ยุทธศาสตร์การพัฒนาคุณภาพผู้ใช้ชีวิตในพื้นที่สาธารณะ มีอะไรสำเร็จบ้าง ต้องขับเคลื่อนต่ออย่างไร? ชวนหาคำตอบจากงานวิจัยของ ‘ผศ.วีรบูรณ์ วิสารทสกุล’

ชวนอ่านงานวิจัย “ประเมินผลยุทธศาสตร์การพัฒนาคุณภาพผู้ใช้ชีวิตในพื้นที่สาธารณะ (คนไร้บ้าน ผู้ป่วยข้างถนน)” โดย ผศ. วีรบูรณ์ วิสารทสกุล วิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานศูนย์วิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ยุทธศาสตร์ดังกล่าว เกิดขึ้นด้วยการริเริ่มโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อลดช่องว่างในการเข้าถึงบริการสุขภาพของคนไร้บ้าน รวมถึงสนับสนุนกระบวนที่มีเป้าหมายเเละทิศทางในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนไร้บ้านเเละผู้ป่วยข้างถนนอย่างเป็นรูปธรรม เนื่องจากปัจจุบันคนไร้บ้านในประเทศไทยเป็นกลุ่มคนที่หลุดจากกระบวนการสร้างเสริมสุขภาพทุกมิติ เข้าไม่ถึงบริการทางสุขภาพของรัฐ โดยเฉพาะกลุ่มคนไร้บ้านที่ไม่มีบัตรประจำตัวประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้าน ซึ่งปัจจุบันมีมากถึงร้อยละ 25 ของประชากรคนไร้บ้านทั้งหมด

เพื่อช่วยขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ดังกล่าวให้สำเร็จเเละเเก้ไขปัญหาได้จริง งานวิจัยของ ผศ. วีรบูรณ์  จึงมีเป้าหมายสำคัญ คือ การประเมินผลการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์การพัฒนาคุณภาพผู้ใช้ชีวิตในพื้นที่สาธารณะ พ.ศ.2558-2560 และ ให้ข้อเสนอแนะในการพัฒนายุทธศาสตร์และการดำเนินงานในระยะต่อไป โดยมีโครงการที่เป็นเป้าหมายในการประเมินผลจำนวน 11 โครงการ จึงนับว่าเป็นงานวิจัยที่มีความเกี่ยวข้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน  ได้เเก่ เป้าหมายที่ 1 ขจัดความยากจน เป้าหมายที่ 3 สุขภาพเเละความเป็นอยู่ที่ดี เเละเป้าหมายที่ 10 ลดความเหลื่อมล้ำ

ผศ.วีรบูรณ์ ใช้วิธีการประเมินผลผ่านการศึกษาเอกสารรายงานความก้าวหน้าของโครงการและการสัมภาษณ์กลุ่มผู้ให้ข้อมูลต่าง ๆ ได้แก่ กลุ่มผู้ร่วมพัฒนาแผนยุทธศาสตร์ กลุ่มที่ทำงานในระดับแผนงานหรือกลไกการขับเคลื่อนการทำงาน กลุ่มผู้จัดการหรือผู้รับผิดชอบโครงการ และหน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้องในการดำเนินโครงการ

