โครงการ Area Need ซึ่งดำเนินการต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 ได้สร้างการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญและเป็นประโยชน์ในหลายมิติ โดยเฉพาะการผลักดันแนวคิด SDG Localization ที่มุ่งเน้นการปรับใช้เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ให้เหมาะสมกับบริบทเฉพาะของแต่ละพื้นที่ทั่วประเทศ โดยครอบคลุมทั้ง 6 ภาค ได้แก่ ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคใต้ และภาคใต้ชายแดน เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมและตอบโจทย์ความต้องการที่แท้จริงของพื้นที่
หนึ่งในกระบวนการสำคัญของ Area Need 3 คือการจัดทำ ‘ดัชนีการพัฒนาที่ยั่งยืนระดับจังหวัด’ หรือที่เรียกว่า ‘Provincial SDG Index’ ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญที่ใช้ในการวัดและติดตามความก้าวหน้าด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนในแต่ละพื้นที่ผ่านการรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลระดับชาติที่เกี่ยวข้องกับตัวชี้วัดของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ควบคู่กับการวิเคราะห์ช่วงว่างของข้อมูลผ่านกระบวนการประชุมเชิงปฏิบัติการ เพื่อนำเสนอข้อมูลความท้าทายด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนระดับภูมิภาคและรับฟังความคิดเห็นจากกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในระดับพื้นที่
SDG Insights ฉบับนี้พาสำรวจผลดัชนีการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Index) ระดับจังหวัดของภาคกลางที่ได้จากการรวบรวมข้อมูลตามตัวชี้วัดในระดับจังหวัดตามประเด็น SDGs พร้อมเจาะลึกภาพรวมของการประชุมเชิงปฏิบัติการที่เปิดรับฟังข้อมูลความท้าทายและร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลากหลายกลุ่มจากพื้นที่ภาคกลาง
01 – ภาพรวมการประชุมรับฟังความคิดเห็นภาคกลาง
วันที่ 25 มีนาคม 2568 ศูนย์วิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Move) คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับมหาวิทยาลัยศิลปากร คณะทำงานระดับภาคกลาง ได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ “นำเสนอข้อมูลความท้าทายด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนระดับภูมิภาคและรับฟังความคิดเห็นจากกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียระดับพื้นที่ (ภาคกลาง)” โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (สกสว.)
การประชุมข้างต้นมีผู้เข้าร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการ ทั้งสิ้น 48 คน ประกอบด้วย ภาครัฐ ภาควิชาการ ภาคประชาสังคม ภาคเอกชน และประชาชนจากภาคส่วนและหน่วยงานที่หลากหลาย เช่น สภาองค์กรของผู้บริโภค สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และ สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดเพชรบุรี
