SDG Insights | เปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาส: เรียนรู้จากสถานการณ์การระบาดของ โควิด-19 เพื่อสังคมที่ยั่งยืนในอนาคต (Part 1)

ณัฐวิคม พันธุวงศ์ภักดี

เมื่อประมาณกลางปี 2561 ผมในฐานะตัวแทนจากภาคการศึกษาได้เข้าร่วมประชุมเพื่อกำหนดตัวชี้วัดสำหรับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป้าที่ 11: เมืองและถิ่นฐานมนุษย์อย่างยั่งยืน โดยการประชุมเน้นไปที่ประเด็นเกี่ยวกับการรับมือต่อสาธารณภัยและภัยพิบัติที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในเมือง ผมและผู้เข้าร่วมประชุมบางท่านเสนอทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำการศึกษาความเสี่ยง (risk) ความเปราะบาง (vulnerability) ของคนหลากหลายกลุ่มต่อภัยพิบัติ “ใหม่ๆ” ที่อาจจะเกิดขึ้นในศตวรรษที่ 21 โดยเฉพาะ โรคระบาด การจลาจลหรือการก่อการร้ายขนาดใหญ่และการโจมตีทางไซเบอร์ ทั้งนี้ยังมีการสนับสนุนให้มีการเก็บข้อมูลทั้งเชิงสถิติและเชิงคุณภาพ เพื่อศึกษาความพร้อมในการรับมือกับภัยเหล่านี้ ทว่าในที่ประชุมผู้เข้าร่วมบางท่านกลับมองว่าภัยพิบัติทั้งสามเป็นเรื่องไม่น่าจะเกิดขึ้นในประเทศไทย อีกทั้งหน่วยงานต่างๆ ควรใช้เวลามากขึ้นกับประเด็นที่มีความเป็นไปได้ที่จะสร้างความเสียหายให้กับประเทศ อาทิ น้ำท่วม น้ำแล้ง มลพิษทางอากาศ และภัยจากปัญหาเศรษฐกิจโลก

เกือบสองปีหลังจากการประชุม (ปลายปี 2562 ถึงต้นปี 2563) ทั่วโลกรวมไปถึงประเทศไทยก็ต้องประสบกับสถานการณ์การระบาดครั้งใหญ่ (Pandemic) ของ ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (Novel Coronavirus 2019) หรือ โควิด-19 (COVID-19) การระบาดของโควิด-19 นำมาซึ่งความตระหนกและสร้างความเครียดต่อผู้คนเป็นจำนวนมาก ทว่าหากมองในแง่ดี การระบาดในวงกว้างของ โควิด-19 ก็ทำให้พวกเราได้เห็นถึงความสำคัญในการดูแลตัวเองให้ห่างไกลจากโรคภัยต่างๆ อีกทั้งยังเป็นโอกาสสำคัญที่จะเรียนรู้บทเรียนใหม่ๆ ทั้งด้านการรับมือและความจริงที่น่าสนใจเกี่ยวกับสังคมที่มีความสำคัญ อีกทั้งการตอบสนองต่อภัยพิบัติของประเทศต่างๆ ก็ยังบ่งบอกถึงจุดแข็งและความผิดปกติของประเทศนั้นๆ ได้อีกด้วย 

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศจีนนั้นมีความน่าสนใจ โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาถึงการดำเนินงานของภาครัฐของประเทศ ทั้งนี้ประเทศจีนต้องประสบกับความเสียหายที่เกิดจากการปกปิดความจริงของการระบาดของโรคในช่วงแรกโดยรัฐบาลมณฑลหูเป่ยและการทำงานแบบสั่งงานจากเบื้องบน (Top-down) ซึ่งทำให้เจ้าหน้าที่รัฐเพิกเฉยต่อสัญญาณเตือนต่างๆ จากแพทย์และประชาชนในเมืองอู่ฮั่น เมืองหลวงของมณฑลหูเป่ย การระบาดของ โควิด-19 อาจจะไม่รุนแรงขนาดนี้หากโรคนี้มีจุดเริ่มต้นในเมืองเล็กๆ แต่ทว่าอู่ฮั่นเป็นเมืองขนาดใหญ่อันดับที่ 9 ของประเทศจีนและมีประชากรอาศัยอยู่มากกว่า 11 ล้านคน รวมถึงยังเป็นศูนย์กลางทางการเมือง การค้า การศึกษา และการคมนาคมในตอนกลางของประเทศจีน การปิดบังข้อมูลผนวกกับชัยภูมิของอู่ฮั่นซึ่งเป็นเมืองที่มีการเดินทางเข้าออกของคนเป็นจำนวนมากทำให้การระบาดของโรคนี้บานปลายและยากแก่การควบคุม

