นับถอยหลัง HLPF 2021 – HLPF ที่ผ่านมา คุยอะไรกันบ้าง?

– นับถอยหลังสู่การประชุม ‘HLPF 2021’ หมุดหมายสำคัญของวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน และเพื่อเป็นการเตรียมพร้อมความเข้าใจก่อนวันประชุมจะเกิดขึ้นระหว่างวันที่ 6-15 กรกฎาคม 2564 เราจึงชวนมารู้จักว่าการประชุม HLPF คืออะไร สำคัญอย่างไร ความเกี่ยวข้องของไทยกับเวที ดังกล่าว รวมถึงว่าประชาคมโลกเขาพูดเรื่องอะไรกันจนถึงปัจจุบันนี้ –

HLPF 2021 – 02 – HLPF ที่ผ่านมา คุยอะไรกันบ้าง?

  • อย่างที่ได้เกริ่นไว้เบื้องต้นใน นับถอยหลัง HLPF 2021 – การประชุม HLPF คืออะไร ? ว่าการประชุม HLPF ที่จัดขึ้นทุกปีเป็นระยะเวลา 8 วัน (ซึ่งรวมถึงการประชุมระดับรัฐมนตรีเป็นเวลา 3 วัน) ในช่วงเดือนกรกฎาคมนั้น จะแบ่งเป็น
    • สัปดาห์แรกหรือ Section แรก สำหรับการติดตามภาพรวม 17 เป้าหมาย SDGs ที่สอดคล้องกับธีม ตลอดจน ‘เป้าหมายที่จะโฟกัส’ ในปีนั้น ๆ และ
    • สัปดาห์ที่สองหรือ Section ที่สอง จะเป็นการติดตามรายงานผลการทบทวนการดำเนินงานตามวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 ระดับชาติโดยสมัครใจ หรือ ‘รายงาน VNR’ ที่บรรดาสมาชิกจะเข้าร่วมนำเสนอ
    • และในแต่ละวันก็จะมีกิจกรรมอื่น ๆ ด้วย (side events)
  • การประชุม HLPF จัดต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2556 (2013) เป็นต้นมา โดยแต่ละปีจะมีธีมและประเด็นเป้าหมายที่มุ่งโฟกัสแตกต่างกันไป โดยสังเขป มีดังนี้

2556 (2013)

24 กันยายน 2556
Building the future we want: from Rio+20 to the post-2015 development agenda
สร้างอนาคตที่เราต้องการ: จาก Rio+20 ถึงวาระการพัฒนาหลังปี 2015

  • เป็นการประชุมที่มาแทนที่คณะกรรมาธิการว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ (UNCSD) ที่ได้ประชุมเรื่อยมาทุกปีตั้งแต่ 2536
  • ด้วยความที่เป็นการประชุมครั้งแรก จึงจัดโดยสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ (General Assembly) (อ่านสรุปเพิ่มเติม ที่นี่)

2557 (2014)

20 มิถุนายน – 9 กรกฎาคม 2557
Achieving the MDGs and charting the way for an ambitious post-2015 development agenda, including the SDGs
การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหสวรรษและวางแผนที่เดินทางสำหรับเป้าหมายการพัฒนาหลังปี 2015 ที่ทะเยอทะยาน รวมถึงเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs)

  • การประชุมครั้งที่ 2 นี้ เริ่มจัดโดยคณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ (Economic and Social Council – ECOSOC)
  • ประเด็นของการหารือมีอาทิ การก่อร่างยุทธศาสตร์ทางการเงินเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน และก่อร่างหลักการที่ควรมีปรากฏ เช่น หลักสากล หลักสิทธิมนุษยชน การเปลี่ยนแปลงจากฐานราก ความครอบคลุม คนเป็นศูนย์กลาง การเคารพโลกและระบบนิเวศ ตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และความสำคัญของความร่วมมือและความเป็นหุ้นส่วน เป็นต้น (อ่านสรุปเพิ่มเติม ที่นี่)

2558 (2015)

26 มิถุนายน – 8 กรกฎาคม 2558
Strengthening integration, implementation and review – the HLPF after 2015
สร้างความเข้มแข็งสำหรับการบูรณาการ การนำไปปฏิบัติ และการทบทวน – HLPF หลังปี 2015

  • ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2 ที่จัดโดย ECOSOC
  • การหารือต่อเนื่องมาครั้งนี้ จะคุยกันเรื่องการนำไปปฏิบัติ และดูว่ารูปร่างหน้าตาของการประชุม HLPF กับบทบาทการติดตามและทบทวนการดำเนินงาน ตั้งแต่ปี 2559 (หลังจากประกาศ SDGs ต่อโลก) จะออกมาเป็นแบบใด รวมถึงประเด็นสำคัญอย่างการผนวกหลักการไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังในนโยบายและแผน วิธีการสื่อสารและการเร่งการนำไปปฏิบัติ การขับเคลื่อนภาคเอกชนและประชาสังคม ไปจนถึงว่าจะนำเรื่องการเงินและเทคโนโลยีมาผนวกกับการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างไร
  • ในปีเดียวกัน วันที่ 25 กันยายน 2558 เวทีการประชุม HLPF ก็ได้รับการ ‘เปิดตัว’ อย่างเป็นทางการ ที่จะเป็นพื้นที่สำคัญในการติดตามและทบทวนการดำเนินงานตาม SDGs บนฐานของข้อมูล หลักฐานเชิงประจักษ์ และประสบการณ์ของประเทศต่าง ๆ เป็นต้น

2559 (2016)

11 – 20 กรกฎาคม 2559
Ensuring that no one is left behind
สร้างหลักประกันว่าจะไม่มีใครถูกทิ้งไว้เบื้องหลัง

  • ครั้งแรก! ของการจัดประชุม HLPF อย่างเป็นทางการ โดยมีผู้แทนคณะรัฐบาลจากประเทศต่าง ๆ องค์การระหว่างประเทศ และผู้มีส่วนได้เสียเข้าร่วม
  • ประเด็นที่หารือกัน มีอาทิ ยกระดับให้ผู้คนหลุดพ้นจากความยากจน การจัดให้มีบริการขั้นพื้นฐาน การส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจ ความมั่นคงทางอาหาร เกษตรกรรมที่ยั่งยืน มหาสมุทรที่ยั่งยืน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สังคมที่สันติสุข การเสริมพลังผู้หญิง ไปจนถึงการถ่ายระดับเป้าหมาย SDGs ไปยังนโยบาย แผน และยุทธศาสตร์ระดับชาติ (อ่านสรุปเพิ่มเติม ที่นี่)

2560 (2017)

10 – 19 กรกฎาคม 2560
Eradicating poverty and promoting prosperity in a changing world
การกำจัดความยากจนและส่งเสริมความมั่งคั่งในโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลง

  • ครั้งแรก! ของการจัดประชุม HLPF ที่เริ่มมีการทบทวนความคืบหน้าของการพัฒนาเป็นรายเป้าหมาย และการทบทวนรายงาน VNR ซึ่งครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ไทยเข้าร่วมนำเสนอ VNR ด้วย
  • เป้าหมาย SDGs ที่โฟกัสในปีนี้ ได้แก่ #SDG1 (ยุติความยากจน) #SDG2 (ยุติความหิวโหย) #SDG3 (สุขภาพและสุขภาวะที่ดี) #SDG5 (ความเท่าเทียมทางเพศ) #SDG9 (โครงสร้างพื้นฐาน อุตสาหกรรม นวัตกรรม) #SDG14 (มหาสมุทรและทรัพยากรทางทะเล) (อ่านสรุปเพิ่มเติม ที่นี่)

2561 (2018)

9-18 กรกฎาคม 2561
Transformation towards sustainable and resilient societies
การเปลี่ยนแปลงจากฐานรากสู่สังคมที่ยั่งยืน ตั้งรับและปรับตัวได้