02 – ข้อค้นพบเบื้องต้นจากดัชนีของภาคกลาง
การประชุมเชิงปฏิบัติการ ผศ.ชล บุนนาค ผู้อำนวยการ SDG Move ได้นำเสนอข้อมูลประเด็นความท้าทายด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนและข้อค้นพบจากกระบวนการจัดทำ SDG Index ระดับจังหวัด
จากการประมวลและวิเคราะห์ข้อมูลพบว่าในพื้นที่ภาคกลาง มีประเด็นความเสี่ยงร่วมกันที่เกี่ยวข้องกับ SDGs ทั้งสิ้น 3 ประเด็น ได้เเก่
- SDG 9 อุตสาหกรรม นวัตกรรม และโครงสร้างพื้นฐาน เฉพาะประเด็นจำนวนบทความ/งานวิจัยที่เผยแพร่ในฐานข้อมูล Scopus
- SDG 11 เมืองและชุมชนที่ยั่งยืน เฉพาะประเด็นสัดส่วนพื้นที่สีเขียวต่อประชากร
- SDG 12 การผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน เฉพาะประเด็นจำนวนที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน Green Hotel
ด้านภาพรวมดัชนีรายจังหวัด ผศ.ชล เผยว่าจังหวัดที่มีคะแนน SDG Index มากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ นนทบุรี (65.22 คะแนน) สมุทรปราการ (64.55 คะแนน) และกรุงเทพมหานคร (61.70 คะแนน) ขณะที่ชัยนาท ได้คะแนนน้อยที่สุดคือ 48.53 คะแนน
ข้อมูลดัชนีที่นำเสนอเป็นข้อมูลเบื้องต้นอย่างไม่เป็นทางการ ซึ่งได้จากการวิเคราะห์เอกสารสถิติและข้อมูลระดับชาติที่เกี่ยวข้องกับแต่ละเป้าหมาย ทั้งนี้ยังมิได้นำผลจากการประชุมปฏิบัติการมาเปรียบเทียบและเพิ่มเติมตัวชี้วัดที่ได้รับคำแนะนำจากความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ซึ่งจะถูกนำมาวิเคราะห์และผนวกเพิ่มเติมในรายการตัวชี้วัดในระยะถัดไป เพื่อจัดทำ SDG Index ที่สมบูรณ์และครอบคลุมยิ่งขึ้น
วิธีการสำรวจและวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อจัดทำดัชนี มี 3 ขั้นตอน ได้แก่
1. การทบทวนวรรณกรรม (literature review) : สำรวจรายการตัวชี้วัดในการจัดทำจากหลายแหล่ง ได้แก่ SDG Index รายงานความยั่งยืนระดับกลุ่มจังหวัด รายงานความก้าวคืบหน้าการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Profile) และ รายงานสถานะตัวชี้วัดเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศ พ.ศ. 2566 จากนั้นจึงหา Proxy Indicator และระบุตัวชี้วัดที่จะใช้ในโครงการและประสานงานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
2. การรวบรวมข้อมูล (data collection) : ดึงข้อมูลหรือขอความอนุเคราะห์ข้อมูลระดับจังหวัดจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และกำหนดกฎเกณฑ์ค่าเป้าหมายต่าง ๆ
3. การวิเคราะห์ข้อมูล (data processing and analysis) : รวบรวมข้อมูลตัวชี้วัดลงในเทมเพลตการคำนวณ จากนั้นจึง normalization ค่าข้อมูลให้อยู่ในช่วง 0-100 และหาค่าเฉลี่ยรายเป้าหมายระดับจังหวัด ระดับภาค พร้อมทั้งระบุประเด็นท้าทายรายจังหวัด
03 – ปัญหาและยุทธศาสตร์เพื่อพัฒนาภาคกลาง