รองศาสตราจารย์ Zeynep Tufekci จากมหาวิทยาลัยนอร์ทแคโรไลนา ลงความเห็นผ่านบทความใน the Atlantic ว่า บางทีประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ของจีนอาจจะไม่รู้ด้วยซ้ำว่าที่อู่ฮั่นกำลังมีการระบาดของ “โรคปอดบวมประหลาด” ในช่วงต้น จนกระทั่งเมื่อรัฐบาลกลางเริ่มเห็นสัญญาณแปลกๆ ผ่านการสื่อสารและการแลกเปลี่ยนข้อมูลในโลกออนไลน์เกี่ยวกับเรื่องนี้ จนนำมาซึ่งการตามหาข้อเท็จจริง ทั้งนี้การสืบค้นข้อมูลโดยรัฐทำได้โดยง่ายเพราะจีนมีระบบควบคุมข้อมูลออนไลน์ที่เข้มงวด

แต่ก็เพราะการควบคุมสื่ออย่างเข้มงวดทำให้เป็นการยากที่โลกภายนอกจะหาความจริงจากประเทศจีน อย่างไรก็ตาม หากดูจากการเคลื่อนไหวของจีนก่อนและหลังวันที่ 20 มกราคม 2563 จะเห็นได้ว่าประเทศจีนมีการดำเนินการอย่างรวดเร็วเพราะสามารถปิดเมืองอู่ฮั่นและอีกหลายสิบเมืองได้ พร้อมส่งเจ้าหน้าที่ไปรักษาการตามเส้นทางเข้า-ออกเมือง ทั้งนี้รัฐบาลยังขอข้อมูลจากผู้ให้บริการมือถือภาครัฐ เพื่อติดตามว่ามีใครฝ่าฝืนคำสั่งด้วยการเล็ดรอดออกไปไหนหรือไม่ นอกจากนี้บรรดาบริษัทเทคโนโลยีต่างๆ  ได้ยื่นมือเข้ามาช่วยโดยพัฒนาแอปพลิเคชันเพื่อแยกผู้ไม่มีอาการป่วยออกจากผู้มีความเสี่ยง พิจารณาจากข้อมูลด้านสุขภาพและประวัติการเดินทาง อันช่วยให้รัฐบาลสามารถควบคุมได้ว่าใครสามารถเดินทางไปมาได้บ้าง การใช้มาตรการอย่างรวดเร็วเพื่อจำกัดบริเวณ การใช้เทคโนโลยีตรวจและติดตามผู้ที่อาจติดเชื้อ รวมถึงการตรวจอาการผู้คนขนานใหญ่ ทำให้รัฐบาลจีนสามารถสกัดการระบาดได้ อย่างไรก็ตาม ประเทศจีนเป็นประเทศที่มีประชากรเป็นจำนวนมากและประชากรหลายพันคนก็ทำงานอยู่ต่างประเทศ จีนเองก็ยังต้องระวังการติดต่อของโรคจากต่างประเทศอีกด้วย

