SDG Spotlight – 5 ข่าว SDGs น่าสนใจในรอบสัปดาห์ที่ 2 ประจำเดือนธันวาคม 2566

จากการสำรวจข่าวสารความเคลื่อนไหวที่เกี่ยวข้องและส่งผลต่อการขับเคลื่อน SDGs ระหว่างวันที่  10 – 15 ธันวาคม 2566 มีข่าวสารความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจ ดังนี้

2 สมาพันธ์แรงงาน ร้องรัฐบาลปรับค่าจ้างขั้นต่ำให้เลี้ยงครอบครัวได้

วันที่ 10 ธันวาคม 2566 สมาพันธ์สมานฉันท์แรงงานไทย (สสรท.) และสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ออกจดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลเรียกร้อง เรื่อง ปรับค่าจ้างขั้นต่ำต้องเป็นธรรมและต้องเลี้ยงคนในครอบครัวได้ตามหลักการสากลต้องเท่ากันทั้งประเทศ พร้อมกับมาตรการควบคุมราคาสินค้า มีสาระสำคัญโดยสรุป ได้แก่ 1) รัฐบาลต้องให้ความสำคัญกับผู้ใช้แรงงาน เนื่องจากเป็นคนกลุ่มใหญ่ของประเทศ หากแก้ปัญหาคนส่วนใหญ่ไม่ได้จะแก้ปัญหาประเทศชาติได้อย่างไร จะแก้ปัญหาความยากจน จะแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำได้อย่างไร และ 2) การสร้างรายได้ สร้างอาชีพ และหลักประกันในอาชีพที่มั่นคงแก่ประชาชน สร้างศักยภาพเศรษฐกิจในประเทศแบบพึ่งพาตนเองเป็นด้านหลัก คือการพัฒนาประเทศให้ก้าวหน้าอย่างยั่งยืน ไม่ใช่รอแต่นักลงทุนจากต่างประเทศ 

นอกจากนี้ จดหมายฉบับดังกล่าวยังระบุถึงสาเหตุที่การปรับค่าจ้างขั้นต่ำต้องเลี้ยงคนในครอบครัวได้ เช่น การอ้างถึงปฏิญญาสากลขององค์การสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิมนุษยชนบัญญัติไว้ใน “ข้อ 23 (3) ทุกคนที่ทำงานมีสิทธิที่จะได้รับค่าตอบแทนที่ยุติธรรมและเอื้ออำนวยต่อการประกันความเป็นอยู่อันควรค่าแก่ศักดิ์ศรีของมนุษย์สำหรับตนเองและครอบครัว และหากจำเป็นก็จะได้รับการคุ้มครองทางสังคมในรูปแบบอื่นเพิ่มเติมด้วย”

ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG8 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 8.5 บรรลุการจ้างงานเต็มที่และมีผลิตภาพ และ 8.8 ปกป้องสิทธิแรงงานและส่งเสริมสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ปลอดภัยและมั่นคง และ  SDG10 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 10.1 บรรลุการเติบโตของรายได้ของกลุ่มประชากรร้อยละ 40 ที่มีรายได้ต่ำสุด อย่างก้าวหน้าและยั่งยืน และ 10.4 นำนโยบาย โดยเฉพาะนโยบายการคลัง ค่าจ้าง และการคุ้มครองทางสังคมมาใช้

เข้าถึงได้ที่: สมาพันธ์สมานฉันท์แรงงานไทยเรียกร้องการปรับค่าจ้างปรับค่าจ้างขั้นต่ำต้องเป็นธรรม (ประชาไท) 

รัฐบาลเดินหน้าหารือลดราคาค่าไฟ ด้านก้าวไกลเสนอ 3 มาตรการเป็นทางออก

วันที่ 13 ธันวาคม 2566 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้เข้าประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ครั้งที่ 3/2566 ณ ทำเนียบรัฐบาล โดยมีประเด็นหารือสำคัญเกี่ยวกับการลดราคาค่าไฟฟ้า เช่น 1) รัฐบาลกำลังมองหามาตรการเพื่อให้ค่าไฟลดต่ำจากหน่วยละ 4.68 บาท 2) ข้อเสนอที่จะช่วยเหลือบ้านที่ใช้ไฟน้อยกว่า 300 หน่วยต่อเดือน จำนวน 17 ล้านหลัง นั้นรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้หาแนวทางทำให้สามารถยังคงค่าไฟได้ที่หน่วยละ 3.99 บาทเท่ากับปัจจุบัน ซึ่งเป็นข้อสรุปที่ดีและเห็นควรที่จะทำอย่างยิ่ง และ 3) อาจจะต้องหยุดสร้างโรงไฟฟ้าที่ใช้พลังงานฟอสซิล ขณะเดียวกันก็ต้องลงทุนในพลังงานสะอาดที่เหมาะสม เพื่อให้พี่น้องประชาชนได้ใช้พลังงานที่ราคาถูกลง