อาจารย์นันทินี มาลานนท์ รองผู้อำนวยการ SDG Move ได้นำกระบวนการทบทวนและรับฟังประเด็นความต้องการด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนในระดับพื้นที่ร่วมกับกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย พร้อมระดมความคิดเห็นเกี่ยวกับกลไกการขับเคลื่อนวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (ววน.) เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนในระดับภูมิภาคกลาง โดยพบว่าหลายภาคส่วนเห็นพ้องถึงประเด็นที่ควรได้รับการแก้ไขและพัฒนาอย่างเร่งรัด แบ่งได้ออกเป็น 3 มิติ ได้แก่
มิติสังคม
- คนจนเมืองไม่มีที่อยู่อาศัยและเข้าไม่ถึงโอกาส [SDG1] [SDG10] [SDG11]
- การศึกษาไม่มีคุณภาพและไม่ตอบโจทย์ความต้องการของตลาด [SDG4] [SDG8]
- แหล่งที่อยู่อาศัยมีความแออัด [SDG1] [SDG10] [SDG11]
- ยาเสพติดและการพนัน โดยเฉพาะในหมู่เยาวชน [SDG3] [SDG16]
มิติเศรษฐกิจ
- เกษตรกรรมขาดความยั่งยืนและเข้าไม่ถึงเทคโนโลยีสมัยใหม่ [SDG2] [SDG9]
- การแข่งขันกับแรงงานต่างด้าวในการเข้าถึงโอกาสการทำงาน [SDG1] [SDG8] [SDG10]
- รายได้น้อยกว่าค่าครองชีพ [SDG1] [SDG8]
มิติสิ่งแวดล้อม
- ผลกระทบและการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ [SDG13]
- การจัดการขยะและของเสียที่ยังขาดประสิทธิภาพ [SDG3] [SDG11] [SDG12]
- ผลกระทบจากฝุ่น PM2.5 [SDG3] [SDG11]
- สารพิษตกค้างในภาคเกษตรกรรม [SDG2] [SDG3] [SDG12]

จากประเด็นปัญหาที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วนข้างต้น ด้าน รศ. ดร.ประสพชัย พัฒน์โรจนโสภณ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยศิลปากร ชี้ว่านี่ไม่ใช่ประเด็นในภาพรวม แต่เป็นประเด็นคล้าย ๆ กันที่พอทราบอยู่แล้ว โดยบางประเด็นที่มีการพูดคุยในกลุ่มก็จะเป็นในเชิงพื้นที่ สถานการณ์บางอย่างที่จะส่งผลกระทบในพื้นที่ ซึ่งวันนั้นก็ยังไม่ได้มีการสรุปประเด็นที่ชัดเจนเพราะเหมือนต้องไปทำข้อมูลเชิงลึก
ทั้งนี้ ผู้เข้าร่วมประชุม ยังได้ร่วมกันเสนอทิศทางเชิงยุทธศาสตร์เพื่อพัฒนาเเละเเก้ไขปัญหาในพื้นที่ โดยมุ่งเน้นไปที่การใช้วิจัย วิทยาศาสตร์ เเละนวัตกรรม เช่น
- การพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่นเพื่อเสริมความเข้าใจเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
- นวัตกรรมประเมิน/แจ้งเตือนผลกระทบที่อาจเกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
- การให้ความรู้และสนับสนุนแนวทางในการจัดทำบัญชีครัวเรือน
- โครงการพัฒนาธุรกิจฐานรากภายใต้การสนับสนุนของมหาวิทยาลัยในภูมิภาค
- โครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยให้คนจนเมืองโดยคำนึงถึงความสามารถในการตั้งตัว
04 – ปัจจัยความสำเร็จในการประชุมรับฟังความคิดเห็น
