วันที่ 9 ตุลาคม 2567 โซเชียลมีเดีย X ของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (United Nations Human Rights : UNHRC) เผยแพร่ผลการคัดเลือกสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UNHRC) สำหรับวาระการดำรงตำแหน่งปี 2568 – 2570 โดยจะเริ่มทำงานในบทบาทข้างต้นในวันที่ 1 มกราคม 2568
18 ประเทศที่ได้รับเลือกตั้งเป็น UNHRC ได้แก่ ไทย เบนิน โบลิเวีย โคลอมเบีย ไซปรัส เช็ก คองโก เอธิโอเปีย แกมเบีย ไอซ์แลนด์ เคนย่า หมู่เกาะมาร์แชลล์ เม็กซิโก มาเซโดเนียเหนือ กาตาร์ สเปน เกาหลีใต้ และสวิตเซอร์แลนด์
ทั้งนี้ UNHRC นั้นสังกัดกับสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ โดยทำงานใกล้ชิดกับสำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชน (The Office of the United Nation High Commissioner for Human Rights : OHCHR) เป็นหลัก และมีหน้าที่สำคัญคือสอดส่องดูแลการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นทั่วโลก หยุดยั้งการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้น สร้างบรรทัดฐานของการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและให้ข้อเสนอแนะ รวมทั้งส่งเสริมขีดความสามารถสําหรับการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในประเทศต่าง ๆ
ประเทศไทย ได้รับเลือกตั้งให้เป็นสมาชิก UNHRC ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2 โดยครั้งแรกได้รับเลือกตั้งเมื่อวาระปี 2553 – 2556 และมีการรับรองให้ นาย สีหศักด ิ์ พวงเกตุ แก้ว เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรแห่งประเทศไทยประจําสหประชาชาติ ณ นครเจนีวา ดํารงตําแหน่งประธาน UNHRC โดยมีวาระหนึ่งปีคือตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2553 – มิถุนายน 2554 สำหรับครั้งที่ 2 นี้ ไทยได้รับเลือกด้วยคะแนนที่สูงสุดในกลุ่มประเทศเอเชีย-แปซิฟิก ถึง 177 คะแนน
นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า “รัฐบาลเชื่อมั่นว่าการมีส่วนร่วมในฐานะสมาชิก UNHRC จะช่วยยกระดับมาตรฐานด้านสิทธิมนุษยชนทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติ พร้อมเสริมสร้างภาพลักษณ์ของไทยในเวทีระหว่างประเทศ โดยการได้รับเลือกครั้งนี้จะเปิดโอกาสให้ประเทศไทยมีบทบาทสำคัญในการผลักดันประเด็นสิทธิมนุษยชนในเวทีโลก ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลให้ความสำคัญอย่างต่อเนื่อง และพร้อมที่จะทำงานอย่างแข็งขันร่วมกับประเทศสมาชิกอื่น ๆ เพื่อแก้ไขปัญหาสิทธิมนุษยชนร่วมกันต่อไป”
● อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
– ไทยเตรียมเสนอ ‘รายงานทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของไทย’ รอบที่ 3 ต่อ UNHRC
– ประชุมคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนฯ สมัยที่ 52 ไทยประกาศลงสมัครสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนฯ – ให้คำมั่นจะพัฒนาหลักการเสรีภาพเเละความยุติธรรม
– ‘หลักนิติธรรมไทย’ รั้งอันดับ 80 ของโลก – กระบวนการยุติธรรมทางอาญาคะแนนถดถอย ‘สังคมสงบสุขและยุติธรรม’ จึงยังเกินเอื้อมถึง? ชวนสำรวจผ่านดัชนี WJP Rule of Law 2022
– SDG Updates | การประชุม ‘Stockholm+50’ ครบรอบ 50 ปี จุดกำเนิดความร่วมมือพหุภาคีเพื่อสิ่งแวดล้อมโลก
ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG16 ความสงบสุข ยุติธรรม และสถาบันเข้มแข็ง
– (16.8) ขยายและเสริมความแข็งแกร่งของการมีส่วนร่วมของประเทศกำลังพัฒนาในสถาบันของ
ธรรมาภิบาลระดับโลก
– (16.a) เสริมความแข็งแกร่งของสถาบันระดับชาติที่เกี่ยวข้อง โดยรวมถึงการกระทำผ่านทางความร่วมมือระหว่างประเทศ เพื่อสร้างขีดความสามารถในทุกระดับ โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา เพื่อจะป้องกันความรุนแรงและต่อสู้กับการก่อการร้ายและอาชญากรรม
#SDG17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
– (17.14) ยกระดับความสอดคล้องเชิงนโยบายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
แหล่งที่มา
– ไทยปลื้มเวที UN โหวตให้เป็นคณะมนตรี UNHRC 1 ใน 18 ประเทศด้วยคะแนนสูงสุด (รัฐบาลไทย)
– ‘ไทย’ ได้เป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ปี’68-70
– คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (United Nations Human Rights Council: UNHRC)