WHO เผยตัวอย่างการใช้นโยบาย ‘ภาษีบุหรี่’ ที่ส่งผลดีต่อทั้งสุขภาพประชากร การพัฒนา และรายรับของรัฐ

ในปี 2018 มีเพียง 38 ประเทศ หรือครอบคลุมประชากรโลกเพียง 14% เท่านั้น ที่การเก็บภาษีถึงอย่างน้อย 75% ของราคาสินค้าที่เป็นอันตรายหรือก่อให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพนี้ การดำเนินนโยบายที่ได้รับการพิสูจน์แล้วว่ามีประสิทธิภาพ เช่น ภาษียาสูบ ช่วยหลีกเลี่ยงผลกระทบจากอุตสาหกรรมยาสูบที่จะเกิดต่อชุมชนท้องถิ่นและประเทศชาติได้ อีกทั้งยังเป็นชัยชนะต่อทั้งด้านสุขภาพประชากร รายรับของประเทศ และการพัฒนา

องค์การอนามัยโลก เผยตัวอย่างความสำเร็จของการใช้นโยบายภาษียาสูบ ในหลายๆ ประเทศทั่วโลก ดังต่อไปนี้

แกมเบีย – ลดการสูบบุหรี่ ด้วยการเก็บภาษียาสูบ

ในปี 2012 ราคาบุหรี่ในแกมเบียจัดว่าถูกที่สุดในภูมิภาคแอฟริกา ด้วยการสนับสนุนของ WHO แกมเบียได้มีแผนขึ้นราคาบุหรี่ซึ่งได้ผลดีมาก จึงได้ดำเนินแผนการการขึ้นภาษียาสูบขึ้นเรื่อยๆ ในปีต่อๆ ไป ผลลัพธ์คือสร้างรายรับให้ประเทศในปี 2018 เพิ่มขึ้นเกือบสามเท่าเมื่อเทียบกับในปี 2011 ในขณะเดียวกัน การนำเข้าบุหรี่ก็ลดลงถึงกว่า 60%

ศรีลังกา – ปรับขึ้นภาษีสรรพสามิตอย่างสม่ำเสมอ เพื่อลดการสูบบุหรี่

ศรีลังกาประสบความสำเร็จในการเก็บภาษีในระดับสูงสุดคือ 77% ของราคาบุหรี่ส่วนใหญ่ที่ขายในท้องตลาด โดยศรีลังกาอาศัยการเก็บภาษีสรรพสามิตแบบตามปริมาณ (Specific Excise Tax) คือ เก็บตามจำนวนหรือตามน้ำหนักของบุหรี่

การปรับขึ้นภาษีอย่างสม่ำเสมอ มีประสิทธิภาพเพราะทำให้ราคาบุหรี่สูงขึ้นจนลดความสามารถในการซื้อหามาสูบ อย่างไรก็ตามยังคงต้องดำเนินการอีกมากเพื่อลดความชุกของการใช้ยาสูบในประเทศ

โคลอมเบีย – การขึ้นภาษีบุหรี่ทำให้การสูบบุหรี่ลดลง 34%

ในปี 2016 โคลอมเบียมีราคาบุหรี่ถูกที่สุดเป็นอันดับสองในซีกโลกตะวันตก รองจากปารากวัย แต่เมื่อมีการปฎิรูปการคลังครั้งใหญ่ในปีเดียวกันนั้น ทำให้อัตราภาษีสรรพสามิตแบบตามปริมาณของบุหรี่ในปี 2018 เพิ่มขึ้นสามเท่าจากปี 2016 โดยเพิ่มขึ้นจริง 4% ต่อปีหลังจากปี 2019

การขึ้นภาษีไม่เพียงทำให้การสูบบุหรี่ลดลงถึง 34% ภายในปี 2018 แต่รายได้จากภาษีสรรพสามิตซึ่งจัดสรรไว้ให้เป็นเงินทุนของหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าก็เพิ่มขึ้นเกือบสองเท่า

