SDG Insights | โทรเวชกรรมสัตว์น้ำแห่งแรกในไทย เมื่อ Telemedicine ไม่ได้หยุดอยู่แค่รักษาคน

หลายปีที่ผ่านมาแนวคิดการให้คำปรึกษาและรักษาผ่านระบบโทรเวชกรรมด้วยการนําเทคโนโลยีที่ช่วยให้ผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์สามารถพูดคุยกันได้แบบ Real-time หรือที่คุ้นเคยในชื่อ Telemedicine เริ่มได้รับความสนใจโดยเฉพาะในภาวะที่โลกกำลังเผชิญกับการระบาดของโรคติดเชื้อโควิด – 19 ส่งผลให้การเดินทางมารับการรักษาของผู้ป่วยโรคอื่น ๆ เป็นไปอย่างยากลำบาก 
แต่ Telemedicine ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่การรักษาคนเท่านั้น  ‘สัตว์น้ำ’ ที่สื่อสารไม่ได้ สังเกตอาการภายนอกได้น้อยก็ยังสามารถรักษาด้วยวิธีนี้ได้เช่นกัน  SDG Insights ฉบับนี้พาทุกคนไปทำความรู้จักกับ Telemedicine ในสัตว์น้ำแห่งแรกในประเทศไทยโดย อาจารย์สัตวแพทย์หญิง ดร.ฐนิดา เหตระกูล รองผู้อำนวยการ ศูนย์วิจัยโรคสัตว์น้ำ คณะสัตวแพทยศาสตร์  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ส่องความยาก-ง่ายในการเข้าถึงบริการรักษาสัตว์น้ำ

ก่อนจะเข้าสู่เรื่อง Telemedicine เราชวนคุณหมอฐนิดาพูดคุยถึงสถานพยาบาลที่ให้บริการรักษาสัตว์น้ำในแง่ความครอบคลุมการเข้าถึงบริการเพื่อรับการดูแลสัตว์น้ำในประเทศไทยในปัจจุบัน ถือว่าเรามีหน่วยบริการที่ครอบคลุมหรือเพียงใด

คุณหมอฐนิดากล่าวถึงหน่วยบริการสัตว์น้ำ ในส่วนที่ตนทำงานซึ่งเกี่ยวข้องกับสัตว์น้ำสวยงาม  สัตว์น้ำที่เลี้ยงไว้เป็นสัตว์เลี้ยง ถือได้ว่าเรามีหน่วยบริการมากขึ้น จากในอดีตมีสถานบริการแบบเต็มเวลามีเพียงจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ส่วนมหาวิทยาลัยอื่น ๆ อาจเปิดให้บริการในช่วงเวลาที่มีบุคลากรการแพทย์ หรืออาจารย์ผู้ทำงานด้านสัตว์น้ำประจำที่คลินิก แต่ในปัจจุบันมีบุคลากรการแพทย์ออกไปเปิดคลินิกสัตว์เล็กทำให้มีหน่วยบริการสัตว์น้ำมากขึ้น แต่ก็ยังไม่เพียงพอ ส่วนสัตว์เศรษฐกิจ เรามีสัตว์เศรษฐกิจที่ถูกส่งเข้ามาเพื่อวิเคราะห์โรคอยู่บ้าง

เคยมีผู้มารับบริการที่เดินทางมาจากพื้นที่ไกล ๆบ้างไหม?

“เคย” คุณหมอฐนิดากล่าว “มีทั้งเชียงใหม่ เชียงรายหรือทางใต้อย่างภูเก็ตก็มี เพราะคลินิกสัตว์น้ำตามมหาวิทยาลัยในส่วนต่าง ๆ ของภูมิภาคเพิ่งตั้งขึ้นเมื่อไม่กี่ปีมานี้เอง ซึ่งก็ช่วยได้เยอะ แต่บางครั้งผู้ใช้บริการเคยมาใช้บริการที่นี่กับเรา เขาก็รู้สึกสะดวกที่จะมาใช้บริการที่นี่เหมือนเดิมมากกว่า” อย่างไรก็ตาม คุณหมอยังคงแนะนำว่าการขนส่งหรือการเดินทางที่ไกลมาก ๆ ก็คงไม่ค่อยดีกับสัตว์สักเท่าใดนัก หากเป็นไปได้จะแนะนำให้รักษากับคลินิกที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียง

ปัจจัยอะไรที่ทำให้เรามีสถานพยาบาล และบุคลากรที่รักษาสัตว์น้ำน้อย

ในแง่บุคลากรการแพทย์ สมัยก่อนการเลี้ยงสัตว์น้ำก็จะเน้นไปในเชิงพาณิชย์มากกว่า และถ้าเป็นสัตว์เลี้ยงก็จะมีทัศนคติของบางคนที่มองว่าค่ารักษาแพงและเลือกที่จะไม่รักษาดีกว่า แต่ปัจจุบันตลาดมีความต้องการมากขึ้น เพราะคนหันมาเลี้ยงปลาที่มีราคาสูงมากขึ้นด้วยและมีตลาดส่งออกค่อนข้างใหญ่ทำให้มี สัตวแพทย์ที่หันมาเปิดคลินิกสัตว์น้ำมากขึ้น แต่แม้จะมีความนิยมก็ใช่ว่าทุกคนจะตัดสินใจรักษาสัตว์น้ำได้ง่ายดายนัก เพราะหากไม่ใช่คนที่ศึกษาสัตว์น้ำมาตั้งแต่แรกก็อาจไม่มีความมั่นใจถึงขั้นที่จะรับรักษา อีกทั้งในการเปิดคลินิกมีปัจจัยเรื่องต้นทุนของอุปกรณ์เฉพาะทางร่วมกับการทำระบบต่าง ๆสำหรับสัตว์น้ำ ซึ่งถ้าหากไม่ได้จะทำเป็นงานจริงจังก็อาจจะมองว่าไม่คุ้มค่า

จุดเริ่มต้นของให้บริการ Telemedicine ในสัตว์น้ำ

จุดเริ่มต้นก็มาจากสถานการณ์โควิด-19 ตั้งแต่ช่วงแรกเราพยายามที่จะเตรียมมาตรการป้องกันให้กับทั้งเจ้าของสัตว์และสัตวแพทย์ผู้รักษาด้วย โดยเปลี่ยนให้มีนัดหมายล่วงหน้าก่อน มีการจำกัดจำนวนคนที่จะเข้ามาพูดคุยกับสัตวแพทย์ พอมาในช่วงหลังที่มีการแพร่ระบาดรุนแรงมากขึ้น ทางจุฬาฯ ก็มีประกาศออกมาว่าไม่อยากให้บุคคลภายนอกเข้ามาในบริเวณมหาวิทยาลัย เราจึงปรับเปลี่ยนมาตรการป้องกันโดยนอกจากผู้ใช้บริการจะต้องนัดล่วงหน้าแล้ว เวลานำสัตว์เลี้ยงมารักษาเจ้าของสัตว์จะไม่ได้คุยกับคุณหมอโดยตรง แต่จะใช้วิธีโทรให้คำปรึกษาแล้วรับเฉพาะสัตว์เข้ามาทำการรักษาเท่านั้น

จนกระทั่งคราวนี้เมื่อเดือนที่แล้ว (กรกฎาคม 2564) ที่มียอดผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นมากกว่าหนึ่งหมื่นคน เราก็รู้สึกเป็นห่วงคุณหมอและเจ้าหน้าที่ของเรา รวมทั้งในคณะสัตวแพทย์เองก็มีเจ้าของที่ติดโควิดพาสัตว์มารักษา เราจึงตัดสินใจว่าจะลองหาแนวทางใหม่ ๆ ดู ก็เลยคิดว่า Telemedicine น่าจะเป็นวิธีการหนึ่งที่ตอบโจทย์ได้สำหรับสถานการณ์นี้

โดยส่วนใหญ่ผู้มาขอรับบริการเป็นคนกลุ่มใดบ้าง?

