แอปพลิเคชันใหม่ ‘Clayful’ สนับสนุนให้คำปรึกษาด้านสุขภาพจิต ภายใน 60 วินาที สำหรับนักเรียนในสหรัฐ ฯ

สุขภาพจิตเป็นหนึ่งในภัยเงียบที่ไม่ใช่เรื่องไกลตัว แม้ก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 นับว่าสุขภาพจิตของเยาวชนก็ยังเป็นเรื่องที่น่ากังวล โดยพบว่านักเรียนมัธยมปลายในสหรัฐอเมริกามีสุขภาพจิตที่ย่ำแย่ลง มีอัตราความรู้สึกเศร้าหรือสิ้นหวังอย่างต่อเนื่องเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 26.1 เป็นร้อยละ 36.7 ระหว่างปี 2552 ถึง 2562 และเมื่อเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ปัญหาด้านสุขภาพจิตวิกฤติรุนแรงขึ้น ประกอบกับการขาดแคลนผู้ให้บริการด้านคำปรึกษาด้านสุขภาพจิตที่สามารถตอบสนองความต้องการของเด็กและวัยรุ่นที่เพิ่มมากขึ้น จึงคิดค้นนวัตกรรม ‘Clayful’ เพื่อช่วยแก้ปัญหาขาดแคลนการให้บริการด้านคำปรึกษาด้านสุขภาพจิตสำหรับวัยรุ่น

แอปพลิเคชันใหม่ ‘Clayful’ หรือ https://www.clayfulhealth.com/ พัฒนาขึ้นโดยกลุ่มผู้เชี่ยวชาญและผู้มีประสบการณ์ด้านสุขภาพจิต ที่ปรึกษาทางคลินิก สำหรับแก้ไขปัญหาการขาดแคลนความช่วยเหลือด้านสุขภาพจิตสำหรับวัยรุ่น เนื่องจากปัจจุบัน มีผู้รอเข้ารับบริการนักจิตบำบัดเพิ่มมากขึ้น ขณะที่ โรงเรียนไม่สามารถจัดสรรผู้ให้คำปรึกษาด้านสุขภาพจิตให้แก่นักเรียนได้อย่างเพียงพอ Clayful จึงเป็นหนึ่งในทางเลือกที่จะเข้ามาช่วยเชื่อมต่อผู้ที่ต้องการคำปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญ หรือ การโค้ช (coaching) ด้านสุขภาพจิต ซึ่งนักเรียนสามารถขอคำปรึกษาผ่านแอปพลิเคชัน โดยแอปพลิเคชันจะส่งข้อความที่ได้รับมาไปยังผู้เชี่ยวชาญ ภายใน 60 วินาทีเท่านั้น

ภาพจาก : clayfulhealth.com

Clayful ทำงานร่วมกับโรงเรียนต่าง ๆ เพื่อเชื่อมต่อกับเด็ก ๆ ผ่านช่องทางการแชตด้วยข้อความ แบบเรียลไทม์ โดยรองรับทั้งหมด 133 ภาษาเพื่อให้เข้าถึงความหลากหลายได้อย่างครอบคลุมและเข้าถึงคนทุกกลุ่ม ซึ่งไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน เวลาใด หากนักเรียนต้องการความช่วยเหลือสามารถแชตขอรับคำปรึกษาได้โดยไม่ต้องรอนัดหมาย บนแนวทางที่ว่าเด็กและวัยรุ่นนั้นมีการเปลี่ยนแปลงทางด้านอารมณ์อย่างรวดเร็วดุจรถไฟเหาะ การได้รับคำปรึกษาอย่างทันท่วงทีอาจช่วยบรรเทาปัญหาด้านสุขภาพจิตไม่ให้ทวีความรุนแรงขึ้น และที่สำคัญ คือแพลตฟอร์มมีเป้าหมายเพื่อเป็นเครื่องมือและกลยุทธ์ที่ช่วยให้เด็ก ๆ สามารถฝึกและรู้จักจัดการตนเองจากภาวะสภาพอารมณ์ไม่คงที่ (emotional dysregulation) เช่น โกรธง่าย โมโหร้าย และหมดหวัง ได้ดียิ่งขึ้น

กว่าสองปีแอปพลิเคชันใช้เวลาทดลองและปรับปรุงระบบ รวมถึงวิธีการเชื่อมต่อกับโรงเรียน 50 แห่งทั่วสหรัฐอเมริกา ซึ่งการดำเนินการหากดูเหมือนว่านักเรียนมีความเสี่ยงต่อภาวะวิกฤติ โค้ชจะดำเนินการติดต่อเจ้าหน้าที่ของโรงเรียน ผู้ปกครอง หรือผู้ปกครองตามกฎหมาย ขึ้นอยู่กับช่วงเวลาและลักษณะของปัญหาที่เกิดขึ้น อย่างไรก็ดี แนวทางนี้เป็นกลยุทธ์ที่น่าจะโดนใจคนรุ่น Gen Z และรุ่น Alpha ที่ต้องการการดูแลเอาใจใส่ พร้อมรองรับความต้องการในการดูแลสุขภาพจิต เพื่อช่วยเด็กและวัยรุ่นต่อ ๆ ไป

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี
– (3.4) ลดการตายก่อนวัยอันควรจากโรคไม่ติดต่อให้ลดลงหนึ่งในสามผ่านทางการป้องกันและการรักษาโรค และส่งเสริมสุขภาพจิตและความเป็นอยู่ที่ดี ภายในปี 2573
– (3.8) ส่งเสริมการมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า รวมถึงการป้องกันความเสี่ยงทางการเงิน การเข้าถึงการบริการสาธารณสุขจำเป็นที่มีคุณภาพ และเข้าถึงยาและวัคซีนจำเป็นที่ปลอดภัย มีประสิทธิผล มีคุณภาพ และมีราคาที่สามารถซื้อหาได้

ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ภายใต้โครงการกลยุทธไตรพลังในการดำเนินการเพื่อสุขภาวะและการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย

Author

  • Praewpan Sirilurt

    Knowledge Communication | มนุษย์ผู้เชื่อว่า “การสื่อสารสามารถเชื่อมต่อความรู้สึกของกันและกันได้” ไม่ว่าจะเป็นใคร อยู่ที่ไหน หรือเผชิญกับอะไรอยู่ การสื่อสารจะช่วยบอกเล่าเรื่องราวส่งไปให้แก่ผู้อื่นได้รับรู้

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น