SDG Insights | ถอดบทเรียน ‘ไต้หวัน’ เมืองที่ไม่เคยล็อกดาวน์

ณัฐวิคม พันธุวงศ์ภักดี

“…ปีที่ผ่านมา ไต้หวันได้มีสิ่งที่ทั้งโลกโหยหาต้องการ นั่นคือ วิถีชีวิตปกติธรรมดา…” ความตอนหนึ่งในสุนทรพจน์ปีใหม่ของ ไช่ อิงเหวิน  (蔡英文 Tsai Ing-wen) ประธานาธิบดีไต้หวันที่ได้รับการกล่าวถึงจากทั่วโลกว่าเป็นสุนทรพจน์ที่สื่อสารด้วยถ้อยคำเรียบง่าย กินใจทั้งยังเป็นการประกาศศักยภาพการรับมือกับโรคระบาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ยอดผู้ติดเชื้อสะสมตั้งแต่เริ่มต้นการระบาดถึงวันที่ 31 มกราคม 2564 มีผู้ติดเชื้อเพียง 911 คน จนได้รับจัดอันดับจาก Lowy Institute ให้เป็นชาติที่จัดการกับโรคไวรัสโควิด 19 ได้ดีเป็นอันดับ 3 ของโลก ทว่าความน่าสนใจของไต้หวันอาจมิได้อยู่ที่อันดับหากแต่เป็นวิธีการรับมือที่ยังทำให้พลเมืองยังสามารถใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงความปกติ ขณะที่หลายเมืองทั่วโลกต้องเผชิญกับการยกระดับมาตรการต่าง ๆ ในการสกัดกั้นการระบาดของโรคโควิด-19 ไม่ว่าจะเป็นการห้ามไม่ให้คนออกจากบ้านหากไม่จำเป็น การปิดโรงเรียน ปิดห้างสรรพสินค้า ยกเลิกกิจกรรมในพื้นที่สาธารณะ และจำกัดการเดินทางระหว่างพื้นที่ ผู้คนบนเกาะไต้หวันกลับสามารถพบปะ ไปทำงาน โรงเรียน จัดงานแข่งขันกีฬาได้เกือบปกติ เพียงแต่เพิ่มมาตรการรักษาระยะย่างเท่านั้น นอกจากนี้ไต้หวันยังสามารถส่งความช่วยเหลือไปให้ประเทศอื่น ๆ ทั่วโลกด้วย

หากย้อนกลับในช่วงแรกของการระบาดของโควิด-19 เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2563 นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยจอนส์ ฮอปกินส์ (Johns Hopkins University) ได้คาดการณ์ว่าไต้หวันจะมีจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 นอกจีนแผ่นดินใหญ่ มากเป็นอันดับสองของโลก (Gardner, 2020) เนื่องจากไต้หวันตั้งอยู่ห่างจากชายฝั่งจีนแผ่นดินใหญ่เพียงประมาณ 130 กิโลเมตร มีเที่ยวบินที่บินตรงไปยังหลายเมืองหลักของจีน มีประชาชนชาวจีนเดินทางมาเกาะไต้หวันมากกว่าสองล้านคนต่อปี (Wang & Lin, 2020) อีกทั้งในจีนเองก็มีคนไต้หวันอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก  ทว่า เหตุใดเกาะที่มีประชากรอาศัยอยู่มากถึง 25 ล้านคน และไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลและการช่วยเหลือทางสาธารณสุขจากนานาชาติกลับสามารถรับมือกับโรคระบาดนี้ได้อย่างดีและรวดเร็ว ส่งผลให้ไต้หวันไม่เคยประกาศ    “ล็อกดาวน์” เลยตลอดการระบาด  ขณะเดียวกันเศรษฐกิจไต้หวันยังโตขึ้นสวนกระแสกับทิศทางเศรษฐกิจโลกที่ต้องเผชิญกับความตกต่ำทางเศรษฐกิจในช่วงการระบาดของโควิด-19 จนได้รับคำชมเชยจากหลายประเทศและองค์กรนานาชาติทั่วโลก

‘เกาะ’ ข้อได้เปรียบเชิงภูมิศาสตร์

จริงอยู่ว่าในแง่ภูมิศาสตร์ การที่เป็นสภาพเกาะทำให้ไต้หวันมีความได้เปรียบกว่าหลายประเทศทั่วโลกเนื่องจากสามารถปิดกั้นการเดินทางเข้าออกเกาะได้อย่างรวดเร็ว และปราศจากปัญหาการลักลอบเข้าออกโดยเส้นทางธรรมชาติ อย่างไรก็ตามประเทศและดินแดนที่มีลักษณะเป็นเกาะอีกหลายแห่งทั่วโลก เช่น สหราชอาณาจักร และญี่ปุ่น กลับไม่ได้ประสบความสำเร็จในการคุมการระบาดของ โควิด-19 ได้ยอดเยี่ยมดังเช่นไต้หวัน สื่อหลักหลากหลายสำนักจากฝั่งตะวันตก เช่น Wall Street Journal (Martin & Walker, 2020) นำเสนอว่าเหตุผลที่ไต้หวันสามารถรับมือกับการระบาดได้อย่างดีเยี่ยมนั้น อาจจะมาจากวัฒนธรรมของชาวไต้หวัน ซึ่งมีอิทธิพลมาจากคำสอนของขงจื๊อให้ยกย่องผู้ปกครองที่มีธรรมาภิบาล ในขณะที่ผู้น้อยจะต้องความมีความอ่อนน้อม และถ่อมตน (มาลินี คัมภีรญานนท์, 2550, หน้า 40) อย่างไรก็ตามนักวิชาการหลายคนกลับมาว่าความสำเร็จในการระบาดของไวรัสโควิด-19 ของไต้หวันอาจจะมีรากฐานจากความเชื่อเป็นบางส่วน แต่ลัทธิขงจื๊ออาจยังไม่ใช่คำตอบที่ถูกต้องนัก