โดยทั่วไปจะเป็นเจ้าของสัตว์เลี้ยงในบ้านซึ่งเลี้ยงในตู้หรือในบ่อ ส่วนการเลี้ยงในเชิงพาณิชย์นั้น ในช่วงปกติก่อนหน้านี้ก็จะมีมาบ้าง เช่น ฟาร์มปลาสวยงาม เมื่อเกิดโรคระบาดหรือมีปัญหาปลาตาย เจ้าของฟาร์มก็จะส่งปลามาชันสูตร

ผลตอบรับจากผู้รับบริการว่าความพึงพอใจกับบริการเป็นอย่างไรบ้าง  

เราเพิ่งให้บริการประมาณหนึ่งเดือนในแง่จำนวนมีผู้ใช้บริการราว 50 ราย แต่ทุกครั้งหลังจบการบริการจะมีแบบสอบถามให้ผู้รับบริการตอบก็พบว่าค่อนข้างพึงพอใจ แม้ในแง่ของจำนวนผู้มาใช้บริการนั้นมีไม่มากเท่าช่วงปกติ ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะ Telemedicine ยังไม่ได้เป็นที่รู้จักแพร่หลาย และเราเองยังไม่ได้ประชาสัมพันธ์ออกไปกว้างมากนัก

ดูเหมือนว่าที่ผ่านมาเราจะรักษาสัตว์น้ำที่เป็นสัตว์เลี้ยงสวยงาม หรือมีจำนวนน้อยเป็นหลักจะเป็นไปได้หรือไม่ หากเรานำ Telemedicine ไปใช้กับสัตว์น้ำเชิงพาณิชย์ที่เลี้ยงเป็นฟาร์มในจำนวนมาก

“คิดว่าได้ค่ะ” คุณหมอฐนิดาตอบ เพราะการให้คำปรึกษาเบื้องต้นสามารถทำได้อยู่แล้ว และในทางปฏิบัติสัตวแพทย์ที่เข้าฟาร์มจริง ๆ ก็มีไม่มากนัก เว้นแต่จะเป็นบริษัทใหญ่ที่มีสัตวแพทย์ด้านสัตว์น้ำประจำอยู่แล้ว ดังนั้น ถ้าจะให้คำปรึกษาในการเลี้ยงสัตว์น้ำเชิงพาณิชย์ผ่านทาง Telemedicine นั้นทำได้แน่นอน โดยอาจต้องเริ่มต้นจากการแนะนำให้ผู้เลี้ยงแยกสัตว์ในบ่อที่มีอาการผิดปกติกันพื้นที่เพื่อสังเกตอาการ และป้องกันการการลุกลามไปสู่สัตว์บ่ออื่น ๆ หากเป็นโรคติดต่อ จากนั้นจึงวินิจฉัยผ่านการซักประวัติการเลี้ยงดู การใช้ยา หรืออาการอื่น ๆ จากเจ้าของร่วมกับการสังเกตผ่านวิดิโอคอล

จุดเด่นของ Telemedicine

เรื่องแรกเลย คือ การเดินทางทั้งของสัตวแพทย์และผู้มาใช้บริการเองเพราะไม่ต้องเดินทางออกจากบ้าน ทำให้ไม่ต้องมีความเสี่ยงต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้น เรื่องที่สอง คือ การเปิดวิดีโอคอลทำให้หมอได้เห็นสภาพแวดล้อมที่แท้จริงของปลาได้อย่างชัดเจนและยังช่วยในการวินิจฉัยเพิ่มเติมได้มากขึ้นด้วย ซึ่งการที่แพทย์ได้เห็นเองจากวิดีโอคอลนั้นถือได้ว่าดีกว่าการที่เจ้าของนำสัตว์น้ำมารักษาที่ศูนย์ฯ แล้วอธิบายให้ คุณหมอฟัง ซึ่งบางอย่างอาจไม่สามารถอธิบายออกมาให้เห็นภาพชัดเจนได้ค่ะ การวิดิโอคอลทำให้เห็นด้วยว่าจำนวนสัตว์ทั้งบ่อแน่นเกินไปไหม หรืออาจมีปลาบางตัวมีอาการป่วยแล้วเจ้าของ ไม่ทันได้สังเกต แล้วเราเห็นก็จะสามารถให้คำปรึกษาได้ นอกจากนี้ยังเป็นเรื่องของการให้คำแนะนำเพื่อบรรเทาอาการ หรือเตรียมการดูแลบางอย่างได้ทันท่วงทีเช่น การเปลี่ยนถ่ายน้ำ การแยกสังเกตอาการ