  • เป้าหมาย SDGs ที่โฟกัสในปีนี้ได้แก่ #SDG6 (น้ำดื่มสะอาด สุขอนามัยและสุขาภิบาลที่ดี) #SDG7 (พลังงานสมัยใหม่) #SDG11 (เมืองและการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์) #SDG12 (การผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน) #SDG15 (ระบบนิเวศบนบก) และ #SDG17 (หุ้นส่วนการพัฒนาที่ยั่งยืน)
  • มุมมองของประเทศต่าง ๆ จากการนำ SDGs ไปปฏิบัติ มีทั้งการสร้างความสามารถในการตั้งรับปรับตัว การใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมเพื่อช่วย SDGs โดยเป็นมุมมองจากประเทศหมู่เกาะขนาดเล็ก ประเทศพัฒนาน้อยที่สุด ประเทศที่ไม่มีพื้นที่ติดทะเล ประเทศรายได้ปานกลาง เป็นต้น (อ่านสรุปเพิ่มเติม ที่นี่)

2562 (2019)

9 -18 กรกฎาคม 2562
Empowering people and ensuring inclusiveness and equality
ให้อำนาจเสริมพลังแก่ผู้คนและสร้างหลักประกันความครอบคลุมและความเท่าเทียม

  • ปี 2562 เป็นการครบรอบ 4 ปีแรกหลังการรับรองเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 2030 จึงเป็นโอกาสสำคัญของการทบทวน ‘บทเรียน’ การทำงานหรือ ‘ฟังก์ชัน’ ของเวทีประชุม HLPF (อ่านเพิ่มเติม ที่นี่) ตลอดจนหยิบยกประเด็นที่เกิดขึ้นใหม่ที่อาจมีผลต่อการนำ SDGs ไปปฏิบัติด้วย
  • เป้าหมาย SDGs ที่โฟกัสในปีนี้ ได้แก่ #SDG4 (การศึกษาที่มีคุณภาพ) #SDG8 (การเติบโตทางเศรษฐกิจและงานที่ดี) #SDG10 (การลดความเหลื่อมล้ำ) #SDG13 (การจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ) #SDG16 (สังคมสันติสุข ครอบคลุม ยุติธรรม) และ #SDG17 (หุ้นส่วนการพัฒนาที่ยั่งยืน) (อ่านสรุปเพิ่มเติม ที่นี่)

2563 (2020)

7 – 16 กรกฎาคม 2563
Accelerated action and transformative pathways: realizing the decade of action and delivery for sustainable development
เร่งลงมือทำและเร่งสร้างทางเดินของการเปลี่ยนแปลง: ตระหนักถึงทศวรรษของการลงมือทำเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

  • ปีนี้เป็นปีแรกที่ที่ประชุมได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้ไม่สามารถจัดการประชุมตามปกติได้ด้วยข้อจำกัดของการเดินทางระหว่างประเทศ ดังนั้น ตลอดทั้งการประชุมและกิจกรรมในแต่ละวันจึงจัดในรูปแบบการประชุมออนไลน์
  • ประเด็นที่มีการหารือกัน มีอาทิ สุขภาพและสุขภาวะที่ดี การยุติความยากจนและความหิวโหย ความมั่นคงทางอาหาร การปกป้องโลก การตอบสนองต่อภาวะเศรษฐกิจ โดยเฉพาะความท้าทายทางการเงินในประเทศกำลังพัฒนา (อ่านสรุปเพิ่มเติม ที่นี่)

ติตตามข่าวสาร HLPF 2021 ได้ที่ : https://sustainabledevelopment.un.org/hlpf/2021
ข้อมูล HLPF ทั้งหมดที่ : https://sustainabledevelopment.un.org/hlpf
และ VNRs ที่ : https://sustainabledevelopment.un.org/vnrs/
หรือติดตามช่องทางของ SDG Move ที่ : https://www.sdgmove.com/?tag=hlpf และ https://www.sdgmove.com/tag/vnr/

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ #SDG17 หุ้นส่วนระดับโลกเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

แหล่งที่มา:
https://sustainabledevelopment.un.org/hlpf
(SDG Move 2017) การประชุม High-Level Political Forum คืออะไร

Last Updated on มกราคม 4, 2022

Author

  • Thiraphon Singlor

    Editor | อยากรู้ความคิดของคนต่างพื้นเพ ต่างสังคมและวัฒนธรรม สนใจความเป็นไปของโลก ความมั่นคง และการพัฒนา แล้วนำมาถ่ายทอดร้อยเรียงเรื่องราวเล่าให้ฟัง

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น