ปูมหลังอันเจ็บปวด กับ ประสบการณ์รับมือกับโรคซาร์ส

แม้เป็นประเด็นเปราะบาง แต่การวิเคราะห์ปัจจัยที่ส่งผลต่อวิธีคิด ตัดสินใจของไต้หวันอย่างรอบด้านและตรงกับความเป็นจริงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องพิจารณาปูมหลัง ความสัมพันธ์ต่อพื้นที่การระบาดต้นทางอย่างจีนเข้ามาผนวกด้วย ความสำเร็จของไต้หวันนั้น ส่วนหนึ่งอาจมาจากประสบการณ์การรับมือกับโรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง หรือที่รู้จักกันในชื่อ โรคซาร์ส (Severe Acute Respiratory Syndrome: SARS) เมื่อปี พ.ศ. 2546  ในช่วงที่โรคซาร์สเริ่มระบาด รัฐบาลจีนปกปิดข่าวเรื่องการระบาดในมณฑลกวางตุ้ง ก่อนโรคซาร์สจะระบาดข้ามไปยังฮ่องกง และข้ามมายังไต้หวัน จนทำให้ทั่วเกาะไต้หวันมีคนติดเชื้อไปมากกว่า 343 คน มีคนเสียชีวิตไปมากกว่า 73 คน คิดเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก (Chen et al., 2005) จากประสบการณ์ในครั้งนั้นทำให้รัฐบาลไต้หวันประเมินความเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายมากกว่าปกติเมื่อเทียบกับชาติอื่น  บทเรียนอันเจ็บปวดทำให้มีการปรับปรุงระบบควบคุมโรคติดต่อในไต้หวันเพื่อให้รับมือกับการระบาดของโรคติดต่อที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

 และเมื่อปลายปี พ.ศ. 2562  ไต้หวันเริ่มมองเห็นสัญญาณผิดปกติจากอาการเจ็บป่วยในระบบทางเดินหายใจที่พบในอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย ของจีน อีกทั้งยังเห็นการสื่อสาร แลกเปลี่ยนข้อมูลในโลกออนไลน์ของจีน ตลอดจนการส่งข้อความเตือนการอุบัติใหม่ของโรคระบบทางเดินหายใจที่มีความคล้ายคลึงกับโรคซาร์ส จากคุณหมอ หลี่ เหวินเลี่ยง (李文亮 Li Wenliang) จักษุแพทย์ชาวจีนประจำโรงพยาบาลกลางอู่ฮั่น หน่วยงานด้านสุขภาพของไต้หวันจึงไม่รอช้าและได้ส่งเจ้าหน้าที่ด้านสาธารณสุขเข้าไปในอู่ฮั่นตั้งแต่ก่อนที่ ทั่วโลกจะรู้ถึงการระบาดของเชื้อโควิด-19 พร้อมกับยืนยันข้อมูลต่อรัฐบาลของไต้หวันว่ามีความพยายามปกปิดข้อมูลของเจ้าหน้าที่ในมณฑลหูเป่ย รัฐบาลไต้หวันภายใต้การนำของ ประธานาธิบดีไช่ อิงเหวิน จึงเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุดและคำนึงถึงความเป็นไปได้ว่าโรคปอดบวมประหลาดนี้อาจจะเป็นโรคระบาดรุนแรงที่แพร่กระจายระหว่างคนสู่คนได้   ประกอบกับผลพวงจากซาร์ส ไต้หวันจึงมีกฎหมายให้โรงพยาบาลทุกแห่งเตรียมเวชภัณฑ์จำเป็นสำหรับโรคติดต่อที่มีความรุนแรงพอ ๆ กับโรคซาร์สไว้ ล่วงหน้า 30 วัน เพื่อเป็นหลักประกันว่า หากเกิดเหตุสุดวิสัยใด ๆ โรงพยาบาลจะสามารถให้บริการ ตรวจผู้ป่วยด้วยระบบทางเดินหายใจพร้อมกันจำนวนมากได้ นอกจากนั้น ทางการไต้หวันยังออกคำสั่งระงับการส่งออกเครื่องมือและเวชภัณฑ์ที่จำเป็น เพื่อให้แน่ใจว่ามีเพียงพอต่อความต้องการในประเทศ โดยคำสั่งเหล่านี้ ทำให้โรงพยาบาลทั่วประเทศ ไม่มีปัญหาขาดแคลนหน้ากาก ขาดแคลนอุปกรณ์ทางการแพทย์ หรือต้องรับบริจาคเพิ่มเติม

