SDG Insights | ส่องเพื่อนบ้าน III : ฝุ่น PM2.5 ในเวียดนาม

อ.ดร.ลดาวัลย์ ไข่คำ[1]

ปัจจุบัน โลกกำลังเผชิญกับวิกฤตโควิด-19 แต่บทความล่าสุดของ Nikkei Asia (2021) เผยให้เห็นข้อเท็จจริงที่น่าสนใจว่าสาเหตุสำคัญที่คร่าชีวิตผู้คนในทวีปเอเชียไม่ใช่โรคระบาด แต่เป็นมลพิษทางอากาศต่างหาก โดยเฉพาะปัญหาฝุ่นละอองขนาดจิ๋ว (PM2.5) ในประเทศจีน อินโดนีเซีย ไทย และเวียดนาม 

เวียดนามเป็นประเทศที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีการคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจของเวียดนามจะโตขึ้น 8.5% ในปี ค.ศ. 2021 แม้ว่าจะเผชิญกับสถานการณ์โรคระบาดก็ตาม แต่การเติบโตทางเศรษฐกิจนี้กลับต้องแลกด้วยความเสื่อมโทรมทางสิ่งแวดล้อม ซึ่งสำนักข่าวเวียดนามรายงานเมื่อเดือนมีนาคมปีนี้ว่า มลพิษทางอากาศในแต่ละปีทำให้เวียดนามเกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจกว่า 10.8-13.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็น 5% ของ GDP[2] และเมื่อปี ค.ศ. 2017 เพียงปีเดียวมีผู้เสียชีวิตจากมลพิษทางอากาศมากถึง 50,232 ราย[3]


การพัฒนากับปัญหาสิ่งแวดล้อมในเวียดนาม

นโยบายของรัฐมีความเชื่อมโยงโดยตรงกับมลพิษทางอากาศ ย้อนกลับไปในปี ค.ศ. 1989 รัฐบาลเวียดนามประกาศใช้นโยบาย ‘โด๋ยเม้ย (Doi Moi)’ ที่ประยุกต์ระบบเศรษฐกิจแบบตลาดเสรีภายใต้โครงสร้างทางการเมืองแบบสังคมนิยมที่มีพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามเป็นผู้นำของรัฐ ผู้นำสังคมเวียดนาม เป็นตัวแทนผลประโยชน์ของชนชั้นกรรมาชีพและประชาชนทั้งประเทศ ตามหลักการที่มาจากลัทธิมาร์กซิสต์–เลนินนิสต์ (Marxist-Leninist doctrine) และแนวคิดของโฮจิมินห์ (Ho Chi Minh’s thought) รัฐธรรมนูญเวียดนาม ค.ศ. 1992 ยังให้พรรคคอมมิวนิสต์มีอำนาจในการตัดสินใจแทนประชาชน และรับผิดชอบต่อประชาชนภายใต้รัฐธรรมนูญและกฎหมาย[4] พรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามจึงเป็นพรรคการเมืองเดียวที่มีสถานะถูกกฎหมาย และเป็นกลุ่มการเมืองเดียวที่กุมอำนาจรัฐสูงสุดในการบริหารและปกครองประเทศ

นโยบายโด๋ยเม้ย เน้นภาคเกษตรกรรม อุตสาหกรรม หรือภาคการบริการ และการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อเปิดตลาดการค้าและการลงทุนจากต่างประเทศมากขึ้น[5] ทำให้ในช่วงทศวรรษ 1990 ประเทศเวียดนามมีการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ รัฐบาลทุ่มงบประมาณในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเป็นอย่างมาก มีกฎหมายการลงทุนจากต่างชาติ (FDI Law) กฎหมายการปฏิรูปที่ดินปี ค.ศ. 1993 และการเข้าเป็นสมาชิกอาเซียนในปี ค.ศ. 1995 นโยบายนี้ทำให้ GDP ของเวียดนามเพิ่มขึ้น 42% ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1998[6]

