โครงการ Area Need ซึ่งดำเนินการต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 ได้สร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกในหลายมิติ โดยเฉพาะการขับเคลื่อนแนวคิด SDG Localization ที่มุ่งเน้นการปรับใช้เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ให้เหมาะสมกับบริบทเฉพาะของแต่ละพื้นที่ทั่วประเทศ โดยครอบคลุมทั้ง 6 ภูมิภาค ได้แก่ ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคใต้ และภาคใต้ชายแดน เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมและสามารถตอบโจทย์ความต้องการของพื้นที่ได้อย่างแท้จริง
หนึ่งในกระบวนการสำคัญของ Area Need 3 คือการจัดทำ ‘ดัชนีการพัฒนาที่ยั่งยืนระดับจังหวัด’ หรือที่เรียกว่า ‘Provincial SDG Index’ ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญที่ใช้ในการวัดและติดตามความก้าวหน้าด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนในแต่ละพื้นที่ ผ่านการรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลระดับชาติที่เกี่ยวข้องกับตัวชี้วัดของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ควบคู่กับการวิเคราะห์ช่วงว่างของข้อมูล ผ่านกระบวนการประชุมเชิงปฏิบัติการ เพื่อนำเสนอข้อมูลความท้าทายด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนระดับภูมิภาคและรับฟังความคิดเห็นจากกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในระดับพื้นที่
SDG Insights ฉบับนี้พาสำรวจผลดัชนีการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Index) ระดับจังหวัดของภาคตะวันออกที่ได้จากการรวบรวมข้อมูลตามตัวชี้วัดในระดับจังหวัดตามประเด็น SDGs พร้อมเจาะลึกภาพรวมของการประชุมเชิงปฏิบัติการ ที่เปิดรับฟังข้อมูลความท้าทายและร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลากหลายกลุ่มจากพื้นที่ภาคตะวันออก
01 – ภาพรวมการประชุมรับฟังความคิดเห็นภาคตะวันออก
วันที่ 28 มีนาคม 2568 ศูนย์วิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Move) คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับมหาวิทยาลัยบูรพา คณะทำงานระดับภาคตะวันออก ได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ “นำเสนอข้อมูลความท้าทายด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนระดับภูมิภาคและรับฟังความคิดเห็นจากกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียระดับพื้นที่ (ภาคตะวันออก)” โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (สกสว.)
การประชุมข้างต้นมีผู้เข้าร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการ ทั้งสิ้น 40 คน ประกอบด้วย ภาครัฐ 19 คน ภาควิชาการ / มหาวิทยาลัย 16 คน และภาคเอกชน 5 คน จากภาคส่วนและหน่วยงานที่หลากหลาย เช่น สถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) คณะเทคโนโลยีสังคม มทร.ตะวันออก วข.จันทบุรี และบริษัท ทีที ฟูจิทูลซัพพอร์ต จำกัด
02 – สรุปข้อค้นพบเบื้องต้นจากดัชนีระดับภาค
การประชุมเชิงปฏิบัติการ ผศ.ชล บุนนาค ผู้อำนวยการ SDG Move ได้นำเสนอข้อมูลประเด็นความท้าทายด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนและข้อค้นพบจากกระบวนการจัดทำ SDG Index ระดับจังหวัด จากการประมวลผลและวิเคราะห์ข้อมูลพบว่าในพื้นที่ภาคตะวันออกมีประเด็นความเสี่ยงร่วมกันที่เกี่ยวข้องกับ SDGs ทั้งสิ้น 5 เป้าหมาย 7 ประเด็น ได้แก่
- SDG 2 ยุติความหิวโหย เฉพาะประเด็นความชุกของภาวะอ้วน (BMI ≥ 25 กก./ม.2) และ/หรือ ภาวะอ้วนลงพุง (รอบเอวเกิน ชาย 90 ซม. หญิง 80 ซม.)