สำหรับรัฐบาลไต้หวัน ประชาชน ต้องมาก่อน

ไต้หวันเริ่มจับตาคนเข้าเมืองจากพื้นที่เสี่ยงอย่างใกล้ชิดก่อนหลาย ๆ ประเทศทั่วโลก โดยตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2562 ทางการจึงมีคำสั่งให้ตรวจวัดอุณหภูมิและตรวจผู้สารทุกคนที่เดินทางมาจากอู่ฮั่นอย่างเข้มข้น คำสั่งของรัฐบาลไต้หวันนี้ออกมาซึ่งเป็นวันเดียวกับที่ฝ่ายสาธารณสุขเมืองอู่ฮั่นออกมาประกาศการพบอาการปอดบวมเนื่องจากเชื้อไวรัส แต่ไม่พบหลักฐานที่ชัดเจนว่ามีการติดต่อจากคนสู่คน หลังจากนั้นอีกหนึ่งสัปดาห์ หน่วยงานควบคุมโรคได้ยกระดับการติดตามย้อนหลังผู้ที่เดินทางมาจากอู่ฮั่นในรอบสองสัปดาห์อย่างใกล้ชิด ว่าใครมีอาการคล้ายกับอาการของโรคซาร์ส (SARS) และโรคทางเดินหายใจตะวันออกกลาง (โรคเมอร์ส) เพราะระบบฐานข้อมูลไต้หวันนั้นเชื่อมโยงข้อมูลจากสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง และหน่วยงานระบบประกันสุขภาพแห่งชาติ ผ่านบัตรประกันสุขภาพแห่งชาติ (National Health Insurance Card) อยู่แล้ว จึงไม่ใช่เรื่องยากในการตรวจสอบย้อนหลัง (Yang, 2020a) โดยข้อมูลการเดินทางจะถูกเพิ่มเฉพาะช่วงที่มีโรคระบาดเท่านั้น เพื่อให้เจ้าหน้าที่การแพทย์ตรวจสอบได้รวดเร็วและป้องกันการให้ข้อมูลเท็จจากผู้ป่วย โดยตั้งแต่เริ่มใช้มาตรการนี้ มีคนมากถึง 340,000 คน ที่ถูกขอให้กักบริเวณตัวเอง (Marmino & Vendenberg, 2021) ผู้ที่ต้องกักบริเวณตัวเองยังสามารถได้รับเงินเดือนได้ตามปกติ หรือถ้านายจ้างไม่ยินยอมจ่ายให้ รัฐบาลก็จะเป็นคนจ่ายเงินชดเชยให้เอง

อย่างไรก็ตาม ไต้หวันก็ตรวจพบผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2563 หลังจากนั้นห้าวัน ไต้หวันประกาศห้ามประชาชนจีนจากมณฑลหูเป่ย มณฑลกวางตุ้ง และบางเมืองจากมณฑลเจ้อเจียงเข้าไต้หวันโดยเด็ดขาด และเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2563 ไต้หวันประกาศห้ามชาวจีนแผ่นดินใหญ่ ชาวฮ่องกง และชาวมาเก๊า ทั้งหมดเข้าประเทศ ยกเว้นในกรณีจำเป็น อีกทั้งยังประกาศห้ามเรือสำราญเข้าเทียบท่า หลังจากที่ญี่ปุ่นพบผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 บนเรือสำราญไดมอนด์พรินเซส (Diamond Princess) เพียงหนึ่งวันหลังจากที่ออกจากท่าเรือนครจีหลง (Keelung) ทางตอนเหนือของไต้หวัน สร้างความแตกตื่นเป็นอย่างมากให้กับประชาชนในจีหลงและเมืองใกล้เคียง ซึ่งรวมไปถึงไทเป เมื่อการระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้กระจายไปทั่วโลก ไต้หวันก็ห้ามชาวต่างชาติทุกสัญชาติเข้าประเทศตั้งแต่วันที่ 19 มีนาคม 2563 ยกเว้นกรณีพิเศษเท่านั้น และหลังจากวันที่ 20 มีนาคม 2563 ประชาชนที่เดินทางเข้าประเทศจะต้องถูกกักตัวเป็นเวลา 14 วัน

การที่ไต้หวันเลือกที่จะปิดกั้นทุกช่องทางที่สามารถเชื่อมต่อกับจีน แม้จะถูกประนามจากทางการจีน นักธุรกิจ ชาวไต้หวันจำนวนมากที่ลงทุนในจีน ทว่าการตัดสินใจที่เด็ดขาดนี้กลับทำให้ไต้หวันรอดพ้นจากการระบาดได้ ภายในประเทศเอง รัฐบาลออกมาตรการเพิ่มความระวังในการทำกิจกรรมต่าง ให้มีการตรวจโรค ให้หน้ากาก หรือให้ยกเลิกกิจกรรมที่มีคนรวมตัวจำนวนมาก อีกทั้งยังสั่งให้มหาวิทยาลัยขยายเวลาปิดเทอม และสั่งให้โรงเรียนหยุดเรียน ซึ่งคำสั่งเหล่านี้ก็ได้รับความร่วมมือจากประชาชนเป็นอย่างดี ด้วยความที่ไต้หวันสามารถรับมือไวรัสโควิด-19 ได้ในระยะเวลาอันสั้น ไต้หวันเริ่มอนุญาตให้ชาวต่างชาติเปลี่ยนเครื่องบินที่สนามบินนานาชาติไต้หวันเถาหยวนตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2563 และอนุญาตให้นักศึกษาต่างชาติ (ยกเว้นนักศึกษาจีน) เดินทางเข้าประเทศได้ นอกจากนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2563 ชาวต่างชาติสมารถเดินทางเข้าไต้หวันเพื่อรับการรักษาทางการแพทย์ได้

