UN Women เผยภายในปี 2593 ‘ผู้หญิงและเด็กผู้หญิง’ จะตกอยู่ในความยากจน-ไม่มั่นคงทางอาหาร เหตุจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

เข้าสู่สัปดาห์ที่สอง ของการประชุมว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งสหประชาชาติ (UN Climate Change Conference) หรือ การประชุม COP28 ที่จัดขึ้น ณ เมืองดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งสัปดาห์นี้ เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2566 ได้เปิดการประชุมโดยการรับฟังเสียงของผู้นำหญิงและนักเคลื่อนไหวจากหลากหลายภาคส่วน เพื่อเรียกร้องให้ยุติช่องว่างระหว่างเพศและบรรเทาผลกระทบที่เลวร้ายจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลต่อผู้หญิงและเด็กผู้หญิง

UN Women เปิดตัวรายงาน ในหัวข้อ “Feminist climate justice: A framework for action” ได้ระบุว่า ภายในปี 2593 การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอาจผลักให้ผู้หญิงและเด็กผู้หญิงกว่า 158 ล้านคนตกอยู่ในความยากจน และคาดว่าอีก 236 ล้านคน ต้องเผชิญกับความไม่มั่นคงทางอาหาร ซึ่งวิกฤตสภาพภูมิอากาศกระตุ้นให้เกิดความขัดแย้งและการย้ายถิ่นฐานเพิ่มมากขึ้น รวมถึงวาทศิลป์ทางการเมืองที่กีดกันและต่อต้านสิทธิของผู้หญิง ผู้ลี้ภัย และกลุ่มเปราะบางอื่น ๆ ทำให้ผู้หญิงไม่สามารถมีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจการแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศได้อย่างเต็มที่

รายงานฉบับนี้แสดงให้เห็นถึงวิกฤตการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นทั่วโลก ตั้งแต่ความไม่เท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจไปจนถึงปัญหาทางภูมิรัฐศาสตร์ ที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและมีผลกระทบต่อผู้หญิงและเด็กผู้หญิง โดยเรียกร้องให้มีวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนเกี่ยวกับความเป็นธรรมทางสภาพภูมิอากาศ (climate justice) ของสตรีนิยม ผ่านการบูรณาการสิทธิสตรีเข้ากับการต่อสู้กับภัยพิบัติทางสิ่งแวดล้อม

นโยบายต้องตระหนักว่าผู้หญิงสามารถเสนอความรู้และความเชี่ยวชาญเฉพาะ รวมถึงชนพื้นเมือง พื้นที่ชนบท และเยาวชน สำหรับนำมาใช้เพื่อสนับสนุนการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศได้อย่างมีประสิทธิผล ซึ่งที่ผ่านมาผู้หญิงและเด็กผู้หญิงทั่วโลก มีบทบาทสำคัญในการเคลื่อนไหวด้านสภาพภูมิอากาศ ผ่านการดำเนินการโดยวิธีต่าง ๆ เช่น เกษตรกรหญิงได้จัดตั้งสหกรณ์และกลุ่มต่าง ๆ เพื่อกระจายภาระงาน เพิ่มผลผลิตและรายได้ในพื้นที่

ดังนั้น นโยบายควรต่อยอดจากความสำเร็จเหล่านี้ ในขณะเดียวกันก็ต้องตระหนักว่าผู้หญิงแบกรับความรับผิดชอบจากการดูแลที่ไม่เท่าเทียมกัน และมีทรัพยากรทางเศรษฐกิจที่น้อยกว่าผู้ชาย รวมถึงมีระดับความรู้และการเข้าถึงเทคโนโลยีที่น้อยกว่า ซึ่งความไม่เท่าเทียมกันเหล่านี้ได้รุนแรงยิ่งขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

Jemimah Njuki หัวหน้าฝ่ายเสริมสร้างศักยภาพทางเศรษฐกิจของ UN Women กล่าวในการประชุมว่า “แม้ว่าพวกเขาจะไม่มีทรัพยากร แต่เราก็ยังเห็นการดำเนินการมากมายที่นำโดยผู้หญิงและเด็กผู้หญิง และหากเราสามารถมอบทรัพยากรให้พวกเขาได้ ซึ่งรวมถึงทรัพยากรทางการเงิน เพื่อให้เกิดการดำเนินการที่มากขึ้น ฉันคิดว่าโลกของเราคงจะดีขึ้นกว่าเดิม”

