ชวนติดตาม การประชุมสมัชชาสหประชาชาติ (UNGA) ครั้งที่ 77 – ร่วมค้นหาทางออกให้โลกรอดพ้นความท้าทายจากวิกฤต

การประชุมสมัชชาสหประชาชาติ (United Nations General Assembly – UNGA) ครั้งที่ 77 (UNGA77) จัดขึ้น ณ สำนักงานใหญ่องค์การสหประชาชาติ นครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา เริ่มเปิดประชุม เมื่อวันอังคารที่ 13 กันยายน และจะสิ้นสุดลงในวันที่ 27 กันยายน 2565 ซึ่งเป็นเวทีกำหนดนโยบายที่ใหญ่ที่สุดขององค์การสหประชาชาติประจำปี โดยผู้เข้าร่วมประกอบด้วยรัฐสมาชิกทั้งหมด 193 ประเทศ การประชุมในครั้งนี้ จะสะท้อนความท้าทายของสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19  สงครามระหว่างรัสเซีย – ยูเครน วิกฤตด้านพลังงานและอาหาร การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และวิกฤตห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก เป็นต้น

ตามกำหนดการหลังจากการเปิดสมัยการประชุม UNGA หนึ่งสัปดาห์ จะเป็นช่วงเวลาสำคัญของเวทีการประชุมระดับสูงอย่าง “การอภิปรายทั่วไป” (General Debate) ซึ่งมีกำหนดจัดการประชุมในวันที่ 20 – 26 กันยายน 2565 สำหรับปีนี้ ได้จัดประชุม ภายใต้ธีม ‘A watershed moment: transformative solutions to interlocking challenges’ หรือ ‘ช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลง: ทางออกที่พลิกรูปแบบเพื่อรับมือกับความท้าทายที่เชื่อมโยงกัน’ โดยการประชุมนี้ จะเปิดโอกาสให้ผู้นำแต่ละประเทศ กล่าวถ้อยแถลงเพื่อแสดงนโยบาย ความคิดเห็น และหารือเกี่ยวกับประเด็นต่าง ๆ ของโลกร่วมกัน 

ติดตามรายงานข่าว การอภิปรายทั่วไป บนเว็บไซต์หลักของ General Debate และถ่ายทอดสดบน UN Web TV ตั้งแต่วันที่ 20 กันยายน 2565 เวลา 9.00 น. ตามเวลานครนิวยอร์ก หรือ 20.00 น. ตามเวลาประเทศไทย และการอภิปรายทั่วไป ในวันที่เหลือได้จน ถึง 26 กันยายน 2565


สำหรับการประชุม UNGA 77 ปีนี้ นอกเหนือจากการอภิปรายทั่วไปแล้ว ตามตารางกำหนดการประชุม ยังมีการประชุมที่น่าสนใจอีกหลายเวที (ตามเวลานครนิวยอร์ก) อาทิ

19 กันยายน | SDG Moment 

กำหนดการประชุมจัดขึ้นเวลา 08.30 – 10.00 น. ในวันจันทร์ที่ 19 กันยายน 2565 ซึ่งเป็นช่วงเวลาสำคัญของการทบทวนความก้าวหน้าการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) โดยผู้นำแต่ละประเทศจะร่วมกันแบ่งปันมุมมองและแผนการดำเนินงานสู่เส้นทางการบรรลุ SDGs ซึ่งในทศวรรษที่โลกต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลง ทั้งวิกฤตค่าครองชีพที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นนั้น ส่งผลกระทบอย่างมากต่อความก้าวหน้าของ SDGs โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศกำลังพัฒนา ทั้งนี้ ในการประชุม จะมีการนำเสนอ SDG “To-Do List”  โดยประธานร่วม SDG Advocate หรือ ผู้สนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน  ของเลขาธิการองค์การสหประชาชาติ พร้อมมีการปรึกษาหารือ การดำเนินการตาม SDGs ที่จะมุ่งเน้นการแก้ปัญหาความไม่เท่าเทียม (inequality) และความท้าทายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม – ติดตามข้อมูลบนเว็บไซต์หลัก SDG Moment 2021

20 กันยายน | Platform of Women Leaders

กำหนดการประชุมจัดขึ้นเวลา 13.30-15.00 น. ในวันอังคารที่ 20 กันยายน เป็นการประชุม เพื่อหารือเกี่ยวกับประเด็นสำคัญในวาระของประชาคมระหว่างประเทศ พร้อมทั้งระบุแนวทางแก้ไขปัญหาความท้าทายที่ซับซ้อนในเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ โดยเป็นวาระริเริ่มพิเศษของประธานสมัชชาและ UN-Women ซึ่งหัวข้อ คือ “การแก้ปัญหาที่เปลี่ยนผันโดยผู้นำสตรีสู่วิกฤตที่เชื่อมโยงระหว่างกันในปัจจุบัน” – ติดตามข้อมูลบนเว็บไซต์หลัก Platform of Women Leaders