ศูนย์บัญชาการจัดการวิกฤติที่เชี่ยวชาญ น่าเชื่อถือ

ตั้งแต่วิกฤติโรคซาร์ส ไต้หวันได้ตั้งศูนย์บัญชาการรับมือโรคระบาดกลาง Central Epidemic Command Center (CECC) โดยมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยาเป็นเจ้าหน้าที่ เพื่อรวบรวมข้อมูล วิเคราะห์ และตัดสินใจเกี่ยวกับการจัดการโรคระบาด โดย CECC นำโดย เฉิน สือจง (陳時中 Chen Shih-chung) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขไต้หวัน ได้ตั้งทีมเพื่อการตอบสนองต่อความเป็นไปได้ในการระบาดใหญ่ของเชื้อไวรัสจากอู่ฮั่นตั้งแต่วันที่ 2 มกราคม 2563 ซึ่งเร็วที่สุดในโลก เจ้าหน้าที่จาก CECC ยังดำเนินการแถลงข่าวที่น่าเชื่อถือและเผยแพร่ข้อมูลที่แม่นยำ ทำให้ประชาชนของไต้หวันได้ข้อมูลที่ถูกต้อง ชัดเจน ไม่สับสน นำไปสู่การตัดสินใจของภาคเอกชนที่รวดเร็วมีประสิทธิภาพ  จุดเด่นอย่างหนึ่งของไต้หวันไม่ได้มีแค่การจัดตั้งองค์กรและทีมผู้บริหาร แต่เป็นระบบที่ออกแบบหลักการและแผนการดำเนินการในการรับมือภาวะโรคระบาด ซึ่งทำให้เมื่อเกิดสถานการณ์ หน่วยงานตั้งแต่หน่วยงานระดับประเทศและหน่วยงานท้องถิ่น และสามารถกำหนดมาตรการที่จำเป็นได้อย่างทันท่วงที

การใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ ช่วยแก้ปัญหา

ไต้หวันใช้ระบบข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ที่จัดการได้อย่างแม่นยำ และฐานข้อมูลเชื่อมโยงกันทั้งหมด ในการวิเคราะห์การระบาดของโรค ให้โรงพยาบาลเข้าถึงข้อมูลการเดินทางของเดินทางมาจากประเทศกลุ่มเสี่ยง และขยายต่อมาเป็นผู้ที่เดินทางจากทุกประเทศทั่วโลก เมื่อพบผู้ติดเชื้อผู้ติดเชื้อ ระบบการติดตามนี้สามารถทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถติดตามเส้นทางการระบาดอย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งเปิดเผยข้อมูลในรูปของแผนที่ ให้ประชาชนเข้าไปสืบค้นต้นตอ เส้นทางของโรคแบบทันทีด้วยการเปิดเผยข้อมูลให้มากที่สุด ก่อนจะส่งทีมลงไประดมตรวจประชาชนกลุ่มเสี่ยงที่สัมผัสโรคใกล้ชิด ไต้หวันยังมีการพัฒนาระบบสัญญาณมือถือเพื่อติดตามผู้ที่กลับมาจากต่างประเทศ และกลุ่มผู้สัมผัสเสี่ยงสูงที่ต้องกักตัวเองและหลีกเลี่ยงที่ชุมชนเป็นระยะเวลา 14 วัน โดยผู้พัฒนาระบบเรียกระบบนี้ว่าเป็นรั้วไฟฟ้า หากมีการออกนอกเคหะสถาน ก็จะมีเสียงเตือนส่งตรงไปยังตำรวจ หรือหน่วยงานในท้องที่ ซึ่งรับผิดชอบผู้ที่กักตัวโดยตรงทันที ซึ่งผู้ที่ฝ่าฝืนไม่กักตัวตามที่ทางการกำหนดจะต้องถูกลงโทษจากการปรับเงิน

ในขณะเดียวกันรัฐบาลก็ออกคำสั่งให้ร้านขายยาเพียงบางร้านเท่านั้นที่สามารถขายหน้ากากอนามัยในราคาควบคุมให้กับประชาชน โดยประชาชนแต่ละคนจะมีสิทธิ์ซื้อหน้ากากอนามัยได้ในจำนวนจำกัด เภสัชกรจะสามารถรู้ได้ว่าบุคคลที่เข้ามาซื้อหน้ากากอนามัยยังสามารถซื้อเพิ่มได้อีกกี่ชิ้นผ่านการตรวจสอบจากบัตรประชาชน นอกจากนั้นรัฐบาลนำโดย ออเดรย์ ถัง (唐鳳 Audrey Tang) ออเดรย์ ถัง ร่วมกับสำนักงานประกันสุขภาพไต้หวันยังพัฒนาแพลตฟอร์มในการชี้จุดร้านค้าที่มีสต๊อกหน้ากากผ่านเว็บไซต์ https://mask.pdis.nat.gov.tw เพื่อให้ประชาชนรู้จุดจำหน่ายที่มีหน้ากากให้ซื้อแน่ ๆ และยังได้สร้างโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่สามารถตอบกลับการสนทนาด้วยตัวอักษรแบบอัตโนมัติผ่านแอพพลิเคชั่น “ไลน์” ซึ่งเป็นแอพพลิเคชั่นที่ชาวไต้หวันทุกช่วงอายุใช้ในการสื่อสารกันอยู่แล้ว  การทำเช่นนี้เป็นการป้องกันไม่ให้มีการขายหน้ากากอนามัยเกินราคา และเป็นการป้องกันการซื้อของกักตุนโดยไม่จำเป็น รัฐบาลไต้หวันยังทำงานกับภาคเอกชน โดยเฉพาะการขอให้ภาคเอกชนเพิ่มกำลังผลิตหน้ากากอนามัยเพื่อจำหน่ายให้กับชาวไต้หวัน จนสามารถผลิตได้มากหลายล้านชิ้นต่อวัน เพียงพอต่อการใช้งานในประเทศ และยังสามารถส่งออกไปช่วยเหลือต่างประเทศที่กำลังขาดแคลนหน้ากากอนามัยอีกด้วย (Yang, 2020b)