ด้าน กรรมาธิการพลังงาน พรรคก้าวไกล เสนอมาตรการการลดราคาค่าไฟ 3 มาตรการ ได้แก่ 1) การปรับโครงการสร้างราคาก๊าซธรรมชาติ 2) แก้ไขสัญญาลดค่าพร้อมจ่ายโรงไฟฟ้าเอกชน และ 3) ยุติการเซ็นสัญญาโรงไฟฟ้าใหม่ในอนาคต โดยล่าสุด ศุภโชติ ไชยสัจ สส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล และรองประธานคณะกรรมาธิการการพลังงานกล่าวว่า ตัวแทนจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยว่าจะเสนอมาตรการลดค่าไฟ โดยการลดต้นทุนค่าก๊าซที่ใช้ผลิตไฟฟ้า ซึ่งจะนำราคาก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยที่โรงแยกก๊าซ และปิโตรเคมีมาใช้คิดถัวเฉลี่ยรวมด้วย โดยจะทำให้ราคาก๊าซที่ใช้ผลิตไฟฟ้าถูกลง

ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG7 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 7.1 สร้างหลักประกันว่ามีการเข้าถึงการบริการพลังงานสมัยใหม่ที่เชื่อถือได้ ในราคาที่สามารถซื้อหาได้ และ 7.2 เพิ่มสัดส่วนของพลังงานหมุนเวียนในสัดส่วนพลังงานของโลก

เข้าถึงได้ที่: ยังไร้ข้อสรุป “ค่าไฟงวดหน้า” เศรษฐาแย้ม “คงต้องหยุดโรงไฟฟ้าฟอสซิล” (Green News

กรมการแพทย์ จัดตั้ง ‘คลินิกมลพิษ’ แห่งแรกในประเทศไทย

วันที่ 15 ธันวาคม 2566 นพ.ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่ากรมการแพทย์ โดยโรงพยาบาลนพรัตนราชธานี ได้จัดตั้งคลินิกมลพิษเป็นแห่งแรกในประเทศไทย เพื่อแก้ไขปัญหาสุขภาพของประชาชนและตอบสนองนโยบายกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นคลินิกเฉพาะทางที่เน้นการทำงานด้านเวชศาสตร์สิ่งแวดล้อม โดยมีบทบาทสำคัญ เช่น 1) ประเมินสถานการณ์มลพิษ และประเมินจำนวนผู้ป่วยที่เป็นโรคจากมลพิษทางอากาศ 2) การให้ข้อมูล และประเมินสภาวะสุขภาพ รวมถึงติดตามผู้ป่วยเป็นระยะ เช่น ระยะเวลาในการได้รับมลพิษ และ 3) การรักษาและดูแลผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบให้ได้รับการรักษาและกลับไปใช้ชีวิตปกติ  

นอกจากนี้ ยังมีการจัดตั้งคลินิกมลพิษออนไลน์ www.pollutionclinic.com เพื่อให้ประชาชนได้ประเมินอาการที่เกิดขึ้นกับตัวเอง และการสร้างความรอบรู้สุขภาพด้านฝุ่นให้กับประชาชนในพื้นที่ และหากพบว่ามีความรุนแรงสามารถขอคำปรึกษาจากแพทย์ในคลินิกออนไลน์หรือส่งต่อผู้ป่วยเข้ารับการรักษาในคลินิกมลพิษใกล้บ้าน

ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG3 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 3.9 ลดจำนวนการตายและการเจ็บป่วยจากสารเคมีอันตรายและจากมลพิษและการปนเปื้อนทางอากาศ และ 3.d เสริมขีดความสามารถของทุกประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศกำลังพัฒนา ในด้านการแจ้งเตือนล่วงหน้า การลดความเสี่ยง

เข้าถึงได้ที่: กรมการแพทย์ตั้งคลินิกมลพิษออนไลน์ ให้ข้อมูล -ประเมินสภาวะสุขภาพประชาชน (ไทยพีบีเอส) 

