รายงาน UNEP ชี้ให้เห็นว่า 1 ใน 3 ของประเทศทั่วโลกขาดกฎหมายควบคุมคุณภาพอากาศภายนอกอาคาร

ปัจจุบัน มลพิษทางอากาศถือเป็นภัยคุกคามด้านสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลต่อสุขภาพของมนุษย์อย่างรุนแรง ทำให้มีผู้เสียชีวิตก่อนวัยอันควรอย่างน้อย 4 ล้านคนต่อปี แต่จากการประเมินของโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) พบว่า ประเทศส่วนใหญ่กลับไม่ให้ความสำคัญในการกำหนดข้อบังคับทางกฎหมายในการควบคุมคุณภาพอากาศ

รายงาน ‘The first Global Assessment of Air Pollution Legislation (GAAPL) เผยแพร่ต่อสาธารณะเมื่อวันที่ 2 กันยายน ที่ผ่านมา เป็นการประเมินกฎหมายคุณภาพอากาศของ ใน 194 ประเทศและสหภาพยุโรปในระดับโลกครั้งแรก พบว่า หนึ่งในสามของประเทศต่าง ๆ ในโลก ไม่มีมาตรฐานควบคุมคุณภาพอากาศแวดล้อมภายนอก หรือ Ambient Air Quality Standards (AAQS) ที่บังคับใช้ในระดับเป็นกฎหมาย ในกรณีที่มีมาตรฐานดังกล่าว ก็จะแตกต่างกันไปอย่างมากและมักไม่สอดคล้องกับแนวทางขององค์การอนามัยโลกที่ถือว่าปลอดภัย

จุดมุ่งหมายหลักของรายงงานการประเมิน GAAPL คือการตรวจสอบโครงสร้างกฎหมายระดับชาติสำหรับการพิจารณาและบังคับใช้มาตรฐานคุณภาพอากาศ จากข้อมูลทั้งหมด GAAPL พบว่า ประเทศอย่างน้อย 31% ที่มีอำนาจทางกฎหมายในการบังคับใช้มาตรฐานคุณภาพอากาศดังกล่าว แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นรัฐมนตรี หรือหน่วยงานจัดการสิ่งแวดล้อม กลับไม่ลงมือกำหนดมาตรฐานคุณภาพอากาศนี้

ประเทศอย่างน้อย 34% ยังไม่มีการคุ้มครองคุณภาพอากาศภายนอกตามกฎหมาย แม้แต่ในที่ที่มีการกำหนดเป็นกฎหมายแล้ว มาตรฐานแต่ละที่นั้นก็เปรียบเทียบได้ยาก นอกจากนี้ ความรับผิดชอบของสถาบันต่าง ๆ ทั่วโลกในการบรรลุมาตรฐานด้านคุณภาพอากาศยังอ่อนแอ โดยมีเพียง 33% ของประเทศทั้งหมดเท่านั้นที่มีการกำหนดภาระผูกพันเพื่อให้สามารถดำเนินการตามมาตรฐานที่บังคับใช้เป็นกฎหมายไว้ได้ และประเทศเพียง 31% ที่มีกลไกทางกฎหมายในการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศข้ามพรมแดน

รายงานเรียกร้องให้ประเทศต่าง ๆ บังคับใช้กฎหมายควบคุมคุณภาพอากาศที่เข้มงวด ซึ่งรวมถึงการกำหนดมาตรฐานที่สูงขึ้นในกฎหมายควบคุมมลพิษทางอากาศทั้งในอาคารและในสิ่งแวดล้อม ปรับปรุงกลไกทางกฎหมายสำหรับการตรวจสอบคุณภาพอากาศให้ดีขึ้น และการเพิ่มความโปร่งใสในการดำเนินงานทุกขั้นตอน

มลพิษทางอากาศในปัจจุบันมีแหล่งกำเนิดหลักมาจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล โดยจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพมนุษย์ในทางตรงคือ การทำลายคุณภาพของอากาศที่ใช้หายใจ และในทางอ้อมคือ มีส่วนทำให้วิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศรุนแรงขึ้น ซึ่งจะกลับมาส่งผลร้ายต่อคุณภาพชีวิตมนุษย์อีกต่อ

องค์การอนามัยโลกรายงานว่า มีการประมาณการผู้เสียชีวิตก่อนวัยอันควรที่เกิดจากมลพิษทางอากาศมากถึงอย่างน้อย 4 ล้านรายที่ในแต่ละปี โดยทำให้เกิดโรคหลอดเลือดสมอง โรคหัวใจ การติดเชื้อทางเดินหายใจเฉียบพลัน มะเร็งปอด และโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง เป็นต้น

ประเด็นดังกล่าว เกี่ยวข้องกับ
#SDG3 การมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี
- (3.9) ลดจำนวนการตายและการเจ็บป่วยจากสารเคมีอันตรายและจากมลพิษและการปนเปื้อนทางอากาศ น้ำ และดิน ให้ลดลงอย่างมาก ภายในปี 2573
#SDG7 พลังงานสะอาดที่เข้าถึงได้
- (7.2) เพิ่มสัดส่วนของพลังงานทดแทนในการผสมผสานการใช้พลังงานของโลก ภายในปี 2573
#SDG11 เมืองและชุมชนที่ยั่งยืน
- (11.6) ลดผลกระทบทางลบต่อสิ่งแวดล้อมต่อหัวประชากรในเขตเมือง รวมถึงการให้ความสนใจเป็นพิเศษต่อการจัดการคุณภาพอากาศ การจัดการของเสียของเทศบาล และการจัดการของเสียอื่นๆ ภายในปี 2573
#SDG12 แบบแผนการบริโภคและการผลิตที่ยั่งยืน
- (12.4) บรรลุการจัดการสารเคมีและของเสียทุกชนิดตลอดวงจรชีวิตของสิ่งเหล่านั้นด้วยวิธีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตามกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศที่ตกลงกันแล้ว และลดการปลดปล่อยสิ่งเหล่านั้นออกสู่อากาศ น้ำ และดินอย่างมีนัยสำคัญ เพื่อจะลดผลกระทบทางลบต่อสุขภาพของมนุษย์และสิ่งแวดล้อมให้มากที่สุดภายในปี 2563
#SDG17 หุ้นส่วนความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
- (17.14) ยกระดับความสอดคล้องเชิงนโยบายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

ที่มา :
UN Report Suggests One in Three Countries Lack Legally Mandated Standards for Outdoor Air Quality (Weather.com)
Let’s clear the air: United Nations campaigns for global treaty to tackle threat of pollution (Dailymaverick)
Air pollution laws are falling short, reveals UN report (UCL)

Last Updated on มกราคม 12, 2022

Author

  • Natetida Bunnag

    Social Media Manager - ตัวแทน 'คนธรรมดา' ในชุมชนนักวิชาการ อ่าน แปล และสื่อสารเรื่องความยั่งยืน

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น