อีกประเทศหนึ่งซึ่งได้รับผลกระทบอย่างหนักกับการระบาดของ โควิด-19 ก็คือ ประเทศอิตาลี สิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศอิตาลีเป็นบทเรียนที่น่าสนใจ เพราะแม้ทั่วโลกจะรับรู้ถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศจีนในช่วงเดือนมกราคม 2563 แต่ภาครัฐและประชาชนชาวอิตาลีกลับไม่ค่อยหวาดกลัวกับการระบาดของ โควิด-19 เนื่องจากชาวอิตาลีมีความเชื่อมั่นในระบบสาธารณสุขของประเทศตนเองซึ่งมีการพัฒนาอย่างมาก (Applebum, 2020) รัฐบาลและผู้นำทางการเมืองไม่เห็นว่าการระบาดของ โควิด-19 จะเป็นปัญหาใหญ่ อีกทั้งคนที่ติดไวรัสในประเทศในช่วงแรกก็เป็นชาวจีนและชาวอิตาลีที่เพิ่งเดินทางกลับมาจากประเทศจีน ดังนั้นอิตาลีจึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องกังวลเกี่ยวกับการระบาด นายกรัฐมนตรีจูเซปเป คอนเต (Giuseppe Conte) กล่าวทางช่องโทรทัศน์เมื่อช่วงปลายเดือนมกราคมว่าประเทศพร้อมที่จะรับมือกับโรคระบาดแล้ว

ในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ แม้จะมีรายงานผู้ติดเชื้อเป็นชายชาวอิตาลีในแคว้นลอมบาร์เดียที่ไม่มีประวัติเดินทางไปประเทศจีน และเมื่อชายชาวอิตาลีผู้ติดเชื้อ โควิด-19 นี้ ไปโรงพยาบาลครั้งแรกเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ ไม่มีแพทย์คนใดลงความเห็นว่าเขาติดเชื้อ โควิด-19 เพราะไม่เคยไปประเทศจีน ในช่วงเวลานั้นเขาได้แพร่เชื้อไปยังพนักงานสายสุขภาพในโรงพยาบาลถึง 5 คน ผู้ป่วยรายอื่นอย่างน้อย 1 คน และภรรยาของเขาเองซึ่งกำลังตั้งครรภ์ กระนั้นนักการเมืองหลายๆ คนยังคงยืนยันให้ประชาชนทั่วประเทศออกมาใช้ชีวิตตามปกติ ภาครัฐไม่ต้องการให้ความแตกตื่นของประชาชนมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชาชนและแรงงานในแคว้นลอมบาเดียซึ่งเป็นแคว้นที่ร่ำรวยที่สุดของประเทศ อย่างไรก็ตาม ไม่นานหลังจากนั้น จำนวนคนติดเชื้อภายในประเทศกลับเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ทว่าการระบาดของ โควิด-19 พอดีตรงกับฤดูไข้หวัดใหญ่ประจำปี (Seasonal Flu) ทำให้ประชาชนที่ติดเชื้อหลายคนคิดว่าตนเป็นเพียงไข้หวัดตามฤดูกาลและยังคงออกมาใช้ชีวิตตามปกติ กว่ารัฐบาลและประชาชนส่วนใหญ่ของอิตาลีจะเริ่มให้ความสำคัญกับการระบาดของ โควิด-19 อย่างจริงจัง มันก็แทบจะสายเกินไปแล้ว เนื่องจากเชื้อไวรัสได้แพร่กระจายไปทั่วประเทศและได้คร่าชีวิตผู้คน โดยเฉพาะผู้สูงวัยเป็นจำนวนมาก (โดยประเทศอิตาลีมีเปอร์เซ็นต์ประชากรสูงวัยมากเป็นอันดับ 2 ของโลก)

การประเมินความเสี่ยงที่ต่ำเกินไปเนื่องจากความมั่นใจว่าประเทศตนเป็นประเทศที่มีความเจริญแล้ว ผนวกกับสังคมและวัฒนธรรมของชาวอิตาลีที่ชอบทำกิจกรรมนอกบ้าน และทักทายกันด้วยการสัมผัสตัวฝ่ายตรงข้าม ผ่านการกอด จูบ จับมือ อีกทั้งความเชื่อที่ว่าหากตนเองไม่มีอาการป่วยก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องใส่หน้ากากอนามัย ทำให้การระบาดของไวรัสเป็นไปอย่างรวดเร็วและรุนแรง เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศอิตาลีทำให้เรารู้ว่า โรคระบาดสามารถเกิดขึ้นได้ทุกที่โดยไม่คำนึงถึงระดับการพัฒนาของประเทศ หากไม่มีการเตรียมพร้อมที่ดี อย่างไรก็ตาม อิตาลีสมควรได้รับการยกย่องในฐานะประเทศแรกๆ ที่เลือกใช้มาตรการการจำกัดการเดินทางของพลเมือง ซึ่งดูเหมือนจะเป็นวิธีการที่เป็นไปไม่ได้สำหรับประเทศตะวันตกที่พัฒนาแล้ว แต่กระนั้นการติดไวรัสไม่แบ่งประเทศ ไม่แบ่งชนชั้น ขนาดเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ มกุฎราชกุมารแห่งสหราชอาณาจักรและประเทศในเครือจักรภพยังติดเชื้อไวรัสร้ายนี้เข้าให้