การประชุมรับฟังความคิดเห็นครั้งนี้ รศ. ดร.ประสพชัย มองว่าประสบความสำเร็จตามที่คาดหวัง เพราะได้รับความร่วมมือจากภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนเป็นอย่างดี ทุกคนที่มาเข้าร่วมเต็มที่กับการให้ข้อมูลและนำเสนอประเด็นปัญหาในพื้นที่ ซึ่งเป็นประโยชน์แก่ทั้งชุมชนเองและภาคการศึกษา อีกทั้งยังสะท้อนให้เห็นถึงความไว้วางใจและความเชื่อมั่นของภาคีเครือข่ายว่าการเข้าร่วมประชุมจะช่วยผลักดันให้สิ่งที่ทำเกิดผลในอนาคตได้ อย่างไรก็ตาม มีช่องว่างที่คิดว่าถ้าเติมได้คือการสื่อสาร อยากให้ SDG Move หรือคณะผู้ดำเนินโครงการสื่อสารผลลัพธ์ที่มีการดำเนินการกลับเข้าไปสู่องค์กรหรือชุมชนในพื้นที่ ให้เห็นว่าสิ่งที่เข้านำเสนอนั้นเกิดการนำไปใช้งานต่อและผลักดันต่อ สิ่งนี้จะช่วยสร้างความมั่นใจกับกลุ่มคนที่มาเข้าร่วมและในอนาคตการขอความร่วมมือก็จะเพิ่มมากขึ้น
โดยในภาพรวมถือว่าดีแล้ว หลังจากที่ได้ข้อมูลก็อยากให้มีการสื่อสารถึงองค์กรหรือชุมชนที่เข้ามามีส่วนร่วมด้วย จริง ๆ ก็เป็นข้อมูลสำหรับให้เขานำไปพัฒนาและใช้ในพื้นที่ต่อไป เพราะว่าบางครั้งเขาเข้ามาและไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงก็จะลดการมีส่วนร่วมลงและจะไม่ได้ข้อมูลจากท้องถิ่นจริง ๆ หากทาง SDG Move ได้ข้อมูลก็อยากให้มีการจัดส่งให้หน่วยงานเหล่านี้ และในอนาคตหากมีโครงการที่ทางพื้นที่สามารถเข้าร่วมด้วยกันได้ก็อยากให้ประชาสัมพันธ์และเชิญชวนเครือข่ายเหล่านี้ไปทำงานร่วมกัน ไม่อยากให้เป็นแค่เครือข่ายในการรวบรวมข้อมูลและขับเคลื่อนการทำงานร่วมกันในอนาคตด้วย
“จริง ๆ เรามีพื้นที่เฉพาะที่เจาะจงสนใจและพัฒนา กรณีที่ต้องการเปิดพื้นที่ใหม่ ๆ ก็เป็นความท้าทาย เลยมีการดำเนินการสองส่วนคือการเชิญเครือข่ายเข้ามาร่วมงานแต่อาจจะโฟกัสประเด็นที่เราทำ แต่ถ้าเป็นภาพมุมกว้างก็ต้องมีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องมากกว่าที่ทำ เพราะถ้าโฟกัสก็จะอยู่แค่ในบางกลุ่มพื้นที่หรือกลุ่มจังหวัด พอครั้งนี้เป็นการทำนโยบายในระดับประเทศก็ต้องมีเครือข่ายที่กว้างมากขึ้น บางเครือข่ายเราอาจจะไม่เคยติดต่อมาก่อนก็เป็นความท้าทายที่เราจะต้องสร้างความเชื่อมั่น แต่ในเครือข่ายที่เคยร่วมงานกันมาก่อนก็มีความมั่นใจว่าเข้มแข็ง” รศ. ดร.ประสพชัย อธิบายเพิ่มเติม
นอกจากนี้ รศ. ดร.ประสพชัย ยังชี้ชวนให้เห็นว่าความสำเร็จครั้งนี้ยังเกิดจากความมุ่งมั่นและเอาจริงเอาจังที่จะมีส่วนร่วมของมหาวิทยาลัยศิลปากรเอง “การตอบรับเป็นเจ้าภาพนั้นไม่ใช่ความบังเอิญแต่อย่างใด หากแต่เป็นเพราะผู้บริหารมหาวิทยาลัยและคนทำงานที่เกี่ยวข้องได้เล็งเห็นว่าเวทีนี้สำคัญตั้งแต่ต้น ทั้งการเป็นกลไกกลางในการเชื่อมโยงภาคส่วนต่าง ๆ ให้เข้ามาร่วมกันและพูดคุยถึงปัญหาจากทางพื้นที่จริง ๆ และผลกระทบต่อนโยบายและงบประมาณซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาพื้นที่ต่อไป เช่นนั้นเองการเข้ามาส่วนร่วมก็ทำให้คนในพื้นที่ได้เข้ามาเสนอปัญหาเพื่อช่วยกำหนดนโยบายในอนาคต และมหาวิทยาลัยศิลปากรก็จะได้ประเด็นในการพัฒนาเชิงพื้นที่ต่อไปด้วย”
05 – ม.ศิลปากร กับบทบาทขับเคลื่อน SDGs และหนุนเสริมระบบ ววน.
