SDG Spotlight – 5 ข่าว SDGs น่าสนใจในรอบสัปดาห์ที่ 4 ประจำเดือนพฤษภาคม 2566

จากการสำรวจข่าวสารความเคลื่อนไหวที่เกี่ยวข้องและส่งผลต่อการขับเคลื่อน SDGs ระหว่างวันที่  21 พฤษภาคม – 26 พฤษภาคม 2566 มีข่าวสารความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจ ดังนี้

รายงานของ UN ชี้ว่า ‘วิกฤตสภาพภูมิอากาศโลก’ ในช่วง 50 ปี คร่าชีวิตผู้คนกว่า 2 ล้านคน

รายงานล่าสุดของกรมอุตุนิยมวิทยาโลก (World Meteorological Organization : WMO) ภายใต้องค์การสหประชาชาติ (United Nations: UN) ระบุว่า วิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกได้คร่าชีวิตผู้คนไปมากกว่า 2 ล้านคนในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา โดยกว่าร้อยละ 90 ของผู้เสียชีวิต มีสาเหตุมาจากภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นในประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งรายงานระบุอีกว่า โลกเผชิญกับภัยพิบัติครั้งใหญ่ที่เกี่ยวโยงกับสภาพอากาศอย่างน้อย 11,778 ครั้ง ในช่วงปี 2513 – 2564 ที่ผ่านมา ทั้งยังสร้างมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจสูงถึง 4.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ 

จากรายงานปี 2564 ที่ผ่านมา พบตัวเลขความเสียหายและยอดผู้เสียชีวิตจากภัยพิบัติในช่วงปี 2513 – 2562 ชี้ให้เห็นว่า ในระยะเริ่มแรกของช่วงเวลานั้น โลกมียอดผู้เสียชีวิตจากภัยพิบัติราว 50,000 คนต่อปี จนถึงปี 2553 ที่ตัวเลขดังกล่าวเริ่มมีแนวโน้มลดลงจนเหลือราว 20,000 คนต่อปี ซึ่งตัวเลขล่าสุดปี 2563 – 2564 มีจำนวนยอดผู้เสียชีวิตจากภัยพิบัติอยู่ที่ 22,608 คนทั่วโลก ซึ่งส่วนสำคัญเป็นผลมาจากระบบเตือนภัยล่วงหน้าและการบริหารจัดการภัยพิบัติที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น จึงทำให้ยอดผู้เสียชีวิตจากภัยพิบัติเหล่านี้มีแนวโน้มลดลงอย่างมาก UN จึงเร่งผลักดันแผนการที่จะสร้างหลักประกันให้ทุกชาติในประชาคมโลกมีระบบเตือนภัยล่วงหน้าไว้ใช้งานภายในสิ้นปี 2570 (ค.ศ. 2027) นี้ ซึ่งขณะนี้มีเพียงราวครึ่งหนึ่งเท่านั้นที่มีการรองรับระบบดังกล่าว

ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG13 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 13.1 เสริมภูมิต้านทานและขีดความสามารถในการปรับตัวต่ออันตรายและภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกี่ยวข้องกับภูมิอากาศในทุกประเทศ และ 13.2 บูรณาการมาตรการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในนโยบาย ยุทธศาสตร์ และการวางแผนระดับชาติ

เข้าถึงได้ที่ : รายงาน UN ชี้ วิกฤตสภาพภูมิอากาศโลกคร่าชีวิตผู้คนไปกว่า 2 ล้านคน – Thestandard 

ม. มหิดล เสนอการใช้ดัชนีคุณภาพอากาศใหม่ “AQHI” เพิ่มมิติสุขภาพดัชนี AQI เดิม

นักวิชาการคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลเผย เตรียมเสนอและผลักดันการใช้ “ดัชนีชี้วัดคุณภาพอากาศที่เชื่อมโยงมิติทางด้านสุขภาพ (AQHI)” ซึ่งดีกว่าดัชนี AQI ที่ใช้ปัจจุบัน โดยเพิ่มมิติสุขภาพเข้าไป ซึ่งกำลังวิจัย เพื่อขยายผลการใช้ดัชนีใหม่ “AQHI” ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งจะเริ่มทดลองใช้ภายในปีนี้ รวม 2 พื้นที่ ในพื้นที่มหาวิทยาลัยมหิดลก่อน มุ่งจะขยับขับเคลื่อนดันนโยบาย “ห้องปลอดมลพิษ-พื้นที่อากาศปลอดภัยกลุ่มเสี่ยง” 