อิหร่านเป็นอีกประเทศหนึ่งที่มีความน่าสนใจที่จะเรียนรู้ความผิดพลาดของประเทศในการรับมือการแพร่ระบาดโควิด-19 สาเหตุที่ทำให้การแพร่ระบาดในอิหร่านบานปลายเกี่ยวพันกันหลายเรื่อง ทั้งเรื่องการเมือง ศาสนา และเศรษฐกิจ โดยเฉพาะประเด็นเรื่องการเมือง ผู้นำสูงสุดของอิหร่าน อายะตุลลอฮ์ แอลี ฆอเมเนอี (Sayyid Ali Hosseini Khamenei) ที่มองว่าการระบาดของโรคโควิด-19 นั้นจะไม่รุนแรงจึงไม่ได้เตรียมการรับมือใดเป็นพิเศษ อีกทั้งยังเชื่อว่าการเผยแพร่ข่าวเกี่ยวกับ โควิด-19 เป็นการโฆษณาในแง่ลบจากสื่อชาติตะวันตกที่เป็นศัตรูของอิหร่านซึ่งเริ่มขึ้นไม่กี่เดือนก่อนการเลือกตั้งในประเทศ โดยกล่าวหาการกระทำเหล่านี้ก็เพื่อทำให้ประชาชนชาวอิหร่านกลัวที่จะออกมาใช้สิทธิ์เลือกตั้งและทำลายชื่อเสียงของรัฐบาลอิสลามที่ปกครองอิหร่าน อย่างไรก็ตามความไม่สอดคล้องกันในสถิติที่จัดทำโดยเจ้าหน้าที่ของอิหร่าน ทำให้เกิดความสงสัยในจำนวนผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตทั้งจากประชาชนในประเทศและนานาชาติและนี่กลายเป็นปัจจัยที่สั่นคลอนเสถียรภาพของรัฐบาลอิหร่านเอง ทำให้ความเชื่อมั่นต่อของประชาชนในการแก้ไขปัญหาของรัฐบาลลดน้อยลง เมื่อความเชื่อมั่นของประชาชนลดลง ประชาชนอาจจะเลือกที่จะไม่ฟังคำสั่งรัฐบาล ทำให้ความเสียหายยิ่งทวีคูณ

นอกจากเรื่องการเมืองแล้ว ศาสนายังคงเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้การรับมือโควิด-19 ของอิหร่านเป็นไปได้อย่างยากลำบาก ความเชื่อในศาสนาอิสลามนิกายชีอะฮ์ทำให้รัฐบาลอิหร่านไม่มีการปิดเมืองโกม (Qom) เมืองที่มีมัสยิดศักดิ์สิทธิ์ศูนย์รวมจิตใจของชาวอิสลามนิกายชีอะฮ์ทั่วโลกตั้งอยู่ แม้ว่าโกมก็เป็นศูนย์กลางของการระบาดของโควิด-19 ด้วยความสำคัญของโกม ประกอบกับระยะทางที่ตั้งของอยู่ห่างจาก กรุงเตหะราน เมืองหลวงและเมืองที่ใหญ่ที่สุดในอิหร่านเพียง 140 กิโลเมตร ทำให้มีการเดินทางของคนมากมายในแต่ละวัน ด้วยเหตุนี้การระบาดของ โควิด-19 จึงเป็นไปได้อย่างรวดเร็วและมีผู้ติดไวรัสและเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก โดยในจำนวนผู้เสียชีวิตยังรวมไปถึงนักการเมืองและสมาชิกผู้แทนราษฎรในรัฐบาลเองอีกด้วย