- SDG3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี เฉพาะประเด็นจำนวนผู้ป่วยวัณโรคที่ขึ้นทะเบียนต่อประชากรแสนคน และประเด็นจำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางรถยนต์ต่อประชากรแสนคน
- SDG9 โครงสร้างพื้นฐาน นวัตกรรม และอุตสาหกรรม เฉพาะประเด็นจำนวนบทความและงานวิจัยที่เผยแพร่ในฐานข้อมูล Scopus
- SDG11 เมืองและชุมชนที่ยั่งยืน เฉพาะประเด็นจำนวนครัวเรือนผู้มีรายได้น้อยในชุมชนแออัดที่มีความเดือดร้อนด้านที่อยู่อาศัย และประเด็นสัดส่วนพื้นที่สีเขียวต่อประชากร
- SDG12 การผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน เฉพาะประเด็นจำนวนโรงแรมที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน Green Hotel
ด้านภาพรวมดัชนีรายจังหวัด ผศ.ชล เผยว่าจังหวัดที่มีคะแนน SDG Index สูงสุด 5 อันดับแรกของภาคตะวันออก ได้แก่ อันดับที่ 1 ฉะเชิงเทรา (63.20 คะแนน) อันดับที่ 2 ชลบุรี (61.60 คะแนน) อันดับที่ 3 ตราด (60.44 คะแนน) อันดับที่ 4 จันทรบุรี (60.44 คะแนน) และอันดับที่ 5 ระยอง (58.46 คะแนน) ส่วนจังหวัดที่รั้งท้ายอันดับที่ 8 คือจังหวัดสระแก้ว ได้คะแนน 48.01 คะแนน
ข้อมูลดัชนีที่นำเสนอเป็นข้อมูลเบื้องต้นอย่างไม่เป็นทางการ ซึ่งได้จากการวิเคราะห์เอกสารสถิติและข้อมูลระดับชาติที่เกี่ยวข้องกับแต่ละเป้าหมาย ทั้งนี้ยังมิได้นำผลจากการประชุมปฏิบัติการมาเปรียบเทียบและเพิ่มเติมตัวชี้วัดที่ได้รับคำแนะนำจากความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ซึ่งจะถูกนำมาวิเคราะห์และผนวกเพิ่มเติมในรายการตัวชี้วัดในระยะถัดไป เพื่อจัดทำ SDG Index ที่สมบูรณ์และครอบคลุมยิ่งขึ้น
วิธีการสำรวจและวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อจัดทำดัชนี มี 3 ขั้นตอน ได้แก่
1. การทบทวนวรรณกรรม (literature review): สำรวจรายการตัวชี้วัดในการจัดทำจากหลายแหล่ง ได้แก่ SDG Index รายงานความยั่งยืนระดับกลุ่มจังหวัด รายงานความก้าวคืบหน้าการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Profile) และ รายงานสถานะตัวชี้วัดเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศ พ.ศ. 2566 จากนั้นจึงหา Proxy Indicator และระบุตัวชี้วัดที่จะใช้ในโครงการและประสานงานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
2. การรวบรวมข้อมูล (data collection): ดึงข้อมูลหรือขอความอนุเคราะห์ข้อมูลระดับจังหวัดจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และกำหนดกฎเกณฑ์ค่าเป้าหมายต่าง ๆ
3. การวิเคราะห์ข้อมูล (data processing and analysis): รวบรวมข้อมูลตัวชี้วัดลงในเทมเพลตการคำนวณ จากนั้นจึง normalization ค่าข้อมูลให้อยู่ในช่วง 0-100 และหาค่าเฉลี่ยรายเป้าหมายระดับจังหวัด ระดับภาค พร้อมทั้งระบุประเด็นท้าทายรายจังหวัด
03 – ปัญหาและยุทธศาสตร์เพื่อพัฒนาภาคตะวันออก
อาจารย์นันทินี มาลานนท์ รองผู้อำนวยการ SDG Move ได้นำกระบวนการทบทวนและรับฟังประเด็นความต้องการด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนในระดับพื้นที่ร่วมกับกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย พร้อมระดมความคิดเห็นเกี่ยวกับกลไกการขับเคลื่อนวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (ววน.) เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนในระดับภูมิภาคตะวันออก โดยพบว่าหลายภาคส่วนเห็นพ้องถึงประเด็นที่ควรได้รับการแก้ไขและพัฒนาอย่างเร่งรัด แบ่งได้ออกเป็น 3 มิติ ได้แก่
