว 22% อินโดนีเซีย 21.6% กัมพูชา 20.8 % ไทย 19.2% มาเลเซีย 13.5 % และบรูไน 11.8 % โดยการคิดสัดส่วนนี้ไม่นับรวมเมียนมา

| ช่องว่างระหว่างเพศในพื้นที่ทางการเมืองในตำแหน่งระดับสูง

แต่ทำไมบทบาทของผู้หญิงในตำแหน่งระดับสูง ยังคงมีสัดส่วนที่น้อยมาก?

แม้สัดส่วนของผู้หญิงจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้นในตำแหน่งของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แต่เมื่อศึกษาเส้นทางการเข้าสู่สภาของผู้หญิงในระดับตำแหน่งที่สูงขึ้นไปอย่างตำแหน่งรัฐมนตรี จะพบว่า ตั้งแต่ปี 2556 – 2566 ประเทศไทย มีรัฐมนตรีหญิงเพียง 7 คนเท่านั้น [7] และแม้ว่าปัจจุบัน จะมีสัดส่วนนักการเมืองหญิงที่เพิ่มมากขึ้น แต่ในตำแหน่งระดับสูงนั้น ผู้หญิงยังคงมีสัดส่วนที่น้อยมาก

รายงาน IPU-UN Women 2023 Map ชี้ว่าผู้หญิงยังคงมีสัดส่วนน้อยในการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีหรือนายกรัฐมนตรี ซี่งผู้หญิงมีสัดส่วนที่น้อยมากในบทบาทการเป็นผู้นำรัฐบาล โดยผู้ชายยังคงครองตำแหน่งสำคัญ ๆ เช่น กระทรวงเศรษฐกิจ กระทรวงกลาโหม และกระทรวงพลังงานฯ เป็นต้น ขณะที่ ข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 1 มกราคม 2566 พบว่ามีผู้หญิงคิดเป็น 22.8% ของตำแหน่งรัฐมนตรี ซึ่งภูมิภาคที่มีผู้หญิงดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีมากที่สุด ได้แก่ ยุโรปและอเมริกาเหนือ 31.6% และละตินอเมริกาและแคริบเบียน 30.1% ส่วนในเอเชียกลางและใต้ และหมู่เกาะแปซิฟิกเป็นภูมิภาคที่ผู้หญิงมีบทบาทในตำแหน่งรัฐมนตรีน้อยที่สุด โดยมี 10.1% และ 8.1% ตามลำดับ ขณะที่ 13 ประเทศในยุโรป มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมากกว่า 50% เป็นผู้หญิง[8]

อย่างไรก็ดี ประชาธิปไตยแบบสมบูรณ์นั้น ยังคงต้องการการมีส่วนร่วมอย่างเท่าเทียมกันของผู้หญิงในทุกกระบวนการ แต่ในทางกลับกันก็ยังพบความรุนแรงและการคุกคามที่มีต่อผู้หญิงอย่างต่อเนื่องในทุกบทบาท ทั้งในสังคมและโลกออนไลน์ที่แสดงถึงความเกลียชังต่อผู้นำหญิง ผู้สมัครรับเลือกตั้ง และผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ส่งผลให้หลายครั้งกลายเป็นอุปสรรคที่มักทำลายศักยภาพ ความรู้ หรือความมั่นใจแก่พวกเขาเหล่านั้น และเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างเร่งด่วนในการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม โลกจำเป็นต้องตระหนักถึงการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมอย่างแท้จริง


02 – ค่านิยมและวัฒนธรรม ที่ทำให้เกิดช่องว่างระหว่างเพศในพื้นที่ทางการเมือง

หนึ่งในปัญหาสำคัญที่ทำให้ผู้หญิงมีสัดส่วนทางการเมืองน้อยกว่าผู้ชาย อันเนื่องมาจากอุปสรรคทางค่านิยมและวัฒนธรรมในสังคม สะท้อนได้จากหลายเหตุการณ์ว่าผู้หญิงไม่สามารถเข้าถึงตำแหน่งหน้าที่ทางการเมืองอย่างเท่าเทียมกับผู้ชายได้ แม้จะอยู่ในพื้นที่ทางการเมืองเช่นเดียวกัน แต่ผู้หญิงกลับต้องใช้แรงผลักดันและแรงขับเคลื่อนเพื่อให้ได้รับการยอมรับที่มากกว่า ทำให้ไม่เป็นที่น่าแปลกใจนักที่สัดส่วนสมาชิกผู้แทนราษฎรหญิงของไทย โดยเฉพาะระดับรัฐมนตรี หรือองค์กรนิติบัญญัติ ซึ่งทำหน้าที่ในการออกกฎหมายมาบังคับใช้ให้แก่ทุกคนในประเทศ จะมีสัดส่วนที่น้อยมากสวนทางกระแสโลก 

