TikTok ออกฟีเจอร์ใหม่ในแอปที่ให้คำปรึกษาสุขภาพจิตและป้องกันการฆ่าตัวตายจากผู้เชี่ยวชาญโดยตรง

TikTok ออกฟีเจอร์ในแอปพลิเคชันใหม่ที่คำนึงถึงสุขภาวะของผู้ใช้งาน นอกจากฟังก์ชันช่วยคัดกรองคอนเทนท์อันตราย อาทิ คอนเทนท์ที่ส่งเสริมการทำร้ายตัวเองและการฆ่าตัวตาย หรือก่อให้เกิดพฤติกรรมการรับประทานอาหารที่ผิดปกติแล้ว ยังสนับสนุนการตระหนักรู้และบรรเทาปัญหาสุขภาพจิตให้ครอบคลุมผู้ใช้งานทุกภูมิภาคได้มากที่สุด โดยบรรจุอยู่ในส่วน Safety Center ของแอปพลิเคชัน ที่จะปรากฎข้อมูลและคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ ได้แก่ สมาคมเพื่อการป้องกันการฆ่าตัวตายนานาชาติ (International Association for Suicide Prevention) บริการให้คำปรึกษาสำหรับขอความช่วยเหลือเมื่อต้องการฆ่าตัวตาย Crisis Text Line, Live For Tomorrow, และ Samaritans สหราชอาณาจักรและสิงคโปร์

นอกจากนี้ เมื่อผู้ใช้งานแบ่งปันประสบการณ์บนแพลตฟอร์ม อย่างการเสิร์ชคำเช่น #suicide ตัวแอปพลิเคชันก็จะชี้ทางไปแหล่งขอความช่วยเหลือ/บริการให้คำปรึกษาและการรักษาโดยทันที ทั้งนี้ ก็เพื่อให้เป็นข้อมูลการวินิจฉัยปัญหาที่มาจากผู้เชี่ยวชาญโดยตรงเพื่อป้องกันข้อมูล/คำปรึกษาบนโลกออนไลน์ที่ผิดพลาด และถือเป็นอีกก้าวของสื่อโซเชียลมีเดียกับการเข้ามารับผิดชอบต่อผู้บริโภคและใส่ใจต่อสุขภาพจิตมากขึ้น


เมื่อพื้นที่ที่เป็นแหล่งแลกเปลี่ยนและแบ่งปันประสบการณ์ในชีวิตและความคิดสร้างสรรค์ จะต้องตระหนักถึงประเด็นด้านสุขภาพจิต ไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิต บทสนทนาเกี่ยวกับรูปลักษณ์หรือพฤติกรรมการบริโภค TikTok จึงเริ่มจากการมีฟีเจอร์ช่วยจัดการพฤติกรรมการรับประทานอาหารที่ผิดปกติ (eating disorder) เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ที่นำเสนอเครื่องมือและแหล่งข้อมูลที่ถูกที่ควรให้กับผู้ใช้งานที่เสิร์ชคำที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งนำเสนอแฮชแท็ก (#) อาทิ #whatIeatinaday เพื่อสร้างการตระหนักรู้และนำทางไปในทางที่เป็นประโยชน์มากกว่า  

และการพัฒนาครั้งนี้ก็เป็นความต่อเนื่องที่แสดงให้เห็น ‘การเข้ามาร่วมรับผิดชอบ’ ตั้งแต่การคัดกรองคอนเทนท์และการส่งเสริมคอนเทนท์บางประการผ่านอัลกอริทึม แม้ว่าในประเด็นการคัดกรองที่ว่านี้ จะมีข้อถกเถียงระหว่างผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยก็ตาม

โดย TikTok จะอัพเดทการติดป้ายคำเตือน ‘เนื้อหาที่มีความอ่อนไหว’ และปิดบังข้อมูลบางส่วนจนกว่าผู้ใช้งานจะกดแสดงเนื้อหา ทั้งนี้ ก็เพื่อให้ผู้ใช้งานได้ทราบว่าข้อมูลที่เสิร์ชพบนั้นเป็นอย่างไร ส่วนข้อมูลและคู่มือด้านพฤติกรรมการรับประทานอาหารสำหรับวัยรุ่น ผู้ดูแล และนักการศึกษา รวมทั้งข้อมูลและคู่มือการป้องกันการฆ่าตัวตาย ซึ่งล้วนพัฒนามาจากกลุ่มผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องในด้านนั้น ๆ โดยตรง จะปรากฎอยู่ในส่วน Safety Center

ทั้งนี้ ความเห็นบางส่วนมองว่าการดำเนินการดังกล่าวมีนัยสำคัญ เมื่อปัจจุบันสื่อโซเชียลมีเดียเป็นอวัยวะหนึ่งที่วัยรุ่นคนหนุ่มสาวพึ่งพาและได้รับอิทธิพล รวมถึงโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบอย่างยิ่งต่อประเด็นสุขภาพจิต การตัดสินใจของ TikTok ในการเพิ่มฟีเจอร์ในแอปพลิเคชันจึงเป็นสัญญาณที่จะส่งต่อให้สื่อโซเชียลมีเดียเจ้าอื่น ๆ ตระหนักถึงประเด็นดังกล่าวและร่วมรับผิดชอบต่อผู้ใช้งานด้วยในลักษณะเดียวกัน

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG3 สุขภาพและสุขภาวะที่ดี
-(3.4) ลดการตายก่อนวัยอันควรจากโรคไม่ติดต่อให้ลดลง 1 ใน 3 ผ่านทางการป้องกันและการรักษาโรค และส่งเสริมสุขภาพจิตและความเป็นอยู่ที่ดี ภายในปี 2573
#SDG9 โครงสร้างพื้นฐาน เทคโนโลยี และนวัตกรรม

แหล่งที่มา:
New resources to support our community’s well-being (TikTok)
TikTok has new mental health resources for its users. Some experts say it’s a good start (nbcnews)

Author

  • Thiraphon Singlor

    Editor | อยากรู้ความคิดของคนต่างพื้นเพ ต่างสังคมและวัฒนธรรม สนใจความเป็นไปของโลก ความมั่นคง และการพัฒนา แล้วนำมาถ่ายทอดร้อยเรียงเรื่องราวเล่าให้ฟัง

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น