ดังนั้น การปฏิรูปภาษียาสูบ ช่วยลดการสูบหรี่ (ลดการเสียชีวิตและค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพที่เกี่ยวข้อง) เพิ่มรายได้ให้รัฐ และสนับสนุนความยั่งยืนทางการเงินของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เป็นชัยชนะสามทอดสำหรับโคลอมเบีย

นอกจากนั้น การขายสินค้ายาสูบผิดกฎหมาย มีโทษสูงในระดับเดียวกับการฟอกเงิน

โอมาน – การเรียกเก็บภาษีสรรพสามิตบุหรี่ ทำให้ราคาบุหรี่สูงขึ้นมาก ซึ่งจะช่วยลดการสูบบุหรี่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

โอมานพึ่งพาภาษีนำเข้าสำหรับสินค้ายาสูบเป็นหลักมาหลายปี ในปี 2019 จึงมีการตัดสินใจเก็บภาษีสรรพสามิตเป็นอัตราสูง ซึ่งทำให้ราคาบุหรี่เพิ่ สูงขึ้นอย่างมาก

ตามการประมาณของ WHO ส่วนแบ่งภาษีในราคาบุหรี่ที่ขายอยู่เพิ่มขึ้นจาก 25% เป็นเกือบ 64% ในช่วงปี 2018 ถึง 2020 ทำให้ราคาขายสูงขึ้นเกือบสองเท่าจากเดิมในช่วงเวลาเดียวกัน โดยมีความหวังว่าราคาที่เพิ่มสูงขึ้นนี้จะช่วยลดการสูบบุหรี่โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเยาวชน

ฟิลิปปินส์ – ภาษีบาป ช่วยขยายความคุ้มครองด้านสุขภาพของประชาชน

ฟิลิปปินส์ประสบความสำเร็จในการพยายามแก้ไขโครงสร้างภาษีสำหรับบุหรี่ภายใต้กฎหมายภาษีบาปปี 2013 ขณะนี้ภาษีบุหรี่ในฟิลิปปินส์อยู่ในระดับสูงสุดโดยเพิ่มขึ้น 5 เปโซต่อปีจนถึงปี 2023 และหลังจากนั้นจะเพิ่มขึ้น 5% โดยอัตโนมัติ

ด้วยการปรับปรุงการจัดการภาษีและการบังคับใช้ที่เข้มงวดขึ้น เมื่อปี 2017 รัฐบาลได้ลงโทษบริษัทยาสูบแห่งหนึ่งที่เลี่ยงภาษี ด้วยการให้ชำระภาษีครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ฟิลิปปินส์เป็นจำนวนเงินถึง 600 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

นอกจากนั้น ฟิลิปปินส์ยังมีการนำภาษีสรรพสามิตมาใช้กับยาสูบแบบไม่เผาไหม้ (heated tobacco) และบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ในอัตราเท่ากับภาษีสรรพสามิตบุหรี่ธรรมดาอีกด้วย ซึ่งถือเป็นแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุดในการเก็บภาษี

เงินที่ได้จากการเก็บภาษียาสูบและแอลกอฮอล์จะถูกจัดสรรไปในระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งจะสร้างรายได้ให้กับภาคสุขภาพมากขึ้น

อ่าน คู่มือการจัดเก็บภาษียาสูบของ WHO ได้ ที่นี่

การจัดเก็บภาษียาสูบ เพื่อลดการสูบบุหรี่ เกี่ยวข้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ใน SDG 3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี ในทางนโยบาย เป้าหมายที่ 3 จะเน้นไปที่การปฏิบัติตามกรอบอนุสัญญาขององค์การอนามัยโลก โดยเฉพาะการควบคุมยาสูบ (3.a)

ที่มา: WHO

Last Updated on เมษายน 16, 2021

Author

  • Natetida Bunnag

    Social Media Manager - ตัวแทน 'คนธรรมดา' ในชุมชนนักวิชาการ อ่าน แปล และสื่อสารเรื่องความยั่งยืน

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น