งานวิจัยข้างต้นได้ผลการประเมินที่สำคัญ ได้แก่ 

  • ยุทศาสตร์ที่ 1 (การเสริมศักยภาพแกนนำและการสร้างพลังเครือข่ายผู้ใช้ชีวิตในพื้นที่สาธารณะ) ยุทธศาสตร์ที่ 2 (การพัฒนาองค์ความรู้และรูปแบบการดำเนินงานที่หลากหลายสอดคล้องกับบริบท) และยุทธศาสตร์ที่ 3 (การส่งเสริมและสนับสนุนการบูรณาการการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ สถาบันและองค์กรในท้องถิ่นอย่างเป็นระบบ) โดยมีความก้าวหน้าของผลงานตามตัวชี้วัด  คือ สามารถพัฒนาแกนนำอาสาสมัครที่มีศักยภาพในการดูแลปัญหาสุขภาพจิตให้แก่คนไร้บ้านได้ เกิดฐานข้อมูลของคนไร้บ้านเเละมีชุดความรู้ในการเเก้ปัญหาการใช้ชีวิตของคนไร้บ้าน เเละเกิดกลไกส่งเสริมและสนับสนุนการบูรณาการการดำเนินงานของภาครัฐ สถาบัน และองค์กรในท้องถิ่นเพื่อแก้ไขปัญหาผู้ใช้ชีวิตในพื้นที่สาธารณะ
  • ยุทธศาสตร์ที่ 4 (การสื่อสารสังคมเพื่อการขับเคลื่อนนโยบายและการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน) ไม่ได้ผลงานครบตามตัวชี้วัด แต่ประสบความสำเร็จตามเป้าหมายของประเด็นยุทธศาสตร์ กล่าวคือกลไกและช่องทางการสื่อสารที่ยุทธศาสตร์พัฒนาขึ้นผ่านโครงการต่าง ๆ ทำให้สามารถสื่อสาร สร้างความเข้าใจกับสังคม ให้เข้ามาร่วมมีบทบาทในการดูแลคุณภาพชีวิตคนไร้บ้านได้มากขึ้น
  • ยุทธศาสตร์ที่ 5 (การผลักดันและขับเคลื่อนนโยบาย) มีผลงานที่ก้าวหน้าไปมากกว่าตัวชี้วัด กล่าวคือรูปธรรมปฏิบัติการที่เกิดขึ้นนั้นมีความก้าวหน้าไปมากกว่าการเกิดขึ้นของข้อเสนอนโยบาย และการมีนโยบายช่วยเหลือคนไร้บ้าน
  • ผลลัพธ์ของแผนยุทธศาสตร์นั้น พบว่ายังมีประเด็นที่ต้องดำเนินการเพิ่มเติม อีก 2 ประเด็น คือ การพัฒนาให้เกิดระบบการรับรองสิทธิของคนไร้บ้านเพื่อการเข้าถึงบริการของรัฐ และ การอธิบายความหมายของคำว่า “พื้นที่ต้นแบบ” ให้มีรายละเอียดที่ชัดเจนมากขึ้น

นอกจากนี้ ผศ.วีรบูรณ์ ยังได้ระบุถึงข้อค้นพบและข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ต่อการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนาคุณภาพผู้ใช้ชีวิตในพื้นที่สาธารณะ พ.ศ.2558-2560 อีกหลายประการ อาทิ

  • ตัวชี้วัดยุทธศาสตร์การพัฒนาคุณภาพผู้ใช้ชีวิตในพื้นที่สาธารณะ (คนไร้บ้าน ผู้ป่วยข้างถนน) พ.ศ. 2558-2560 ตัวชี้วัดที่เกี่ยวกับคนไร้บ้านที่เป็นชาวต่างชาติยังไม่ชัดเจนว่ามีที่มาอย่างไร จึงควรมีการปรับปรุงในตัวชี้วัดนี้ หรือต้องพัฒนาโครงการใหม่ที่สอดคล้อง
  • ระดับศักยภาพและความสามารถในการให้ความช่วยเหลือคนไร้บ้านของแกนนำ ควรมีการระบุคุณสมบัติหรือศักยภาพที่จำเป็นของแกนนำคนไร้บ้าน เพื่อนำไปสู่กระบวนการเสริมศักยภาพที่เป็นระบบ มีเป้าหมายการพัฒนาที่ชัดเจนจำแนกตามความแตกต่าง ซึ่งจะเป็นความรู้ที่เป็นประโยชน์และช่วยสร้างและรักษาคุณภาพของแกนนำได้
  • ควรยกระดับการทำงานระหว่างหน่วยงานรัฐและระหว่างหน่วยงานรัฐกับองค์กรพัฒนาเอกชนจากที่เป็นการทำงานบนฐานความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลที่ทำงาน ให้เป็นความสัมพันธ์เชิงระบบ เพื่อทำให้งานมีความต่อเนื่องและยั่งยืน เช่น การพัฒนาระบบการรับรองสิทธิเพื่อการเข้าถึงบริการของรัฐที่ครอบคลุมทั่วประเทศ
  • การดำเนินงานภายใต้ยุทธศาสตร์การพัฒนาคุณภาพผู้ใช้ชีวิตในพื้นที่สาธารณะ (คนไร้บ้าน ผู้ป่วยข้างถนน) พ.ศ. 2558-2560 มีความก้าวหน้าในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในการทำงานทั้งในเรื่องนโยบาย กฎหมาย ชุดข้อมูลและความรู้ในการดำเนินงานและบุคลากร ช่วยเปลี่ยนแปลงสถานการณ์การทำงานเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนไร้บ้านเปลี่ยนแปลงจากเดิมมาก