21 กันยายน | Leaders’ Roundtable on Climate Action

การประชุมโต๊ะกลมของผู้นำว่าด้วยการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งจัดขึ้นเวลา 15.30 น. -17.00 น. เนื่องจากท่ามกลางวิกฤตสภาพภูมิอากาศที่เลวร้ายนั้น เลขาธิการสหประชาชาติพร้อมกับประธานาธิบดีของอียิปต์ ร่วมเป็นเจ้าภาพในการจัดประชุม ซึ่งเป็นการประชุมโต๊ะกลมแบบปิด มีเฉพาะตัวแทนกลุ่มเล็ก ๆ ผู้นำรัฐและคณะทำงานของรัฐบาลที่เกี่ยวข้องเท่านั้น เพื่อริเริ่มปลุกระดมความร่วมมือระหว่างประเทศในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศร่วมกัน โดยมีเป้าหมายให้เกิดการแลกเปลี่ยนกันอย่างตรงไปตรงมาและนับเป็นการประชุมอย่างไม่เป็นทางการก่อนที่จะถึงการประชุม COP27 – ติดตามข้อมูลบนเว็บไซต์หลัก Leaders’ Roundtable on Climate Action

22 กันยายน | Security Council High-Level Debate on Ukraine

การประชุมของผู้นำระดับโลก โดยผู้นำประเทศต่าง ๆ จะร่วมกล่าวปราศรัยต่อคณะมนตรีความมั่นคง เวลา 10.00 น. ในวันที่ 22 กันยายน เพื่อหารือเกี่ยวกับสถานการณ์ในยูเครน – ติดตามการประชุมสด  UN Web TV

22 กันยายน | General Assembly High – Level Meeting on The Sahel

เลขาธิการสหประชาชาติ จะมีการจัดประชุมระดับสูงในภูมิภาค ตามกำหนดการเวลา 15.00 น. ถึง 16.30 น. วันที่ 22 กันยายน เนื่องจากหลายปีที่ผ่านมา การพัฒนาและการเติบโตทางเศรษฐกิจในภูมิภาคซาเฮล (Sahel) ทวีปแอฟริกาเหนือ เต็มไปด้วยด้วยความซับซ้อน ความท้าทายในหลายมิติและเชื่อมโยงระหว่างกัน ทั้งปัญหาความยากจน ความไม่มั่นคงทางด้านอาหาร การก่อการร้าย การพลัดถิ่น (displacement) และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 

อย่างไรก็ดี ตามตารางกำหนดการประชุม UNGA 77 กว่าสองสัปดาห์นี้ มีอีกหลายการประชุมที่น่าติดตามและย้อนทบทวนทั้งการประชุมที่ได้ผ่านมาแล้วและกำลังจะเกิดขึ้น อาทิ การประชุมสุดยอดผู้นำการปฏิรูปด้านการศึกษา หรือ Transforming Education Summit (TES) ซึ่งมีการประชุมระหว่างวันที่ 16, 17 และ 19 กันยายน 2565 ที่ผ่านมา โดยพลเอก.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รักษาการนายกรัฐมนตรีของประเทศไทย ได้ร่วมแลกเปลี่ยนวิสัยทัศน์ของผู้นำกับประเทศอื่น ๆ ต่อประเด็นการศึกษาทั่วโลก ผ่านระบบวีดิทัศน์ทางไกล  วันที่ 21 กันยายน 2565 ในการประชุมครบรอบ 30 ปีของการรับเอาปฏิญญาว่าด้วยสิทธิของบุคคลที่เป็นชนกลุ่มน้อยทางด้านสัญชาติหรือเผ่าพันธุ์ ศาสนา และภาษา วันที่ 23 กันยายน 2565 ในการประชุมยุติการระบาดของไวรัสโควิด-19 (Ending Covid-19 Pandemic) และ วันที่ 26 กันยายน 2565 ร่วมรำลึกวันสากลแห่งการกำจัดอาวุธนิวเคลียร์โดยสิ้นเชิง (International Day for the Total Elimination of Nuclear Weapons) เป็นต้น

ติดตามกำหนดการประชุมต่าง ๆ ของ UNGA 77 ที่นี่ และข้อมูลข่าวสารบนเว็บไซต์หลัก UN News

● อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
เริ่มต้นค่ำวันนี้ “การอภิปรายทั่วไป” (General Debate) ของการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ (UNGA) ครั้งที่ 76 
เลขาธิการ UN แต่งตั้ง BLACKPINK ให้เป็นผู้สนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Advocate)
COP26 – “โอกาสสุดท้าย” รักษาอุณหภูมิโลกไม่ให้สูงขึ้นถึง 1.5 °C และ 4 หัวข้อหลักที่จะอภิปรายในการประชุม COP26 
กลุ่มประเทศพัฒนาน้อยที่สุดออกเอกสารแสดงจุดยืนเรียกร้องให้ประเทศร่ำรวยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและชดเชยทางการเงินให้ประเทศที่ได้รับผลกระทบ
ความขัดแย้งรัสเซียและยูเครน อาจฉุดรั้งความก้าวหน้าการเปลี่ยนผ่านพลังงานเพื่อจัดการวิกฤตสภาพภูมิอากาศ 
เลขาธิการ UN แถลง 10 ประเด็น ที่ต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษในปี 2021