ค่านิยมและวัฒนธรรมทางสังคม นับเป็นอุปสรรคปราการด่านแรกที่ผู้หญิงต้องเผชิญ เมื่อก้าวเข้ามาสู่โลกการเมือง อันมีสาเหตุมาจากชุดความคิดที่ว่าผู้หญิงต้องมีบทบาท “ความเป็นแม่” ที่มีหน้าที่ดูแลลูกและบ้านเท่านั้น ซึ่งเป็นเหมือนข้อจำกัดที่ฉุดรั้งให้ผู้หญิงมีบทบาทได้เพียงบทบาทเดียว โดยชุดความคิดเหล่านี้มีมาตั้งแต่อดีต เห็นได้ชัดเจนจากแนวคิดของ Michelle Zimbalist Rosaldo (1974) กล่าวถึงความแตกต่างระหว่างบทบาทเพศว่าได้ถูกกำหนดขึ้นจากพื้นฐานทางธรรมชาติด้านสรีระวิทยาหรือชีวภาพ กล่าวคือ โครงสร้างของเพศชายโดยทั่วไปแข็งแกร่งกว่าเพศหญิง ขณะที่ สภาพร่างกายของสตรีอ่อนแอกว่าและผูกพันกับธรรมชาติมากกว่า จากความแตกต่างด้านสรีระที่ธรรมชาติกำหนดมาเป็นพื้นฐานนี้เอง ทำให้สังคมมักแบ่งบทบาท กำหนดความรับผิดชอบที่สมมติขึ้นและยอมรับกันว่าเหมาะสมกับสรีระของมนุษย์แต่ละเพศ กลายเป็นว่าสังคมได้สร้างภาพจำและคาดหวังว่าแต่ละเพศประพฤติปฏิบัติตนตามแบบแผนที่สังคมสร้างขึ้น โดยกำหนดว่ากิริยามารยาทแบบใดหรือการงานความรับผิดชอบประเภทไหนที่สตรีควรทำหรือชายควรทำ เช่น การทำงานนอกบ้าน ควรตกเป็นหน้าที่ของชาย เพราะมีความคล่องตัวกว่า แข็งแรงกว่า ในทางตรงกันข้ามที่สตรีต้องมีหน้าที่ดูแล อบรมเลี้ยงดูบุตรอยู่ภายในบ้านเท่านั้น [9] ทำให้เมื่อมองในการเข้าสู่เส้นทางการเมือง จึงกลายเป็นเรื่องที่ไกลออกไป เมื่อเทียบกับผู้ชายที่มีความเป็นไปได้และคล่องตัวมากกว่าหลายเท่าตัว 

อย่างไรก็ดี ชุดความคิด ค่านิยมและวัฒนธรรมเหล่านี้มีอิทธิพลต่อสังคมเป็นอย่างมาก ทำให้ภาพลักษณ์ของพื้นที่ทางการเมืองไม่ถูกนำเสนอให้เป็นพื้นที่สำหรับผู้หญิง หรือแม้แต่วัฒนธรรมบทบาทของความเป็นสามี-ภรรยา ที่มีผลกระทบจำกัดให้ผู้หญิงแสดงออกทางการเมืองไม่ได้เท่าที่ควร เพราะค่านิยมที่ว่าผู้หญิงไม่ควรมีหน้าที่การงานที่เหนือกกว่าผู้ชาย นอกจากนี้ “ต้นทุนชีวิต” ของผู้หญิงที่จะก้าวมามีบทบาททางการเมืองก็มีส่วนสำคัญไม่น้อย เพราะหากผู้หญิงไม่มีต้นทุนเป็นครอบครัวนักการเมืองมาอยู่ตั้งแต่แรก เส้นทางสู่สภาก็อาจจะยิ่งยากขึ้นไปอีก และถึงแม้จะก้าวข้ามค่านิยมของสังคมหรือครอบครัวมาได้ ก็ยังต้องพบกับความคาดหวังในด่านต่อ ๆ ไป เช่น จะต้องทำให้พรรคการเมืองถูกเลือกให้เป็นแคนดิเดต ไม่ว่าจะเป็น ส.ส. ทั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งและแบบบัญชีรายชื่อ มาถึงตรงนี้จะเห็นได้ว่าจะบทบาทไหนไม่ว่าจะเป็นบทบาทภรรยา แม่ หรือแม้แต่นักการเมือง ผู้หญิงล้วนถูกคาดหวังทั้งสิ้น  [10]