นโยบายโด๋ยเม้ยทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในหลาย ๆ เมืองในเวียดนาม เช่น กรุงฮานอยที่เคยเป็นเมืองแห่งการเดินและขี่จักรยานก็กลายเป็นเมืองแห่งการขนส่งด้วยยานยนต์ส่วนบุคคล กรุงฮานอยมีอัตราการขยายตัวของเมืองที่รวดเร็ว เน้นการผลิตที่ใช้เชื้อเพลิงถ่านหินเพิ่มขึ้นถึงสองเท่า เมื่อมีการพัฒนาและขยายเมืองออกไป ประชากรมีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า มีการใช้ยานยนต์เพิ่มขึ้น 12-15% ต่อปี และมีการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้น 30%[7]

ในอีกด้านหนึ่ง มลพิษทางอากาศมีความเชื่อมโยงโดยตรงกับการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ ปี ค.ศ. 2019 เวียดนามต้องเผชิญกับปัญหามลพิษทางอากาศครั้งรุนแรงที่สุด เมื่อดัชนีคุณภาพอากาศในกรุงฮานอย สูงถึง 129 US AQI ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับที่เริ่มส่งผลกระทบต่อสุขภาพของกลุ่มเปราะบาง (Unhealthy for Sensitive Groups) ขณะที่ค่าความเข้มข้นของ PM2.5 สูงที่สุดอยู่ที่ 189 µg/m3 ในเดือนกุมภาพันธ์[8] ขณะเดียวกัน มลพิษทางอากาศส่งผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของเวียดนามอย่างชัดเจน เพราะนักลงทุนต่างชาติหลีกเลี่ยงที่จะลงทุนในประเทศที่มีปัญหามลพิษทางอากาศ ทำให้สัดส่วนการลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) ใน GDP ของเวียดนามลดลงจาก 6.321% ในปี ค.ศ. 2018 เหลือ 6.155% ในปี ค.ศ.2019[9] ซึ่งอาจเป็นแรงกระตุ้นให้รัฐบาลเวียดนามต้องมีมาตรการ กฎและข้อบังคับด้านสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวดขึ้น

ปัจจัยทางด้านภูมิศาสตร์และสภาพภูมิอากาศเป็นปัจจัยหนึ่งของคุณภาพอากาศ ค่าความเข้มข้นของ PM2.5 รอบกรุงฮานอยและเมืองโฮจิมินห์ซิตี้แตะระดับสูงเป็นพิเศษในช่วงเดือนพฤศจิกายนและธันวาคมของทุกปี เพราะอิทธิผลของมรสุมทางเหนือในช่วงเดือนตุลาคมถึงธันวาคม และทางตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมทะเลจีนตะวันออกในช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนมีนาคม ทำให้กรุงฮานอยมีอากาศหนาวเย็นและแห้งแล้ง ค่าความเข้มข้นของ PM2.5 ในฤดูหนาวสูงกว่าฤดูร้อน และลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดผ่านคาบสมุทรอินโดจีนในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงเดือนกรกฎาคม ทำให้มีฝุ่นทะเลทรายจากประเทศจีนพัดเข้ามา ทำให้มลพิษทางอากาศในกรุงฮานอยมีสาเหตุมาจากฝุ่นทะเลทรายมากถึง 76%[10]

Vietnam rejects international finding on Hanoi air pollution
ภาพที่ 1: หมอกหนาปกคลุมอาคารสูงในกรุงฮานอย เดือนมกราคม ปี ค.ศ. 2019
ที่มา: (Huy, 2019) [11]

ฝุ่น PM2.5 ในเวียดนามมาจากไหน?

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา งานวิจัยหลายชิ้นศึกษาแหล่งที่มาของ PM2.5 ในกรุงฮานอย เมืองโฮจิมินห์ซิตี้ และบางจังหวัด เช่น Bac Ninh, Hai Duong, Luc Nam, Tam Dao และ Quang Ninh สรุปได้ว่า PM2.5 ในเวียดนามเกิดจากการจราจร อุตสาหกรรมการก่อสร้าง การเผาไหม้ชีวมวล และโรงผลิตไฟฟ้าถ่านหิน[12] ปัจจัยเหล่านี้ทำให้เวียดนามมีมลพิษทางอากาศมากขึ้นทุกปี