อย่างไรก็ดี ผู้หญิงและเด็กผู้หญิง ต้องประสบปัญหากับภาระการดูแลครอบครัวโดยไม่ได้รับค่าตอบแทน ซึ่งผลกระทบอาจแย่ลงหากต่อไปราคาอาหารพุ่งสูงขึ้นเนื่องจากไม่สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ นอกจากนี้ เด็กผู้หญิงยังมีแนวโน้มที่จะออกจากโรงเรียนมากขึ้น หากอยู่ในพื้นที่ที่เสี่ยงภัยแล้ง 

ดังนั้น รัฐบาลต้องสร้างหลักประกันว่าความต้องการและสิทธิของผู้หญิงและเด็กผู้หญิงถูกบูรณาการเข้ากับนโยบายเกี่ยวกับการตอบสนองต่อภัยพิบัติ ความรุนแรงบนฐานของเพศสภาพ (gender-based violence) การผลิตอาหาร เศรษฐกิจ การเลือกปฏิบัติทางสังคม และเรื่องอื่น ๆ ที่เชื่อมโยงกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศ รายงานฉบับนี้ จึงเป็นก้าวสำคัญในการบูรณาการการแก้ปัญหาวิกฤตสภาพภูมิอากาศที่คำนึงถึงผลกระทบอย่างครอบคลุมถึงเพศสภาพ

● อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
ชวนจับตา 4 ประเด็นสำคัญการประชุม ‘COP28’ พร้อมสำรวจความกังวลต่อท่าทีเจ้าภาพในการยุติการใช้พลังงานฟอสซิล 
‘ผู้หญิงและเด็กผู้หญิง’ ในประเทศที่เกิดวิกฤต ประสบกับภาวะทุพโภชนาการ เพิ่มสูงขึ้นถึงร้อยละ 25 
5 ข้อสังเกตที่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลร้ายแรงต่อสุขภาพและความเป็นอยู่ของผู้หญิง-เด็กหญิงเป็นพิเศษ 
2 คอร์สเรียนฟรีจาก UN เพื่อตระหนักถึงบทบาทของผู้หญิง ในโลกที่เผชิญวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
SDG Updates | Climate Change และผลกระทบต่อผู้หญิงในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG1 ขจัดความยากจน
– (1.5) ภายในปี พ.ศ. 2573 สร้างภูมิต้านทานให้กับผู้ที่ยากจนและอยู่ในสถานการณ์เปราะบาง รวมทั้งลดความเสี่ยงและความล่อแหลมต่อภาวะสภาพอากาศผันผวนรุนแรง การเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงทางเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม และภัยพิบัติ
#SDG2 ขจัดความหิวโหย
– (2.1) ยุติความหิวโหยและสร้างหลักประกันให้ทุกคนโดยเฉพาะคนที่ยากจนและอยู่ในภาวะเปราะบาง อันรวมถึงทารก ได้เข้าถึงอาหารที่ปลอดภัย มีอาหารตามหลักโภชนาการ และมีอาหารเพียงพอตลอดทั้งปี ภายในปี 2573
#SDG5 ความเท่าเทียมทางเพศ
– (5.5) สร้างหลักประกันว่าผู้หญิงจะมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่และมีประสิทธิผล และมีโอกาสที่เท่าเทียมในการเป็นผู้นำในทุกระดับของการตัดสินใจในเรื่องการเมือง เศรษฐกิจ และสาธารณะ
#SDG13 การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
– (13.1) เสริมภูมิต้านทานและขีดความสามารถในการปรับตัวต่ออันตรายและภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกี่ยวข้องกับภูมิอากาศในทุกประเทศ
– (13.2) บูรณาการมาตรการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในนโยบาย ยุทธศาสตร์ และการวางแผนระดับชาติ

แหล่งที่มา : 
New report shows how feminism can be a powerful tool to fight climate change – UN Women 
COP28: Women and climate advocates driving forward change together – UN News 

ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ภายใต้โครงการกลยุทธไตรพลังในการดำเนินการเพื่อสุขภาวะและการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย

Last Updated on ธันวาคม 22, 2023

Author

  • Praewpan Sirilurt

    Knowledge Communication | มนุษย์ผู้เชื่อว่า “การสื่อสารสามารถเชื่อมต่อความรู้สึกของกันและกันได้” ไม่ว่าจะเป็นใคร อยู่ที่ไหน หรือเผชิญกับอะไรอยู่ การสื่อสารจะช่วยบอกเล่าเรื่องราวส่งไปให้แก่ผู้อื่นได้รับรู้

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น