WHO เผยรายงาน ‘ไทย’ เสียชีวิตบนท้องถนนสูงสุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แม้มีกฎหมายจราจรในเกณฑ์ดี

องค์การอนามัยโลก (World Health Organization – WHO) เปิดเผยผ่านรายงาน GLOBAL STATUS REPORT ON ROAD SAFETY 2018 ว่าจำนวนผู้เสียชีวิตบนท้องถนนทั่วโลกยังคงเพิ่มขึ้น จากข้อมูลปี 2016 พบว่า มีจำนวนผู้เสียชีวิตสูงถึง 1.35 ล้านคนต่อปี ทั่วโลก หรือทุกหนึ่งชั่วโมง จะมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนน 155 คน

รายงานระบุว่าอุบัติเหตุบนท้องถนนเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับที่ 8 ของคนทุกกลุ่มอายุทั่วโลก ปัจจุบันมีผู้เสียชีวิตจากการสาเหตุนี้มากกว่าจำนวนผู้เสียชีวิตจาก HIV/เอดส์ วัณโรค หรือโรคอุจจาระร่วง ปัจจุบันอุบัติเหตุบนท้องถนนเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้นๆ ของเด็กและเยาวชนอายุ 5–29 ปี

สำหรับข้อมูลผู้เสียชีวิตรายภูมิภาคตามการแบ่งของ WHO จะพบว่าอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนสูงที่สุดอยู่ในทวีปแอฟริกา อยู่ที่ 26.6 คนต่อประชากร 1 แสนคน รองลงมาคือทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในอัตรา 20.7 คนต่อประชากร 1 แสนคน โดยทวีปที่มีอัตราผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนต่ำที่สุดคือ ยุโรป ในตัวเลข 9.3 คนต่อประชากร 1 แสนคน

จากรายงานปี 2018 ของ WHO ประเทศไทยมีอัตราการเสียชีวิตบนท้องถนนสูงสุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยอยู่ที่ 32.7 คน ต่อประชากร 1 แสนคน รองลงมาคือเวียดนาม 26.4 คน, มาเลเซีย 23.6 คน, เมียนมา 19.9 คน, กัมพูชา 17.8 คน, ลาว 16.6 คน, ปาปัวนิวกินี 14.2 คน, ติมอร์เลสเต 12.7 คน, ฟิลิปปินส์ 12.3 คน, อินโดนีเซีย 12.2 คน, สิงคโปร์ 2.8 คน ต่อประชากร 1 แสนคน

Data visualization Death on the roads

การบังคับใช้กฎหมายที่ควบคุมปัจจัยเสี่ยงด้านพฤติกรรมที่สำคัญ ได้แก่ การกำหนดความเร็ว กฎหมายเมาแล้วขับ การสวมหมวกกันน็อค การใส่เข็มขัดนิรภัย และให้มีระบบสายรัดหรือที่นั่งสำหรับเด็ก เป็นองค์ประกอบสำคัญเพื่อป้องกันการเสียชีวิตจากการจราจรบนท้องถนน

จากรายงานฉบับนี้ของ WHO แสดงให้เห็นว่าไทยมีการบังคับใช้กฎหมายจราจรที่ถึง ‘ระดับดี’ ตามเกณฑ์ของ WHO ดังนี้ กฎหมายเมาแล้วขับ กฎหมายการบังคับสวมหมวกกันน็อคในผู้ขับขี่จักรยานยนต์ และกฎหมายบังคับคาดเข็มขัดนิรภัย โดยเป็นประเทศเดียวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีกฎหมายเมาแล้วขับอยู่ใน ‘ระดับดี’ ตามเกณฑ์ของ WHO สำหรับการใช้กฎหมายการจราจรที่ยังไม่ถึงระดับดีคือ กฎหมายกำหนดความเร็ว และกฎหมายระบบสายรัดหรือที่นั่งสำหรับเด็ก

ประชากรทั่วโลกเพิ่มขึ้นทุกปี และจำนวนผู้ใช้ยานยนต์ก็เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเช่นกัน แม้ความพยายามสร้างความปลอดภัยบนท้องถนนจากทุกภาคส่วนที่มีอยู่อาจจะช่วยบรรเทาสถานการณ์ไม่ให้เลวร้ายลงได้ อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาถึงความคืบหน้าในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน SDG 3 – Health and Well-being เป้าประสงค์ที่ 3.6 ซึ่งเรียกร้องให้ลดจำนวนผู้เสียชีวิตจากการจราจรทางถนนลง 50% ภายในปี 2030 แล้ว ความพยายามในปัจจุบันอาจยังไม่เพียงพอ

เข้าถึง GLOBAL STATUS REPORT ON ROAD SAFETY 2018 คลิ๊กที่นี่

หมายเหตุ รายงานฉบับปี 2018 เป็นรายงานฉบับล่าสุดของ WHO (ข้อมูลวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2021)

อ้างอิง
https://apps.who.int/iris/bitstream/handle/10665/277370/WHO-NMH-NVI-18.20-eng.pdf?ua=1


Last Updated on กุมภาพันธ์ 12, 2021

Author

  • Natetida Bunnag

    Social Media Manager - ตัวแทน 'คนธรรมดา' ในชุมชนนักวิชาการ อ่าน แปล และสื่อสารเรื่องความยั่งยืน

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น