มิติสังคม
- คุณภาพการศึกษาที่ไม่เท่าเทียมในโรงเรียนขนาดเล็ก [SDG1] [SDG4]
- พื้นที่ท่องเที่ยวที่มีแหล่งอโคจรผิดกฎหมาย [SDG16]
- ผู้สูงอายุยังขาดการเข้าถึงบริการสุขภาพที่มีคุณภาพ [SDG1] [SDG3]
- พื้นที่แออัดจากการขยายตัวของนิคมอุตสาหกรรม [SDG8][SDG9][SDG11]
มิติเศรษฐกิจ
- เกษตรกรขาดความรู้ด้านเกษตรกรรมสมัยใหม่ทำให้ผลผลิตตกต่ำ [SDG2] [SDG4]
- การผลิตอาหารที่ไม่ปลอดภัยและไม่สามารถเข้าถึงราคาที่เหมาะสม [SDG2] [SDG12]
- ขาดการส่งเสริมเทคโนโลยีในภาคเกษตรที่เหมาะสมกับเกษตรกร [SDG9] [SDG12]
มิติสิ่งแวดล้อม
- มลพิษทางอากาศ PM2.5 จากการทำหินก่อสร้าง [SDG3] [SDG11]
- การกัดเซาะพื้นที่ชายฝั่งจากการสร้างเขื่อน [SDG13] [SDG14]
- น้ำทะเลหนุนส่งผลให้น้ำไม่สะอาดและไม่เพียงพอ [SDG6] [SDG13]

จากประเด็นปัญหาที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วนข้างต้น ด้าน ผศ. ดร.สวามินี ธีระวุฒิ รองอธิการบดีฝ่ายแผนยุทธศาสตร์และนโยบาย มหาวิทยาลัยบูรพา หนึ่งในคณะทำงานหลักระดับภาคตะวันออก กล่าวว่าจากการระดมความคิดเห็นเพื่อแก้ไขปัญหาในพื้นที่ภาคตะวันออก พบว่ามีประเด็นที่ต้องเร่งแก้ไขหลายด้าน โดยเฉพาะ “ความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงการศึกษา” ซึ่งเป็นปัญหาที่ถูกกล่าวถึงอย่างมาก เนื่องจากภาคตะวันออกเป็นพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญในโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ทำให้เรื่องการศึกษาจำเป็นต้องได้รับการพัฒนาให้ตอบโจทย์กับบริบทของพื้นที่ แต่ด้วยระบบการศึกษาในปัจจุบันยังไม่สามารถตอบสนองต่อความต้องการดังกล่าวได้อย่างเหมาะสม ทั้งจากข้อจำกัดด้านงบประมาณและโครงสร้างการจัดการด้วย
ด้วยเหตุเหล่านี้ มหาวิทยาลัยบูรพา ได้ตระหนักถึงบทบาทในการเป็นกลไกสนับสนุนการเข้าถึงการศึกษาของประชาชนในพื้นที่ ผ่านการมอบทุนการศึกษาและการขยายโอกาสทางการเรียนรู้ในรูปแบบที่หลากหลาย โดยเฉพาะแนวคิดเรื่อง “การเรียนรู้ตลอดชีวิต” ที่มหาวิทยาลัยมุ่งผลักดันให้เกิดขึ้นในพื้นที่ เพื่อให้ประชาชนทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงการศึกษาได้อย่างเท่าเทียมและสามารถเข้าถึงทางการศึกษาได้มากที่สุด
“คนในพื้นที่ภาคตะวันออกไม่ได้มีแค่แรงงานเพียงกลุ่มเดียว แม้จะเป็นกลุ่มใหญ่ แต่ยังประกอบด้วยเยาวชน คนวัยทำงาน และผู้สูงอายุ ซึ่งล้วนมีความต้องการด้านการเรียนรู้ที่แตกต่างกัน” ผศ. ดร.สวามินีกล่าว ดังนั้นมหาวิทยาลัยจึงออกแบบการเรียนรู้ให้สอดคล้องกับความต้องการของคนในแต่ละช่วงวัย โดยพัฒนาเป็นหลักสูตรหรือคอร์สเรียนที่เฉพาะเจาะจง เพื่อให้สอดรับกับบริบทและปัญหาที่แต่ละกลุ่มเผชิญอยู่ และสามารถนำไปใช้ได้จริงในชีวิตประจำวันและการทำงาน
