SDG Spotlight – 6 ข่าว SDGs น่าสนใจในรอบสัปดาห์ที่ 3 ประจำเดือนมีนาคม 2566

จากการสำรวจข่าวสารความเคลื่อนไหวที่เกี่ยวข้องและส่งผลต่อการขับเคลื่อน SDGs ระหว่างวันที่  11 มีนาคม – 20 มีนาคม 2566 มีข่าวสารความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจ ดังนี้

พบแล้ว วัสดุกัมมันตรังสี ‘ซีเซียม 137’ พร้อมสั่งกั้นพื้นที่ด่วน 

จากกรณี “ซีเซียม 137” หายไปจากโรงไฟฟ้าปราจีน ของบริษัทเนชั่นแนลเพาเวอร์ แพลนท์ 5 A บริเวณนิคมอุตสาหกรรม 304 อำเภอศรีมหาโพธิ จังหวัดปราจีนบุรี โดยสารกัมมันตภาพรังสีซีเซียม 137 จะถูกห่อหุ้มด้วยสารตะกั่วล้อมรอบ และหุ้มด้วยท่อเหล็กกลมขนาด 5 นิ้ว ยาว 8 นิ้ว น้ำหนัก 25 กิโลกรัมอีกชั้น ใช้เป็นเครื่องมือวัดระดับของขี้เถ้าในไซโลของโรงไฟฟ้า ได้ติดตั้งใช้งานตั้งแต่ปี 2538 โดยเมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2566 พบอยู่ที่โรงหลอมเหล็ก หลังนายรณรงค์ นครจิดา ผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรี เปิดเผยว่า ซีเซียม 137 หายไปพบถูกหลอมเป็นฝุ่นแดง และเจ้าหน้าที่ได้สั่งปิดกั้นพื้นที่ดังกล่าวเรียบร้อยแล้ว เพื่อความปลอดภัย 

ล่าสุด ดร.กิตติ์กวิน อรามรุญ นักฟิสิกส์ชำนาญพิเศษ หัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสี ของสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ  เข้าไปตรวจสอบโรงหลอมดังกล่าวยืนยันว่า  พบสารซีเซียมจริง โดยพบการปนเปื้อนในฝุ่นโลหะที่ได้จากการผลิตหรือหลอมโลหะ  ซึ่งเจ้าหน้าที่ใช้เครื่องมือตรวจวัดโลหะที่เป็นผลผลิตจากการหลอมโลหะ  ไม่พบการปนเปื้อนใด ๆ  พบเพียงในฝุ่นโลหะเท่านั้น  นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ใช้เครื่องมือตรวจวัดอากาศในรัศมีที่ครอบคลุม 5 กม.จากโรงหลอมดังกล่าว  รวมทั้งเก็บดิน น้ำ อากาศ ไปตรวจสอบแล้ว  ไม่พบการฟุ้งกระจาย ไม่พบการปนเปื้อน ไม่พบผลกระทบต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อม   โดยยืนยันว่า วัสดุกัมมันตรังสีซีเซียม 137  ที่พบว่าปนเปื้อนในฝุ่นโลหะของโรงงานแห่งหนึ่ง  ถูกควบคุมและอยู่ในพื้นที่จำกัดเฉพาะ  ไม่มีการแพร่กระจายออกจากพื้นที่โรงงาน   

สำหรับสารซีเซียม-137 เป็นกัมมันตภาพรังสี (radioactivity) หากสัมผัสในช่วงเวลาสั้น ๆ อาจจะไม่มีผลต่อร่างกายที่ชัดเจน แต่หากสัมผัสในระยะเวลานานและปริมาณสูงขึ้น จะเริ่มมีผลต่อร่างกาย ทำให้เกิดผื่นแดงตามผิวหนัง ผมร่วง แผลเปื่อย หากสัมผัสในปริมาณสูงและยาวนาน อาจเกิดพังผืดที่ปอด เกิดโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว เกิดต้อกระจกขึ้นในนัยน์ตา ซึ่งอาการจะขึ้นอยู่กับปริมาณรังสีที่ได้รับ

ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG3 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 3.9 ลดจำนวนการตายและการเจ็บป่วยจากสารเคมีอันตรายและจากมลพิษและการปนเปื้อนทางอากาศ น้ำ และดิน ให้ลดลงอย่างมาก ภายในปี 2573 และ SDG6 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 6.3 ปรับปรุงคุณภาพน้ำ โดยการลดมลพิษ ขจัดการทิ้งขยะและลดการปล่อยสารเคมีอันตรายและวัตถุอันตราย ลดสัดส่วนน้ำเสียที่ไม่ผ่านกระบวนการลงครึ่งหนึ่ง และเพิ่มการนำกลับมาใช้ใหม่และการใช้ซ้ำที่ปลอดภัยอย่างยั่งยืนทั่วโลก ภายในปี 2573 และ SDG 12  โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 12.4 บรรลุการจัดการสารเคมีและของเสียทุกชนิดตามกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศที่ตกลงกันแล้ว และลดการปลดปล่อยสิ่งเหล่านั้นออกสู่อากาศ น้ำ และดินอย่างมีนัยสำคัญ 

เข้าถึงได้ที่ : เจอแล้ว! ซีเซียม137 วัตถุกัมมันตรังสีที่สูญหาย | ข่าวเวิร์คพอยท์ 23 | LINE TODAY , สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ยืนยันไม่พบซีเซียม-137 แพร่กระจายจากโรงหลอมเหล็ก และ “ประกาศเตือนภัยระดับ2 – ตั้งศูนย์ฯ” กรณีซีเซียม-137 หายไปจากโรงไฟฟ้า – greennews 

คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ มีมติ ‘เห็นชอบ’ จัดทำรายงาน EIA ในกำแพงกันคลื่นทุกขนาด 

เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2566 คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมเเห่งชาติ โดยมีพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นประธาน ได้พิจารณาเห็นชอบให้โครงการหรือกิจการประเภท “กำแพงกันคลื่นทุกขนาด” ต้องดำเนินการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessme: EIA) หลังสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ทบทวนข้อเสนอผ่านกระบวนการเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนต่อร่างประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดโครงการ กิจการ หรือ การดำเนินการซึ่งต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและหลักเกณฑ์วิธีการ และเงื่อนไขในการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ซึ่งจากการเปิดรับฟังความคิดเห็น พบว่า ผู้แสดงความคิดเห็นส่วนใหญ่เห็นด้วยให้ “กำแพงกันคลื่นทุกขนาด” ต้องดำเนินการทำการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม อันเป็นไปตามข้อเสนอของกลุ่ม Beach for life และเครือข่ายประชาชนทวงคืนชายหาด หลังจากที่เรียกร้องมาอย่างต่อเนื่อง

ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG14 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 14.2 บริหารจัดการและปกป้องระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่งอย่างยั่งยืนเพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบทางลบที่มีนัยสำคัญ รวมถึงโดยการเสริมภูมิต้านทานและปฏิบัติการเพื่อฟื้นฟู เพื่อบรรลุการมีมหาสมุทรที่มีสุขภาพดีและมีผลิตภาพ ภายในปี 2563 14.5 ภายในปี 2563 อนุรักษ์พื้นที่ทางทะเลและชายฝั่งอย่างน้อยร้อยละ 10 ให้เป็นไปตามกฎหมายในประเทศและระหว่างประเทศ และอยู่บนพื้นฐานของข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่ดีที่สุดที่มีอยู่ และ SDG16 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 16.7 สร้างหลักประกันว่าจะมีกระบวนการตัดสินใจที่มีความรับผิดชอบ ครอบคลุม มีส่วนร่วม

เข้าถึงได้ที่ : คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ มีมติกำเเพงกันคลื่นทุกขนาดต้องทำ EIA – The Reporters

ผู้แทนไทยร่วมหารือประเทศสมาชิกในการประชุม WSIS แก้ไขปัญหาอาชญากรรมออนไลน์

นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นผู้แทนประเทศไทยเข้าร่วมงาน World Summit on the Information Society Forum ประจำปี 2566 (WSIS Forum 2023) จัดโดย สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) และองค์การระหว่างประเทศภายใต้สหประชาชาติ ระหว่างวันที่ 13 – 17 มีนาคม 2566 ณ ศูนย์การประชุมนานาชาตินครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมของไทย ได้ร่วมกล่าวในการประชุม High-Level Policy Session ถึงความสำคัญของนโยบายการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและกฎหมายด้านดิจิทัลของไทยที่พร้อมรับมือกับความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ซึ่งมุ่งเน้นถึง “การจัดทำร่างพระราชกำหนดมาตรการป้องกันปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี” ที่เป็นกฎหมายใหม่ในการป้องกันภัยคุกคาม พร้อมส่งเสริมประสิทธิภาพการทำงานของหน่วยงานต่าง ๆ ในการร่วมกันแก้ปัญหา จากการประชุมดังกล่าว รัฐมนตรีชัยวุฒิ ได้เสนอแนวทางร่วมแก้ปัญหาการหลอกลวงทางออนไลน์ (online scams) ที่เป็นปัญหาของทุกประเทศทั่วโลกและเรียกร้องให้ประเทศสมาชิกใช้ความร่วมมือในการแก้ปัญหา