ข้อจำกัดของ Telemedicine

ข้อจำกัดทางเทคนิคส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องความสามารถในการใช้เทคโนโลยีของผู้รับบริการ เช่น โทรศัพท์ไม่สามารถใช้งานวิดีโอคอลได้ บางกรณีเจ้าของสัตว์เป็นผู้สูงอายุก็จะมีปัญหาตั้งแต่ตอนลงทะเบียนเลย ซึ่งจะต้องมีการกรอกรายละเอียด โอนเงิน และส่งหลักฐาน ก็ถือเป็นปัญหาอีกลักษณะหนึ่งสำหรับผู้ใช้บริการที่ยังไม่มีความถนัดเรื่องเทคโนโลยี          

อีกข้อจำกัดที่พบคือ ช่องทางในการติดต่อสื่อสาร เนื่องจาก ณ ตอนนี้เราใช้ Line Official ในการสื่อสารกับผู้รับบริการ ซึ่งสามารถคุยได้ทีละคน ทั้ง ๆ ที่เรามีหมออยู่ 3-4 คน จึงทำให้ไม่สามารถ ที่จะวิดีโอคอลครั้งละหลายรายในเวลาเดียวกันได้ ทั้งนี้ ช่วงนี้อาจจะไม่ได้เป็นปัญหามากนัก เพราะในแต่ละวัน ไม่ได้มีผู้รับบริการมากนัก ทำให้เรายังสามารถจัดคิวให้คุยกับคุณหมอได้อย่างทั่วถึง แต่ในอนาคตหากมีมากขึ้น เราอาจจะต้องมีการปรับตัวกันต่อไป

ส่วนในเรื่องการวินิจฉัยนับเป็นข้อจำกัดสำคัญ เนื่องจากสัตว์น้ำต่างกับสัตว์เลี้ยงในบ้านประเภทอื่น ๆ เช่น สุนัข แมว โดยเฉพาะในแง่การแสดงอาการ การให้คำแนะนำการรักษาผ่าน Telemedicine จึงเป็นการวินิจฉัยโรคภายใต้ข้อมูลจากเจ้าของ และอาการภายนอกเท่าที่สังเกตเห็น เช่น มีบาดแผล ไม่กินอาหาร ว่ายน้ำผืดปกติ ในกรณีที่อาการมีความซับซ้อนมาก การนำสัตว์มายังสถานพยาบาลที่มีเครื่องมือพร้อมย่อมเป็นประโยชน์กว่า

ไม่อาจช่วยได้ 100 เปอร์เซ็นต์แต่ดีกว่าไม่ทำอะไรเลย

แม้ข้อจำกัดเรื่องการวินิจฉัยทำให้การรักษาแบบ Telemedicine ทำได้เพียงการรักษาในสัตว์น้ำที่มีอาการไม่ซับซ้อน และถึงอย่างไรวิธีการนี้ก็ไม่อาจทดแทนการรักษาในเชิงกายภาพ แบบพบหน้า สัมผัสได้ แต่คุณหมอฐนิดาก็มองว่า ‘ยังดีกว่าไม่ได้ทำอะไรเลย’