ความไว้วางใจที่ประชาชนมีต่อภาครัฐ และจิตสำนึกต่อส่วนรวม

การตัดสินใจอย่างรวดเร็วทำให้ไต้หวันสามารถคุมการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้อย่างรวดเร็ว ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องประกาศการล็อคดาวน์ภายใน ดังที่หลายประเทศทั่วโลกต้องทำ ทว่าภาครัฐเพียงฝ่ายเดียว ไม่สามารถทำให้ไต้หวันรอดจากการระบาดของโควิด-19 ได้ ภาคประชาชนเองก็มีความสำคัญเช่นเดียวกัน เมื่อเทียบกับหลายประเทศ นับเป็นโชคดีของรัฐบาลไต้วันที่ประชากรส่วนใหญ่มีความไว้วางใจต่อรัฐบาล ความไว้วางใจนี้เป็นพื้นฐานสำคัญ ที่ทำให้มาตรการต่าง ๆ ประสบความสำเร็จ และทำให้เกิดการให้ความร่วมมือทั้งการปฏิบัติตามรวมถึงการให้ข้อมูลต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์รวมไปถึงข้อมูลที่อาจจะกระทบต่อสิทธิส่วนบุคคล รวมถึงการปฏิบัติตามคำแนะนำของรัฐ เช่น การเว้นระยะห่างและล้างมือบ่อย ๆ นอกจากภาคประชาชนแล้ว ภาคสื่อ ภาคเอกชนหรือแม้กระทั้งฝ่ายการเมืองตรงข้ามรัฐบาลปัจจุบันอย่าง พรรคก๊กหมิงตั๋ง ก็เข้ามามีส่วนช่วยในการขับเคลื่อนมาตรการต่าง ๆ ตามบทบาทของตนด้วย

นักวิจัยทางสังคมอีกหลากหลายกลุ่มที่มองว่าการที่ประชาชนไต้หวันให้ความร่วมมือสูง เนื่องจากพวกเขามีประสบการณ์การรับมือกับโรคซาร์ส อีกทั้งยังเห็นว่ารัฐบาลภายใต้แกนนำของ ไช่ อิงเหวิน นั้นโปร่งใส (Marmino & Vendenberg, 2021) มีความสามารถ โดยเฉพาะเฉิน สือจง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และรองประธานาธิบดี เฉิน เจี้ยนเหริน (陳建仁 Chen Chien-jen) ของไต้หวันนั้นเป็นนักระบาดวิทยา ที่เรียนจบมาจากมหาวิทยาลัยจอนส์ ฮอปกินส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงอันดับต้น ๆ ของโลกในด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ ดังนั้นจึงไม่ได้เป็นเรื่องแปลกที่ประชาชนจะให้ความเชื่อมั่นกับผู้ที่มีความสามารถการที่ประชาชนไต้หวันให้ความไว้วางใจต่อรัฐบาลของ ไช่ อิงเหวิน นั้น อาจจะมาจากอีกสามปัจจัยสำคัญ

หนึ่ง สงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐอเมริกาทำให้เศรษฐกิจไต้หวันภายใต้แกนนำของ ไช่ อิงเหวิน มีความคล่องตัว ภาคธุรกิจบางส่วนย้ายฐานการผลิตจากจีนกลับมายังไต้หวัน ซึ่งช่วยสร้างงานและกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจของไต้หวัน เป็นส่วนหนึ่งที่หนุนให้ความนิยมของไช่ อิงเหวินกลับมาสูงขึ้นด้วยเช่นกัน

สอง ประชาชนไต้หวันส่วนใหญ่มีความไม่พอใจกับการตอบโต้การประท้วงในฮ่องกงและการที่จีนไม่เคารพหลักการ “หนึ่งประเทศ สองระบบ” ที่เคยให้ไว้เมื่อสหราชอาณาจักร “คืน” ฮ่องกงให้กับจีน ทั้งนี้ ไช่ อิงเหวิน เคยประกาศกร้าวว่าจะไม่ยอมรับหลักการ “หนึ่งประเทศ สองระบบ” อีกทั้งยังมีความพยายามกว่าประธานาธิบดีคนก่อน ๆ ที่จะรับฟังเสียงของประชาชนจากทุกภาคส่วน ประชาชนไต้หวันจึงมอง ไช่ อิงเหวิน เป็นผู้นำที่จะสามารถต้านทานจีนได้

 สาม เนื่องจากไต้หวันมีประสบการณ์เลวร้ายจากการระบาดของโรค ซาร์ส ทำให้ประชาชนชาวไต้หวันมีพฤติกรรมในการป้องกันตนเองและช่วยเหลือ รวมถึงเข้าใจถึงความสำคัญที่จะต้องให้ความร่วมมือกับภาครัฐเพื่อให้ผ่านพ้นวิกฤต ตัวอย่างเช่น การออกรณรงค์โครงการ “ฉันโอเค คุณรับมันไปก่อน” (#我OK你先領) ในโลกสังคมออนไลน์ของประชาชนด้วยกันเอง เพื่อขับเคลื่อนให้ประชาชนกักตุนหน้ากากอนามัยเท่าที่จำเป็น และมอบหน้ากากที่เหลือให้กับบุคคลที่มีความจำเป็นมากกว่า (Hsu, 2020) การเป็นสังคมพึ่งพา (Collective society) ทำให้ชาวไต้หวันไม่ได้การต่อต้านการสวมหน้ากากอนามัย เนื่องจากชาวไต้หวันมองว่าการสวมหน้ากากอนามัยเป็นการป้องกันตัวเองและช่วยลดการกระจายโรคไปยังสังคมโดยรวม ในขณะที่ประชาชนจำนวนมากในโลกตะวันตกซึ่งมีความคิดแบบปัจเจกนิยม (Individualism) กลับมองว่าการถูกบังคับให้สวมหน้ากากอนามัยเป็นการคุกคามต่อเสรีภาพส่วนบุคคล ความคิดส่วนนี้อาจจะมีความเกี่ยวข้องกับความเชื่อที่ฝังรากลึกในสังคม สังคมและแนวคิดแบบคนไต้หวันมีส่วนทำให้ประเทศนี้รับมือกับโรคระบาดได้ดี เพราะทุกคนพร้อมเสียสละความสุขและประโยชน์ส่วนตนเพื่อส่วนรวม