ในด้านเศรษฐกิจ ในสภาวะที่อิหร่านซึ่งอยู่ภายใต้การคว่ำบาตรของประชาคมโลกที่นำโดยสหรัฐอเมริกา ทำให้ประเทศอิหร่านตกอยู่ในสภาวะย่ำแย่ โดยเฉพาะการขาดโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นด้านสุขภาพ จนองค์กรอนามัยโลก (World Health Organization: WHO) ต้องยื่นมือเข้าไปช่วยเพราะอิหร่านยังคงสงวนท่าทีที่จะรับความช่วยเหลือจากต่างประเทศ

จริงอยู่ที่ปัญหาตัวเลขผู้ติดเชื้อในหลายประเทศจะมีความไม่สอดคล้องกับความรู้สึกของประชาชน แต่ไม่ว่าอย่างไร ตัวเลขต่างๆ ก็ต้องยึดถือจากทางสาธารณสุขของประเทศนั้นๆ ซึ่งตรงนี้ก็ควรดำเนินการอย่างโปร่งใสและตอบคำถามสังคมให้ชัดเจน ในกรณีของอิหร่าน มีประเด็นความมั่นคงเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่หากใจกว้างเปิดรับความช่วยเหลือจากนานาชาติ อีกทั้งหากเลือกที่จะปิดเมืองโกม น่าจะสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ดีขึ้น

สหรัฐอเมริกา ประเทศมหาอำนาจอันดับ 1 ของโลก ก็กำลังประสบกับปัญหาหนักในการรับมือกับ โควิด-19 และเหมือนจะได้รับความเสียหายอย่างมากทั้งด้านเศรษฐกิจและตัวเลขจำนวนผู้เสียชีวิต การรับมือภายในประเทศเองก็ยังไม่ดีพอ ทั้งนี้เพราะหลังจากเริ่มมีข่าวเกี่ยวกับการระบาด ประชาชนจากทุกรัฐต่างเริ่มกักตุนสินค้าจนสินค้าบางชนิดเช่น กระดาษชำระและหน้ากากอนามัยขาดแคลน นักวิชาการบางคนมองความกังวลนี้ว่ามาจากความไม่เชื่อมั่นต่อตัวผู้นำอย่างประธานาธิบดี ดอนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) 

ความเชื่อมั่นในเสรีภาพทำให้ประชากรหลายคนไม่ฟังประกาศจากภาครัฐและไม่ยอมกักตัว หรือหยุดอยู่บ้านเพื่อป้องกันการระบาดเพิ่ม ทั้งนี้ Anne Applebaum นักเขียนจาก The Atlantic ยังได้กล่าวถึงอีกปัญหาที่มีผลโดยตรงกับการเพิ่มจำนวนผู้ติดเชื้อ นั่นคือการที่ระบบสาธารณสุขของประเทศสหรัฐอเมริกายังไม่ดีพอที่จะสร้างความเชื่อมั่นในหมู่ประชาชนทั่วไปได้ จริงอยู่ที่ว่าสหรัฐอเมริกามีเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ดีที่สุดในโลก อีกทั้งยังมีทีมแพทย์และพยาบาลที่มีประสบการณ์ เนื่องจากแพทย์และพยาบาลเก่งๆ จากทั่วโลกต่างอยากมาทำงานในสหรัฐอเมริกา ประกอบกับเครื่องมือทางการแพทย์ที่ก้าวหน้าและทันสมัยเป็นอันดับต้นๆ โลก แต่ระบบการดูแลสุขภาพของสหรัฐกลับมีปัญหาเพราะเป็นระบบที่ “แพง” และต้องใช้เงินมาก ปัญหาด้านการดูแลสุขภาพของประเทศสหรัฐอเมริกาไม่ได้อยู่ที่วิทยาการ แต่น่าจะอยู่ที่ระบบการเมืองที่แบ่งแยกของประเทศ ความเชื่อในแบบทุนนิยมเสรีที่มีลักษณะสุดโต่งในบางด้าน ตลอดจนอำนาจทางการเมืองและการคานอำนาจกันระหว่างพรรครัฐบาลและพรรคฝ่ายค้าน อีกทั้งยังมีอิทธิพลทางการเมืองและการออกนโยบายที่เกี่ยวกับสุขภาพ อยู่ในมือของบริษัทผลิตยา บริษัทผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์ และบริษัทประกันสุขภาพ ความเชื่อและอำนาจเหล่านี้ทำให้บริการด้านสุขภาพเป็นเรื่องที่ขาดหลักประกันสำหรับคนยากจน คนต่างด้าว คนทำงานแบบหาเช้ากินค่ำที่ไม่มีรายได้พอที่ซื้อประกันสุขภาพในราคาแพงก็ต้องยอมเสี่ยงมีชีวิตอยู่อย่างไม่มีหลักประกัน แม้แต่ประชาชนธรรมดาที่มีรายได้ปานกลางหากเจ็บป่วยขึ้นมาจริงๆ ในระดับที่ต้องรับการรักษา ก็ต้องยอมตกอยู่ในความเสี่ยงที่อาจจะไม่สามารถจ่ายค่ารักษาพยาบาลได้