“การนำสัตว์น้ำมารักษาที่โรงพยาบาลมันดีกว่าอยู่แล้วแหละ” คุณหมอฐนิดากล่าวพร้อมย้อนกลับไปถึงวิธีการรักษาก่อนที่จะมีการตั้ง Telemedicine อย่างเป็นทางการว่าเคยมีการให้บริการในลักษณะคล้ายกันนี้เช่นกัน  

“จริง ๆ เมื่อก่อนในกรณีที่ผู้รับบริการอยู่ต่างจังหวัด ก็จะใช้วิธีคล้าย ๆ กัน โดยทุกครั้งเราก็จะมี การคุยกับเจ้าของว่า หมอมีการวินิจฉัยจากการซักประวัติและการเล่าอาการจากที่เจ้าของเล่าให้ฟัง เพราะฉะนั้นมันก็จะคล้ายกับการคาดเดาว่าสัตว์น้ำมีโอกาสที่จะเป็นโรคอะไรบ้าง แล้วเราลองให้การรักษาแบบนี้ก่อน ซึ่งถ้าอาการหายก็โอเค แต่ถ้าไม่หายอาจจะต้องลองเปลี่ยนวิธีรักษา หรือลองพาไปคลินิกที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียงดู แล้วค่อยมีการโทรปรึกษากันระหว่างคลินิกกับหมอของเรา”

เมื่อวิกฤตโควิดมันหายไปแล้ว คิดว่าทางศูนย์ยังจะให้บริการลักษณะนี้ต่อไปหรือไม่

สำหรับทางศูนย์เองคิดว่าจะให้บริการในลักษณะร่วมกัน ทั้ง Telemedicine และ Walk-in เพราะเราก็เห็นข้อดีในการวิดีโอคอลว่ามันเป็นประโยชน์มากในการวินิจฉัย เราอยากให้สัตวแพทย์ได้พูดคุยกับเจ้าของสัตว์และสังเกตอาการทางวิดีคอลก่อน ถ้าเราเห็นว่าต้องมารับการตรวจหรือรักษาเพิ่ม ค่อยให้เจ้าของพามาที่ศูนย์ฯ ซึ่งเท่าที่คิดก็คิดว่าเป็นไปได้และน่านำมาใช้ ก็ถือว่าเป็นวิธีการหนึ่งที่ช่วยลดต้นทุนอย่างน้อยก็ ต้นทุนในเรื่องของการเดินทางหรือการขนส่งต่าง ๆ ด้วย

นอกจากนี้ยังเพิ่มความรวดเร็วในการเข้าถึงบริการ และช่วยให้เจ้าของสัตว์สบายใจมากขึ้นเพราะบางที Walk-in เข้ามาก็ อาจจะไม่ได้ได้รับคิวตรวจในวันนั้น ถ้าหากสามารถวีดีโอคอลได้ที่บ้านเจ้าของก็จะสามารถดูแลรักษาสัตว์เลี้ยงในเบื้องต้นได้ เช่น การเปลี่ยนถ่ายน้ำ และการปรับอุณหภูมิ หรือการจัดการต่าง ๆ

มองว่าการรักษาแบบ Telemedicine จะกลายเป็นเทรนด์ใหม่หรือไม่

“มีโอกาสเกิดขึ้นแน่นอน” คุณหมอฐนิดาให้ข้อมูลว่า ในวงการสัตวแพทย์มีความพยายามจะรวมตัวกันที่จะทำ Telemedicine ในขณะเดียวกันสัตวแพทย์สภาก็มีการร่างกฎเกี่ยวกับ Telemedicine ตอนนี้กำลังทำประชาพิจารณ์กันอยู่ หากกฎเหล่านี้ประกาศใช้ก็น่าจะเป็นการส่งสัญญาณต่อทิศทางของการรักษาทางเลือกนี้มากขึ้น

ในวงสนทนาเกี่ยวกับ Telemedicine ของการรักษาคนมักปรากฏการถกเถียงว่าการให้บริการนี้ช่วยลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงคำปรึกษาที่ดี ขณะเดียวกันก็มีอีกความกังวลว่าการที่ทุกคนเข้าถึงเทคโนโลยีได้ไม่เท่ากัน มันน่าจะนำมาสู่ความเหลื่อมล้ำมากกว่า มองว่าในอนาคตปรากฏการณ์เหล่านี้จะเกิดขึ้นกับองค์การรักษาสัตว์หรือไม่?