1. มลพิษจากการจราจรและยานพาหนะ

การจราจรและยานพาหนะก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศในเวียดนาม รถยนต์และรถจักรยานยนต์หลายล้านคันที่สัญจรอยู่บนท้องถนนปล่อยก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ (CO) มากถึง 85% สู่อากาศ ระบบขนส่งมวลชนที่ไม่มีประสิทธิภาพ เช่น รถโดยสารสาธารณะที่มีจำนวนจำกัดและ ไม่สะดวกในการใช้งาน เพราะยังเป็นรถรุ่นเก่า และปล่อยควันเสียสู่บรรยากาศ ขณะที่รถไฟฟ้ายังอยู่ระหว่างการก่อสร้างอย่างล่าช้า ทำให้ประชาชนต้องซื้อรถส่วนตัว ข้อมูลจากกรมตำรวจจราจรระบุว่าจำนวนยานพาหนะส่วนตัวในกรุงฮานอยเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะจักรยานยนต์ที่มีอัตราเพิ่มขึ้น 4.6% ต่อปี[13] ส่งผลต่อปัญหาการคมนาคมและมลพิษทางอากาศที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นทุกปี

2. การก่อสร้าง

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดฝุ่นคืออุตสาหกรรมการก่อสร้าง โครงการก่อสร้างในเมืองใหญ่เพิ่มขึ้นมาก และได้ปล่อยฝุ่นละอองปริมาณมากเข้าสู่บรรยายกาศ ฝุ่นส่วนใหญ่มาจากการรื้อถอนอาคารที่มีอยู่ และผงปูนซีเมนต์ที่ใช้ในการก่อสร้างอาคารใหม่ รวมถึงการวางผังเมืองที่ไม่ดี การสร้างตึกสูงระฟ้าเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยของประชากรจำนวนมากในใจกลางเมือง และโครงสร้างพื้นฐานในเมืองที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการเดินทาง นำมาซึ่งปัญหามลพิษทางอากาศอย่างรุนแรงจนยากที่จะหลีกเลี่ยงได้[14]

3. มลพิษจากโรงไฟฟ้าและโรงงานอุตสาหกรรม

โรงไฟฟ้าถ่านหินและโรงงานอุตสาหกรรมเป็นแหล่งปล่อยมลพิษ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมหนัก เช่น โรงงานเหล็ก โรงงานปูนซีเมนต์ และโรงไฟฟ้าถ่านหิน การสำรวจของศูนย์ฝึกอบรมและวิจัยเทคโนโลยีน้ำและสิ่งแวดล้อม (CEFINEA) พบว่าความเข้มข้นของฝุ่นขนาดใหญ่ (ไม่เกิน 100 ไมครอน) มีค่าสูงมากภายในอาคาร (Indoor) ของเกือบทุกอุตสาหกรรม โดยเฉพาะในโรงงานวัสดุก่อสร้างและโรงงานอุตสาหกรรมโลหะ (Duc, 1999; Nguyen, 2021)

นอกจากนี้ กรุงฮานอยยังมีโรงงานขนาดเล็กที่ก่อมลพิษสูง 117 แห่งใน 12 เขตย่านที่อยู่อาศัย ซึ่งอุปกรณ์และเทคโนโลยีของโรงงานเหล่านี้ส่วนใหญ่มีสภาพเก่าและผ่านการใช้งานมานานกว่า 10 ปี บางอุปกรณ์มีอายุมากกว่า 25 ปีและไม่ได้ติดตั้งอุปกรณ์ควบคุมมลพิษใด ๆ การใช้อุปกรณ์ที่ล้าสมัยนั้นก่อให้เกิดมลภาวะอย่างมาก ผนวกกับการเผาทำลายในพื้นที่ทำการเกษตร และการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเพิ่ม ส่งผลให้คุณภาพของอากาศในเวียดนามย่ำแย่ลง

มลพิษทางอากาศในเวียดนาม สัมพันธ์กับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Sustainable Development Goal: SDGs ดังนี้
○ SDG 3.9 ที่พยายาม “ลดจำนวนผู้เสียชีวิตและเจ็บป่วยจากสารเคมีอันตรายและมลพิษทางอากาศน้ำและดิน และการปนเปื้อนให้ได้” ภายในปี ค.ศ. 2030 โดยมีตัวชี้วัดคืออัตราการเจ็บป่วยและการตายที่เกิดจากมลพิษทางอากาศ