เช่นนั้นแล้ว การสร้างความเข้าใจต่อค่านิยม ทัศนคติ และวัฒนธรรม ในมิติแนวคิดเรื่องประชาธิปไตยของสังคม จึงเป็นเรื่องที่ต้องปรับกระบวนทัศน์อย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้น ไม่ควรมองว่าประเด็นเพศสภาพนั้น เป็นเรื่องที่แยกต่างจากการเมือง เพราะหากไม่สามารถเปลี่ยนฐานคิดปิตาธิปไตยที่แบ่งแยกบทบาทชายหญิงในพื้นที่การเมืองได้ ไม่ว่าจะกำหนดนโยบายหรือแนวทางปฏิบัติแบบใดก็ยังไม่อาจสร้างความครอบคลุมได้ และผู้หญิงก็ยังไม่อาจเข้าไปสู่ตำแหน่งทางการเมืองในสัดส่วนที่มีนัยสำคัญได้ หากพื้นที่ทางการเมืองยังคงเป็นพื้นที่ที่ผูกขาดสำหรับผู้ชาย ในระดับตัดสินใจต่าง ๆ ทั้งในระบบพรรคการเมืองหรือแม้แต่ระบบรัฐสภาก็ตาม [11]


03 – ผู้หญิงจะข้ามผ่านข้อจำกัดบทบาททางการเมืองได้อย่างไร

บทบาทผู้นำทางการเมืองของผู้หญิง นับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันก็ถือว่ามีการพัฒนาในระดับหนึ่ง หลายภาคส่วนมีความตื่นตัวในการหนุนเสริมศักยภาพของผู้หญิงในปัจจุบันทั้งภาคประชาสังคม ระดับชุมชน โดยเฉพาะภาคเอกชนที่ถือว่าเป็นภาคส่วนสำคัญที่ผู้หญิงมีการเติบโตในการเป็นผู้นำอย่างมาก แต่ขณะเดียวกัน ความเป็นรูปธรรมในเชิงสัดส่วนยังขาดความชัดเจน เช่น ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 การรักษาและพัฒนาสถานภาพทางการเมืองของนักการเมืองหญิงยังต้องมีผู้สนับสนุนทางการเมือง อันประกอบด้วยการสนับสนุนจากครอบครัว เช่น พ่อ แม่ สามี ลูก ญาติ ในการสร้างความเชื่อมั่นเเละขวัญกำลังใจ เพื่อแบ่งเบาภาระและความรับผิดชอบบางส่วนของผู้หญิง เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติงาน[12] สะท้อนให้เห็นว่าผู้หญิงในบริบทการเมืองไทย ยังคงมีข้อจำกัดทั้งโครงสร้างทางสังคม วัฒนธรรม รวมทั้งระบบการเลือกตั้ง 

จากประเด็นดังกล่าว ผศ. ดร.ไพลิน ภู่จีนาพันธุ์ นักวิชาการคณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้ข้อเสนอว่า ควรมีการกำหนดระบบโควตาผู้หญิง (gender quota system) สำหรับสร้างเส้นทางไปสู่การเพิ่มพื้นที่ทางการเมืองของผู้หญิงในสภา เพื่อสร้างโอกาสในการแสดงบทบาททางการเมืองของผู้หญิง โดยมีพรรคการเมืองเป็นกลไกหลักของจุดเริ่มต้นในกระบวนการส่งเสริมบทบาทผู้หญิงในการเลือกตั้ง ทำให้เกิดกระบวนการสร้างประชาธิปไตยในพรรคการเมืองและค่านิยมความเสมอภาคและเท่าเทียมปรากฏเติบโตขึ้น ขณะที่ รศ. ดร.ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์ นักวิชาการคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ข้อคิดเห็นว่า อีกเรื่องที่ต้องคำนึงถึงอย่างแท้จริง คือ จะทำอย่างไรให้ประชาชนสามารถเปล่งเสียงพูดถึงปัญหาและความต้องการเฉพาะออกมาได้ตั้งแต่รัฐธรรมนูญปี 2540 จนถึงฉบับปัจจุบันปี 2560 แม้จะมีร่างรัฐธรรมนูญใหม่ออกมา แต่การสร้างกลไกทางการเมือง ซึ่งยังไม่อาจมองเห็นประชาชนทุกกลุ่มเสียงในการเข้ามาผลักดันปัญหาได้ [13] อย่างไรก็ดี จะเห็นว่าในมิติของการเมืองไทย ยังคงขาดทั้งความเป็นรูปธรรมทางด้านตัวบทกฎหมายที่กลายมาเป็นอีกอุปสรรคหนึ่งที่ทำให้เส้นทางของนักการเมืองหญิงไม่สามารถเกิดขึ้นได้โดยง่าย

