‘มิลาน’ พลิกโฉมพื้นที่จอดรถทั่วเมืองให้เป็นพื้นที่สาธารณะแห่งใหม่ภายในคืนเดียว

พื้นที่สาธารณะ (public space) ถือเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญของการพัฒนาเมือง รัฐบาลหลายประเทศได้หันมาให้ความสนใจกับการสร้างพื้นที่สาธารณะให้ผู้คนได้มาใช้ประโยชน์ร่วมกันมากยิ่งขึ้น ‘มิลาน’ (Milan) หรือ มิลาโน ประเทศอิตาลี นครที่ใหญ่เป็นอันดับสองของประเทศรองจากกรุงโรม เป็นอีกหนึ่งเมืองที่ได้วางแผนโครงการพลิกโฉมพื้นที่จอดรถปรับเปลี่ยนเพิ่มเป็นพื้นที่สาธารณะจากการวางแผนสร้างเมืองที่ตั้งรับปรับตัว (resilient) และน่าอยู่มากขึ้นภายในปี 2573 ซึ่งการสร้างพื้นที่สาธารณะให้เพิ่มมากขึ้นนั้น จะช่วยสะท้อนการพัฒนารากฐานที่สำคัญของโครงสร้างพื้นฐานเมืองให้น่าอยู่และยั่งยืน 

พื้นที่สาธารณะ ประกอบสร้างจากพื้นที่ทางกายภาพ ที่มีความพันธ์กับชีวิตสาธารณะของผู้คน ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เข้าถึงได้และมีกลุ่มคนผู้ใช้งานหลากหลาย มาใช้ประโยชน์พื้นที่ร่วมกัน ทั้งที่เข้ามามีส่วนร่วมโดยตรงและร่วมสังเกตการณ์ ซึ่งเป็นพื้นที่ทางสังคมที่รองรับคนทั้งในระดับบุคคล กลุ่มเพื่อน ครอบครัว ชุมชนเมือง และรองรับความต้องการเพื่อผลประโยชน์ของสาธารณชน ทั้งนี้ สามารถเรียกได้อีกคำหนึ่งในแบบอิตาลีว่า Piazza หรือ ลาน/จัตุรัสสาธารณะประจำเมือง เป็นพื้นที่สำหรับให้ผู้คนสามารถมาพบปะทำกิจกรรมร่วมกัน 

เมืองมิลาน ได้เริ่มดำเนินการปรับเปลี่ยนพื้นที่สาธารณะตั้งแต่ก่อนจะมีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยในปี 2561 เริ่มสร้างพื้นที่สาธารณะขนาดใหญ่ขึ้นมาใหม่ ซึ่งเน้นใช้พื้นที่จอดรถบริเวณใกล้เคียงโดยเฉพาะที่มีพื้นที่สีเขียว (green space) เพียงเล็กน้อย แทรกแซงพัฒนาปรับเปลี่ยนให้เป็นพื้นที่สาธารณะแห่งใหม่ ซึ่งนายกเทศมนตรีเมืองมิลาน Giuseppe Sala ได้เปิดตัวส่วนหนึ่งของแผนในการสร้างเมืองที่ตั้งรับปรับตัวและน่าอยู่มากขึ้นภายในปี 2573 มีความพยายามในการสร้างลาน/จัตุรัสสาธารณะ นำโดย Bloomberg Associates ฝ่ายที่ปรึกษาของมูลนิธิบลูมเบิร์ก ร่วมดำเนินการภายใต้การให้คำแนะนำของ Janette Sadik-Khan อดีตคณะเทศมนตรีนครนิวยอร์ก ผู้ดูแลด้านการจราจรและการขนส่ง  (Commissioner of the New York City Department of Transportation: NYC DOT) เป็นผู้นำในการปรับเปลี่ยนพื้นที่ถนนของเมืองให้เป็นจัตุรัสสาธารณะที่ปลอดรถยนต์ โดยโครงการของมิลานได้จำลองและพัฒนาต่อยอดรูปแบบที่เคยทำแล้วในนิวยอร์กนำมาปรับใช้ ทำให้ในปี 2561 จึงเริ่มต้นแผนด้วยการเปลี่ยนลานจัตุรัสสาธารณะ 3 แห่ง ด้วยการปูพื้นที่เล็ก ๆ ที่ใช้สำหรับจอดรถริมถนนในเขตชุมชนที่ด้อยโอกาส ปรับให้เป็นพื้นที่สาธารณะ โดยวางม้านั่ง กระถางต้นไม้ และ ทาสีทับบนยางมะตอยปิดพื้นที่จอดรถ ทำให้พื้นที่ดังกล่าวกลายเป็นสวนสาธารณะภายในข้ามคืน ต่อมาในปี 2562 จึงมีการดำเนินการปรับเปลี่ยนจัตุรัสสาธารณะแล้วเสร็จเพิ่มอีก 13 แห่ง และมากกว่าครึ่งปรับเปลี่ยนแล้วเสร็จในปี 2563 ถึงแม้จะอยู่ในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แต่การปรับเปลี่ยนพื้นที่สาธารณะยังคงดำเนินต่อไปและได้มีการดำเนินการสร้างเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา 