ที่ผ่านมาการสื่อสารสถานการณ์คุณภาพอากาศจะใช้ค่าดัชนีชี้วัดคุณภาพอากาศเป็นค่า AQI (Air Quality Index) ซึ่งแสดงค่าสารมลพิษที่มีความเข้มข้นสูงสุดเพียง 1 ชนิดจาก 6 ชนิดของสารมลพิษหลัก ซึ่งได้แก่ ก๊าซคาร์บอนมอนนอกไซด์ ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ โอโซน ไนโตรเจนไดออกไซด์ ฝุ่นละออง PM10 และ PM2.5 ที่มีระดับความรุนแรงจากน้อยไปมาก ผ่านสีฟ้า เขียว ส้ม และแดง ตามลำดับ ซึ่งเป็นการสื่อสารที่มีความเสี่ยงต่อสุขภาพจากการสัมผัสสารมลพิษทางอากาศ แต่การปรับค่าดัชนีชี้วัดคุณภาพอากาศ ได้พยายามเพิ่มการวิเคราะห์เชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพสะท้อนความเสี่ยงเชิงสุขภาพยิ่งขึ้น

นอกจากนั้นอาจช่วยเสริมการขับเคลื่อนนโยบายการลดมลพิษจากแหล่งกำเนิด ที่มาจากการเผาไหม้ในภาคส่วนต่าง ๆ ส่งผลให้เกิดการผลักดันต่อการปฏิบัติตามมาตรการเศรษฐกิจโลก ที่กำหนดให้ทุกประเทศมีการประเมิน คาร์บอนเครดิต ในการนำเข้า-ส่งออกสินค้า โดยจะเป็นการช่วยลดมลพิษตั้งแต่จุดกำเนิด ก่อนปล่อยออกสู่สิ่งแวดล้อม ซึ่งในปัจจุบันประเทศชั้นนำของโลก อาทิ แคนาดา และฮ่องกง ได้มีรายงานการศึกษาวิจัยและการประกาศใช้ค่า AQHI จากหน่วยงานภาครัฐ 

ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG3 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 3.9 ลดจำนวนการตายและการเจ็บป่วยจากสารเคมีอันตรายและจากมลพิษและการปนเปื้อนทางอากาศ น้ำ และดิน ให้ลดลงอย่างมาก ภายในปี 2573 และ SDG11 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 11.6 ลดผลกระทบทางลบต่อสิ่งแวดล้อมต่อหัวประชากรในเขตเมือง รวมถึงการให้ความสนใจเป็นพิเศษต่อการจัดการคุณภาพอากาศ การจัดการของเสียของเทศบาล และการจัดการของเสียอื่น ๆ ภายในปี 2573

เข้าถึงได้ที่ : มหิดลดันใช้ดัชนีคุณภาพอากาศใหม่ “AQHI” เพิ่มมิติสุขภาพจากดัชนี AQI เดิม – Greennews

สำรวจคนไร้บ้านคืนเดียวพบกว่า 2 พันราย นำข้อมูลขับเคลื่อนนโยบายเข้าถึงสิทธิสวัสดิการ

นายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เผยว่า พม.โดยกรมพัฒนาสังคมสวัสดิการ (พส.) ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กรุงเทพมหานคร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และภาคีเครือข่าย ร่วมจัดทำโครงการแจงนับคนไร้บ้าน ลงพื้นที่สำรวจ เก็บข้อมูลเบื้องต้นจำนวนคนไร้บ้าน ปี 2566 ภายในคืนเดียวเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม พร้อมกัน 77 จังหวัด ทั่วประเทศ ข้อมูลที่ได้รับรายงานจนถึงวันที่ 24 พฤษภาคม พบจำนวนคนไร้บ้านทั่วประเทศมี 2,413 คน พบในพื้นที่ กรุงเทพมหานครมากที่สุดถึง 1,258 คน ต่างจังหวัด 1,155 คน ซึ่งการลงพื้นที่แจงนับ 1 คืน เพื่อนำฐานข้อมูลมาขับเคลื่อนนโยบายระดับพื้นที่ ระดับประเทศ และเตรียมแผนผลักดันนโยบายการเข้าถึงสิทธิสุขภาพ สวัสดิการต่างๆ ศักยภาพเข้าถึงที่อยู่อาศัย และอาชีพ ออกแบบระบบการคุ้มครองดูแล และจัดบริการสวัสดิการสังคมอย่างตรงจุด

