เสริมวิตามินให้มารดาให้นมบุตรชาวกัมพูชาที่บริโภคข้าวขาวเป็นหลัก ช่วยให้พัฒนาการทางภาษาของทารกดีขึ้น

งานวิจับพบว่าแม่ให้นมบุตรชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่รับประทานข้าวขัดสีเป็นอาหารหลัก อาจขาดวิตามินและแร่ธาตุที่จำเป็นเพียงพอในน้ำนมสำหรับพัฒนาการเด็กทารก จึงจำเป็นต้องได้รับวิตามินเสริมโดยเร็วที่สุด

ข้าวขาว คือข้าวที่มีผ่านการแปรรูปด้วยการขัดสีเอาส่วนเยี่อหุ้มออกทำให้ได้เมล็กข้าวสีขาวสวย แต่ทำให้ข้าวที่ได้ขาดไทอามีน (thiamine) หรือ วิตามินบี 1 ซึ่งเป็นสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกายมนุษบ์ เพราะช่วยให้เซลล์ของร่างกายสามารถเปลี่ยนคาร์โบไฮเดรตเป็นพลังงานได้ ดังนั้น การขาดวิตามินบี 1 อาจส่งผลให้เกิดความบกพร่องทางสติปัญญาและร่างกาย โดยเฉพาะหากแม่ที่ให้นมบุตรขาดวิตามินจะส่งผลถึงอย่างยิ่งถึงทารกด้วย

ประชากรวัยผู้ใหญ่ในกัมพูชาประมาณ 50% มีภาวะแคระแกร็นเนื่องจากภาวะทุพโภชนาการซึ่งเป็นสัญญาณภายนอกของการขาดสารอาหาร เช่น การขาดไทอามีน ที่ส่งผลต่อระบบภูมิคุ้มกัน การพัฒนาสมองและการทำงานของสมอง โดยการบริโภคข้าวขาวเป็นหลักและความยากจนที่อาจทำให้ไม่สามารถมีอาหารที่มีโภชนการครบถ้วนได้

Jeffrey Measelle นักจิตวิทยาจาก University of Oregon ผู้เขียนหลักของงานวิจัยที่ตีพิมพ์ใน Annals of the New York Academy of Sciences พบว่า การให้อาหารเสริมไทอามีนแก่มารดาที่ให้นมบุตรในกัมพูชาสามารถช่วยส่งเสริมพัฒนาการทางระบบประสาทและเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาทักษะด้านภาษาของทารกได้

นักวิจัยได้ให้มารดาที่อยู่ระหว่างให้นมบุตรและมีสุขภาพดีทั้งหมด 355 คนในเมืองกัมปง ประเทศกัมพูชาเข้าร่วมการศึกษา โดยหลังจากที่คลอดบุตรได้สองสัปดาห์ มารดาทั้งหมดจะถูกสุ่มจัดกลุ่มเป็นทั้งหมด 4 กลุ่ม มารดาในแต่ละกลุ่มจะได้รับไทมามีนในปริมาณที่แตกต่างกันต่อวัน คือ 0 มิลลิกรัม 1.2 มิลลิกรัม 2.4 มิลลิกรัมและ 10 มิลลิกรัม และเริ่มรับประทานวิตามินเสริมนี้ตั้งแต่เมื่อทารกอายุได้สองสัปดาห์ไปจนถึงอายุครบ 24 สัปดาห์ นักวิจัยได้ทำการประเมินพัฒนาทางระบบประสาทของทารกที่ดื่มนมแม่ในกลุ่มต่าง ๆ เมื่อทารกอายุได้ 2 สัปดาห์ 12 สัปดาห์ 24 สัปดาห์ และติดตามผลเมื่อครบ 52 สัปดาห์

การวิเคราะห์ผลการวิจัยพบว่า การรับประทานไทอามินปริมาณสูงสุด 10 มิลลิกรัมต่อวันให้ประโยชน์ต่อพัฒนาการทางภาษาของทารกอย่างมาก แต่ไม่ได้เห็นการผลที่ชัดเจนต่อพัฒนาการทางประสาทสัมผัสหรือการมองเห็น หลักฐานเบื้องต้นยังชี้ให้เห็นอีกว่าหากมารดาเริ่มรับประทานวิตามินเสริมตั้งแต่ตั้งครรภ์ ทารกจะได้รับประโยชน์ในด้านพัฒนาการทางระบบประสาทมากที่สุด และจะได้รับประโยชน์จากไทอามินที่แม่รับประทานไปได้จนเกินกว่าอายุหกเดือน

ระยะเวลา 1,000 วันแรกของทารก (ตั้งแต่เริ่มปฏิสนธิในครรภ์มารดาจนถึงอายุ 2 ปี) เป็นช่วงเวลาของการพัฒนาสมองและร่างกายของเด็กที่สำคัญที่สุด การได้รับสารอาหารอย่างเพียงพอตั้งแต่แรกเกิดจะเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพเด็กในระยะยาว

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ #SDG2 ขจัดความหิวโหย
- (2.2) ยุติภาวะทุพโภชนาการทุกรูปแบบ ภายในปี 2573 รวมถึงการบรรลุเป้าประสงค์ที่ตกลงร่วมกันระหว่างประเทศว่าด้วยภาวะแคระแกร็นและผอมแห้งในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี และเน้นความต้องการโภชนาการของหญิงวัยรุ่น หญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตร และผู้สูงอายุ ภายในปี 2568

ที่มา :
Providing vitamins to women who mainly eat polished white rice can boost infant health (Medical Xpress)
ความสําคัญของมหัศจรรย์ 1000 วันแรกของชีวิต (กระทรวงสาธารณสุข)

Last Updated on สิงหาคม 13, 2021

Author

  • Natetida Bunnag

    Social Media Manager - ตัวแทน 'คนธรรมดา' ในชุมชนนักวิชาการ อ่าน แปล และสื่อสารเรื่องความยั่งยืน

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น