SDG Insights | ข้อสังเกตต่อทิศทาง SDGs เมื่อชาติมหาอำนาจมีผู้นำชื่อ “โจ ไบเดน”

ณัฐวิคม พันธุวงศ์ภักดี 

จากผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีประจำปี 2020 ที่ผ่านมานั้น ค่อนข้างเป็นที่แน่นอนแล้วว่า โจเซฟ โรบิเนตต์ ไบเดิน จูเนียร์ (Joseph Robinette Biden, Jr.) หรือที่รู้จักกันในชื่อ “โจ ไบเดน (Joe Biden)” กำลังจะก้าวขึ้นมาเป็น ประธานาธิบดี คนที่ 46 ของประเทศสหรัฐอเมริกา ต่อจากนายโดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) การเปลี่ยนผ่านในครั้งนี้ถูกจับตามองจากหลากหลายภาคส่วนทั้งภายในสหรัฐอเมริกาเอง และจากประเทศอื่นๆ ทั่วโลก ว่าทิศทางของสหรัฐอเมริกาจะเป็นเช่นไร และจะมีผลกระทบต่อโลกอย่างไร แม้ในปัจจุบัน ประเทศกลุ่มสหภาพยุโรป ประเทศจีน และประเทศรัสเซีย เริ่มเข้ามามีบทบาทในการเมืองโลก แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าประเทศสหรัฐอเมริกายังคงเป็นประเทศมหาอำนาจที่มีอิทธิพลมากที่สุด ดังนั้นแนวทางการพัฒนา และนโยบายต่าง ๆ ของรัฐบาลภายใต้การนำของ โจ ไบเดน ก็จะมีผลกระทบต่อทุกประเทศทั่วโลก (รวมถึงประเทศไทย) อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

SDG Insights ฉบับนี้ขอนำเสนอประเด็นต่างๆ ที่ โจ ไบเดน สัญญาว่าจะทำให้เกิดขึ้นภายในสี่ปีข้างหน้า พร้อมข้อสังเกตว่าท่าทีเหล่านี้จะมีความเกี่ยวข้องต่อ SDGs อย่างไร

01: การเลือก นางกมลา เทวี แฮร์ริส (Kamala Devi Harris) ขึ้นมาเป็นรองประธานาธิบดี

นางกมลา เทวี แฮร์ริส (Kamala Devi Harris) ว่าที่รองประธานาธบดี
ภาพจาก https://timesofindia.indiatimes.com

การเลือก กมลา แฮร์ริส ขึ้นมาเป็นรองประธานาธิบดีนั้น เรียกได้ว่าสร้างความฮือฮาเป็นอย่างมากในสังคมสหรัฐอเมริกา นั่นก็เพราะว่านอกจาก กมลา แฮร์ริส จะเป็นผู้หญิงคนแรกที่จะได้ดำรงตำแหน่งรองประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาแล้ว กลมา แฮร์ริส ยังเป็นชาวอเมริกาที่มีเชื้อสายแอฟริกา-แคริเบียน และเอเชียใต้ คนแรกอีกด้วย  นี่อาจเป็นหลักฐานสำคัญที่แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลของ โจ ไบเดน ให้ความสำคัญต่อความสามารถของตัวบุคคลมากกว่าเพศหรือเชื้อชาติ เกี่ยวข้องโดยตรงกับการผลักดัน เป้าหมายที่ 5 ของ SDGs: ความเท่าเทียมทางเพศ ซึ่งมีเป้าหมายในการเพิ่มสัดส่วนการเข้ามามีบทบาททางการเมืองของเพศหญิง เพื่อให้การตัดสินใจเชิงนโยบายเป็นไปโดยคำนึงถึงบริบททางเพศมากยิ่งขึ้น

02 ประสานด้านความร่วมมือระหว่างประเทศ พาอเมริกากลับเข้าสู่ ‘พหุภาคีนิยม’

โจ ไบเดน ก็ได้ประกาศชัดเจนแล้วว่า จะนำอเมริกากลับเข้าสู่ระบบที่อเมริกาเคยเป็นอยู่นั่นก็คือ multilateralism หรือพหุพาคีนิยม ซึ่งจะไม่เน้นไปที่นโยบาย ‘อเมริกาต้องมาก่อน’ จากที่เคยถอนตัวออกจากโลกในหลายอย่างเช่น การถอนความร่วมมือการแก้ปัญหาภาวะโลกร้อน การไม่ให้ความสำคัญกับสหประชาชาติ การกลับสู่ระบบหุพาคีนิยม เกี่ยวข้องโดยตรงกับการผลักดัน เป้าหมายที่ 17 ของ SDGs: ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดย โจ ไบเดน ประกาศจะดำเนินการต่อไปนี้