 “คิดว่าทุกวงการน่าจะมีปัญหาแบบเดียวกัน” แต่คิดว่าการที่บริการนี้เกิดขึ้นมันน่าจะมีข้อดีมากกว่า ในแง่ของการเพิ่มโอกาสให้คนเข้าถึง ได้พบแพทย์มากกว่าเดิม ซึ่งอาจจะไม่ถึง 100% แต่อย่างน้อยคนที่สามารถเข้าถึงและได้รับคำปรึกษาจากหมอที่เค้าเชื่อมั่นก็น่าจะช่วยให้ผู้รับบริการสบายใจขึ้นในระดับหนึ่งแล้ว

ไม่ใช่แค่สัตว์เลี้ยง แต่ขยายไปถึงการช่วยรักษาพันธุ์สัตว์และ
ระบบนิเวศ  

เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) จะไม่ได้มีประเด็นเกี่ยวกับเรื่องสัตว์เลี้ยงในบ้านมากนัก
แต่จะเน้นเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพ พันธุ์สัตว์ป่า ในมุมมองของคุณหมอคิดว่า Telemedicine จะขยายไปถึงขั้นที่สามารถช่วยรักษาเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพ หรือสามารถไปรักษาสัตว์น้ำทางทะเลได้หรือไม่?       

‘ได้ค่ะ’ คุณหมอฐนิดา ยกตัวอย่างสัตว์น้ำที่มาเกยตื้นหรือสัตว์น้ำในธรรมชาติ ก็คิดว่าสามารถใช้ช่องทางนี้ได้กัน แต่ก็จะเป็นการรักษาเบื้องต้นเพราะหลังจากนั้นสัตว์ที่ถึงขั้นมาเกยตื้นจะต้องมีการตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียด อาจมีการให้คำแนะนำกับคนที่เข้าถึงพื้นที่ก่อนเพื่อลดความอันตรายของสัตว์น้ำ หรือให้วัดขนาด บอกอาการเบื้องต้นแก่แพทย์ได้ อย่างไรก็ตามยังไม่สามารถให้รักษาครอบคลุมทุกขั้นตอน

จากการที่กล่าวมาทั้งหมด ดูเหมือนมีกระบวนการบางอย่างที่คล้ายกับ Telemedicine ที่ทำกันมาบ้างอยู่แล้ว เมื่อสถานการณ์ที่รุนแรงมากขึ้นจึงกลายเป็นตัวแปร ที่ทำให้ทางเลือกนี้กลายเป็นทางที่เป็นไปได้ขึ้นมา

“เมื่อก่อนหมอก็คิดว่าเราทำแบบนี้ไม่ได้หรอกที่จะไม่เอาสัตว์มาตรวจแล้วเราจะรักษาได้ เพราะมันเป็นเรื่องยากที่จะวินิจฉัยได้ตรงประเด็น แต่พอมาคิดในแง่ที่มีสัตว์น้ำที่ต้องเสียชีวิตไปเพราะรอการรักษา และในแง่ของเจ้าของสัตว์น้ำที่ต้องลำบากในการหาสถานที่รักษาแล้ว เราก็เลยคิดว่าหากมีการให้คำแนะนำและรักษาเบื้องต้นได้ก็น่าจะเป็นการแบ่งเบาปัญหาเหล่านี้ได้”

อยากฝากอะไรถึงเจ้าของสัตว์เลี้ยงที่อยากจะมารับบริการลักษณะนี้ ควรจะเตรียมข้อมูลอะไรบ้าง?

