โควิด-19 ทำให้ความต้องการพัฒนาอาคารที่ปลอดภัยต่อสุขภาพและประหยัดพลังงานเพิ่มขึ้น

หลายบริษัทในสหรัฐอเมริกาใช้เงินลงทุนหลายพันล้านดอลลาร์ในการปรับปรุงสภาพแวดล้อมการทำงานเพื่อตอบสนองข้อกังวลด้านสุขภาพของพนักงานที่เพิ่มมากขึ้นในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยเฉพาะประเด็นเรื่อง คุณภาพอากาศ สอดรับกับการให้ความสำคัญกับเป้าหมายสุขภาพโลกในความพยายามลดก๊าซเรือนกระจกจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงภายในอาคารที่พักและอาคารสำนักงาน

GreenBiz Group แนะนำให้ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์จะต้องให้ความสนใจกับการปรับปรุงระบบปรับอากาศและระบายอากาศ HVAC (Heating Ventilation and Air Conditioning) และการพัฒนาอาคารแบบประหยัดพลังงานให้มากขึ้น

การศึกษาจาก UCLA และ Lawrence Berkeley National Laboratory เผยว่าที่พักอาศัยส่วนใหญ่ในแคลิฟอร์เนียที่ยังประกอบอาหารด้วยเตาแก๊ซมีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และไนโตรเจนไดออกไซด์ในระดับที่ไม่ปลอดภัย ซึ่งเป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหอบหืดในวัยเด็ก และการใช้ก๊าซธรรมชาติยังเป็นแหล่งปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นสัดส่วน 10% ของปริมาณทั้งหมดในสหรัฐอเมริกา ดังนั้น การพัฒนาอาคารให้เป็นรูปแบบการใช้ไฟฟ้าทั้งหมด (Electrifying building) จึงสามารถสร้างประโยชน์ทั้งทางด้านการเงิน สิ่งแวดล้อม และด้านเทคนิค

ที่มา : GreenBiz

ในบางพื้นที่ของสหรัฐอเมริกาที่ต้องเผชิญกับสถานการณ์ไฟป่าบ่อยครั้ง ผลกระทบจากควันไฟและฝุ่นขนาดเล็กที่คงอยู่ในพื้นที่ได้นานหลายสัปดาห์ ทำให้เกิดปัญหาระบบทางเดินหายใจ หัวใจและหลอดเลือด แต่เนื่องจากอากาศที่อบอุ่นในพื้นที่นี้ ทำให้อาคารส่วนใหญ่ไม่มีระบบปรับอากาศ เมื่อเกิดเหตุการณ์ควันไฟในพื้นที่และผู้คนจำเป็นต้องอาศัยอยู่แต่ในอาคารที่มีอากาศร้อน การพัฒนาอาคารในพื้นที่นี้จึงต้องคำนึงถึงแผนการเตรียมพร้อมสำหรับผลกระทบจากไฟป่าด้วย

สำนักงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อมแห่งสหรัฐอเมริกา (U.S. Environmental Protection Agency) แนะนำขั้นตอนการรับมือ เช่น ระบบปรับอากาศและระบายอากาศ HVAC และระบบอาคารประหยัดพลังงานที่เหมาะกับสภาพภูมิอากาศ (Weatherization) รวมถึง การให้จัดให้มีเครื่องฟอกอากาศแบบพกพาและตัวกรองพิเศษ

การปรับปรุงอาคารด้วยวิธีดังกล่าวสามารถทำควบคู่ไปพร้อมกับการปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงานและการเปลี่ยนเตาแก๊ซเป็นการใช้ไฟฟ้าทั้งหมด รวมไปถึงการติดตั้อแผงโซลาร์เซลล์บนชั้นดาดฟ้าพร้อมแบตเตอรี่สำรองเพื่อให้สามารถใช้ไฟฟ้าได้ตลอดเวลาแม้ในช่วงที่ต้องระงับการจ่ายไฟเนื่องจากเกิดเหตุไฟป่า

มาตรการนี้มีประโยชน์สองประการ ได้แก่ การรักษาสุขภาพผู้อยู่อาศัยในช่วงฤดูไฟป่า และเป็นการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อลดความรุนแรงของจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเป็นต้นเหตุของการเกิดไฟป่า

ในขณะที่พนักงานเริ่มกลับไปทำงานในอาคารมากขึ้น เทคโนโลยีและตัวช่วยต่างๆ จึงจำเป็นสำหรับผู้ต้องการพัฒนาอาคารที่ปลอดภัยต่อสุขภาพมากขึ้น เช่น Alliance for Sustainable & Practical IAQ in Real Estate (ASPIRE) กลุ่มทำงานที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อรวบรวมข้อมูลและการวิเคราะห์เพื่อให้ข้อมูลผู้จัดการอสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์เพื่อติดตามและเพิ่มประสิทธิภาพคุณภาพอากาศภายในอาคาร (Indoor Air Quality : IAQ) ไปพร้อมกับการลดพลังงานและการปล่อยมลพิษ และ Airside โปรแกรมตรวจสอบคุณภาพการใช้พลังงานและคุณภาพอากาศในอาคาร

อาคารที่ปลอดภัยต่อสุขภาพและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เกี่ยวข้องกับ SDGs ในเป้าหมาย ..
- #SDG3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี ในประเด็น ลดการตายและป่วยจากสารเคมีอันตรายและจากการปนเปื้อนและมลพิษต่าง ๆ (3.9) 
- #SDG7 การเข้าถึงพลังงานสะอาด ในประเด็น การปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงาน (7.3)
- #SDG11 เมืองและการตั้งถิ่นฐานที่ยั่งยืน ในประเด็น การจัดการมลพิษทางอากาศและของเสียในเมือง (11.6)
- #SDG13 ต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในประเด็น การปรับตัวต่ออันตรายและภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกี่ยวข้องกับภูมิอากาศ (13.1) และบูรณาการมาตรการในนโยบาย ยุทธศาสตร์ และแผนระดับชาติ (13.2)

ที่มา : How COVID is inspiring healthy, efficient buildings (GreenBiz)

Last Updated on มกราคม 12, 2022

Author

  • Natetida Bunnag

    Social Media Manager - ตัวแทน 'คนธรรมดา' ในชุมชนนักวิชาการ อ่าน แปล และสื่อสารเรื่องความยั่งยืน

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น