○ SDG 7.1 ที่เน้นการเข้าถึงพลังงานสะอาด โดยการเพิ่มสัดส่วนพลังงานทดแทน (Renewable Energy) และ SDG 7.2 การปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงาน เพื่อลดการปล่อยมลพิษไปเข้าสู่อากาศลง

○ SDG 8.4 ที่พยายามปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรของโลกในการบริโภคและการผลิตอย่างต่อเนื่อง และพยายามที่จะแยกการเติบโตทางเศรษฐกิจออกจากความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม

○ SDG 11.2 ที่เน้นการเข้าถึงการขนส่งที่ยั่งยืน SDG 11.6 เรื่องเมืองและชุมชนที่ยั่งยืน ที่พยายามลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมในเมืองโดยเน้นคุณภาพอากาศในเมือง และการจัดการของเสียของเทศบาล

รัฐบาลเวียดนามกับมลพิษทางอากาศ

เวียดนามกำลังเผชิญกับปัญหามลพิษทางอากาศอย่างน่าตกใจ ปัจจุบันกรุงฮานอยและเมืองโฮจิมินห์ซิตี้ได้กลายเป็น 2 ใน 15 เมืองที่มีมลพิษทางอากาศแย่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทำให้หน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อมของเวียดนามจำเป็นต้องออกมาตรการเพื่อแก้ไขปัญหา แต่รัฐบาลกลับทำได้เพียงระบุแนวทางแก้ไขในระยะสั้นเท่านั้น แม้เวียดนามมีกฎหมายคุ้มครองสิ่งแวดล้อมปี ค.ศ. 2014 และมาตรฐานคุณภาพอากาศในเวียดนาม (QCVN) แต่รัฐบาลยังปรับปรุงกฎหมายสิ่งแวดล้อมอยู่ตลอดเรื่อยมา และคาดว่าจะประกาศใช้ได้ในปี ค.ศ. 2020[15] กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (MONRE) ผู้รับผิดชอบด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมทำได้เพียงสั่งให้หน่วยงานท้องถิ่นติดตั้งระบบตรวจสอบอากาศเพิ่มเติม ในปี ค.ศ. 2016 รัฐบาลเวียดนามได้กำหนดแผนปฏิบัติการแห่งชาติเพื่อการจัดการคุณภาพอากาศ ควบคุม ตรวจสอบการปล่อยมลพิษ และปรับปรุงคุณภาพอากาศ ขณะที่เทศบาลกรุงฮานอยได้กำหนดมาตรฐานการปล่อยมลพิษของยานพาหนะใหม่ การควบคุมการจราจร การติดตั้งสถานีตรวจสอบอากาศ การบังคับใช้มาตรการจัดการฝุ่นในสถานที่ก่อสร้างและรถบรรทุกขนส่ง การจำกัดการใช้เทคโนโลยีการผลิตที่ล้าสมัย เช่น การตรวจสอบการปล่อยมลพิษทางอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้น การห้ามใช้เตาถ่านในเมือง และการส่งเสริมการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 

ต่อมาในปี ค.ศ. 2017 สภาท้องถิ่นกรุงฮานอยได้ลงมติ 95 ต่อ 1 เสียงเห็นชอบให้ยกเลิกการใช้จักรยานยนต์ในเมืองหลวง ภายในปี ค.ศ. 2030 เพื่อลดมลพิษทางอากาศและแก้ไขการจราจรติดขัด[16] แต่รัฐบาลยังไม่มีกระบวนการตรวจสอบ การบังคับใช้ และการกำหนดบทลงโทษหากไม่ปฏิบัติตาม เช่น รัฐบาลมีคำสั่งให้ย้ายโรงงานที่ปล่อยมลพิษสูงทั้ง 117 แห่งออกจากกรุงฮานอยภายในปี ค.ศ. 2020 แต่มีโรงงานเพียง 4 แห่งเท่านั้นที่ทำตาม ขณะที่รัฐกลับไม่มีบทลงโทษใด ๆ ต่อโรงงานที่ยังไม่ย้ายออก[17]

