ไทยเตรียมเสนอ ‘รายงานทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของไทย’ รอบที่ 3 ต่อ UNHRC

เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2564 นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ประเทศไทยเตรียมเสนอ ‘รายงานทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของไทยรอบที่ 3 ภายใต้กลไก Universal Periodic Review (UPR) ต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (Human Rights Council – HRC) ในช่วงเดือนสิงหาคม-ตุลาคมที่จะถึงนี้

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ให้รายละเอียดว่าในรายงานฉบับนี้จะประกอบได้ประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนที่ไทยให้ความสำคัญ ได้แก่ การพัฒนาที่ยั่งยืนภายใต้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งเป็นแนวทางและหัวใจสำคัญของการทำงานของไทย โดยเชื่อมโยงกับหลักการประชาธิปไตย สันติภาพและสิทธิมนุษยชน และให้ความสำคัญต่อการส่งเสริมและการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคม ภาคเอกชน อาสาสมัคร ผู้หญิงและเด็ก และภาคส่วนอื่น ๆ ในประเทศ

ในรายงานจะนำเสนอการดำเนินการของรัฐบาลที่คุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชนของประชาชน ทั้งสิทธิในการพัฒนาและการขจัดความยากจน ได้แก่ โครงการ “คนละครึ่ง” และ โครงการ “เราชนะ”  สิทธิด้านสุขภาพ ได้แก่ นโยบายหลักประกันสุขภาพ และการกำหนดเป้าหมายฉีดวัคซีนโควิด-19 สิทธิทางการศึกษา ได้แก่ การได้รับการศึกษาของนักเรียนไทยรวมทั้งกลุ่มชาติพันธุ์ ผู้อพยพ แรงงานโยกย้ายถิ่นฐาน บุตรหลานแรงงานต่างด้าว และผู้พิการ และสิทธิแรงงานโดยไม่แบ่งแยก

Universal Periodic Review (UPR) เป็นกระบวนการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนภายใต้คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ที่ประเทศสมาชิกสหประชาชาติทั้ง 193 ประเทศเข้าร่วมโดยไม่มีข้อยกเว้น มีเป้าหมายสำคัญคือเพื่อให้เกิดการปรับปรุงสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในประเทศ โดยเปิดโอกาสให้แต่ละประเทศร่วมแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อประเด็นของประเทศที่มีการทบทวนสถานการณ์ (peer review) เพื่อนำกลับมาปฏิบัติตามให้เป็นรูปธรรม

กระบวนการทบทวนนี้เกิดขึ้นในทุก ๆ 4 ปี มีความสำคัญเพราะเป็นการประมวลข้อมูลจากทุกภาคส่วน โดยผู้มีสิทธิส่งรายงายได้แก่ รัฐบาล องค์การสหประชาชาติ และสถาบันสิทธิมนุษยชนและภาคประชาสังคม ที่ผ่านมาได้ ไทยได้ส่งรายงานทบทวนรอบแรกเมื่อปีพ.ศ. 2555 และรอบที่สองเมื่อพ.ศ. 2559 และกระบวนการ UPR ครั้งถัดไปจะจัดขึ้นในวันที่ 10 พฤศจิกายน 2564 และทุกขั้นตอนของกลไก UPR นั้นจะถูกเผยแพร่ต่อสาธารณชนเพื่อให้เกิดความโปร่งใส

ศึกษาเพิ่มเติม – ‘รู้จัก ‘UPR’ การตรวจสุขภาพด้านสิทธิมนุษยชนทุก 4 ปีครึ่ง โดย Amnesty International Thailand

นอกจากรายงานโดยรัฐบาลไทยที่เตรียมเสนอแล้ว สถาบันสิทธิมนุษยชนและภาคประชาสังคมได้จัดทำรายงานร่วมสองฉบับ ฉบับที่หนึ่ง จัดทำโดยโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) และศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน (TLHR) และ ฉบับที่สอง โดย สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) เพื่อนนำเสนอต่อ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ด้วย

เข้าถึงรายงานทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของไทยและข้อคิดเห็นจากประเทศสมาชิกจากกระบวนการ UPR ทั้งสองรอบ ได้ที่ United Nations Human Rights Counci

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ #SDG16 สังคมสงบสุข ยุติธรรม และสถาบันที่เข้มแข็ง

ที่มา :
ไทยเตรียมเสนอรายงานทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนต่อ UN เน้นพัฒนาอย่างยั่งยืนด้วยปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เชื่อมโยงประชาธิปไตย-สันติภาพ-สิทธิมนุษยชน (The Standard)
ประเทศไทย: รายงานร่วมตามกระบวนการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชน (UPR) (สหพันธ์สิทธิมนุษยชนสากล)
รู้จักกับ Universal Periodic Review กลไกสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (พรรคเพื่อไทย)

Last Updated on สิงหาคม 6, 2021

Author

  • Natetida Bunnag

    Social Media Manager - ตัวแทน 'คนธรรมดา' ในชุมชนนักวิชาการ อ่าน แปล และสื่อสารเรื่องความยั่งยืน

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น