กล่าวมาถึงตรงนี้ จะเห็นได้ว่าเส้นทางของผู้หญิงทั้งในบทบาทการเป็นผู้นำและบทบาทอื่นใด ก็ดูไม่ง่ายนักดังเห็นได้จากแนวคิดและชุดความคิดทั้งด้านค่านิยมและวัฒนธรรม การพิจารณาในประเด็นนี้ เพื่อเทียบให้เห็นว่าในด้านบทบาททางการเมืองประเทศไทยอยู่ตรงจุดใดบนเส้นทางนี้ หรือเมื่อเทียบบทบาทผู้หญิงในภาคส่วนการเมืองกับภาคธุรกิจอื่น ๆ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าการมีผู้หญิงหรือแม้แต่การมีความหลากหลายทางเพศในภาคส่วนหรือในองค์กรใดก็ตาม จะทำให้ลดช่องว่างระหว่างเพศและสามารถสร้างแนวปฏิบัติและการทำงานได้อย่างครอบคลุมในทุกมิติ

พิมพ์นารา อินต๊ะประเสริฐ – บรรณาธิการ
อติรุจ ดือเระ – พิสูจน์อักษร
วิจย์ณี เสนแดง – ภาพประกอบ


● อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
Global Gender Gap Report 2023 ชี้อีก 131 ปี กว่าโลกจะมีความเท่าเทียมทางเพศ – ส่วนไทยติดอันดับที่ 74 ในการประเมินดัชนี
NASDAQ ประกาศข้อกำหนด Board Diversity Rule เพื่อสนับสนุนความหลากหลายทางเชื้อชาติและเพศในบอร์ดบริหาร
กองทุนความมั่งคั่งแห่งชาตินอร์เวย์ ออกจุดยืนให้บริษัทเพิ่มสัดส่วนผู้หญิงในคณะกรรมการบริหารให้ถึง 30%
SDG Updates | ย่างเข้าสู่ปีที่ 5 พ.ร.บ. ความเท่าเทียมระหว่างเพศเดินหน้าไปถึงไหน
SDG Updates | ทับซ้อนและทวีคูณ: คลี่ชั้นความรุนแรงที่ LGBTQI ต้องเผชิญ

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG5 ความเท่าเทียมระหว่างเพศ
– (5.1) ยุติการเลือกปฏิบัติทุกรูปแบบที่มีต่อผู้หญิงและเด็กหญิงในทุกที่
– (5.4) ตระหนักและให้คุณค่าต่อการดูแลและการทำงานบ้านแบบไม่ได้รับค่าจ้าง โดยจัดให้มีบริการสาธารณะ โครงสร้างพื้นฐานและนโยบายการคุ้มครองทางสังคม และสนับสนุนความรับผิดชอบร่วมกันภายในครัวเรือนและครอบครัว ตามความเหมาะสมของแต่ละประเทศ
– (5.5) สร้างหลักประกันว่าผู้หญิงจะมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่และมีประสิทธิผล และมีโอกาสที่เท่าเทียมในการเป็นผู้นำในทุกระดับของการตัดสินใจในเรื่องการเมือง เศรษฐกิจ และสาธารณะ
– (5.c) เลือกใช้และเสริมความเข้มแข็งแก่นโยบายที่ดีและกฎระเบียบที่บังคับใช้ได้ เพื่อส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศและการเพิ่มบทบาทแก่ผู้หญิงและเด็กหญิงทุกคนในทุกระดับ
#SDG10 ลดความเหลื่อมล้ำ
– (10.2) เสริมสร้างศักยภาพและส่งเสริมความครอบคลุมทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองสำหรับทุกคน โดยไม่คำนึงถึงอายุ เพศ ความพิการ เชื้อชาติ ชาติพันธุ์ แหล่งกำเนิด ศาสนา สถานะทางเศรษฐกิจ หรืออื่น ๆ ภายในปี พ.ศ. 2573
– (10.3) สร้างหลักประกันถึงโอกาสที่เท่าเทียมและลดความไม่เสมอภาคของผลลัพธ์ รวมถึงโดยการขจัดกฎหมาย นโยบาย และแนวทางปฏิบัติที่เลือกปฏิบัติ และส่งเสริมการออกกฎหมาย นโยบาย และการปฏิบัติที่เหมาะสมในเรื่องดังกล่าว
– (10.4) นำนโยบาย โดยเฉพาะนโยบายการคลัง ค่าจ้าง และการคุ้มครองทางสังคมมาใช้ และให้บรรลุความเสมอภาคยิ่งขึ้นอย่างก้าวหน้า