บทบาทของมหาวิทยาลัยศิลปากรในการขับเคลื่อน SDGs นั้นมีมาอย่างต่อเนื่อง นับเป็นผลดีอย่างมากแก่การหนุนเสริมการจัดตั้งระบบ ววน. เช่นที่ รศ. ดร.ประสพชัย ฉายภาพว่าในการดำเนินการเรื่องนี้ได้ยึดหลักวิสัยทัศน์ของอธิการบดีในเรื่องการบูรณาการศาสตร์และศิลป์เพื่อสังคมที่ยั่งยืนเป็นสำคัญ ซึ่งมีการทำงานร่วมกับท้องถิ่น ชุมชน เอกชน ประชาสังคม ผ่านกระบวนการวิจัย การบริการวิชาการ และการใช้จุดแข็งของมหาวิทยาลัยในการช่วยพัฒนา โดยที่ผ่านมามีการช่วยกำหนดนโยบายของจังหวัดในพื้นที่ที่มหาวิทยาลัยตั้งอยู่ในวิทยาเขตต่าง ๆ ทั้งนครปฐมและเพชรบุรี และได้มีส่วนร่วมในการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ของจังหวัด นอกจากนี้ยังมีจุดเน้นไปที่งานวิจัยเชิงพื้นที่เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก และการส่งเสริมผู้ประกอบการให้สามารถสร้างรายได้เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะการจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยว
กระบวนการทั้งหลายข้างต้นไม่ได้มีเพียงอุดมการณ์อย่างเดียว แต่ รศ. ดร.ประสพชัย ระบุว่า ม.ศิลปากร มีทรัพยากรคนและความรู้ที่เพียงพอแก่การขับเคลื่อนให้เกิดได้จริง โดยได้เน้นย้ำถึงความเชี่ยวชาญหลากหลายทั้งวิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์ และศิลปะ การอนุรักษ์และยกชูมรดกวัฒนธรรมต่าง ๆ ซึ่งองค์ความรู้เหล่านี้เป็นเครื่องมือสำคัญที่สามารถช่วยผู้ประกอบการในพื้นที่ในเรื่องเศรษฐกิจฐานราก ทั้งการออกแบบ ดีไซน์ ให้เขาได้ใช้ความคิดเชิงนวัตกรรมเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ให้ผู้ประกอบการพัฒนาตนเองได้ รวมถึงใช้เทคโนโลยีปัจจุบัน เช่น นวัตกรรมในการยืดอายุอาหาร การพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อเพิ่มมูลค่าหรือคุณค่า และนำความรู้ด้านวิทยาศาสตร์มาช่วยเรื่องจักสานต่าง ๆ ที่ประสบปัญหาเรื่องเชื้อรา โดยนำองค์ความรู้ไปช่วยแก้ปัญหาในชุมชน รวมถึงภาพสีในวัด พัฒนาสีธรรมชาติที่มีความคงทนและกันน้ำ
นอกจากนี้ ม.ศิลปากร ยังมีกลไกเชิงสถาบันโดยเฉพาะศูนย์บริการวิชาการและศูนย์จัดกิจกรรมต่าง ๆ กับชุมชนที่เป็นตัวตั้งตัวตีหลักในการรวบรวมและสร้างสรรค์องค์ความรู้กับพื้นที่ และมีศูนย์นวัตกรรมอาหารที่ทำงานร่วมกับผู้ประกอบการในพื้นที่ ทั้งการอบรมความรู้ การลงไปช่วยพัฒนา การใช้เทคโนโลยีเข้าไปในพื้นที่เพื่อสร้างธุรกิจ พร้อมการขับเคลื่อนศูนย์วิจัยที่มีการบูรณาการข้ามศาสตร์ทำให้เกิดการรวมตัวของนักวิชาการจากหลากหลายสาขา ระดมความคิดเห็นและนำโจทย์จากพื้นที่มาร่วมกันแก้ปัญหา พร้อมกันนั้นก็เปิดพื้นที่ให้นักศึกษาเข้ามามีส่วนร่วม ทั้งการเรียนรู้และการดำเนินโครงการซึ่งอยู่ภายใต้แนวคิด ‘Project-Based Learning’ กล่าวคือให้นักศึกษาได้ริเริ่มโครงการเพื่อแก้ปัญหาหรือพัฒนาชุมชนและได้ทดลงดำเนินการโดยมีอาจารย์เป็นที่ปรึกษาคอยให้คำแนะนำ