ไต้หวันのTwitterイラスト検索結果(古い順)。
การออกรณรงค์โครงการ “ฉันโอเค คุณรับมันไปก่อน” (#我OK你先領) ในโลกสังคมออนไลน์ของประชาชน

อย่างไรก็ตาม การจัดการของไต้หวันเองก็ไม่ได้ดีไปหมดเสียทุกเรื่อง ประชาชนไม่ได้เห็นด้วยกับการควบคุมโรคระบาดทุกอย่างที่รัฐทำ ยกตัวอย่างเช่น การกักตัวผู้มีความเสี่ยงสูงที่ไม่เท่าเทียม เช่นการปรับเงิน 3,500 ดอลล่าห์ไต้หวัน (ประมาณ 3,750 บาท) กับแรงงานชาวฟิลิปปินส์ผู้ที่ออกมาจากสถานที่กักตัวเป็นเวลาเพียง 8 วินาที ในขณะนี้ผู้กักตัวอื่น ๆ บางคนสามารถออกมาข้างนอกได้ (Culpan, 2020)  นอกจากนี้ประธานาธิบดี ไช่ อิงเหวิน เองก็ถูกวิจารณ์จากการปล่อยให้เกมการเมืองมาสร้างความเสี่ยงให้กับประชาชน โดยการอนุญาตให้คณะผู้แทนของสหรัฐอเมริกานำโดยเลขาธิการด้านสุขภาพและบริการ อเล็กซ์ อาซาร์ (Alex Azar) สามารถเดินทางเข้าไต้หวันได้โดยไม่ต้องกักตัว เมื่อเดือนสิงหาคม 2563 (Culpan, 2020) และหนึ่งเดือนหลังจากนั้น ประธานวุฒิสภาสาธารณรัฐเช็กและตัวแทนต่างชาติกว่าอีก 80 คน ก็ได้รับอนุญาตให้เข้าร่วมการประชุมในไทเปโดยไม่ต้องกักตัวเหมือนดังประชาชนคนไต้หวันเช่นกัน (Culpan, 2020).

ความสำเร็จในการจัดการรับมือกับโควิด-19 ถือเป็นความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่ของไต้หวัน เพราะไม่เพียงทำให้ประเทศตัวเองอยู่รอดพ้นวิกฤตได้ยังทำให้ทั่วโลกยอมรับในศักยภาพของไต้หวันไปด้วย ส่งผลให้ไต้หวันสามารถใช้โอกาสนี้สานต่อความสัมพันธ์ทางการทูตโดยเฉพาะประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกา และการค้ากับอีกหลายประเทศได้อีกด้วย ทว่ากระบวนการทางการทูตบางอย่างก็นำมาซึ่งความไม่พอใจของประชาชนไต้หวันบางกลุ่ม เช่น การที่ไต้หวันใช้โอกาสในการประชุมเพื่อเจรจานำเข้าเนื้อหมูจากสหรัฐอเมริกา เพื่อจะได้ริเริ่มการค้าเสรี (Free-Trade Agreement: FTA) กับสหรัฐอเมริกา แต่ชาวไต้หวันหลายกลุ่มมองว่าเนื้อหมูจากสหรัฐอเมริกามีสารเคมีตกค้างจำนวนมากและอาจจะเป็นผลเสียต่อสุขภาพประชาชนไต้หวันในอนาคต นอกจากนี้การมีข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างสหรัฐอเมริกาและไต้หวันอาจจะทำให้จีนมีความไม่พอใจ และสร้างความตรึงเครียดระหว่างสองรัฐบาลได้

การให้ความสำคัญต่อภาคเอกชน และเศรษฐกิจของประเทศ

สำหรับมาตรการช่วยเหลือให้แก่ประชาชนและภาคธุรกิจกลุ่มต่าง ๆ ไต้หวันมีมาตรการนโยบายการลดภาษี/ขยายระยะเวลาการเสียภาษีให้แก่กลุ่มต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบ การอุดหนุนการจ้างงาน โดยพ่อแม่ที่ตกงานและมีบุตรที่กำลังศึกษาจะได้รับการอุดหนุนค่าเล่าเรียนบุตร การสนับสนุนให้มีการปรับปรุงสถานที่ทำงาน เพื่อเพิ่มความปลอดภัยในการลดความเสี่ยงการระบาดของโรค สนับสนุนเงินเดือนให้ผู้ที่ดูแลคนป่วยหรือคนแก่ที่บ้าน ระงับค่าปรับจากการผิดนัดชำระหนี้ค่าประกันสังคม และสนับสนุนการจัดการอบรมทักษะแรงงาน นอกจากนี้ยังคงมีการดำเนินนโยบายทางการเงินและการอุดหนุนภาคธุรกิจต่าง ๆ เพื่อลดผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดในครั้งนี้ รวมถึงการแจก/ขายคูปองเพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายและการท่องเที่ยวภายในประเทศ