แม้เวียดนามจะเผชิญกับปัญหามลพิษทางอากาศมาแล้วหลายปีแล้ว แต่รัฐบาลไม่ได้แก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุ กลับไปเน้นที่ปลายเหตุ เช่น เมื่อเดือนกันยายน ค.ศ. 2019 ระดับความเข้มข้นของ PM2.5 ในกรุงฮานอยอยู่ในช่วงที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ แทนที่รัฐบาลจะดำเนินการระบุ ประเมินสาเหตุของปัญหาและหาแนวทางแก้ไข แต่รัฐบาลเวียดนามกลับออกคำแนะนำให้ประชาชนอยู่แต่ในที่พักอาศัย ปิดหน้าต่าง งดการออกกำลังกายกลางแจ้ง สวมหน้ากากป้องกันมลพิษเมื่อออกนอกที่พัก และใช้น้ำเกลือล้างจมูกทั้งเด็กและผู้สูงอายุ[18] ต้นปี ค.ศ. 2021 นายกรัฐมนตรีเหงียน ซวนฟุก ((Nguyen Xuan Phuc)) ทำได้เพียงออกคำสั่งในการควบคุมมลพิษทางอากาศเพิ่มเติม ซึ่งคำสั่งดังกล่าวไม่ได้ทำให้มลพิษทางอากาศลดลงเลย ดังจะเห็นได้จากข้อมูลจากรายงานคุณภาพอากาศของโลก พบว่าค่าเฉลี่ย PM2.5 ในกรุงฮานอย จาก 45.8 µg/m3ในปี ค.ศ. 2017 ลดลงเหลือ 40.8 µg/m3 ในปี ค.ศ. 2018 ก่อนที่จะเพิ่มขึ้นเป็น 46.9 µg/m3ในปี ค.ศ. 2019[19]

ในปี ค.ศ. 2019 กรุงฮานอยเป็นเมืองหลวงที่มีมลพิษทางอากาศมากที่สุดอันดับเจ็ดของโลก เวียดนามมีคุณภาพอากาศแย่ที่สุดอันดับที่ 15 จาก 98 ประเทศและเป็นอันดับสองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นรองเพียงอินโดนีเซียเท่านั้น[20] แม้เวียดนามจะเป็นประเทศกลุ่มแรก ๆ ที่ได้ลงนามใน ความตกลงอาเซียนว่าด้วยมลพิษจากหมอกควันข้ามแดน (AATHP) ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2003 แต่มลพิษทางอากาศและ PM2.5 ยังถือเป็นปัญหาร้ายแรงที่สุดที่รัฐบาลกล่าวโทษว่าเป็นผลมาจากฝนที่ตกน้อยลง ชาวนาเผาเศษพืชผลทางการเกษตร และการใช้ถ่านหินในการผลิตไฟฟ้าอย่างแพร่หลายในประเทศ[21]

ภาพที่ 2: 10 อันดับเมืองหลวงที่มีมลพิษสูงที่สุด ประจำปี ค.ศ. 2019
ที่มา: (Quy, 2019)[22]

บทบาทของภาคประชาชน

ปัจจุบัน ประชากรชาวเวียดนามต่างวิตกกังวลต่อปัญหาคุณภาพอากาศ และปัญหาระบบทางเดินหายใจในเด็กที่เพิ่มสูงขึ้น[23] แต่การเคลื่อนไหวภาคประชาสังคมในเวียดนามถูกจำกัดด้วยเหตุผลทางความมั่นคงแห่งรัฐ รัฐบาลเวียดนามจำกัดเสรีภาพในการชุมนุมคลื่อนไหวที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชนอย่างเข้มงวด แม้องค์กรด้านสิ่งแวดล้อมจะสามารถดำเนินการได้ แต่รัฐบาลกลับจับกุมนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนและผู้นำด้านสิ่งแวดล้อม จนต้องลี้ภัยไปสหรัฐอเมริกา ในทางตรงกันข้าม ภาครัฐกลับไม่ได้ตอบสนองต่อการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างจริงจัง จนนำไปสู่การประท้วงเมื่อปี ค.ศ. 2015 ในประเด็นเรื่องมลพิษทางอากาศและเถ้าถ่านที่เกิดจากโรงไฟฟ้าพลังความร้อน Vinh Tan 2 ในจังหวัด Binh Thuan[24] ประชาชนจึงเริ่มเปลี่ยนพฤติกรรมของตนเองก่อน เช่น การสวมใส่หน้ากากเมื่อออกนอกอาคาร ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์จะดับเครื่องยนต์ขณะจอดติดสัญญาณไฟแดง หรือจอดรถนานเกิน 30 วินาที มีการรณรงค์โครงการ Earth Hour ให้ปิดไฟเป็นเวลา 1 ชั่วโมงเพื่อกระตุ้นให้คนประหยัดพลังงาน แต่ยังแก้ปัญหา PM2.5 ในเวียดนามอย่างยั่งยืนไม่ได้