สำหรับการประชุม WSIS เป็นการประชุมระดับโลกที่สำคัญด้าน โทรคมนาคมและสารสนเทศ ที่จัดเป็นประจำทุกปี เพื่อผลักดันให้ประชากรทั่วโลกสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตเพิ่มมากขึ้น และบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนภายในปี 2573 ซึ่งมีผู้แทนจากประเทศสมาชิก ITU 193 ประเทศเข้าร่วมการประชุม โดยเฉพาะผู้แทนระดับรัฐมนตรีเข้าร่วมกว่า 30 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา เยอรมนี ซาอุดิอาระเบีย ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ อิหร่าน สหรัฐอาหรับเอมิเรส เคนยา ไนจีเรีย แกมเบีย ติมอร์เลสเต และผู้แทนระดับสูงจากองค์การระหว่างประเทศภายใต้สหประชาชาติ เช่นเลขาธิการสหประชาชาติ เลขาธิการ WIPO, เลขาธิการ UPU เป็นต้น

ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG16 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 16.3 ส่งเสริมนิติธรรมทั้งในระดับชาติและระหว่างประเทศ และสร้างหลักประกันว่าจะมีการเข้าถึงความยุติธรรมอย่างเท่าเทียมแก่ทุกคน 16.a เสริมความแข็งแกร่งของสถาบันระดับชาติที่เกี่ยวข้อง โดยรวมถึงกระทำผ่านทางความร่วมมือระหว่างประเทศ เพื่อสร้างขีดความสามารถในทุกระดับ โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา เพื่อจะป้องกันความรุนแรงและต่อสู้กับการก่อการร้ายและอาชญากรรม

เข้าถึงได้ที่ : รมว.ดีอีเอส เรียกร้องประเทศสมาชิก WSIS สร้างความร่วมมือแก้ไขปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ – The Reporters 

พบ PFAS สารเคมีอมตะในกระดาษทิชชู หลังตรวจสอบว่าปะปนในน้ำเสียทั่วโลก

สารประกอบกลุ่ม PFAS (Perfluoroalkyl and Polyfluoroalkyl Substances) เป็นสารที่ใช้ในการเคลือบผิววัสดุ ผ้ากันน้ำ เครื่องสำอาง โฟมดับเพลิง และใช้ในเครื่องครัวนอน-สติ๊ก ซึ่งเป็นสารที่สามารถอยู่ในดินได้มากกว่า 1,000 ปี จึงเรียกว่าเป็น ‘สารเคมีอมตะ’ ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการวิจัยศึกษาผลกระทบทางสุขภาพจากระดับการรับสัมผัส โดยพบว่าสารดังกล่าวอาจส่งผลเชื่อมโยงกับมะเร็ง ภาวะพิการแต่กำเนิด โรคตับ ไทรอยด์ โรคแพ้ภูมิตัวเอง จำนวนอสุจิที่ลดลง จนรวมถึงปัญหาสุขภาพร้ายแรงอื่น ๆ ทั้งนี้ จากการตรวจสอบสารเคมี PFAS ที่ใช้ในอุตสาหกรรมมากกว่า 14,000 ชนิด พบ dissubstituted poly-fluoroalkyl phosphates (diPAPs) ซึ่งเป็นสารชนิดหนึ่งของ PFAS ในกากน้ำเสียจากโรงบำบัดน้ำ ซึ่งคาดว่าต้นตอของสารนี้อาจมาจากกระดาษทิชชำระที่ใช้กันในชีวิตประจำวัน อันเนื่องมาจากการบำบัดน้ำเสีย เมื่อนำกระดาษชำระทิ้งลงชักโครก กากตะกอนจากการบำบัดน้ำเสียจะถูกนำไปทำปุ๋ย ซึ่งเป็นผลให้ PFAS แพร่กระจายออกไปทั้งในน้ำและดิน

ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG3 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 3.9 ลดจำนวนการตายและการเจ็บป่วยจากสารเคมีอันตรายและจากมลพิษและการปนเปื้อนทางอากาศ น้ำ และดิน ให้ลดลงอย่างมาก ภายในปี 2573 และ SDG6 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 6.3 ปรับปรุงคุณภาพน้ำ โดยการลดมลพิษ ขจัดการทิ้งขยะและลดการปล่อยสารเคมีอันตรายและวัตถุอันตราย ลดสัดส่วนน้ำเสียที่ไม่ผ่านกระบวนการลงครึ่งหนึ่ง และเพิ่มการนำกลับมาใช้ใหม่และการใช้ซ้ำที่ปลอดภัยอย่างยั่งยืนทั่วโลก ภายในปี 2573 และ SDG12  โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 12.4 บรรลุการจัดการสารเคมีและของเสียทุกชนิดตามกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศที่ตกลงกันแล้ว และลดการปลดปล่อยสิ่งเหล่านั้นออกสู่อากาศ น้ำ และดินอย่างมีนัยสำคัญ 

เข้าถึงได้ที่ : พบ ‘สารเคมีอมตะ’ PFAS อีกแล้ว คราวนี้อยู่ในกระดาษทิชชู! ปะปนในน้ำเสียทั่วโลก- thairath plus

สำนักข่าว Voice of America ชี้อัตราเสพยาบ้าในไทยพุ่งขึ้นถึงร้อยละ 30 

รายงาน่าสุด สื่อนอกอย่างสำนักข่าว Voice of America ได้เผยแพร่งานวิจัย สถานการณ์ยาเสพติดของประเทศไทย โดยเฉพาะ ‘ยาบ้า’ ที่ทวีความรุนแรงขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งปัญหาการเสพยาบ้าของไทย เมื่อเทียบข้อมูลจากปี 2564 นับว่าสูงขึ้นจากปี 2565 กว่าร้อยละ 30 สอดคล้องกับราคาที่ต่ำลง โดยบางพื้นที่ยาบ้าถูกสุดมีราคาเพียงเม็ดละ 20 บาทเท่านั้น เป็นราคาที่ต่ำทำให้หาซื้อง่ายยิ่งขึ้น ทำให้ปัญหาการเสพยาบ้า นับวันยิ่งเป็นวิกฤตใหญ่ของสังคมไทยที่ฝังรากลึกของไปยังฐานรากของสังคมแม้จะมีการรณรงค์มากมาย แต่ก็ยังคงมองไม่เห็นทางออกที่เป็นรูปธรรม เพราะเมื่อทบทวนกฎหมายที่มีอยู่กับพบว่าไม่สามารถช่วยแก้ไขปัญหาอย่างถอนรากถอนโคน เช่น การเสนอแนวคิดแก้ไขกฎหมาย กำหนดให้ผู้มียาบ้าในครอบครองเกิน 1 เม็ดมีความผิดฐานเป็นผู้ค้า แต่ก็มีความกังวลจากภาคประชาสังคมที่เกรงว่าแนวคิดนี้อาจจะยิ่งสร้างปัญหาเพิ่มขึ้นมากกว่าเดิมและเป็นการทำลายเจตนารมณ์ของแผนปฏิรูปกฎหมายยาเสพติดของประเทศไทยที่ผ่านการพิจารณาจากรัฐสภาในปี 2564 ซึ่งมุ่งเน้นการป้องกันและการบำบัด มากกว่าการลงโทษสำหรับผู้ที่ถูกจับฐานครอบครองยาเสพติดในจำนวนน้อย ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG3 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 3.5 เสริมสร้างการป้องกันและการรักษาการใช้สารในทางที่ผิดรวมถึงการใช้ยาเสพติดในทางที่ผิดและการใช้แอลกอฮอล์ในทางที่เป็นอันตราย 


เข้าถึงได้ที่ : สื่อนอกตีข่าวงานวิจัย ชี้อัตราเสพยาบ้าในไทยพุ่ง 30% ราคาต่ำสุดเม็ดละ 20 บาท-thestandard