ทั้งนี้ ยังมีประเด็นเร่งด่วนอีกหลายด้านที่จำเป็นต้องได้รับการแก้ไข โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคตะวันออก ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาหลัก ๆ ที่สังคมกำลังเผชิญ ทั้งความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ที่ยังมีความแตกต่างกันอย่างชัดเจนระหว่างจังหวัด ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่ทวีความรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปัญหาทางสังคม และปัญหาเชิงเศรษฐกิจที่กระทบต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่
นอกจากนี้ผู้เข้าร่วมประชุม ยังได้ร่วมกันเสนอทิศทางเชิงยุทธศาสตร์เพื่อพัฒนาและเเก้ไขปัญหาในพื้นที่ โดยมุ่งเน้นไปที่การใช้วิจัย วิทยาศาสตร์ และนวัตกรรม เช่น
- ขยายผลพื้นที่นำร่องและงานวิจัยสู่การเปลี่ยนแปลงในระดับวงกว้าง
- ขับเคลื่อนนโยบายเชิงพื้นที่ด้วยข้อมูลจากงานวิจัย (Evidence-based Policy)
- ต่อยอดทุนทรัพยากรชุมชนและภูมิปัญญาท้องถิ่นสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน
- มุ่งเน้นการพัฒนากลุ่มเป้าหมายเฉพาะ เช่น NEET และเด็กหลุดจากระบบ
- พัฒนาหลักสูตรออนไลน์ให้ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าเรียนทั้งด้านการเสริมทักษะเดิม (Upskill) และการฝึกทักษะใหม่ (Reskill)
04 – ปัจจัยความสำเร็จในการประชุมรับฟังความคิดเห็น
เมื่อถามถึงมุมมองต่อความสำเร็จของเวทีการประชุมเชิงปฏิบัติการ ผศ. ดร.สวามินี มองว่าในภาพรวมนั้น การประชุมประสบผลสำเร็จเป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่วางไว้ แม้จะเกิดเหตุการณ์ภัยพิบัติทางธรรมชาติอย่างแผ่นดินไหว หากแต่ทุกภาคส่วนที่มาเข้าร่วมต่างช่วยกันออกความเห็นสะท้อนปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษาด้วย เนื่องจากสิ่งที่เห็นได้ชัดคือทุกภาคส่วนที่มาร่วมนั้นต่างมี “ความพร้อม” และ “ความตั้งใจ” จนทำให้เรารู้สึกว่าเรื่องแผ่นดินไหวไม่ใช่อุปสรรคเลยแม้แต่น้อย ตรงกันข้ามเมื่อเราได้ฟังเสียงของผู้คน เราได้เรียนรู้ว่าทุกคนต่างมีเป้าหมายเดียวกันในการร่วมกันขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างยั่งยืน เพราะที่ผ่านมาเราอาจยังไม่มีเวทีลักษณะนี้เกิดขึ้นบ่อยนัก เวทีนี้จึงเปรียบเสมือนพื้นที่เปิดโอกาสให้ทุกคนได้มาพูดคุยและสร้างความเชื่อมั่นร่วมกันว่าทุกภาคส่วนมีการดำเนินงานร่วมกันได้อย่างต่อเนื่อง และพลังความร่วมมือจะเชื่อมโยงกันได้อย่างแน่นแฟ้นและยั่งยืน
โดยหนึ่งในปัจจัยหลักที่นำไปสู่ความสำเร็จของเวทีในครั้งนี้ ผศ. ดร.สวามินี กล่าวว่าจะไม่กล่าวถึงมิได้คือการประสานงานอย่างชัดเจนระหว่างคณะทำงานของ SDG Move และมหาวิทยาลัยบูรพา เรามีความเข้าใจตรงกันว่าใครต้องทำอะไร ที่ไหน เมื่อไหร่ และเป้าหมายคืออะไร เราใช้เจตจำนงร่วมกัน ทำงานในฐานะหุ้นส่วนความร่วมมือที่สนับสนุนกันและกันในแต่ละช่วงจังหวะ รวมถึงภาคส่วนที่เกี่ยวที่มาเข้าร่วมทุกคนก็ต่างมาด้วยความตั้งใจ บรรยากาศเต็มไปด้วยมิตรไมตรี สะท้อนให้เห็นความร่วมมือแบบ “เธอช่วยอะไรได้ ฉันจะร่วมมือกับเธออย่างไร” ซึ่งเป็นพลังบวกที่ขับเคลื่อนเวทีนี้ให้เดินหน้าได้อย่างกลมกลืน นอกจากนี้ ในมุมของการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง สิ่งที่เราคาดหวังคือการเชื่อมโยงผลลัพธ์จากเวที โดยเฉพาะข้อมูลเชิงพื้นที่ หรือที่เราเรียกว่า Area Need ทุกคนมีความมุ่งมั่น ตั้งใจว่าข้อมูลที่ส่งต่อจะนำไปสู่การกำหนดนโยบายที่ชัดเจน มีเป้าหมายที่จับต้องได้ และได้รับการสนับสนุนในระดับโครงสร้าง เราอยากให้เสียงของภาคตะวันออก มีส่วนในการผลักดันนโยบายของประเทศให้เกิดการแก้ไขปัญหาที่สอดประสานกันจนไปถึงประชาคมโลก