สรุปเวียดนามกับมลพิษทางอากาศ

สถานการณ์ในประเทศเวียดนามแสดงให้เห็นแล้วว่านโยบายของภาครัฐมีความสัมพันธ์โดยตรงกับมลพิษทางอากาศ โดยเฉพาะนโยบายการเติบโตด้านเศรษฐกิจ จนทำให้ประชาชนต้องเผชิญกับปัญหาสิ่งแวดล้อม ขณะเดียวกันมลพิษทางอากาศก็ส่งผลโดยตรงต่อการลงทุนจากต่างชาติ เพราะนักลงทุนหลีกเลี่ยงที่จะมาลงทุนในประเทศที่มีอากาศเป็นพิษ ผนวกกับข้อบังคับและกฎหมายคุ้มครองสิ่งแวดล้อมของเวียดนามยังมีข้อจำกัด และไม่มีประสิทธิภาพมากพอที่จะรับมือกับปัญหาที่เกิดขึ้นในระยะยาวได้ มีเพียงแต่คำสั่ง มาตรการระยะสั้น และการแก้ไขปัญหาทางปลายเหตุ การบังคับใช้กฎหมายยังคงเป็นปัญหา เช่น คำสั่งให้ย้ายโรงงานที่ปล่อยมลพิษสูงออกจากแหล่งชุมชนยังไม่เป็นผลเพราะไม่มีบทลงโทษที่ชัดเจน รัฐบาลไม่เปิดโอกาสให้ภาคประชาชนมีบทบาทในการเรียกร้องอากาศสะอาด มีการจับกุมนักเคลื่อนไหวทางสิ่งแวดล้อม

ในอนาคต รัฐบาลเวียดนามต้องลงทุนในการจัดการและการควบคุมมลพิษให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เปิดทางให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่น ๆ มีบทบาทสำคัญในการแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ประชาชนและชุมชนควรได้รับข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมที่ทันสมัย ถูกต้อง และทันท่วงที เพื่อลดมลพิษและปกป้องสุขภาพของประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด

ติดตามอ่าน ซีรีส์ ส่องเพื่อนบ้าน โดย อ.ดร.ลดาวัลย์ ไข่คำ ย้อนหลัง


[1] อาจารย์ประจำภาควิชารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

[2] Quy, “Air Pollution Top Environmental Concern among Vietnamese Citizens.”

[3] Faulder, “Air Pollution.”

[4] Viet Nam’s Constitution มาตรา 4.

[5] ชาญชัย จิตรเหล่าอาพร, “นโยบายการพัฒนาแบบระบบเศรษฐกิจการตลาดตามแนวทางสังคมนิยมของเวียดนาม.”

[6] Nghiep and Quy, “Measuring the Impact of Doi Moi on Vietnam’s Gross Domestic Product.”

[7] Hieu et al., “Health Risk Assessment of Mobility-Related Air Pollution in Ha Noi, Vietnam,” 1165.

[8] AQICN, “Air Pollution in Vietnam.”

[9] World Bank, “Foreign Direct Investment, Net Inflows (% of GDP) – Vietnam.”

[10] Hien, Bac, and Thinh, “PMF Receptor Modelling of Fine and Coarse PM10 in Air Masses Governing Monsoon Conditions in Hanoi, Northern Vietnam.”

[11] Huy, “Thick Fog Blankets High-Rise Buildings in Hanoi in a Morning in January 2019.”

