ประชุมคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนฯ สมัยที่ 52 ไทยประกาศลงสมัครสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนฯ – ให้คำมั่นจะพัฒนาหลักการเสรีภาพเเละความยุติธรรม

เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2566 นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เข้าการประชุมคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (Human Rights Council – HRC) สมัยที่ 52 ผ่านวีดิทัศน์ ซึ่งจัดขึ้น ณ นครเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์ โดยมีผู้แทนระดับสูงทั้งในระดับผู้นำประเทศและรัฐมนตรีเข้าร่วมกว่า 150 ประเทศ

นายดอน ได้กล่าวถ้อยแถลงผ่านวิดีทัศน์ในการประชุมระดับสูง (high-level segment) ซึ่งมีสาระสำคัญ อาทิ

  • สิ่งที่เป็นภัยหลัก 3 ประการของสิทธิมนุษยชน ได้แก่ 1) สงคราม 2) ความขัดแย้งภายในทางการเมืองและเศรษฐกิจ และ 3) วิกฤติหลักสามประการที่โลกกำลังเผชิญ (triple planetary) ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มลพิษ และการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งประชาคมระหว่างประเทศต้องมีแนวคิดที่ก้าวหน้าและสร้างสรรค์ในการแก้ปัญหาดังกล่าว
  • โครงการริเริ่ม “Human Rights 75” (ในโอกาสครบรอบ 75 ปีของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน) เป็นการตอบสนองที่ครอบคลุมเพื่อจัดการกับความท้าทายในยุคของเรา ในส่วนของประเทศไทย ได้เพิ่มความมุ่งมั่นในการพัฒนาหลักการแห่งเสรีภาพ ความเสมอภาค และความยุติธรรมสำหรับทุกคนตามที่บัญญัติไว้ในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน นอกจากนี้ ยังให้คำมั่นว่าจะสนับสนุนงานของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนและการฟื้นฟูกระบวนการปรึกษาหารือที่ไม่มีการเผชิญหน้า ตลอดจนการเจรจาเชิงสร้างสรรค์ที่มีความสมดุลและการมีส่วนร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องทั้งหมด
  • ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (universal health coverage: UHC) ของไทย ยังคงเป็นเครื่องมือที่ทรงพลังในการช่วยสร้างหลักประกันถึงการเข้าถึงบริการสาธารณสุขอย่างเสมอภาค ขณะเดียวกันก็มีส่วนช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมและเศรษฐกิจ 
  • ไทยได้นำโมเดลเศรษฐกิจ BCG (Bio-Circular-Green)  มาใช้ ในฐานะวาระของชาติ เพื่อตอบโต้จัดการต่อวิกฤติหลักสามประการที่โลกกำลังเผชิญ (triple planetary) ซึ่งกำลังเพิ่มความหายนะแก่ความมั่นคงมนุษย์ 

นอกจากนี้ นายดอน ยังได้ประกาศการลงสมัครสมาชิก HRC วาระปี 2568 – 2570 ซึ่งปัจจุบันไทยได้รับการรับรองจากทุกประเทศอาเซียนให้เป็นผู้สมัครของอาเซียนด้วยแล้ว โดยการสมัครสมาชิก HRC ของไทยเป็นการเน้นย้ำความมุ่งมั่นที่ไทยจะร่วมส่งเสริมสิทธิมนุษยชนในประเทศ ในภูมิภาคและทั่วโลก ตลอดจนมีส่วนร่วมในการปรับปรุงระบบการทำงานของ HRC ให้มีประสิทธิภาพและความโปร่งใส เพื่อสอดรับกับความท้าทายที่ซับซ้อนขึ้น

แน่นอนว่าหากได้รับคัดเลือกเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติตามตั้งใจ รัฐบาลไทยก็จะมีบทบาทในการส่งเสริม ตรวจสอบ และแสดงความเห็นต่อการขับเคลื่อนประเด็นสิทธิมนุษยชนในเวทีโลกมากขึ้น อย่างไรก็ตาม การเลือกตั้งสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติตั้งอยู่บนพื้นฐานของการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ประเทศที่จะได้รับการคัดเลือกควรพิสูจน์ตนเองให้นานาประเทศเห็นว่าไม่ได้กระทำการใดที่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ยิ่งไปกว่านั้น แม้ได้รับคัดเลือกเป็นสมาชิกแล้วแต่หากกระทำการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานและสิทธิมนุษยชน ที่ประชุมใหญ่ของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (general assembly) ผ่านทางเสียงส่วนใหญ่สองในสามของสมาชิกทั้งหมดสามารถระงับสิทธิและสิทธิพิเศษของประเทศนั้นได้

● อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
ไทยเตรียมเสนอ ‘รายงานทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของไทย’ รอบที่ 3 ต่อ UNHRC
‘หลักนิติธรรมไทย’ รั้งอันดับ 80 ของโลก – กระบวนการยุติธรรมทางอาญาคะแนนถดถอย ‘สังคมสงบสุขและยุติธรรม’ จึงยังเกินเอื้อมถึง? ชวนสำรวจผ่านดัชนี WJP Rule of Law 2022
SDG Updates | การประชุม ‘Stockholm+50’ ครบรอบ 50 ปี จุดกำเนิดความร่วมมือพหุภาคีเพื่อสิ่งแวดล้อมโลก

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี
– (3.8) บรรลุการมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า รวมถึงการป้องกันความเสี่ยงทางการเงิน การเข้าถึงการบริการสาธารณสุขจำเป็นที่มีคุณภาพ และเข้าถึงยาและวัคซีนจำเป็นที่ปลอดภัย มีประสิทธิภาพ มีคุณภาพ ในราคาที่สามารถซื้อหาได้
#SDG8 งานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ 
– (8.4) ปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรของโลกในการบริโภคและการผลิตอย่างต่อเนื่อง และพยายามที่จะไม่เชื่อมโยงระหว่างการเติบโตทางเศรษฐกิจและความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นไปตามกรอบการดำเนินงานระยะ 10 ปี ว่าด้วยการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืนโดยมีประเทศที่พัฒนาแล้วเป็นผู้นำในการดำเนินการไปจนถึงปี 2573
#SDG16 ความสงบสุข ยุติธรรม และสถาบันเข้มแข็ง
– (16.8) ขยายและเสริมความแข็งแกร่งของการมีส่วนร่วมของประเทศกำลังพัฒนาในสถาบันของ
ธรรมาภิบาลระดับโลก
– (16.a) เสริมความแข็งแกร่งของสถาบันระดับชาติที่เกี่ยวข้อง โดยรวมถึงการกระทำผ่านทางความร่วมมือระหว่างประเทศ เพื่อสร้างขีดความสามารถในทุกระดับ โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา เพื่อจะป้องกันความรุนแรงและต่อสู้กับการก่อการร้ายและอาชญากรรม
#SDG17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
– (17.14) ยกระดับความสอดคล้องเชิงนโยบายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

แหล่งที่มา : รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ย้ำความมุ่งมั่นของไทยในการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนระหว่างการประชุมคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน ครั้งที่ ๕๒ (กระทรวงการต่างประเทศ)

ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ภายใต้โครงการเร่งรัดการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านสุขภาพของประเทศไทย

Author

  • Atirut Duereh

    Knowledge Communication | สนใจประเด็นสันติภาพ ความมั่นคงมนุษย์ เเละสิ่งเเวดล้อมทางทะเล ใช้ชีวิตโดยเชื่อในสมดุลมากกว่าความสมบูรณ์เเบบ

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น