งานวิจัยดังกล่าวจัดอยู่ในกลุ่มการวิจัยเพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนการนำ SDGs ไปปฏิบัติในพื้นที่ ธีมสุขภาพและสุขภาวะที่ดีของคนทุกช่วงวัย

งานวิจัยดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG1 ขจัดความยากจน
– (1.3) ดำเนินการให้ทุกคนมีระบบและมาตรการการคุ้มครองทางสังคมในระดับประเทศที่เหมาะสม รวมถึงการคุ้มครองทางสังคมขั้นพื้นฐานและบรรลุการครอบคลุมถึงกลุ่มที่ยากจนและเปราะบาง ภายในปี 2573
#SDG3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี
– (3.8) บรรลุการมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า รวมถึงการป้องกันความเสี่ยงทางการเงิน การเข้าถึงการบริการสาธารณสุขจำเป็นที่มีคุณภาพ และเข้าถึงยาและวัคซีนจำเป็นที่ปลอดภัย มีประสิทธิภาพ มีคุณภาพ ในราคาที่สามารถซื้อหาได้
– (3.c) เพิ่มการใช้เงินสนับสนุนด้านสุขภาพ และการสรรหา การพัฒนา การฝึกฝน และการเก็บรักษากำลังคนด้านสุขภาพในประเทศกำลังพัฒนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศพัฒนาน้อยที่สุดและรัฐกำลังพัฒนาที่เป็นเกาะขนาดเล็ก
#SDG10 ลดความเหลื่อมล้ำ
– (10.2) ให้อำนาจและส่งเสริมความครอบคลุมด้านสังคม เศรษฐกิจและการเมืองสำหรับทุกคน โดยไม่คำนึงถึงอายุ เพศ ความบกพร่องทางร่างกาย เชื้อชาติ ชาติพันธุ์ แหล่งกำเนิด ศาสนา หรือสถานะทางเศรษฐกิจหรือสถานะอื่น ๆ ภายในปี 2573
– (10.3) สร้างหลักประกันว่าจะมีโอกาสที่เท่าเทียมและลดความไม่เสมอภาคของผลลัพธ์ รวมถึงการขจัดกฎหมาย นโยบาย และแนวทางปฏิบัติที่เลือกปฏิบัติ และส่งเสริมการออกกฎหมาย นโยบาย และการปฏิบัติที่เหมาะสมในเรื่องนี้

Research recommends แนะนำงานวิจัยของนักวิจัยธรรมศาสตร์ที่สนับสนุนการขับเคลื่อน SDGs กิจกรรมนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการสร้างเครือข่ายความร่วมมือด้านวิจัยแบบบูรณาการระดับแนวหน้า เพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (TU-SDG Research Network)

Last Updated on พฤศจิกายน 11, 2022

Author

  • Atirut Duereh

    Knowledge Communication | สนใจประเด็นสันติภาพ ความมั่นคงมนุษย์ เเละสิ่งเเวดล้อมทางทะเล ใช้ชีวิตโดยเชื่อในสมดุลมากกว่าความสมบูรณ์เเบบ

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น