สำหรับมหาวิทยาลัยบูรพาเอง เวทีนี้คือโอกาสในการเรียนรู้ร่วมกันอีกครั้ง เราทำงานกับชุมชนอยู่แล้ว แต่บางครั้งเรามักพูดคุยกันเฉพาะในมิติขององค์ความรู้หรืองานวิจัยเท่านั้น การได้มามองภาพรวมในเชิงพื้นที่ และเชื่อมโยงสู่ผลกระทบเชิงนโยบายในระดับประเทศ ทำให้เห็นชัดว่าเวทีเหล่านี้ควรจะเกิดบ่อยขึ้น ไม่ต้องรอคำสั่งหรือฟังก์ชันจากบนลงล่าง เพราะพื้นที่เองก็สามารถขับเคลื่อนด้วยพลังของตนเองได้ เมื่อเวทีแบบนี้เกิดขึ้นบ่อย เป้าหมายของทุกคนจะเริ่มหลอมรวมเป็นเป้าหมายเดียวกัน แม้คนทำงานแต่ละกลุ่มจะมีบทบาทต่างกัน แต่เมื่อเข้าใจเป้าหมายร่วม การประสานจังหวะ (Synchronize) ก็จะเกิดขึ้น และแรงกระเพื่อมที่จะนำไปสู่ความสำเร็จของการพัฒนาอย่างยั่งยืนก็จะทวีขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ท้ายที่สุดแล้ว เวทีเหล่านี้ไม่ควรเป็นแค่จุดเริ่มต้น หากแต่ต้องตามมาด้วยการดำเนินการอย่างจริงจัง ทั้งในแง่ของการนำข้อเสนอและเสียงสะท้อนจากเวทีไปสู่การปฏิบัติ และการจัดให้มีระบบสนับสนุนที่ต่อเนื่องและยั่งยืน เพราะการขับเคลื่อนในระดับภูมิภาคหรือการพัฒนานโยบายระดับประเทศ ล้วนมีปลายทางเดียวกันคือ การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของโลก ดังนั้นเสียงสะท้อนจากภาคตะวันออกหรือแม้แต่ภูมิภาคอื่น ๆ จึงไม่ควรถูกมองว่าเป็นเพียงเรื่องเฉพาะพื้นที่ หากแต่ต้องได้รับการยกระดับให้เป็นเสียงของประเทศไทย และเมื่อประเทศไทยก้าวเดินไปพร้อมกับนานาประเทศบนเส้นทางของความยั่งยืน เสียงของพวกเราทุกคนก็จะกลายเป็นส่วนหนึ่งของวาระสำคัญที่ร่วมกันขับเคลื่อนอนาคตของโลกใบนี้ด้วย
05 – ม.บูรพา กับบทบาทขับเคลื่อน SDGs และหนุนเสริมระบบ ววน.
บทบาทของมหาวิทยาลัยบูรพาในการขับเคลื่อน SDGs นั้นมีมาอย่างต่อเนื่องอย่างที่ ผศ. ดร.สวามินี เล่าว่าเวทีการพูดคุยในวันนั้น มีการหยิบยกประเด็นเร่งด่วนหลายด้านที่จำเป็นต้องได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคตะวันออก ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาหลัก ๆ ที่สังคมกำลังเผชิญ ไม่ว่าจะเป็นความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ที่ยังมีความแตกต่างกันอย่างชัดเจนระหว่างจังหวัด ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่ทวีความรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปัญหาทางสังคม และปัญหาเชิงเศรษฐกิจที่กระทบต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ แม้จะถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงในเวทีระดมความคิดเห็น แต่มหาวิทยาลัยบูรพาเองก็มีบทบาทในการดำเนินการเพื่อจัดการกับปัญหาเหล่านี้มาอย่างต่อเนื่องแล้วก่อนหน้านี้