Janette Sadik-Khan อธิบายว่า พื้นที่ถนนยาวกว่า 42 ไมล์ (ประมาณ 68 กิโลเมตร) ได้รับการปรับเปลี่ยนเป็นทางจักรยานและทางเดินเท้า และกำลังวางแผนที่จะประกาศระยะต่อไปของโครงการจัตุรัสสาธารณะ พร้อมพื้นที่เพิ่มเติมที่จะถูกปรับเปลี่ยนทั่วเมือง ทั้งนี้ การมีส่วนร่วมของชุมชนเป็นส่วนสำคัญของการเปลี่ยนแปลงให้เกิดพื้นที่สาธารณะที่เข้าถึงได้สำหรับคนทุกคนให้สามารถมาใช้ประโยชน์ร่วมกัน และแม้โครงการนี้จะได้รับกระแสต่อต้านในช่วงแรก ๆ เนื่องด้วยความกังวลว่าจะกระทบต่อผลประกอบการของธุรกิจท้องถิ่นหากปรับเปลี่ยนพื้นที่จอดรถเป็นพื้นที่สาธารณะ แต่ท้ายที่สุด ก็ได้รับการยอมรับเนื่องจากการเกิดขึ้นของสวนสาธารณะแห่งใหม่ จะช่วยสร้างให้เกิดธุรกิจใหม่ เช่น การเช่า-ยืมไม้ตีปิงปองและลูกปิงปอง เนื่องจากมีการเพิ่มโต๊ะปิงปองเข้ามาในพื้นที่ เพื่อให้ผู้คนได้มีกิจกรรมทำร่วมกันภายในสวนสาธารณะ

จากการแพร่ระบาดโควิด-19 ช่วยตอกย้ำถึงความสำคัญของพื้นที่สาธารณะมากยิ่งขึ้นและนำไปสู่การได้รับการสนับสนุนจากประชาชนในระหว่างกระบวนการวางแผนและการพัฒนาโครงการ ซึ่งการพัฒนาพื้นที่สาธารณะดังกล่าว สะท้อนการดำเนินการว่า “มิลานกำลังแสดงให้เห็นว่าเมื่อคุณลงทุนในพื้นที่ถนนของคุณ เท่ากับว่าคุณกำลังลงทุนให้แก่ประชาชนของคุณด้วย” ปัจจุบันนี้ ผู้คนในมิลานอยู่ใกล้ชิดพื้นที่สาธารณะในระยะที่สามารถเดินเข้าถึงได้มากขึ้น โดยทั้งหมดนี้ไม่ได้อาศัยงบประมาณที่มหาศาล แต่เป็นการคิดค้นและวางแผนพลิกโฉมจากการใช้วัสดุที่มีในเมืองและพื้นที่ถนนที่มีอยู่แล้ว นำมาพัฒนาให้เกิดพื้นที่สาธารณะที่กระจายไปทั่วทั้งเมือง

● อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
บัวโนส ไอเรส ใช้แนวทางขับเคลื่อนด้วยข้อมูลเพื่อสร้างความเท่าเทียมทางเพศในพื้นที่สาธารณะ – SDG Move 
เดินไปพร้อมกัน ! เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนจะคืบหน้าก็ต่อเมื่อประชาชนมีสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐาน – SDG Move 
รายงานการพัฒนาที่ยั่งยืนฉบับล่าสุด เผยแผนระดับโลกเพื่อการสนับสนุนทางการเงินสำหรับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนคือความจำเป็นเร่งด่วนตามที่ระบุในรายงานฉบับใหม่ของ SDSN – SDG Move 
SDG Updates | การเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากร: หนึ่งปัจจัยสำคัญต่อการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน
SDG Insights | ‘ป่าในเมือง’ โครงสร้างพื้นฐาน ใหม่เพื่อสุขภาพของคนเมืองใหญ่  

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG11 เมืองและชุมชนที่ยั่งยืน
– (11.3) ยกระดับการพัฒนาเมืองและขีดความสามารถให้ครอบคลุมและยั่งยืน เพื่อการวางแผนและการบริหารจัดการการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์อย่างมีส่วนร่วม บูรณาการและยั่งยืนในทุกประเทศ ภายในปี 2573
– (11.7) จัดให้มีการเข้าถึงพื้นที่สาธารณะสีเขียว ที่ปลอดภัยครอบคลุมและเข้าถึงได้ โดยถ้วนหน้า โดยเฉพาะผู้หญิง เด็ก คนชรา และผู้มีความบกพร่องทางร่างกาย ภายในปี 2573
– (11.a) สนับสนุนการเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมระหว่างพื้นที่เมือง รอบเมือง และชนบท โดยการเสริมความแข็งแกร่งของการวางแผนการพัฒนาในระดับภูมิภาคและระดับประเทศ

แหล่งที่มา: 
– Milan turned 250,000 square feet of parking into public space (fastcompany).
Piazze Aperte: How Milan Gave its Piazze Back to the People

ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ภายใต้โครงการเร่งรัดการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านสุขภาพของประเทศไทย 

Last Updated on สิงหาคม 4, 2022

Author

  • Praewpan Sirilurt

    Knowledge Communication | มนุษย์ผู้เชื่อว่า “การสื่อสารสามารถเชื่อมต่อความรู้สึกของกันและกันได้” ไม่ว่าจะเป็นใคร อยู่ที่ไหน หรือเผชิญกับอะไรอยู่ การสื่อสารจะช่วยบอกเล่าเรื่องราวส่งไปให้แก่ผู้อื่นได้รับรู้

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น