 แม้ว่าในด้านเศรษฐกิจ ไต้หวันได้รับผลกระทบอยู่บ้างในมิติด้านการท่องเที่ยว จากการจำกัดไม่ให้ชาวจีนและชาวต่างชาติอื่น ๆ เพื่อควบคุมโรคระบาด แต่ในปี 2563 นี้ ไต้หวันก็ยังสามารถลงทุนได้มากกว่าหมื่นล้านดอลล่าห์ไต้หวัน หรือประมาณ 1.07 หมื่นล้านบาท (Blancard, 2020) สร้างงานได้หลายตำแหน่ง นอกจากนี้บริษัทระดับโลกใหญ่ ๆ อย่าง Google, Microsoft และ Amazon ก็หันมาลงทุนในไต้หวันมากยิ่งขึ้น เพราะคำนึงถึงความสำคัญในแง่โซ่อุปทาน (ซัพพลายเชน) และอุตสาหกรรมด้านเทคโนโลยีระดับสูงสาเหตุสำคัญที่ภาคการส่งออกไต้หวันเติบโตเป็นเพราะว่าสินค้าเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือ สินค้าไอทีที่มีความต้องการสูงมากขึ้นเนื่องจากการทำงานที่บ้านทั่วโลก หรือนักเรียนนักศึกษาจากหลายประเทศจะต้องเรียนจากที่บ้าน จากผลของการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยสินค้าไอทีไม่ว่าจะเป็น แล็ปท็อป โน้ตบุ๊กคอมพิวเตอร์ หรือ แท็บเล็ต รวมถึงสินค้าไอทีอื่น ๆ เติบโตมาก โดยไต้หวันส่งออกได้มากถึง 20.82 พันล้านดอลล่าห์สหรัฐ (ประมาณ 62.42 พันล้านบาท) (Oung, 2020) โดย ลอยด์ ชาน นักเศรษฐศาสตร์ที่เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจไต้หวัน จาก Oxford Economics มองว่าแม้ไต้หวันจะได้รับผลกระทบจากโควิด-19 มากกว่านี้ การผลิตชิปหรือชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ในไต้หวันนั้นจะไม่ถูกกระทบมากนักเนื่องการระบบการผลิตเกือบจะเป็นระบบอัตโนมัติโดยทั้งหมด (Leng, 2020)

บทเรียนจากไต้หวัน

สิ่งที่ไต้หวันได้ดำเนินการเพื่อรับมือกับการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 แสดงให้เห็นแล้วว่า การเตรียมพร้อมเพื่อรับมือกับเหตุการณ์อาจเกิดขึ้นในอนาคตเป็นสิ่งสำคัญ ยิ่งถ้าเหตุการณ์ทำนองเดียวกันเคยเกิดขึ้นการเรียนรู้จากเหตุการณ์และข้อผิดพลาดในอดีตเพื่อนำองค์ความรู้วางแผนกลยุทธ์และการปรับตัวให้ยืดหยุ่น (Resilience) เพื่อรับมือกับเหตุการณ์ในอนาคตยิ่งเป็นเรื่องสำคัญ ไต้หวันเคยมีประสบการณ์การรับมือกับโรคซาร์สที่เลวร้ายแทนที่จะพยายามลืมสิ่งที่เกิดขึ้น ภาครัฐมีการนำสิ่งที่เกิดขึ้นมาเป็นบทเรียนในการปรับระบบการภายในประเทศซึ่งใช้เวลาหลายปี ทำให้ไต้หวันสามารถดำเนินการได้อย่างรวดเร็วและเป็นระบบ ทำให้ไต้หวันไม่ต้องล็อคดาวน์ อีกทั้งเศรษฐกิจก็ไม่บอบช้ำ ภาครัฐให้ความสำคัญแก่ประชาชน และมองว่าการให้ข้อมูลที่ถูกต้องและรวดเร็วเป็นสิ่งสำคัญ ภาครัฐจึงได้ใช้ระบบดิจิตอลเป็นวิธีในการดำเนินการ (Means of Implementation) ในการเผยแพร่ข้อมูลต่าง ๆ ที่น่าสนใจที่สุดก็คงเป็นข้อมูลด้านอุปทานของหน้ากากอนามัยที่จำหน่ายตามร้านขายยาทั่วไต้หวัน และประสานความร่วมมือกับบรรดาวิศวกรในการทำให้ข้อมูลเหล่านั้นสามารถเข้าถึงประชาชนได้ผ่านแพลตฟอร์มทางออนไลน์ รวมถึงการให้ข้อมูลแอพพลิเคชั่น “ไลน์” ซึ่งเป็นแอพพลิเคชั่นที่ชาวไต้หวันทุกช่วงอายุใช้ในการสื่อสารอยู่แล้ว เพื่อไม่ให้ยากต่อการใช้งาน ไม่เพิ่มภาระให้กับผู้สูงอายุที่อาจจะไม่คุ้นชินกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และไม่สร้างความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงสารสนเทศ (Digital Divide)

นอกจากภาครัฐของไต้หวันจะมีการทำงานที่ชัดเจนแล้ว การให้ความร่วมมือจากประชาชนก็เป็นสิ่งที่สำคัญ การรู้หน้าที่ของตนเอง มีวินัย รับผิดชอบ และเข้าใจถึงความสำคัญในการปฏิบัติตามเจ้าหน้าที่ ไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่เป็นนิสัยของคนส่วนใหญ่ในไต้หวัน ส่วนหนึ่งอาจมาจากปูมหลังที่ต้องต่อสู้ดิ้นรนอย่างหนักเพื่อความอยู่รอดภายใต้การแผ่อำนาจของจีน ทำให้คนไต้หวันส่วนใหญ่รักแผ่นดิน ทว่าระบบการศึกษาของไต้หวันเองก็มีการปลูกฝังให้ประชาชนมีวินัย นอกจากนี้การมีผู้นำที่มีวิสัยทัศน์และจัดสรรภาษีไปใช้ในทางที่เหมาะสม รวมไปถึงการมีระบบการจ้างแรงงานที่ดี มีการปันทรัพยากรต่าง ๆ อย่างทั่วถึง