โดยการสำรวจคนไร้บ้านปี 2566 ครอบคลุมทั้ง 77 จังหวัด จะให้เห็นสถานการณ์ประชากรคนไร้บ้านมีความชัดเจนยิ่งขึ้น อันเป็นพื้นฐานสำคัญต่อการกำหนดนโยบายที่ครอบคลุม ตั้งแต่การพัฒนาคุณภาพชีวิต และสุขภาวะ รวมถึงการป้องกันการเข้าสู่ภาวะไร้บ้านของกลุ่มเปราะบาง ทั้งนี้ พม. และ กทม. อยู่ระหว่างการศึกษา ให้คนไร้บ้าน หรือคนที่อยู่ในภาวะก้ำกึ่งต่อการไร้บ้าน สามารถพัฒนาคุณภาพชีวิต ลดความเสี่ยงจากภาวะไร้บ้านถาวร

ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG1 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 1.3 ดำเนินการให้ทุกคนมีระบบและมาตรการการคุ้มครองทางสังคมในระดับประเทศที่เหมาะสม รวมถึงการคุ้มครองทางสังคมขั้นพื้นฐานและบรรลุการครอบคลุมถึงกลุ่มที่ยากจนและเปราะบาง ภายในปี 2573 และ SDG10  โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 10.2 ให้อำนาจและส่งเสริมความครอบคลุมด้านสังคม เศรษฐกิจและการเมืองสำหรับทุกคน โดยไม่คำนึงถึงอายุ เพศ ความบกพร่องทางร่างกาย เชื้อชาติ ชาติพันธุ์ แหล่งกำเนิด ศาสนา หรือสถานะทางเศรษฐกิจหรือสถานะอื่น ๆ ภายในปี 2573

เข้าถึงได้ที่ : นับคนไร้บ้านคืนเดียวพบกว่า 2 พันราย นำข้อมูลขับเคลื่อนนโยบายเข้าถึงสิทธิสวัสดิการ – Thairath 

รายงาน UN เผย 5 ประเทศส่งอาวุธให้พม่า สิงคโปร์อันดับ 3 ไทยอันดับ 5

รายงานล่าสุดของสหประชาชาติระบุว่า หลังรัฐประหาร รัฐบาลทหารพม่านำเข้าอาวุธยุทโธปกรณ์ไปแล้วไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยพบว่าที่มาของอาวุธมาจาก 5 ประเทศ ได้แก่ รัสเซีย 406 ล้านดอลลาร์ จากหน่วยงานในประเทศรวมถึงหน่วยงานของรัฐ จีน 267 ล้านดอลลาร์ จากหน่วยงานในประเทศรวมถึงหน่วยงานของรัฐ สิงคโปร์ 254 ล้านดอลลาร์ จากหน่วยงานที่ดำเนินการในประเทศ อินเดีย 51 ล้านดอลลาร์ จากหน่วยงานในประเทศ รวมถึงหน่วยงานของรัฐ และไทย 28 ล้านดอลลาร์ จากหน่วยงานที่ดำเนินการในประเทศ ตามรายงาน ‘The Billion Dollar Death Trade: The International Arms Networks that Enable Human Rights Violations in Myanmar’

รายงานยังระบุว่า คณะกรรมการอุตสาหกรรมกลาโหมของรัฐบาลทหารได้ผลิตระเบิดและปืนกลในประเทศ โดยพึ่งพาวัตถุดิบส่วนหนึ่งที่จัดหาโดยภาคเอกชนจากสิงคโปร์ จีน และไทย ทั้งนี้ รายงานเสนอว่า ผู้ค้าอาวุธอาจใช้ประเทศไทยเป็นเส้นทางสายรอง โดยระบุว่าบริษัทไทย 12 แห่ง ที่ส่งออกอาวุธและวัสดุที่เกี่ยวข้องให้กองทัพพม่า จัดตั้งขึ้นหลังการรัฐประหาร ท้ายที่สุด รายงานพิเศษของสหประชาชาติเรียกร้องให้รัฐบาลประเทศต่าง ๆ ยุติการขายและถ่ายโอนอาวุธให้กับกองทัพพม่าโดยสิ้นเชิง และเรียกร้องให้รัฐบาลบังคับใช้คำสั่งห้ามที่มีอยู่ ขณะเดียวกันก็ต้องคว่ำบาตรบริษัทค้าอาวุธและแหล่งเงินตราต่างประเทศไปพร้อมกัน

ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG16 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 16.1 ลดความรุนแรงทุกรูปแบบและอัตราการตายที่เกี่ยวข้องในทุกแห่งให้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ และ 16.4 ลดการลักลอบเคลื่อนย้ายอาวุธและเงิน เสริมความแข็งแกร่งของกระบวนการติดตามและการส่งคืนสินทรัพย์ที่ถูกขโมยไป และต่อสู้กับอาชญากรรมที่จัดตั้งในลักษณะองค์กรทุกรูปแบบ ภายในปี พ.ศ. 2573

เข้าถึงได้ที่ : เปิดรายงานยูเอ็น 5 ประเทศส่งอาวุธให้พม่า สิงคโปร์อันดับ 3 ไทยอันดับ 5 – Thairath plus

ครม.อนุมัติ วาฬสีน้ำเงิน เป็นสัตว์ป่าสงวนชนิดใหม่ของไทย 

เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2566 ที่ประชุม ครม. อนุมัติร่างพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) กำหนดให้วาฬสีน้ำเงิน (Balaenptera musculus) เป็นสัตว์ป่าสงวนเพิ่มเติม โดยให้รวมกับร่าง พ.ร.ฎ. ที่ครม. ได้อนุมัติเมื่อวันที่ 6 กันยายน 2565 ซึ่งกำหนดให้ ‘นกชนหิน’ หรือ ‘นกหิน’ (Buceros vigil หรือ Rhinoplax vigil) เป็นสัตว์ป่าสงวน เพื่อรวบรวมเป็นกฎหมายฉบับเดียวกัน ซึ่งก่อนหน้าที่จะเสนอเป็นสัตว์ป่าสงวน วาฬสีน้ำเงินเป็นสัตว์ป่าควบคุม ตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นสัตว์ขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งในไทยมีข้อมูลการพบเห็นวาฬสีน้ำเงินเฉพาะทะเลฝั่งอันดามันเพียง 3 ครั้ง เนื่องจากในอดีตถูกล่าจับเพื่อนำเนื้อและไขมันมาใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์และประมงพื้นบ้าน ขณะที่แหล่งอาหารที่ลดลงจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและความเป็นกรดในทะเล ส่งผลต่อการสืบพันธุ์

องค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ(IUCN) จึงได้ขึ้นบัญชีให้วาฬสีน้ำเงินมีสถานะเป็นชนิดพันธุ์ที่ใกล้สูญพันธุ์ (Endangered species : EN) หรืออยู่ในบัญชี IUCN Red List ซึ่งประเทศไทยได้ขึ้นบัญชีวาฬสีน้ำเงินเป็นชนิดพันธุ์ใกล้สูญพันธุ์เช่นกัน (Thailand Red Data) โดยหลังจากกฎหมายมีผลบังคับให้เป็นสัตว์ป่าสงวนแล้ว ทั้งวาฬสีน้ำเงิน และนกชนหินหรือนกหิน จะได้รับการอนุรักษ์และดูแลอย่างเข้มงวดตาม พ.ร.บ. สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า ปี 2562 เช่นเดียวกับสัตว์ป่าสงวนอื่น ๆ เช่น กระซู่ กวางผา ปลาฉลามวาฬ เป็นต้น

ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG14 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 14.c เพิ่มพูนการอนุรักษ์และการใช้มหาสมุทรและทรัพยากรอย่างยั่งยืน โดยการดำเนินการให้เกิดผลตามกฎหมายระหว่างประเทศตามที่สะท้อนใน UNCLOS ซึ่งเป็นกรอบทางกฎหมายสำหรับการอนุรักษ์และการใช้มหาสมุทรและทรัพยากรเหล่านั้นอย่างยั่งยืน ตามที่ระบุในย่อหน้าที่ 158 ของเอกสาร The Future We Want

เข้าถึงได้ที่ : ครม.อนุมัติ วาฬสีน้ำเงิน สัตว์ป่าสงวนชนิดใหม่ของไทย สะท้อนความตระหนักความสำคัญสัตว์ทะเลของรัฐไทยที่เพิ่มมากขึ้น – สัตว์ไรนิ