เพื่อให้เห็นภาพที่ชัดเจนขึ้น รศ. ดร.ประสพชัย ยกตัวอย่างกรณีการดำเนินในพื้นที่จังหวัดเพชรบุรีให้ฟังว่า “ม.ศิลปากรได้เข้าไปมีส่วนสำคัญในการจัดทำยุทธศาสตร์ระดับจังหวัดเพื่อยกระดับเป็นเมืองสร้างสรรค์ด้านอาหารซึ่งได้รับการยอมรับจาก UNESCO ขณะเดียวกันก็มีการสร้างองค์ความรู้ในการพัฒนาผู้ประกอบการผ่านการจัดอบรมสัมมนาให้ผู้ประกอบการท้องถิ่นเข้ามาเรียนรู้และเสริมสร้างอาชีพ รวมถึงเวทีพูดคุยประเด็นปัญหาเพื่อหาโจทย์ในการวิจัย ซึ่งทั้งหมดนี้สร้างผลกระทบเชิงบวกอย่างเป็นรูปธรรมเพราะมีการขยายผลต่อไป ไม่ใช่แค่ในพื้นที่เล็ก ๆ แต่มีการทำอย่างต่อเนื่องอีกด้วย”
เมื่อถามถึงการถอดบทเรียนเรื่องปัจจัยความสำเร็จในการขับเคลื่อนพื้นที่จังหวัดเพชรบุรี รศ. ดร.ประสพชัย ขยายความเพิ่มเติมว่ามองอย่างรวบรัดมีปัจจัยหนุนเสริมที่สำคัญ 3 ประการ ได้แก่ 1) ความต่อเนื่องของโครงการ ซึ่งได้งบประมาณตั้งแต่ปี 2564 และได้ดำเนินการมาจนถึงปัจจุบัน 2) การได้รับความร่วมมือจากจังหวัดหรือองค์กรท้องถิ่น โดยผู้ว่าราชการจังหวัดเข้ามามีส่วนร่วมตั้งแต่ต้นซึ่งนับว่าเป็นแรงหนุนที่มีพลัง เพราะถ้าต้องการลงไปแก้ปัญหาแต่องค์กรท้องถิ่นไม่ให้ความร่วมมือก็จะแก้ไม่ได้ และ 3) คณะผู้วิจัยที่เต็มที่กับการดำเนินการและความหลากหลายของทีม/ โครงการ มีการบูรณาการองค์ความรู้จากหลากคณะ ทั้งวิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์ และศิลปะ ร่วมกันขับเคลื่อนในประเด็นต่าง ๆ
ความมุ่งมุ่นอย่างมีความทะเยอทะยานในการขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืนและทรัพยากรอันหลากหลายและพร้อมพรั่งช่วยตอกย้ำถึงความพร้อมของ ม.ศิลปการ ในการเป็นสถาบันทางวิชาการที่จะหนุนสร้างและส่งเสริมระบบ ววน. โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคกลางให้เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ แน่นอนว่าผลประโยชน์ไม่เพียงแต่กระจุกอยู่แต่กับ ม.ศิลปากร เอง หากแต่จะกระจายไปสู่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องที่หลากหลายแน่นอน
ซีรีส์ Area Need จะสรุปข้อค้นพบสำคัญของโครงการปีที่ 1 - 2 และอัปเดตสิ่งที่เรากำลังทำต่อในปีที่ 3 ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2567 เป็นต้นไป
อติรุจ ดือเระ – เรียบเรียง
แพรวพรรณ ศิริเลิศ – พิสูจน์อักษร
วิจย์ณี เสนเเดง – ภาพประกอบ