แม้ไต้หวันจะเป็นตัวอย่างของความสำเร็จ S. Nathan Park (2020) และ Holly Barrow (2020) แสดงความกังวลว่าโลกตะวันตกจะไม่ยอมเรียนรู้ความ ให้ความเห็นว่าโลกตะวันตกยังคงตกอยู่ในวังวนความเชื่อว่าตนเองมีความเจริญกว่าโลกตะวันออก ดังเช่นที่ นักวรรณคดีศึกษา เอ็ดเวิร์ด ซาอิด (Edward Said) ในหนังสือ Orientalism (บูรพคดีศึกษา) พิมพ์ปี ค.ศ. 1978 ปัญหาของวิธีคิดแบบนี้คือ นอกจากจะเป็นการสร้างมโนทัศน์ผิดเพี้ยนต่อชาวตะวันออก ในช่วงเริ่มแรกของการระบาด หลากหลายชาติตะวันตกมองว่าเชื้อไวรัสโคโรน่าเป็น โรคคนจีน และจะไม่มีทางเข้ามาระบาดในยุโรปและอเมริกาเหนือ อีกทั้งยังใช้วัฒนธรรมของจีนแผ่นดินใหญ่บางอย่าง เช่นการรับประทานเนื้อค้างคาว มาเป็นแพะรับบาปในการก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 นอกจากจะไม่มีการตั้งรับที่ดีแล้ว ในช่วงกลางและท้ายปี 2563 ประชาชนหลาย ๆ กลุ่มในประเทศสหรัฐอเมริกา ประเทศบราซิล และหลายประเทศในยุโรปก็ยังคงไม่ยอมรับแนวทางการรับมือกับโรคระบาดตามแบบของเอเชีย เนื่องจากการมองว่าจะไม่สามารถนำไปใช้ได้กับสังคมของพวกเขาได้

ไต้หวันไม่ได้มีเทคโนโลยีที่ล้ำหน้าไปกว่าหลายชาตินัก ระบบสาธารณสุขของไต้หวันเองก็ไม่ได้ดีที่สุดในโลก และการเมืองของไต้หวันก็ไม่ได้โปร่งใสไปกว่าหลาย ๆ ประเทศ แต่การที่ไต้หวันรับมือกับโรคระบาดนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพนั่นก็เพราะไต้หวัน มีการตอบสนองอย่างรวดเร็ว ไม่มองว่าโรคระบาดเป็นเรื่องเล่น ๆ การรับมือของไต้หวันอาจจะเป็นบทเรียนสำคัญสำหรับทุกประเทศและดินแดนทั่วโลก รวมถึงไทย ในการรับมือกับโรคระบาดในอนาคต โดยเฉพาะการแก้ไขความไม่เท่าเทียมในการเข้าถึงทรัพยากรโดยเฉพาะในช่วงวิกฤต

อ้างอิง

มาลินี คัมภีรญานนท์. (2550). ขงจื๊อกับผลงานศิลปะะที่หลากหลายมุมมอง. ดำรงวิชาการ, 37-50. http://www.damrong-            journal.su.ac.th/upload/pdf/76_3.pdf

Barrow, H. (2020). Western Orientalism and COVID-19. Retrieved January 28, 2021, from https://planamag.com/western-orientalism-and-covid-19/.

Chen, K.-T., Twu, S.-J., Chang, H.-L., Wu, Y.-C., Chen, C.-T., Lin, T.-H., Olsen, J., Dowell, S., Su, I.-J., & Taiwan SARS Response Team. (2005). SARS in Taiwan: an overview and lessons learned. International Journal of Infectious Diseases, 9(2), 77–85. https://doi.org/10.1016/j.ijid.2004.04.015.

Culpan, T. (2020). With learnings from SARS, Taiwan wrote the most successful Covid-19 story. Business Standard. https://www.business-standard.com/article/current-affairs/with-learning-from-sars-taiwan-wrote-the-most-successful-covid-19-story-120122400320_1.html.

Gardner, L. (2020). Update January 31: Modeling the Spreading Risk of 2019-nCoV. COVID-19 Content Portal. Johns Hopkins University. https://systems.jhu.edu/research/public-health/ncov-model-2/.

Hsu, J. (2020). People come together to overcome mask crisis. Taiwan News.            https://www.taipeitimes.com/News/editorials/archives/2020/02/20/2003731291.

Leng, S. (2020). Taiwan’s 2020 economic growth looks to outpace mainland China’s for first time in decades. South China Morning Post. https://www.scmp.com/economy/china-economy/article/3113603/taiwans-2020-economic-growth-looks-outpace-mainland-chinas.

Marmino, M., & Vendenberg, L. (2021). The Diplomat. https://thediplomat.com/2021/01/the-role-of-political-culture-in-taiwans-covid-19-success/.

Martin, T. & Walker, M. (2020). East vs. West: Coronavirus Fight Tests Divergent Strategies. The Wall Street Journal. https://www.wsj.com/articles/east-vs-west-coronavirus-fight-tests-divergent- strategies-        11584110308.

Oung, A. (2020). Export orders hit record Us$57.78bn. Taipei Times. https://taipeitimes.com/News/biz/archives/2020/12/22/2003749136.

Wang, S., & Lin, K. (2020). Foreign visitors to Taiwan up 7% in 2019. Focus Taiwan. https://focustaiwan.tw/society/202001060014.

Yang, S. (2020a). Taiwan manufacturers to export mask-producing capability. Taiwan News.             https://www.taiwannews.com.tw/en/news/3959712

Yang, S. (2020b). Taiwan to add travel history to health Id cards amid coronavirus outbreak. Taiwan News. https://www.taiwannews.com.tw/en/news/3870719.

Last Updated on กุมภาพันธ์ 4, 2021

Author

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น