ฮิวแมนไรท์วอทช์ เรียกร้องรัฐ ‘ยุติ’ การดำเนินคดีนักปกป้องสิทธิ

ฮิวแมนไรท์วอทช์ องค์กรสิทธิมนุษยชนสากลเรียกร้องให้ประเทศไทยยุติการดำเนินคดีฟ้องร้องข้อหาหมิ่นประมาททางอาญา จากกรณีที่บริษัท ธรรมเกษตร จำกัด ยื่นฟ้องนักปกป้องสิทธิมนุษยชนทั้ง 3 คน โดยระบุว่า รัฐบาลไทยควรดำเนินการเพื่อยกเลิกบทบัญญัติเกี่ยวกับการหมิ่นประมาททางอาญาและแนะนำมาตรการป้องกันที่เข้มงวดเพื่อป้องกันการใช้การกระทำทางกฎหมายที่ไม่สำคัญ ก่อกวน หรือมุ่งร้ายที่จะส่งผลกระทบต่อเสรีภาพในการพูด (Anti-SLAPP) โดยรัฐบาลไทยไม่ควรช่วยบริษัทเอกชนใช้ข้อหาหมิ่นประมาท ปิดปากแรงงานที่เรียกร้องเกี่ยวกับสภาพการทำงานของตนเอง หลังบริษัทไทยมีการใช้ข้อหาหมิ่นประมาทฟ้องร้องนักสิทธิมนุษยชนเพิ่มขึ้น

สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2566 ศาลอาญากรุงเทพใต้เริ่มการพิจารณาคดีที่เกี่ยวข้องกับการหมิ่นประมาททางอาญาของบริษัท ธรรมเกษตร ซึ่งทำธุรกิจฟาร์มไก่ในจังหวัดลพบุรี ได้ฟ้องนักปกป้องสิทธิทั้ง 3 คน จากกรณีทั้งสามได้โพสต์ และโพสต์ซ้ำข้อความ ในโซเชียลมีเดีย รวม 28 ข้อความ จึงฟ้องดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญาตามมาตรา 326 และ 328 โดยนักปกป้องสิทธิทั้ง 3 คน อังคณา นีละไพจิตร คณะทำงานว่าด้วยการบังคับให้สูญหายหรือโดยไม่สมัครใจแห่งสหประชาชาติ พุทธี กังกูร ผู้อำนวยการ The Fort  และธนภรณ์ สาลีผล ผู้อำนวยการ The Fort และได้ร่วมให้กำลังใจกับนักปกป้องสิทธิมนุษยชนคนอื่น ๆ ที่กำลังถูกฟ้องคดีโดยบริษัทธรรมเกษตรในข้อหาละเมิดสิทธิแรงงานที่ฟาร์มไก่ของบริษัทในจังหวัดลพบุรีเช่นเดียวกัน โดยบริษัทได้ยื่นฟ้องคดีแพ่งและคดีอาญาอย่างน้อย 37 คดีต่อนักปกป้องสิทธิ นักข่าว และคนงานตั้งแต่ปี 2559

ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG16 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 16.3 ส่งเสริมหลักนิติธรรมทั้งในระดับชาติและระหว่างประเทศ และสร้างหลักประกันว่าทุกคนสามารถเข้าถึงความยุติธรรมอย่างเท่าเทียม 16.6 พัฒนาสถาบันทุกระดับให้มีประสิทธิผล มีความรับผิดชอบ และโปร่งใส 16.7 สร้างหลักประกันว่าจะมีกระบวนการตัดสินใจที่มีความรับผิดชอบ ครอบคลุม มีส่วนร่วม และมีความเป็นตัวแทนที่ดี ในทุกระดับการตัดสินใจ และ 16.10 สร้างหลักประกันว่าสาธารณชนสามารถเขาถึงข้อมูลและมีการปกป้องเสรีภาพขั้นพื้นฐาน โดยเป็นไปตามกฎหมายภายในประเทศและความตกลงระหว่างประเทศ

เข้าถึงได้ที่ : Thailand: Drop Charges Against Rights Defenders – Human Rights Watch

ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ภายใต้โครงการเร่งรัดการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านสุขภาพของประเทศไทย

Author

  • Praewpan Sirilurt

    Knowledge Communication | มนุษย์ผู้เชื่อว่า “การสื่อสารสามารถเชื่อมต่อความรู้สึกของกันและกันได้” ไม่ว่าจะเป็นใคร อยู่ที่ไหน หรือเผชิญกับอะไรอยู่ การสื่อสารจะช่วยบอกเล่าเรื่องราวส่งไปให้แก่ผู้อื่นได้รับรู้

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น