ระบบเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติและภาวะฉุกเฉินระดับชาติที่จัดการ ‘ภัยพิบัติธรรมชาติ’ พร้อมกับ ‘อันตรายทางชีวภาพ’ จะทำให้เอเชียแปซิฟิกมีภูมิคุ้มกันต่อโรคระบาด

สํานักงานลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติแห่งสหประชาชาติประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (Asia-Pacific Regional Office of the UN Office for Disaster Risk Reduction: UNDRR) และองค์การอนามัยโลกประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีการประชุมเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา กล่าวถึงหัวใจสำคัญในการจัดการวิกฤติและภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุข (health emergencies) ด้วยการทำงานข้ามสาขา (cross-sectoral collaboration) กับประเด็นการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ

เพื่อให้การบริหารจัดการสถานการณ์และความเสี่ยง การลดความอันตรายและการประสบกับความอันตราย (exposures) การเก็บและการวิเคราะห์ข้อมูลความเสี่ยง โครงสร้างพื้นฐานที่มีภูมิต้านทาน (resilient infrastructure) ตลอดจนระบบเตือนภัยล่วงหน้า (early warning system) เป็นไปทั้งเพื่อการตรวจจับและจัดการภัยพิบัติธรรมชาติ (natural hazard) อย่างไซโคลนและสึนามิ และการลดความเสี่ยงจากอันตรายทางชีวภาพ (biological hazard) ป้องกันไม่ให้โรคระบาดขยายวงกว้างจนกลายเป็นภัยพิบัติเต็มรูปแบบ (full-blown disaster)

ในแง่นี้ ไม่ว่าจะเป็นทางธรรมชาติหรือทางชีวภาพ ต่างก็เป็น ‘ภัยพิบัติ’ ที่อันตรายเหมือนกัน โดยบรรดารัฐต่าง ๆ จำเป็นต้องเข้าใจรูปแบบของความเสี่ยงดังกล่าวให้วิธีการจัดการมีความพร้อมรับกับอันตรายหลากรูปแบบ (multi-hazard) และทำงานกับหลายภาคส่วน (multi-sectoral) ซึ่งตัวช่วยที่จะอำนวยให้เกิดการทำงานระหว่างกันอาจเป็นการบูรณาการแผนงาน การกำหนดพิธีสารระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หรือการออกกฎหมาย กล่าวคือ จะต้องมีเจตจำนงและการสนับสนุนทางการเมืองให้เกิดความร่วมมือนี้

ทั้งนี้ มีผู้แทนส่วนงานจากองค์การ/ประเทศในภูมิภาค อาทิ จากอาเซียน ไทย อินเดีย มัลดีฟว์ มองโกเลีย เข้าร่วมแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น บทเรียน และข้อเสนอแนะ โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับระบบเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติและภาวะฉุกเฉินระดับชาติให้สามารถตอบสนองต่อ ‘multi-hazard’ ได้ อย่างที่อาเซียนเองก็มีกลไกและเครื่องมืออย่างศูนย์ประสานงานเพื่อการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเกี่ยวกับการจัดการภัยพิบัติ (ASEAN Coordinating Centre for Humanitarian Assistance on disaster management: AHA Center) กับ 2021-2025 Work Programme ของข้อตกลงอาเซียนว่าด้วยการจัดการภัยพิบัติและการตอบโต้สถานการณ์ฉุกเฉิน (ASEAN Agreement on Disaster Management and Emergency Response: AADMER)

ขณะที่ นาย Timothy Wilcox ผู้แทนฝาก UNDRR เสนอให้มีการผสานความร่วมมือระหว่างกัน อาทิ การอบรมร่วมกันระหว่างเจ้าหน้าที่ด้านสาธารณสุขกับเจ้าหน้าที่ด้านภัยพิบัติ การขยายการแลกเปลี่ยนข้อมูล การบูรณาการภาวะฉุกเฉินทางสุขภาพไว้ในยุทธศาสตร์/แผนป้องกัน บรรเทา และการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติและสาธารณภัย พร้อมกับเน้นย้ำความสำคัญของการเพิ่มขีดความสามารถในการ ‘ปรับเพิ่มขนาดได้’ (scalability) ให้สามารถตอบสนองต่อภัยพิบัติขนาดใหญ่และที่มีระยะเวลายาวนาน

และเพื่อให้เกิดการดำเนินการตาม “หลักการกรุงเทพ” เพื่อการดำเนินการด้านสุขภาพตามกรอบปฏิญญาเซนไดเรื่องการลดภาวะเสี่ยงต่อภัยพิบัติปี 2558 – 2573 (Bangkok Principles for the implementation of the health aspects of the Sendai Framework for Disaster Risk Reduction 2015 – 2030) ทั้งจากภัยธรรมชาติและโรคอุบัติใหม่ด้วย

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG3 สร้างหลักประกันว่าด้วยคนมีชีวิตที่มีสุขภาพและสุขภาวะที่ดีสำหรับทุกคนในทุกวัย ซึ่งรวมถึงการแจ้งเตือนล่วงหน้า การบริหารจัดการความเสี่ยงด้านสุขภาพ
#SDG13 ปฏิบัติการอย่างเร่งด่วนเพื่อต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบที่เกิดขึ้น

แหล่งอ้างอิง:
https://www.undrr.org/news/how-integration-health-and-disaster-risk-reduction-can-set-asia-pacific-path-towards

Last Updated on มกราคม 12, 2022

Author

  • Thiraphon Singlor

    Editor | อยากรู้ความคิดของคนต่างพื้นเพ ต่างสังคมและวัฒนธรรม สนใจความเป็นไปของโลก ความมั่นคง และการพัฒนา แล้วนำมาถ่ายทอดร้อยเรียงเรื่องราวเล่าให้ฟัง

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น