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG1 ขจัดความยากจน
#SDG2 ขจัดความหิวโหย
#SDG3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี
#SDG4 การศึกษาที่มีคุณภาพ
#SDG5 ความเท่าเทียมทางเพศ
– (5.5) สร้างหลักประกันว่าผู้หญิงจะมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่และมีประสิทธิผลและมีโอกาสที่เท่าเทียมในการเป็นผู้นำในทุกระดับของการตัดสินใจในเรื่องของการเมือง เศรษฐกิจ และกิจกรรมสาธารณะ
#SDG6 น้ำสะอาดและการสุขาภิบาล
#SDG7 พลังงานสะอาดที่เข้าถึงได้
#SDG8 งานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ
#SDG9 โครงสร้างพื้นฐาน นวัตกรรม อุตสาหกรรม
#SDG10 ลดความเหลื่อมล้ำ
#SDG11 เมืองและชุมชนที่ยั่งยืน
#SDG12 การผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน
#SDG13 การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
– (13.1) เสริมภูมิต้านทานและขีดความสามารถในการปรับตัวต่ออันตรายและภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกี่ยวข้องกับภูมิอากาศในทุกประเทศ
– (13.a) ดำเนินการให้เกิดผลตามพันธกรณีที่ผูกมัดต่อประเทศพัฒนาแล้วซึ่งเป็นภาคีของอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีเป้าหมายร่วมกันระดมทุนจากทุกแหล่งให้ได้จำนวน 1 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ ต่อปี ภายในปี 2563 เพื่อจะแก้ปัญหาความจำเป็นของประเทศกำลังพัฒนาในบริบทของการดำเนินการด้านการบรรเทาที่ชัดเจนและมีความโปร่งใสในการดำเนินงานและทำให้กองทุน Green Climate Fund ดำเนินการอย่างเต็มที่โดยเร็วที่สุดผ่านการให้ทุน
#SDG14 ทรัพยากรทางทะเล
#SDG15 ระบบนิเวศบนบก
#SDG16 ความสงบสุข ยุติธรรม และสถาบันที่เข้มแข็ง
– (16.3) ส่งเสริมหลักนิติธรรมทั้งในระดับชาติและระหว่างประเทศ และสร้างหลักประกันว่าทุกคนสามารถเข้าถึงความยุติธรรมอย่างเท่าเทียม
– (16.a) เสริมความแข็งแกร่งของสถาบันระดับชาติที่เกี่ยวข้อง โดยรวมถึงการกระทำผ่านทางความร่วมมือระหว่างประเทศ เพื่อสร้างขีดความสามารถในทุกระดับ โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา เพื่อจะป้องกันความรุนแรงและต่อสู้กับการก่อการร้ายและอาชญากรรม
#SDG17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
– (17.9) เพิ่มพูนการสนับสนุนระหว่างประเทศสำหรับการดำเนินการด้านการเสริมสร้างขีดความสามารถที่มีประสิทธิผลและมีการตั้งเป้าในประเทศกำลังพัฒนาเพื่อสนับสนุนแผนระดับชาติที่จะดำเนินงานในทุกเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน รวมถึงผ่านทางความร่วมมือแบบเหนือ-ใต้ ใต้-ใต้ และไตรภาคี
– (17.14) ยกระดับความสอดคล้องเชิงนโยบายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
– (17.15) เคารพพื้นที่ทางนโยบายและความเป็นผู้นำของแต่ละประเทศที่จะสร้างและดำเนินงานตามนโยบายเพื่อการขจัดความยากจนและการพัฒนาที่ยั่งยืน

แหล่งที่มา:
Event: 77th Session of the UN General Assembly (UNGA 77) | SDG Knowledge Hub | IISD 
Highlights: United Nations General Assembly High-Level Week 2022 
General Debate – (General Assembly of the United Nations) 
“ประวิตร” โชว์วิชั่น เวทีUN พลิกโฉมการศึกษา เป้าหมายที่ 4 ของไทย – (กรุงเทพธุรกิจ) 
รัฐบาลไต้หวันดันแผนเข้าร่วม UN แม้ต้องเผชิญการข่มขู่จากจีนด้วยกำลังทหารและการคุกคามต่างๆ โดยเรียกร้องให้ UN ให้ความสำคัญต่อความพยายามของชาวไต้หวัน และรับไต้หวันเข้าเป็นสมาชิก : Taiwan Today 

ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ภายใต้โครงการเร่งรัดการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านสุขภาพของประเทศไทย

Author

  • Praewpan Sirilurt

    Knowledge Communication | มนุษย์ผู้เชื่อว่า “การสื่อสารสามารถเชื่อมต่อความรู้สึกของกันและกันได้” ไม่ว่าจะเป็นใคร อยู่ที่ไหน หรือเผชิญกับอะไรอยู่ การสื่อสารจะช่วยบอกเล่าเรื่องราวส่งไปให้แก่ผู้อื่นได้รับรู้

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น