ผู้อพยพเด็กที่เดินทางโดยลำพังอย่างน้อย 18,000 คน หายตัวไปในยุโรปตั้งแต่ปี 2018 เสี่ยงตกเป็นเหยื่อค้ามนุษย์

โปรเจกต์ของสำนักข่าว The Guardian และกลุ่มผู้สื่อข่าวข้ามพรมแดน Lost in Europe สืบสวนสอบสวนการหายตัวไปของผู้อพยพเด็กเมื่อเดินทางมาถึงยุโรป พบว่าระหว่างมกราคม 2018 – ธันวาคม 2020 มีผู้อพยพเด็กที่เดินทางโดยลำพังมากถึง 18,292 คนหายตัวไปทั้งในกรีซ อิตาลี และเยอรมนี หรือคิดเป็นเด็กที่หายตัวไปเกือบ 17 คนต่อวัน และเฉพาะในปี 2020 เพียงปีเดียว มีผู้อพยพเด็กหายตัวไปจากใน 13 ประเทศสหภาพยุโรปถึง 5,768 คน โดย 90% เป็นเด็กผู้ชาย และ 1 ใน 6 เป็นเด็กอายุน้อยกว่า 15 ปี

ข้อมูลจากกลุ่มผู้สื่อข่าวระบุว่า ในช่วงสามปีที่ผ่านมา ผู้อพยพเด็กที่หายตัวไปในยุโรปส่วนใหญ่เดินทางมาจากโมร็อกโก และจากอีกหลายประเทศต้นทางทั้งแอลจีเรีย เอริเทรีย กินี และอัฟกานิสถาน

การสืบสวนได้รวบรวมข้อมูลการหายตัวไปของผู้อพยพเด็กที่เดินทางโดยลำพังจาก 27 ประเทศในสหภาพยุโรป เช่น นอร์เวย์ มอลโดวา สวิตเซอร์แลนด์ และสหราชอาณาจักร โดยในสเปน เบลเยียม และฟินแลนด์มีข้อมูลสถิติถึงปี 2019 เท่านั้น ส่วนในเดนมาร์ก ฝรั่งเศส และสหราชอาณาจักร ไม่มีข้อมูลเด็กที่หายตัวไปตามลำพังที่สามารถนำมาวิเคราะห์ได้ ซึ่งหมายความว่า ตัวเลขจริงการหายไปของเด็กอพยพอาจสูงกว่าตัวเลขที่มีอยู่มาก

Federica Toscano หัวหน้าฝ่ายสนับสนุนองค์กรไม่แสวงหากำไร Missing Children Europe กล่าวว่า “เด็กที่หายตัวไปจำนวนมากนี้เป็นผลของระบบคุ้มครองเด็กที่ไม่มีประสิทธิภาพ” โดยเด็กที่เดินทางลำพังเป็นผู้ที่มีความเสี่ยงจะเผชิญกับความรุนแรง การแสวงประโยชน์ และการค้ามนุษย์มากที่สุดมากที่สุดในบรรดากลุ่มผู้อพยพ

สำนักข่าว The Guardian และ Lost in Europe พบข้อมูลว่าเมื่อเดือนมีนาคม ปี 2019 มีเด็กผู้อพยพชาวเวียดนามอย่างน้อย 60 คนได้หายตัวไปจากที่พักพิงชั่วคราวในประเทศเนเธอร์แลนด์ โดยทางการเนเธอร์แลนด์สงสัยว่าเด็กเหล่านี้อาจตกเป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์ และถูกส่งไปยังอังกฤษเพื่อทำงานในไร่กัญชาและตามร้านทำเล็บ

จากการรวบรวมข้อมูลของ Lost in Europe พบว่า แม้ว่าเกือบทุกประเทศที่มีการเข้าไปหาข้อมูลล้วนมีขั้นตอนเพื่อจัดการการหายตัวไปของผู้เยาว์ที่เดินทางโดยลำพังโดยละเอียด แต่ในทางปฏิบัติกลับไม่ได้ผลมากนัก ตามรายงานปี 2020 จาก European Migration Network พบปัญหาในการทำงานหน้างาน ได้แก่ ความล้มเหลวในการติดตามผลเมื่อมีการรายงานว่าเด็กหาย และความร่วมมือระหว่างตำรวจและโรงพยาบาลหรือหน่วยงานคุ้มครองเด็กที่ไม่เพียงพอ

ทั้งนี้ สาเหตุการหายตัวไปของเด็กอาจมาจากขั้นตอนที่ยืดเยื้อและเป็นภาระในการขอรับความคุ้มครองระหว่างประเทศหรือเพื่อกลับไปอยู่ร่วมกับครอบครัวในประเทศต้นทาง ทำให้เด็กหลายคนถูกทิ้งไว้ในศูนย์พักพิงที่ไม่ได้มาตรฐาน ไม่ได้รับการดูแลที่ดี และบ่อยครั้งก็ไม่ได้รับสิทธิ์ในการเรียนหนังสือ

โฆษกคณะกรรมาธิการยุโรปกล่าวว่า สภาพยุโรป “มีความกังวลอย่างมากเกี่ยวกับเด็กหายตัวไป” และเรียกร้องให้ประเทศสมาชิก “ดำเนินการเพื่อป้องกันและรับมือปัญหาการหายตัวไปของเด็กระหว่างการย้ายถิ่นฐาน โดยการพัฒนาการเก็บข้อมูลและความร่วมมือข้ามพรมแดน”

อ่านไฟล์ข่าวสืบสวนสอบสวนการหายตัวไปของผู้อพยพเด็กในยุโรปเพิ่มเติมที่ lostineurope.eu

ประเด็นดังกล่าว เกี่ยวข้องกับ ..
#SDG10 ลดความเหลื่อมล้ำในและระหว่างประเทศ
(10.7) อำนวยความสะดวกในการอพยพและเคลื่อนย้ายคนให้เป็นไปด้วยความสงบ ปลอดภัยเป็นไปตามระเบียบ และมีความรับผิดชอบ รวมถึงให้การดำเนินงานเป็นไปตามนโยบายด้านการอพยพที่มีการวางแผนและการจัดการที่ดี
#SDG16 สันติภาพ ความยุติธรรม และสถาบันที่เข้มแข็ง
(16.2) ยุติการข่มเหง การแสวงหาประโยชน์อย่างไม่ถูกต้อง การค้ามนุษย์ และความรุนแรงและการทรมานทุกรูปแบบที่มีต่อเด็ก

ที่มา : Nearly 17 child migrants a day vanished in Europe since 2018 (The Guardian)

Last Updated on สิงหาคม 18, 2021

Author

  • Natetida Bunnag

    Social Media Manager - ตัวแทน 'คนธรรมดา' ในชุมชนนักวิชาการ อ่าน แปล และสื่อสารเรื่องความยั่งยืน

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น