[12] Thuy et al., “Mass Concentrations and Carbonaceous Compositions of PM0.1, PM2.5, and PM10 at Urban Locations of Hanoi, Vietnam.”

[13] Do, “Vietnam’s Big Air Pollution Challenge”; Thai PBS, “”ฮานอย”ไฟเขียวเลิกใช้จักรยานยนต์ปี 2573 แก้มลพิษทางอากาศ.”

[14] AQI, “Vietnam Air Quality Index (AQI) and Air Pollution Information.”

[15] Ecologic Institute, “Air Quality Management in Vietnam | Ecologic Institute.”

[16] PPTV Online, “กรุงฮานอยเล็งห้ามใช้มอเตอร์ไซค์ ลดมลพิษ-แก้รถติด : PPTVHD36”; ปภังกร เสลาคุณ, “ทุกข์คนเมือง.”

[17] Ha, “Over a Hundred Polluting Factories Remain in Hanoi.”

[18] AQI, “Vietnam Air Quality Index (AQI) and Air Pollution Information”; Faulder, “Air Pollution.”

[19] IQAir, “2019 World Air Quality Report.”

[20] Nguyen et al., “Current Status of PM2.5 Pollution and Its Mitigation in Vietnam.”

[21] Reuters, “Citing ‘Unhealthy Air’, Vietnam Tells People to Limit Outdoor Activities.”

[22] Quy, “Hanoi Ranked World’s Seventh Most Polluted Capital City in 2019.”

[23] MGROnline, “ฮานอยมลพิษพุ่ง ตลอดปี 2560 อากาศสะอาดแค่ 38 วัน”; Quy, “Air Pollution Top Environmental Concern among Vietnamese Citizens.”

[24] Faulder, “Air Pollution.”


เอกสารอ้างอิง

AQI. “Vietnam Air Quality Index (AQI) and Air Pollution Information,” 2020. https://www.iqair.com/us/vietnam.

AQICN. “Air Pollution in Vietnam: Real-Time Air Quality Index Visual Map.” aqicn.org, 2021. https://aqicn.org/map/vietnam/.

Do, Thang Nam. “Vietnam’s Big Air Pollution Challenge.” Diplomat, 2020. https://thediplomat.com/2020/03/vietnams-big-air-pollution-challenge/.

Duc, Hiep. “Air Quality in Ho Chi Minh City, Vietnam.” Transport and Communications Bulletin for Asia and the Pacific, UN ESCAP, October 1, 1999, 67–100.

Ecologic Institute. “Air Quality Management in Vietnam.” Ecologic Institute, 2019. https://www.ecologic.eu/16505.

Faulder, Doninic. “Air Pollution: Asia’s Deadliest Public Health Crisis Isn’t COVID.” Nikkei Asia, 2021. https://asia.nikkei.com/Spotlight/The-Big-Story/Air-pollution-Asia-s-deadliest-public-health-crisis-isn-t-COVID.

Ha, Nguyen. “Over a Hundred Polluting Factories Remain in Hanoi.” VnExpress International, 2019. https://e.vnexpress.net/news/business/economy/over-a-hundred-polluting-factories-remain-in-hanoi-3978570.html.

Hien, P. D., V. T. Bac, and N. T. H. Thinh. “PMF Receptor Modelling of Fine and Coarse PM10 in Air Masses Governing Monsoon Conditions in Hanoi, Northern Vietnam.” Atmospheric Environment 38, no. 2 (January 1, 2004): 189–201. https://doi.org/10.1016/j.atmosenv.2003.09.064.

Hieu, Vu, Xuan Quynh Le, Pham Ho, and Luc Hens. “Health Risk Assessment of Mobility-Related Air Pollution in Ha Noi, Vietnam.” Journal of Environmental Protection 04 (January 1, 2013): 1165–72. https://doi.org/10.4236/jep.2013.410133.

Huy, Giang. “Thick Fog Blankets High-Rise Buildings in Hanoi in a Morning in January 2019.” VnExpress International – Latest News, Business, Travel and Analysis from Vietnam. April 3, 2019. https://e.vnexpress.net/news/news/vietnam-rejects-international-finding-on-hanoi-air-pollution-3904037.html.