โดยมหาวิทยาลัยซึ่งมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนสังคม ได้นำประเด็นเหล่านั้นมาพิจารณาอย่างจริงจัง โดยเริ่มจากการคลี่ประเด็นออกมาให้เห็นในเชิงลึก เพื่อทำความเข้าใจรากของปัญหา และดำเนินการวิเคราะห์ในเชิง Gap Analysis หรือวิเคราะห์ช่องว่างของปัญหาจากข้อมูลที่ได้ว่าในแต่ละเรื่องยังขาดอะไร หรือมีช่องว่างตรงไหนที่ต้องเติมเต็ม เมื่อได้ข้อมูลเชิงลึกและเห็นช่องว่างที่ชัดเจนแล้ว มหาวิทยาลัยจะประเมินว่าในประเด็นใดที่สามารถดำเนินการได้เอง ก็จะนำประเด็นเหล่านั้นเข้าสู่แผนปฏิบัติการ กำหนดเป็นเป้าหมายขององค์กร และสร้างกลไกในการขับเคลื่อนให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม โดยอาศัยการทำงานแบบบูรณาการร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ แต่หากเป็นเรื่องที่มหาวิทยาลัยไม่ใช่ผู้เล่นหลัก ก็จะไม่ละเลย แต่จะส่งต่อข้อมูลและข้อเสนอแนะไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งทำหน้าที่เป็นพันธมิตรในการสนับสนุนและร่วมมือกันดำเนินงานต่อไปทั้งหมดเป็นแนวทางการทำงานที่เกิดขึ้นจากการรับฟังปัญหาจริงของพื้นที่ และแปลงเป็นการดำเนินงานเชิงระบบพร้อมมีการดำเนินการเชื่อมโยงทุกภาคส่วนเข้าด้วยกันอย่างมีทิศทาง
ผศ. ดร.สวามินี ยกตัวอย่างว่าในประเด็นความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา มหาวิทยาลัยตระหนักถึงข้อจำกัดด้านโอกาสและทรัพยากรของผู้เรียนในภูมิภาคตะวันออกมาโดยตลอด นับตั้งแต่ช่วงก่อตั้งมหาวิทยาลัยซึ่งได้จัดสรรทุนการศึกษาให้กับนักศึกษาที่มีความต้องการหลากหลาย ผ่านระบบทุนที่ครอบคลุมและต่อเนื่อง สะท้อนถึงความเข้าใจในสาเหตุเชิงโครงสร้างของความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา โดยเฉพาะประเด็นด้านงบประมาณและต้นทุนชีวิต
ขณะที่ประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมและปัญหาสังคมก็ได้รับความสำคัญผ่านการกำหนดให้เป็น โจทย์วิจัยหลักของมหาวิทยาลัย โดยมหาวิทยาลัยมีแนวทางชัดเจนว่า งานวิจัยต้องตั้งอยู่บนฐานของการสร้างประโยชน์ต่อพื้นที่ ดังนั้น กระบวนการจึงเริ่มจากการเข้าใจความต้องการของชุมชน การออกแบบโจทย์วิจัยที่ตอบโจทย์นั้น นักวิจัยลงพื้นที่เชื่อมโยงกับชุมชน ถ่ายทอดเทคโนโลยี และติดตามผลอย่างต่อเนื่อง สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เพียงแค่งานวิจัย แต่เป็นกลไกการพัฒนาเชิงระบบที่มหาวิทยาลัยยึดถือมานาน
นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยยังมีภารกิจด้านบริการวิชาการที่เน้นการนำองค์ความรู้ไปประยุกต์ใช้จริงในชุมชน โดยมีการติดตามความก้าวหน้าและผลลัพธ์อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้แน่ใจว่าองค์ความรู้ที่ถ่ายทอดออกไปสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้จริง ผศ. ดร.สวามินี กล่าวปิดท้ายว่า มหาวิทยาลัยบูรพาไม่เพียงแต่ตอบสนองต่อประเด็นที่หยิบยกในเวทีเท่านั้น แต่ยังได้ลงมือปฏิบัติมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน เป็นสถาบันอุดมศึกษาที่ขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน ผ่านการผสมผสานระหว่าง ทุนทางปัญญา ความเข้าใจเชิงพื้นที่ และพันธกิจเพื่อสังคม
อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้องกับโครงการ Area Need : ที่นี่
ซีรีส์ Area Need จะสรุปข้อค้นพบสำคัญของโครงการปีที่ 1 - 2 และอัปเดตสิ่งที่เรากำลังทำต่อในปีที่ 3 ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2567 เป็นต้นไป
แพรวพรรณ ศิริเลิศ – เรียบเรียง
อติรุจ ดือเระ – พิสูจน์อักษร
วิจย์ณี เสนเเดง – ภาพประกอบ