  • ผลักดันให้สหรัฐอเมริกา กลับเข้าร่วมความตกลงปารีส (Paris Agreement) โดยโจ ไบเดนได้ทวีตข้อความว่า “วันนี้ ฝ่ายบริหารของทรัมป์ได้นำสหรัฐฯ ออกจากความตกลงปารีสว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างเป็นทางการ แต่ในอีก 77 วันพอดิบพอดี ฝ่ายบริหารของผมจะกลับเข้าร่วมความตกลงอีกครั้ง”
ทวิตเตอร์ของโจ ไบเดน ระบุถึงความตั้งใจที่จะกลับเข้าร่วมความตกลงปารีส

การกลับเข้าร่วมความตกลงปารีส เกี่ยวข้องโดยตรงกับการผลักดันหลายเป้าหมาย SDGs โดยเฉพาะเป้าหมายที่ 11: เมืองและถิ่นฐานมนุษย์อย่างยั่งยืน, เป้าหมายที่ 13: การรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และ เป้าหมายที่ 17: ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

  • นอกจากนี้ รัฐบาลภายใต้การนำของ โจ ไบเดน มีความเป็นไปได้สูงที่จะผลักดันให้สหรัฐอเมริกากลับเข้าไปเป็นประเทศสมาชิกของ องค์การอนามัยโลก (WHO) และทำงานอย่างใกล้ชิดกับประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะจีน ในการรับมือโรคระบาดเช่นโรคโควิด-19 และโรคอื่นๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งการกลับไปเป็นสมาชิกองค์การอนามัยโลก เกี่ยวข้องโดยตรงกับการผลักดันเป้าหมาย SDGs เป้าหมายที่ 3: การมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี และ เป้าหมายที่ 17: ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

03 ฟื้นฟูความสัมพันธ์ หลับมาใช้วิธีทางการทูต

  • ไบเดนจะทำให้สหรัฐฯ ดูมีความแข็งกร้าวน้อยลง อาศัยวิธีทางการทูตมากขึ้น และไม่ใช้กำลังในการต่อรอง แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะอ่อนจนกระทั่งยอมจีนหรือรัสเซียทุกอย่าง จะมีการนั่งโต๊ะเจรจากันมากขึ้น จะไม่มีการใช้วิธีการประณามและโยนความผิดทุกอย่างไปให้จีน ผลที่เกิดขึ้นจากสงครามการค้าก็คือคนอเมริกันบริโภคสินค้าที่มีราคาแพงขึ้นทั้งๆ ที่ไม่ได้รายได้เพิ่มขึ้น เพราะไม่สามารถหาซื้อสินค้าจากจีนที่มีราคาถูกกว่าได้
  • ฟื้นฟูความสัมพันธ์อันตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ กับฝ่ายต่างๆ โดยเฉพาะองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (NATO) โจ ไบเดน ให้คำสัญญากับประเทศสมาชิก NATO ว่า ทุกประเทศจะสามารถเชื่อมั่นในตัวสหรัฐอเมริกา ที่จะช่วยปกป้องประเทศสมาชิกในกรณีที่มีข้อพิพาทต่างๆ ในอนาคต
  • ยกเลิกข้อจำกัดเรื่องการสมัครขอรับสถานะผู้ลี้ภัย ไม่ว่าจะเป็นจากสงคราม ความขัดแย้งทางการเมือง และความขัดแย้งทางเชื้อชาติ ศาสนา และการเมือง
  • ยกเลิกข้อห้ามเดินทางเข้าประเทศจากกลุ่มประเทศมุสลิม นโยบายของรัฐบาลสหรัฐฯ ภายใต้ โจ ไบเดน ก็คือจะไม่มีการเลือกปฏิบัติกับประชาชนจากประเทศที่ประชาชนส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม โดยถือหลักว่าไม่ใช่ชาวมุสลิมทุกคนที่สนับสนุนความไม่สงบ
  • ไบเดนจะสนับสนุนให้มีการทำข้อตกลงที่ผ่อนคลายมาตรการคว่ำบาตรต่ออิหร่าน เพื่อแลกเปลี่ยนกับการที่อิหร่านจะจำกัดโครงการพัฒนานิวเคลียร์ให้มีขนาดเล็กลง คล้ายกับสมัย บารัค โอบามา รัฐบาลภายใต้การนำของ โจ ไบเดน เลือกที่จะหาทางออกที่มีความสันติ และก่อให้เกิดความร่วมมือที่สร้างสรรค์มากกว่าการสร้างความขัดแย้ง