IQAir. “2019 World Air Quality Report,” 2020. https://www.iqair.com/blog/report-over-90-percent-of-global-population-breathes-dangerously-polluted-air.

MGROnline. “ฮานอยมลพิษพุ่ง ตลอดปี 2560 อากาศสะอาดแค่ 38 วัน.” MGROnline, 2018. https://mgronline.com/indochina/detail/9610000009670.

Nghiep, Le Thanh, and Le Huu Quy. “Measuring the Impact of Doi Moi on Vietnam’s Gross Domestic Product.” Asian Economic Journal 14, no. 3 (2002): 317–32. https://doi.org/10.1111/1467-8381.00114.

Nguyen, Sen. “In Vietnam, Air Pollution a Bigger Daily Threat than Covid-19.” South China Morning Post. January 27, 2021, sec. This Week in Asia. https://www.scmp.com/week-asia/health-environment/article/3119332/vietnam-air-pollution-bigger-daily-threat-covid-19.

Nguyen, Thanh, Hoang Le, Thi Mac, Nguyen Thi Trang Nhung, Ha Pham Van, and Hung Bui. “Current Status of PM2.5 Pollution and Its Mitigation in Vietnam.” Global Environmental Research 22, no. 2008 (June 22, 2019): 73–83.

PPTV Online. “กรุงฮานอยเล็งห้ามใช้มอเตอร์ไซค์ ลดมลพิษ-แก้รถติด : PPTVHD36.”PPTV Online, 2017. https://www.pptvhd36.com/news/%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%94%E0%B9%87%E0%B8%99%E0%B8%A3%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%99/59193.

Quy, Nguyen. “Air Pollution Top Environmental Concern among Vietnamese Citizens.” VnExpress International – Latest News, Business, Travel and Analysis from Vietnam, March 13, 2021, VnExpress International edition. https://e.vnexpress.net/news/news/air-pollution-top-environmental-concern-among-vietnamese-citizens-4247705.html.

———. “Hanoi Ranked World’s Seventh Most Polluted Capital City in 2019.” VnExpress International – Latest News, Business, Travel and Analysis from Vietnam. 2020. https://e.vnexpress.net/news/news/hanoi-ranked-world-s-seventh-most-polluted-capital-city-in-2019-4061412.html.

Reuters. “Citing ‘Unhealthy Air’, Vietnam Tells People to Limit Outdoor Activities.” Reuters, October 1, 2019. https://www.reuters.com/article/us-vietnam-pollution-idINKBN1WG3AZ.

Thai PBS. “”ฮานอย”ไฟเขียวเลิกใช้จักรยานยนต์ปี 2573 แก้มลพิษทางอากาศ.” Thai PBS, July 5, 2017. https://news.thaipbs.or.th/content/264106.

Thuy, Nguyen Thi Thu, Nghiem Trung Dung, Kazuhiko Sekiguchi, Ly Bich Thuy, Nguyen Thi Thu Hien, and Ryosuke Yamaguchi. “Mass Concentrations and Carbonaceous Compositions of PM0.1, PM2.5, and PM10 at Urban Locations of Hanoi, Vietnam.” Aerosol and Air Quality Research 18, no. 7 (2018): 1591–1605. https://doi.org/10.4209/aaqr.2017.11.0502.

Viet Nam’s Constitution (1992).

World Bank. “Foreign Direct Investment, Net Inflows (% of GDP) – Vietnam.” Washington D.C.: World Bank Group, 2021. https://data.worldbank.org/indicator/BX.KLT.DINV.WD.GD.ZS?end=2019&locations=VN&start=1970&view=chart.

ชาญชัย จิตรเหล่าอาพร. “นโยบายการพัฒนาแบบระบบเศรษฐกิจการตลาดตามแนวทางสังคมนิยมของเวียดนาม.” วารสารรัฐศาสตร์ปริทรรศน์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 4, no. 1 (June 28, 2017): 43–66.

ปภังกร เสลาคุณ. “ทุกข์คนเมือง: เมื่อเวียดนามต้องรับมือกับฝุ่น PM2.5.” สถาบันเอเชีย, 2019. http://www.ias.chula.ac.th/ias/th/Article-Detail.php?id=43.

Last Updated on พฤษภาคม 8, 2021

Author

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น