ครม.เห็นชอบท่าทีไทยถกกรอบมาตรการด้านมลพิษจากพลาสติกและสิ่งแวดล้อมทางทะเล

นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เห็นชอบกรอบการเจรจาและท่าทีของประเทศไทยสำหรับการประชุมคณะกรรมการเจรจาระหว่างรัฐบาลในการจัดทำมาตรการที่มีผลผูกพันทางกฎหมายระหว่างประเทศด้านมลพิษจากพลาสติกรวมทั้งสิ่งแวดล้อมทางทะเล ครั้งที่ 2  ณ กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส ระหว่างวันที่ 28 พฤษภาคม – 2 มิถุนายน 2566

สำหรับการเจรจาระหว่างรัฐบาลฯ เกิดขึ้นจากที่ประชุมสมัชชาสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEA) ซึ่งเป็นเวทีการประชุมสหประชาชาติระดับสูงที่สุดในการกำหนดนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมของโลก ที่มีประเทศสมาชิกของสหประชาชาติ ผู้แทนจากภาคส่วนต่าง ๆ เข้าร่วม ซึ่งจากการประชุม UNEA เมื่อวันที่ เดือนมีนาคม 2565 ได้มีการรับรองข้อมฺติ “ยุติมลพิษจากพลาสติก : ด้วยมาตรการที่มีผลผูกพันทางกฎหมายระหว่างประเทศ” พร้อมจัดตั้งคณะกรรมการเจรจาระหว่างรัฐบาลฯ ขึ้นเพื่อเจรจาและจัดทำมาตรการที่เกี่ยวข้อง โดยการประชุม ครั้งที่ 2 นี้ จะมีวาระที่จะต้องมีการรับรองและข้อตัดสินใจสำคัญ อาทิ 1) ข้อกำหนดและขอบเขตของร่างมาตรการ 2)บัญชีรายชื่อพลาสติดบางประเภทที่มีปัญหาและเป็นอันตรายมากที่ควรได้รับการยกเลิก ลด หรือจำกัดการผลิต การใช้งานและการได้รับการจัดการที่เหมาะสม 3) บัญชีรายชื่อสารอันตรายที่เติมแต่งในพลาสติกที่ควรได้รับการยกเลิกการผลิตและการใช้งาน 4) ข้อเสนอบทบัญญัติของมาตรการ เป็นต้น

ทั้งนี้ กระทรวงการต่างประเทศได้พิจารณาร่างกรอบการเจรจาและท่าทีของไทยแล้ว เห็นว่ามีสาระสำคัญเป็นการกำหนดขอบเขตการเจรจาในประเด็นต่าง ๆ และเป็นเอกสารภายในของไทยที่เป็นกรอบท่าทีสำหรับการประชุมดังกล่าว ยังไม่ใช่การจัดทำสนธิสัญญาใหม่ จึงไม่มีประเด็นพิจารณาเกี่ยวกับการทำหนังสือสัญญาตามมาตรา 178 ของรัฐธรรมนูญ

 ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG12 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 12.5 ภายในปี 2573 จะต้องลดการเกิดของเสียโดยให้มีการป้องกัน การลด การแปรรูปเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ และการนำกลับมาใช้ซ้ำ และ SDG14 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 14.1 ป้องกันและลดมลพิษทางทะเลทุกประเภทอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะจากกิจกรรมบนแผ่นดิน รวมถึงขยะในทะเลและมลพิษจากธาตุอาหาร (nutrient pollution)

เข้าถึงได้ที่ : ครม.เห็นชอบท่าทีไทยถกกรอบมาตรการด้านมลพิษจากพลาสติกและสิ่งแวดล้อมทางทะเล – Thereporters

ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ภายใต้โครงการเร่งรัดการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านสุขภาพของประเทศไทย

Author

  • Praewpan Sirilurt

    Knowledge Communication | มนุษย์ผู้เชื่อว่า “การสื่อสารสามารถเชื่อมต่อความรู้สึกของกันและกันได้” ไม่ว่าจะเป็นใคร อยู่ที่ไหน หรือเผชิญกับอะไรอยู่ การสื่อสารจะช่วยบอกเล่าเรื่องราวส่งไปให้แก่ผู้อื่นได้รับรู้

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น