สหภาพยุโรป อังกฤษ และแคนาดา เพิ่มมาตรการคว่ำบาตรต่อกองทัพเมียนมา

วันที่ 15 ธันวาคม 2566 องค์กรเรียกร้องประชาธิปไตยและต่อต้านเผด็จการทหารเมียนมา (Justice For Myanmar) แถลงการณ์แสดงความพอใจที่กลุ่มประเทศสหภาพยุโรป แคนาดา และอังกฤษ ร่วมกันเพิ่มการคว่ำบาตรรัฐบาลทหารเมียนมาและบุคคลที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งเรียกร้องให้มีมาตรการต่อจากนี้เพื่อหยุดยั้งกองทัพเมียนมาไม่ให้ก่อเหตุทารุณประชาชน และเรียกร้องให้รัฐบาลประเทศต่าง ๆ ยกระดับการคว่ำบาตรแบบมีการประสานงานกันให้มากขึ้นโดยเร็ว

ทั้งนี้ สหภาพยุโรปได้เพิ่มมาตรการคว่ำบาตรต่อบุคคล 4 คน และนิติบุคคลอีก 2 ราย เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2566 ขณะที่ 3 วันก่อนหน้า คือวันที่ 8 ธันวาคม 2566 สหราชอาณาจักรได้ออกมาตรการคว่ำบาตรบุคคลในเมียนมาหลายคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับแหล่งใช้แรงงานทาสไซเบอร์และคาสิโนผิดกฎหมาย หนึ่งในนั้นคือ เสอจื้อเจียง นักธุรกิจเชื้อสายจีนที่ได้สัญชาติกัมพูชา และในวันเดียวกันนี้ แคนาดาได้ทำการคว่ำบาตรเป็นครั้งที่ 2 ต่อ มินอ่องหล่าย 

ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG16 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 16.1 ลดความรุนแรงทุกรูปแบบและอัตราการตายที่เกี่ยวข้องในทุกแห่งให้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ และ 16.3 ส่งเสริมหลักนิติธรรมทั้งในระดับชาติและระหว่างประเทศ  

เข้าถึงได้ที่: อียู-แคนาดา-อังกฤษ คว่ำบาตรรัฐบาลทหารพม่า -ธุรกิจใกล้ชิดเผด็จการเพิ่ม (ประชาไท) 

ผู้พิพากษาออสเตรเลียตัดสินกฎหมายปราบปรามผู้ชุมนุมว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญ

วันที่ 13 ธันวาคม 2566 ผู้พิพากษา ‘Michael Walton’ ตัดสินว่าเนื้อหาส่วนหนึ่งของกฎหมายปราบปรามผู้ชุมนุมที่เร่งรัดผ่านรัฐสภาของรัฐนิวเซาท์เวลส์ ประเทศออสเตรเลีย นั้นขัดกับรัฐธรรมนูญ และทำให้เกิดภาวะ ‘chilling effect’ หรือภาวะที่ทุกคนไม่แน่ใจว่าสิ่งใดที่ตนสามารถสื่อสารหรือแสดงความเห็นได้บ้างในทางการเมืองและการชุมนุมสาธารณะ

การคัดค้านกฎหมายดังกล่าวเริ่มต้นโดย Helen Kvelde และ Dominque Jacobs ซึ่งทั้งสองคนเป็นสมาชิก ‘Knitting Nanas’ กลุ่มผู้ประท้วงประเด็นสภาพภูมิอากาศ ที่ยืนยันว่ากฎหมายดังกล่าวบ่อนทำลาย เสรีภาพในการสื่อสารทางการเมือง โดยต้นปีที่ผ่านมา พบว่ารัฐบาลออสเตรเลียใต้ได้เพิ่มบทลงโทษสำหรับผู้ที่กระทำการที่ “จงใจขัดขวางการสัญจรในที่สาธารณะ” และมีการเปลี่ยนแปลงกฎหมายเพิ่มโทษจากปรับสูงสุด 750 ดอลลาร์เป็นปรับสูงสุด 50,000 ดอลลาร์หรือจำคุก 3 เดือน

ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG13 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 3.3 พัฒนาการศึกษา การสร้างความตระหนักรู้ และขีดความสามารถของมนุษย์และของสถาบันในเรื่องการลดผลกระทบและการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และ SDG16 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่  16.10 สร้างหลักประกันว่าสาธารณชนสามารถเข้าถึงข้อมูลและมีการปกป้องเสรีภาพขั้นพื้นฐาน และ 16.b ส่งเสริมและบังคับใช้กฎหมายและนโยบายที่ไม่เลือกปฏิบัติเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

เข้าถึงได้ที่: Victory for Australia’s Climate Protesters (Human Rights Watch) 

ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ภายใต้โครงการเร่งรัดการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านสุขภาพของประเทศไทย

Author

  • Atirut Duereh

    Knowledge Communication | สนใจประเด็นสันติภาพ ความมั่นคงมนุษย์ เเละสิ่งเเวดล้อมทางทะเล ใช้ชีวิตโดยเชื่อในสมดุลมากกว่าความสมบูรณ์เเบบ

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น