โรคหัวใจและหลอดเลือด: โรคไม่ติดต่อที่การตายมากกว่าครึ่งหนึ่งของโลกอยู่ใน ‘เอเชีย’

ข้อมูลจากบทความปริทัศน์เผยแพร่ใน JACC: Asia ระบุว่ามากกว่าครึ่งหนึ่งของการตายจากโรคหัวใจและหลอดเลือดทั้งหมดในโลกในปี 2562 เกิดขึ้นในเอเชีย โดยที่เกือบ 39% ของจำนวนการตายนี้เป็น ‘การตายก่อนวัยอันควร’ ซึ่งเกิดกับคนอายุน้อยกว่า 70 ปี ที่สำคัญ ตัวเลขการตายจากโรคนี้ในเอเชียยังคงเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ตอกย้ำความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องเข้าใจว่าโรคไม่ติดต่ออย่างโรคหัวใจและหลอดเลือดเป็น ‘ภาระด้านสุขภาพ’ และมีลักษณะเสมือนเป็น ‘โรคระบาด’ สำหรับเอเชีย เพื่อที่ประเทศต่าง ๆ จะได้ออกยุทธศาสตร์หรือมาตรการป้องกันโรคไม่ติดต่อในระดับท้องถิ่นต่อไปได้

ตั้งแต่ปี 2533 ถึง 2562 จำนวนการตายจากโรคหัวใจและหลอดเลือดในเอเชียสูงขึ้นจาก 5.6 ล้านคนเป็น 10.8 ล้านคน โดยที่เกือบ 39% ของจำนวนการตายนี้เป็น ‘การตายก่อนวัยอันควร’ ซึ่งเกิดกับคนอายุน้อยกว่า 70 ปี และจำนวนนี้ยังสูงกว่าตัวเลขการตายก่อนวัยอันควรจากโรคหัวใจและหลอดเลือดในสหรัฐฯ (23%)

การตายส่วนใหญ่มาจากโรคหัวใจขาดเลือด (Ischemic Heart Disease – IHD) และโรคหลอดเลือดสมอง ส่วนปัจจัยที่ส่งผลให้พบโรคหัวใจและหลอดเลือดมากในเอเชีย นักวิจัยระบุว่าเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงประชากร เศรษฐกิจและสังคม สภาพความเป็นอยู่ วิถีชีวิต ความชุก (prevalence) ของปัจจัยความเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรค และศักยภาพในการป้องกันและรักษาโรค

ในบทความปริทัศน์นี้ได้ทบทวนข้อมูลการระบาดของโรคหัวใจและหลอดเลือดในเอเชียจากหลากหลายแหล่งข้อมูล และระบุลักษณะของโรคไว้ 5 ประการด้วยกัน

  • อัตราการตายของโรคหัวใจและหลอดเลือดเพิ่มขึ้นสูงมาต่อเนื่อง
  • อัตราการตายของโรคหัวใจและหลอดเลือดกับความแตกต่างทางภูมิศาสตร์-ที่ตั้ง อาทิ ในปี 2562 ประเทศเอเชียที่มีอัตราการตายจากโรคหัวใจและหลอดเลือดสูงที่สุด ได้แก่ จอร์เจีย (810.7 คนต่อประชากร 100,000 คน) ขณะที่ประเทศเอเชียที่มีอัตราการตายจากโรคนี้น้อยที่สุด ได้แก่ กาตาร์ (39.1 คนต่อประชากร 100,000 คน) – จะเห็นได้ว่ามีความต่างกันถึง 20 เท่า
  • ชนิดย่อยของโรคหัวใจและหลอดเลือดที่เด่นชัดขึ้นมาในแต่ละภูมิภาคมีความแตกต่างกัน อย่างที่กล่าวไว้ข้างต้น แม้ว่าการตายจากโรคหัวใจและหลอดเลือดในเอเชียส่วนใหญ่มาจากโรคหัวใจขาดเลือด (Ischemic Heart Disease – IHD) และโรคหลอดเลือดสมอง (stroke) แต่ชนิดย่อยของโรคเหล่านี้แตกต่างกันไปตามภูมิภาคและประเทศ โดยการตายจาก IHD พบมากในเอเชียกลาง เอเชียตะวันตก และเอเชียใต้ ขณะที่ การตายจาก Stroke พบมากในเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ส่วนจีนนั้น จากเดิมที่พบการตายจาก Stroke ปัจจุบันกลับเป็น IHD ทั้งนี้ ทางผู้เขียนชี้ว่าสาเหตุของความแตกต่างเช่นนี้ยังไม่สามารถระบุได้
  • ถ้ามองโรคหัวใจและหลอดเลือดในเชิงระบาดวิทยา ประเทศซึ่งมีระดับการพัฒนาเศรษฐกิจแตกต่างกัน (รายได้น้อย รายได้ปานกลาง และรายได้สูงหรือประเทศพัฒนาแล้ว) ระยะช่วงเปลี่ยนผ่านของโรค (transition stages of CVD epidemic) ย่อมแตกต่างกัน – ข้อนี้ สำคัญในแง่การจัดลำดับความสำคัญของประเด็นทางการสาธารณสุข อันจะนำไปสู่การกระจายทรัพยากร งบประมาณ และการทำวิจัยในประเทศนั้น ๆ
  • ปัจจัยเสี่ยงของโรค อาทิ อาหารการกิน การสูบบุหรี่ โรคไขมันในเลือดสูง โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง เป็นภาระที่หนักหนาสำหรับประเทศในเอเชีย โดยเฉพาะประเทศซึ่งมีศักยภาพในการบริหารจัดการที่ไม่เพียงพอ

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG3 สุขภาพและสุขภาวะที่ดี – 3.4 ลดการตายก่อนวัยอันควรจากโรคไม่ติดต่อให้ลดลงหนึ่งในสามผ่านทางการป้องกันและการรักษาโรคและส่งเสริมสุขภาพจิตและความเป็นอยู่ที่ดี ภายในปี 2573
โดยประเด็นที่เกี่ยวข้องอย่าง โภชนาการที่ดี (#SDG2) เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ส่งผลต่อ ‘การเกิดโรค’ ขณะที่ระดับการเติบโตทางเศรษฐกิจ (#SDG9) เป็นปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับด้าน ‘การจัดการโรค’

แหล่งที่มา:
https://www.acc.org/latest-in-cardiology/articles/2021/06/15/19/43/review-shows-over-half-of-cvd-deaths-worldwide-occur-in-asia
https://scitechdaily.com/cardiovascular-disease-deaths-in-asia-are-rapidly-increasing/

Last Updated on มิถุนายน 16, 2021

Author

  • Thiraphon Singlor

    Editor | อยากรู้ความคิดของคนต่างพื้นเพ ต่างสังคมและวัฒนธรรม สนใจความเป็นไปของโลก ความมั่นคง และการพัฒนา แล้วนำมาถ่ายทอดร้อยเรียงเรื่องราวเล่าให้ฟัง

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น