[1] The Rockefeller Foundation. (2023). Women in Leadership: Why It Matters. สืบค้นจาก https://www.rockefellerfoundation.org/wp-content/uploads/Women-in-Leadership-Why-It-Matters.pdf

[2] the active. (2566). สัดส่วนนักการเมืองหญิงไทย ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลก รั้งท้ายอาเซียน. สืบค้นจาก https://theactive.net/read/woman-propotion-politician/

[3] iLaw. (2565). ผู้หญิงอยู่ตรงไหน ในการเมืองไทยปี 2565. สืบค้นจาก https://ilaw.or.th/node/6097

[4]สถาบันพระปกเกล้า. (2555). สตรีกับการเมือง: ความเป็นจริง พื้นที่ทางการเมือง และการขับเคลื่อน. โรงพิมพ์ธรรมดาเพล: นนทบุรี.

[5] Inter-Parliamentary Union. (2022). Women in parliament 2022. สืบค้นจาก https://www.ipu.org/resources/publications/reports/2023-03/women-in-parliament-2022

[6] Inter-Parliamentary Union. (2023). Monthly ranking of women in national parliaments. สืบค้นจาก https://data.ipu.org/women-ranking?month=6&year=2023

[7] พิราภรณ์ วิทูรัตน์. (2566). 10 ปีผ่านไป การเมืองไทยมีใครเป็น ‘รัฐมนตรีหญิง’บ้าง?. สืบค้นจาก https://www.bangkokbiznews.com/politics/1070004

[8] United Nations. (2023). According to the UN Women – IPU “Women in Politics 2023” Map: Women’s participation in politics is still far from equality.สืบค้นจาก https://turkiye.un.org/en/224322-according-un-women-ipu-women-politics-2023-map-womens-participation-politics-still-far

[9] Rosaldo, Michelle Z. (1974). Women, Culture and Gender: A Theoretical Overview. In Women, Culture, and Society. Michelle Zimbalist Rosaldo and Louise Lamphere, eds. Pp. 67-88. Standford University Press.

[10] Wasinee Pabuprapap. (2022). กฎหมาย ค่านิยม และการเหยียดเพศ สำรวจอุปสรรคของหญิงไทยบนเวทีการเมือง. สืบค้นจาก https://workpointtoday.com/anfrel-genderequity2022/

[11] ดวงหทัย บูรณเจริญกิจ. (2564). “ผู้หญิงกับการเมือง…กลไกการเมืองที่ต้องขยายและเปิดให้กว้างขึ้น.” สืบค้นจาก https://www.posttoday.com/politic/columnist/647334

[12] สถาบันพระปกเกล้า. (2551). สตรีกับการเมือง:ความเป็นจริง พื้นที่ทางการเมือง และการขับเคลื่อน. นนทบุรี: สถาบันพระปกเกล้า.

[13] workpoint today. (2566). เมื่อ ส.ส.หญิง ≠ ความเท่าเทียมทางเพศ เสมอไป คุยกับรศ.ดร.ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์. สืบค้นจาก https://workpointtoday.com/gendered-election-230314/

Authors

  • Praewpan Sirilurt

    Knowledge Communication | มนุษย์ผู้เชื่อว่า “การสื่อสารสามารถเชื่อมต่อความรู้สึกของกันและกันได้” ไม่ว่าจะเป็นใคร อยู่ที่ไหน หรือเผชิญกับอะไรอยู่ การสื่อสารจะช่วยบอกเล่าเรื่องราวส่งไปให้แก่ผู้อื่นได้รับรู้

  • Wijanee Sendang [Graphic designer]

    นักออกแบบนิเทศศิลป์

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น