ทั้งนี้หากมีคนที่สงสัยว่าตนเองติด โควิด-19 เขาหรือเธอคนนั้นก็จะไม่กล้าไปพบหมอเพราะกลัวต้องเสียเงินค่าตรวจ หรือถ้าหากติดไวรัสจริง ก็จะต้องเสียเงินค่ารักษาเป็นจำนวนมากเช่นเดียวกัน เมื่อคนเลี่ยงที่จะไปพบหมอหรือพยายามหนีการตรวจจากภาครัฐทำให้ควบคุมการระบาดได้ยากขึ้นีอก บทเรียนที่ได้จากประเทศสหรัฐอเมริกาก็คือระบบสาธารณสุขนอกจากจะดีแล้ว ทุกคนจะต้องสามารถเข้าถึงได้ด้วย

สำหรับประเทศไทยทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนประชาชนทั่วไปควรที่จะต้องเลิกถามหาแค่วินัยหรือจิตสำนึก แต่ควรจะทำความเข้าใจว่าการกระจายของโรค และปัญหาต่างๆ สามารถเกิดได้จากทั้งปัจจัยเชิงโครงสร้าง เช่น การบริหารจัดการที่ไม่มีประสิทธิภาพของหน่วยงานต่างๆ และปัจจัยส่วนบุคคล เช่น คนที่ไม่ยอมกักตัว ฯลฯ ได้พร้อมๆ กัน เราควรเลิกที่จะโทษกันและกัน และหันมาเรียนรู้และทำความเข้าใจกับปัจจัยที่ทำให้เกิดความเปราะบางในสังคม พร้อมทั้งใช้บทเรียนของประเทศต่างๆ เช่นที่ได้เขียนไว้ในบทความชิ้นนี้มาปรับให้เข้ากับบริบทของประเทศและใช้ในการผลักดันให้ประเทศไทยมีความยั่งยืนและยืดหยุ่นต่อภัยพิบัติที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

อ้างอิง

Alaei, K., & Alaei, A. (2020) How Iran Completely and Utterly Botched Its Response to the Coronavirus. The New York Times. Retrieved from https://www.nytimes.com/2020/03/06/opinion/coronavirus-iran.html

Applebaum, A. (2020). Epidemics reveal the truth about the societies they hit. The Atlantic. Retrieved from https://www.theatlantic.com/ideas/archive/2020/03/italys-response-to-coronavirus/607306/.

Tufekci, Z. (2020). How the Coronavirus Revealed Authoritarianism’s Fatal Flaw. The Atlantic Retrieved March 24, 2020, from https://www.theatlantic.com/technology/archive/2020/02/coronavirus-and-blindness-authoritarianism/606922/.

Last Updated on มกราคม 4, 2022

Author

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น