การยืดอายุการใช้งานสมาร์ทโฟน จะช่วยลดขยะอิเล็กทรอนิกส์และลดการใช้พลังงานจากกระบวนการรีไซเคิลลงได้

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ แนวโน้มการใช้สมาร์ทโฟนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในหลายประเทศ โดยในปี 2561 ประมาณ 4 ใน 10 คนทั่วโลกใช้โทรศัพท์สมาร์ทโฟน และข้อมูลจาก statista ชี้ให้เห็นว่าปริมาณการขายสมาร์ทโฟนทั่วโลกนั้นอยู่ราว ๆ หนึ่งพันล้านชิ้นต่อปี

ซึ่งปริมาณการขายและการใช้สมาร์ทโฟนที่เพิ่มขึ้น ย่อมหมายถึงการใช้ทรัพยากรที่สำคัญต่อการผลิตที่เพิ่มมากขึ้นด้วย อาทิ โลหะมีค่าและแผ่นไมโครชิป นอกจากนั้นหากมองในแง่ของการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่ก่อให้เกิดภาวะโลกร้อนแล้ว กระบวนการผลิตสมาร์ทโฟนได้ปล่อยคาร์บอนมากถึง 85-95 เปอร์เซ็นต์ของการปล่อยคาร์บอนทั้งหมดจากผู้ผลิตสมาร์ทโฟนเลยทีเดียว จนกล่าวได้ว่าสมาร์ทโฟนมีส่วนทำให้เกิดขยะอิเล็กทรอนิกส์ (e-waste) ประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์จากขยะอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมด หรือที่ประมาณการณ์ว่าในปี 2562 มีขยะอิเล็กทรอนิกส์จากสมาร์ทโฟนจำนวนมากถึง 50 ล้านตัน

อย่างไรก็ตาม สมาร์ทโฟนยังคงมีประโยชน์ต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ให้ดีขึ้น แต่การจะผลิตและซื้อหานำไปใช้โดยไม่ส่งผลกระทบต่อโลกนั้น ก็ต่อเมื่อเราเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการใช้และการผลิตสมาร์ทโฟนให้ยั่งยืนขึ้น

ซึ่งในส่วนของผู้ผลิต ก็ควรจะผลิตสมาร์ทโฟนที่อนุญาตให้ผู้ใช้สามารถซ่อมแซมและปรับปรุงได้ แทนที่สมาร์ทโฟนแบบเดิมที่เมื่อส่วนใดส่วนหนึ่งชำรุดหรือต้องมีการพัฒนาซอฟต์แวร์ใหม่ ก็มักจำเป็นต้องซื้อเครื่องใหม่ ทั้งที่ชิ้นส่วนส่วนใหญ่ของสมาร์ทโฟนเครื่องเก่านั้น ยังสามารถใช้งานได้ตามปกติอยู่

ทั้งนี้ นอกจากจะเป็นหน้าที่ริเริ่มจากฟากของผู้ผลิตเองแล้ว การที่จะสร้างแรงจูงใจให้ผู้ผลิตหันมาปรับและเปลี่ยนรูปแบบผลิตภัณฑ์ให้มีคุณลักษณะดังกล่าวได้นั้น ภาครัฐจำเป็นที่จะต้องออกนโยบายหรือกฎเกณฑ์ที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ผลิตในการดำเนินการได้อย่างไม่ติดขัดด้วยเช่นกัน พร้อมกับที่ผู้บริโภคจะต้องเปลี่ยนแนวคิดและพฤติกรรมการซื้อและใช้สมาร์ทโฟนที่คำนึงถึงความยั่งยืนมากขึ้นด้วย

เพราะการจะลดปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่มีมากขึ้น ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และเปลี่ยนผ่านการใช้พลังงานได้โดยเฉพาะจากภาคการผลิตและการใช้สมาร์ทโฟนนั้น ไม่ว่าจะเป็นการรีไซเคิลแบบเดิมหรือการยืดอายุการใช้งาน ต่างก็ต้องอาศัยบทบาทและการลงมือทำของทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน/ผู้ผลิต และเราทุกคนในฐานะผู้บริโภคด้วยนั่นเอง

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG8 ส่งเสริมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน
– (8.4) พัฒนาประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากรของโลกและตัดความเชื่อมโยงระหว่างการพัฒนาเศรษฐกิจกับความเสื่อมโทรมทางสิ่งแวดล้อม
#SDG9 ส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมที่ยั่งยืน
-(9.4) ยกระดับโครงสร้างพื้นฐานและเทคโนโลยีด้านอุตสาหกรรมเพื่อความยั่งยืน โดยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากร การใช้เทคโนโลยี และกระบวนการทางอุตสาหกรรมที่สะอาดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
#SDG12 สร้างรูปแบบการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน
– (12.2) บรรลุการจัดการที่ยั่งยืนและการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ
– (12.5) ลดการผลิตของเสียโดยการป้องกัน การลด การแปรรูปเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ และการนำมาใช้ซ้ำ
– (12.8) ประชาชนมีข้อมูลที่เกี่ยวข้องและความตระหนักเกี่ยวกับการพัฒนาที่ยั่งยืนและวิถีชีวิตที่สอดคล้องกับธรรมชาติ
นอกจากนี้ ความพยายามที่จะทำให้เกิดการผลิตและการบริโภคสมาร์ทโฟนอย่างยั่งยืนยังเกี่ยวข้องกับ #SDG13 (ดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพื่อแก้ไขปัญหาโลกร้อน) และ #SDG17 (หุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม) ด้วย

#SDGWatch #IHPP #SDG8 #SDG9 #SDG12 #SDG13 #SDG17

แหล่งที่มา:
Repairing—not recycling—is the first step to tackling e-waste from smartphones. Here’s why (World Economic Forum)
The world’s e-waste is a huge problem. It’s also a golden opportunity. (World Economic Forum)
Smartphone sales worldwide 2007-2021 (Statista)

Author

  • Sorravit Ma

    Knowledge Communication [Intern] | นักศึกษาฝึกงานผู้ฝันใฝ่ในสังคมที่ดีกว่า

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น