04 เก็บภาษีคนรวย หันหลังให้ Oil & gas หันมาให้ความสำคัญกับพลังงานสะอาด

  • ยกเลิกการสนับสนุนด้านภาษีต่อธุรกิจ oil & gas รวมถึงการผลิตถ่านหินและการให้เรียกเก็บเป็นค่าใช้จ่ายต่อกิจกรรมการสำรวจแหล่งพลังงาน
  • ไบเดนมีแนวคิดเน้นการเก็บภาษีคนรวยเพื่อนำมาสร้างงานให้กับชนชั้นกลางและล่าง ผ่านโครงการในส่วนภาคอุตสาหกรรม ไอที พลังงานสะอาด และเศรษฐกิจใหม่ ภายใต้แนวทางของไบเดนที่จะสามารถเพิ่มรายได้ให้กับรัฐบาลสหรัฐฯ มากกว่า 3.4 ล้านล้านดอลลาร์ภายในช่วงเวลา 4 ปี
  • เตรียมร่างกฎหมายขึ้นอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่ Bracket สูงสุดจาก 37% ในปัจจุบันขึ้นเป็น 39.6%
  • ขึ้นอัตราภาษีนิติบุคคลจาก 21% เป็นอัตรา 28% รวมถึงการกำหนดอัตราภาษีขั้นต่ำสำหรับบริษัทที่มีรายได้ทางบัญชีมากกว่า 100 ล้านดอลลาร์โดยต้องจ่ายภาษีไม่ต่ำกว่า 15% ของรายได้ทางบัญชี ตรงนี้ บริษัทแนวเทคโนโลยีขนาดใหญ่หลายแห่งจะได้รับผลกระทบ (ดูสรุปข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/889883?ant=)
  • เสนอให้มีการให้อัปเกรดอาคารที่เป็นตึกสูง 4 ล้านแห่ง และบ้านที่อยู่อาศัย 2 ล้านหลังให้เป็นระบบพลังงานสะอาดในอีก 4 ปีข้างหน้า ผ่านการใช้วิธีการคืนเงิน ที่รัฐจะช่วยแบ่งเบาค่าใช้จ่ายให้กับประชาชน 
  • เพิ่มกำลังการผลิตของพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม ด้วยการติดตั้งแผงโซลาร์ 500 ล้านหน่วยและกังหันลมแบบ wind turbine อีก 6 หมื่นหน่วย รวมถึงมีการสร้างสถานีชาร์จพลังงานไฟฟ้าสำหรับรถยนต์ 5 แสนแห่งทั่วสหรัฐฯ

05 ทิศทางการพัฒนาการขนส่งสาธารณะ

ดูเหมือนเรื่องการพัฒนาการขนส่งสาธารณะภายในประเทศสหรัฐอเมริกาจะเป็นประเด็นที่ไม่ค่อยมีการกล่าวถึงในการเลือกตั้งประธานาธิบดีในครั้งนี้ ทว่าการที่ โจ ไบเดน ได้รับเลือกให้เป็นประธานาธิบดีของสหรัฐนั้นมีนัยยะสำคัญต่อการพัฒนาขนส่งมวลชน และขนส่งสาธารณะภายในประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นอย่างมาก

ในปัจจุบันเมืองส่วนใหญ่ในประเทศสหรัฐอเมริกาถูกออกแบบมาเพื่อการเดินทางโดยใช้รถส่วนตัว โดยการเดินทางในรูปแบบนี้สิ้นเปลืองพลังงาน และยังสร้างความไม่เท่าเทียมต่อคนในเมือง โดยเฉพาะคนจนที่ไม่มีรถยนต์เป็นของตัวเอง ในการสนับสนุน งบการพัฒนาและการลงทุนด้านการขนส่งส่วนใหญ่จึงไปลงกับการสร้างถนน ทางด่วน ทางหลวงระหว่างรัฐ และที่จอดรถขนาดใหญ่ในที่ต่างๆ ในขณะที่การลงทุนในระบบขนส่งมวลชน เช่น การพัฒนาเส้นทางรถไฟ การพัฒนารถโดยสารสาธารณะ ทั้งด้านคุณภาพและปริมาณ มีจำนวนที่ค่อนข้างน้อย ที่ผ่านมาสมาชิกพรรคเดโมแครต ซึ่งเป็นพรรคของ โจ ไบเดน มีการเรียกร้อง ที่จะพัฒนาระบบขนส่งมวลชนในเมืองใหญ่ๆ และการขนส่งระหว่างรัฐทั่วประเทศเพื่อลดการใช้รถส่วน แม้แต่ตัว โจ ไบเดน เองก็ใช้ขนส่งสาธารณะในการเดินทาง 