  • อย่างแรกเลย ข้อมูลอาการป่วยของสัตว์ ว่ามีอาการเป็นอย่างไร เริ่มผิดปกติมาตั้งแต่เมื่อไร
  • สอง ประวัติการใช้ยาต่าง ๆ ซึ่งถ้าหากมีขวดหรือบรรจุภัณฑ์ของยานำมาให้หมอดูด้วยจะดีมาก เพราะบางครั้งบอกมาแค่ชื่อยี่ห้อยา แต่ไม่รู้ว่ามันคือยาอะไร หรือมีส่วนประกอบอะไรบ้าง
  • สาม ข้อมูลการเลี้ยงดู ทั้งการให้อาหาร การเปลี่ยนถ่ายน้ำ และสภาพแวดล้อมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง และ
  • สุดท้าย เตรียมภาชนะที่สามารถแยกสัตว์น้ำออกมารักษาได้ เพราะบางครั้งเป็นตัวเดียวเราไม่จำเป็นต้องให้ยาทั้งบ่อ
    ซึ่งยาปฏิชีวนะบางชนิดอาจทำให้แบคทีเรียตายทั้งบ่อแล้วน้ำจะเสียโดยทันที เพราะฉะนั้นหากสามารถแยกเฉพาะตัวที่มีอาการมารักษาได้ก็จะดีกว่า

หากสถานพยาบาลแห่งอื่นที่อยากจะทำ Telemedicine สัตว์น้ำบ้าง ควรจะมีการเตรียมความพร้อมอย่างไร?

ต้องเริ่มจากทีมที่ทำงานเพราะเป็นงานที่ไม่สามารถทำคนเดียวได้ ซึ่งถ้าหากมีผู้รับบริการมากก็จะต้องมีทีมคอยติดตามว่า เมื่อมีผู้ใช้บริการติดต่อมาจะต้องมีการนัดคิว และมีการเตือนแพทย์ให้พูดคุยกับ แต่ละราย ส่วนเรื่องการวินิจฉัยคิดว่าน่าจะเป็นกระบวนการตามปกติที่สถานพยาบาลทราบกันดีอยู่แล้ว

ส่วนในอนาคต คงต้องติดตามประกาศของแพทย์สภาว่าจะมีการกำหนดอะไรเพิ่มขึ้นหรือไม่ ยกตัวอย่างเช่นเรื่องข้อมูลส่วนตัวของเจ้าของ เพราะในทางปฏิบัติเราก็ต้องมั่นใจว่าผู้ใช้บริการกรอกข้อมูลที่ถูกต้อง และจะมาใช้บริการจริง จึงมีการให้รายละเอียดค่อนข้างมาก หากมีการผลักดันเรื่องนี้อย่างจริงจังอนาคตอาจจะมีคนพัฒนาแอพพลิเคชั่นที่นำมาใช้งานโดยตรง ก็น่าจะมีความปลอดภัยและทำให้เกิดความสะดวกมากขึ้นด้วย

แม้เรื่องที่นำเสนอในวันนี้จะไม่ได้เกี่ยวข้องกับ SDGs โดยตรง แต่ปรากฏการณ์นี้ก็สะท้อนให้เห็นถึงอิทธิพลของเทคโนโลยีต่อการแก้ปัญหาต่าง ๆ ในระดับชีวิตประจำวัน และเชื่อว่าจะส่งผลต่อระดับการใช้ชีวิตของมนุษย์มากขึ้นเรื่อย ๆ ความสามารถในการเข้าถึงเทคโนโลยี อินเตอร์เน็ตอย่างทั่วถึง เท่าเทียม ในราคาที่ทุกคนจ่ายได้ จึงเป็นโจทย์สำคัญการพัฒนาในอนาคต

ช่องทางติดต่อศูนย์วิจัยโรคสัตว์น้ำ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

สัมภาษณ์และเรียบเรียง
พิมพ์นารา อินต๊ะประเสริฐ

Last Updated on พฤศจิกายน 8, 2021

Author

  • Pimnara Intaprasert

    Editor | คนทำงานข้ามสายที่ชอบมองภาพใหญ่และอยากเห็นงานพัฒนามองทุกศาสตร์อย่างเชื่อมโยง

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น