การส่งเสริมขนส่งมวลชน เกี่ยวข้องโดยตรงกับการผลักดัน เป้าหมายที่ 1: ขจัดความยากจน, เป้าหมายที่ 9: อุตสาหกรรม นวัตกรรม โครงสร้างพื้นฐาน, เป้าหมายที่ 10: ลดความเหลื่อมล้ำ, เป้าหมายที่ 11: เมืองและถิ่นฐานมนุษย์อย่างยั่งยืน, เป้าหมายที่ 12: แผนการบริโภคและการผลิตที่ยั่งยืน, เป้าหมายที่ 13: การรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

06 ‘สิทธิมนุษยชน’ คุณค่าพื้นฐานที่ผู้นำจากเดโมแครตให้ความสำคัญ

เนื่องจากพรรคเดโมแครตมีหัวใจสำคัญในเรื่องนี้ การที่โจ ไบเดน ได้เป็นประธานาธิบดีจะทำให้นโยบายนั้นคำนึงถึงสิทธิมนุษยชนควบคู่กับประเด็นเสรีนิยม ซึ่งเป็นไปได้ทั้งเสรีนิยมทางการเมือง เสรีนิยมทางเศรษฐกิจ และการให้ความสำคัญสิทธิของประชาชน อันมีผลต่อการกำหนดท่าที การดำเนินนโยบายต่างประเทศด้วย

ผลกระทบทางบวกต่อประเทศไทย และการผลักให้ไทยประสบความสำเร็จทาง SDGs

การสนับสนุนพลังงานสะอาด (Green Energy) ช่วยให้อุตสาหกรรมการผลิตพลังงานทางเลือกของไทยได้รับอานิสงส์ตามไปด้วย โอกาสที่นักลงทุนทั่วโลกจะโฟกัสการลงทุนในกลุ่มของพลังงานทางเลือกมีมากขึ้น

ท่าทีของ โจ ไบเดน มีแนวโน้มผ่อนคลายกว่าทรัมป์และมีโอกาสที่สหรัฐฯ จะเข้าร่วมความร่วมมือทางการค้าในเวทีต่างๆ มากขึ้น เช่น ความตกลง CPTPP ซึ่งจะส่งผลดีต่อมุมมองการค้าโลกและการส่งออกของไทยในภาพรวม ขณะเดียวกันมีโอกาสที่สหรัฐฯ จะกลับมาทบทวนการให้สิทธิพิเศษทางศุลกากรเป็นการทั่วไป (GSP) ของไทยก็มีเพิ่มมากขึ้น ภายหลังจากการถูกตัดสิทธิไปถึงสองครั้งในสมัยของทรัมป์

ผลกระทบทางลบที่อาจเกิดขึ้นต่อประเทศไทย

แม้นโยบายเบื้องต้นของ โจ ไบเดน จะสนันสนุนเศรษฐกิจภาพรวมของโลก แต่ก็อาจส่งผล กระทบทางลบต่อไทยได้ โดยเฉพาะการมุ่งเน้นเศรษฐกิจสีเขียว เช่น การสนับสนุนการใช้รถไฟฟ้าจะมีผลกระทบโดยส่งกับธุรกิจชิ้นส่วนยานยนต์ของไทยซึ่งยังไม่ได้มีการพัฒนาให้เป็นรูปแบบรถยนต์ไฟฟ้า นอกจากนี้ การห้ามเจาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในดินแดนของสหรัฐเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ก็อาจจะทำให้ราคาน้ำมันทั่วโลกสูงขึ้นและจะมีผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตสินค้าในไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

อย่างไรก็ตาม ข้อสังเกตข้างต้นนั้นเป็นการพิจารณาจากนโยบาย ท่าทีของว่าที่ประธานาธิบดีคนใหม่เท่านั้น แนวทางทั้งหมดจะเกิดขึ้นได้ยังต้องเผชิญความท้าทายอีกมากโดยเฉพาะ การผลักดันกฎหมายที่ต้องได้รับความเห็นชอบจากทั้งสองสภาคือ สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา ซึ่งมีแนวโน้มสูงที่รัฐบาลของโจ ไบเดน ต้องเผชิญกับสภาวะที่เสียงข้างมากของวุฒิสภาจะเป็นของพรรครีพับลิกัน อาจทำให้การให้ความเห็นชอบต่อร่างกฎหมายและมติต่างๆ มีความท้าทายมากขึ้น

อ้างอิง

https://joebiden.com/joes-vision/ https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/889883?ant=)

Last Updated on มกราคม 12, 2022

Author

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น