ดร.นพ.วิรุฬ ลิ้มสวาท
หัวหน้ากลุ่มวิจัยสังคมและสุขภาพ สำนักวิชาการสาธารณสุข
สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข
“เรารู้ได้อย่างไรว่าผู้ป่วยคนนี้ป่วยจาก PM2.5”
ในเชิงความรู้สึกและการรับรู้ของสังคมเชื่อว่า ณ เวลานี้ สังคมไทยเดินมาถึงจุดที่ไม่ต้องถกเถียงกันอีกแล้วว่า “ฝุ่น PM2.5 ส่งผลต่อสุขภาพหรือไม่” เพราะแม้จะเป็นคนธรรมดาร่างกายแข็งแรงก็ยังรู้สึกได้ถึงความแตกต่างตั้งแต่ลักษณะการหายใจ อาการคัดจมูก แสบตาหรือรู้สึกไม่สบายตัวเมื่ออยู่ในที่โล่งเป็นเวลานาน แต่ในทางนโยบายและการขับเคลื่อนแก้ไขปัญหายังมีความจำเป็นที่จะต้องสืบสาวร่องรอยหาเหตุปัจจัยเพื่อตอบคำถามที่ลึกซึ้งเป็นระบบว่า “PM2.5 ส่งผลต่อสุขภาพอย่างไร” การตอบคำถามนี้ไม่เพียงเพื่อขยายความเข้าใจและช่วยในการวินิจฉัยหรือรักษาทางการแพทย์เท่านั้น แต่มันยังเป็นการวินิจัยฉัยเพื่อหาหนทางรักษาผู้ป่วยที่ชื่อว่า “ประเทศไทย” ให้บรรเทาอาการจากปัญหาที่แก้ไม่ตกอย่าง PM2.5 ได้อย่างตรงจุดขึ้น
SDG Insights ฉบับนี้ ชวนคลี่สายเกี่ยวโยงของ PM2.5 ต่อสุขภาพคนไทย และสิ่งที่ต้องเติมเต็มเพื่อจัดการกับปัญหาไปกับ ดร.นพ.วิรุฬ ลิ้มสวาท หัวหน้ากลุ่มวิจัยสังคมและสุขภาพ สำนักวิชาการสาธารณสุข สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข และหนึ่งในผู้ก่อตั้งเครือข่ายอากาศสะอาด
เริ่มต้นการพูดคุยเราขอให้คุณหมอวิรุฬช่วยไขข้อข้องใจของใครหลายคนว่า ในภาคสาธารณสุขเราใช้อะไรเป็นเกณฑ์ในการบอกว่าคนนี้ป่วยจาก PM2.5? คุณหมอวิรุฬกล่าวว่า
แนวทางในการหาสาเหตุส่วนใหญ่เราใช้ข้อมูลจากประวัติของผู้ป่วย และข้อมูลสถานการณ์ PM2.5 ในพื้นที่และช่วงเวลานั้น เช่น ในกรุงเทพมหานครตอนนี้จะมีคลินิก PM2.5 อยู่ตามโรงพยาบาลต่างๆ เพราะฉะนั้นคนที่เข้าไปใช้บริการที่คลินิกนี้ก็ย่อมคาดว่าสิ่งที่กำลังเป็นอยู่นั้น มีสาเหตุมาจาก PM2.5 หรือฝุ่นพิษที่เพิ่มขึ้น ดังนั้น ในทางการแพทย์เราจะวินิจฉัยสาเหตุจากประวัติเป็นส่วนใหญ่ ประกอบกับข้อมูลสถานการณ์ PM2.5 ในบริเวณที่อยู่อาศัยของคนไข้แต่ละคน ซึ่งในมุมของการวินิจฉัยว่า PM2.5 มีผลในทันที หรือเรียกว่า “ระยะเฉียบพลัน” นั้น ก็จะมีการส่งผลที่ตรงไปตรงมา เช่น ปัญหาระบบทางเดินหายใจ ปัญหาด้านผิวหนัง ปัญหาด้านดวงตา หรือปัญหาการกำเริบของอาการบางอย่าง ซึ่งอาการส่วนใหญ่ที่เห็นได้จากรายงานนั้น ผู้ที่ได้รับผลกระทบมักจะเป็นอาการข้างเคียงที่ไม่รุนแรง ส่วนอาการที่รุนแรงขึ้นอาจจะเกิดจากหลายสาเหตุ และมีความซับซ้อน การที่จะได้ข้อมูลอย่างชัดเจนว่ามาจาก PM2.5 หรือไม่นั้น จำเป็นต้องใช้ข้อมูลทางระบาดวิทยา ซึ่งตอนนี้ประเทศไทยเรายังขาดการทำงานในส่วนนี้อยู่
คุณหมอวิรุฬกล่าวต่อไปว่า การมีข้อมูลในระบาดวิทยาทำให้เราเห็นปัจจัยที่มีผลต่อปัญหาสุขภาพที่ชัดเจนขึ้น เช่น การวิเคราะห์พื้นที่ในจังหวัดเชียงใหม่ที่มีนักวิชาการเก็บข้อมูลอย่างต่อเนื่อง นำมาวิเคราะห์อย่างชัดเจนจนสามารถชี้ได้ว่ามีความสัมพันธ์กันอย่างมีนัยยะสำคัญทางสถิติ ว่าปัญหาสุขภาพนี้เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนสัมพันธ์กับแนวโน้มของ PM2.5 ในพื้นที่เพิ่มขึ้น
เมื่อได้คำตอบว่ากระบวนการทางระบาดวิทยาจำเป็นและเชียงใหม่เคยทำแล้ว ก็เกิดคำถามแบบอัตโนมัติตามขึ้นมาทันทีว่าทำไมพื้นที่อื่นจึงไม่ทำ เราขาดทรัพยากรหรือปัจจัยอะไร ที่ทำให้ไม่สามารถทำได้อย่างที่เชียงใหม่?
“ผมคิดว่าเราขาดการจัดการ” คุณหมอวิรุฬกล่าวถึงความจำเป็นของการอาศัยจัดการในลักษณะที่ตั้งเป็นโครงการ (project) ขึ้นมาเพื่อจัดการเรื่องนี้โดยเฉพาะ โดยที่การจัดทำโครงการนี้ต้องมีทรัพยากรเสริมทั้งเรื่องคน และเงินที่จะสนับสนุน “เรายังขาดการเชื่อมประสานและระดมทรัพยากรเข้ามาดำเนินการในเรื่องนี้ให้เห็นผลเป็นรูปธรรมภายในระยะเวลาที่กำหนด” ข้อดีของการจัดการในรูปแบบโครงการ คือ มีการกำหนดขั้นตอนที่จะทำแต่ละช่วงเวลาตลอดโครงการด้วย ซึ่งจะแตกต่างจากการจัดการในรูปแบบนโยบาย เช่น แผนยุทธศาสตร์ชาติที่มีการกำหนดไว้แต่ก็ไม่ได้ผลจริง เพราะไม่ได้มีการจัดการอย่างเป็นระบบ
กล่าวคือ โครงการจะต้องมีการกำหนด 2 ส่วน คือ เป้าหมายที่ชัดเจน และกรอบเวลาที่มีความเป็นไปได้ ไม่ใช่เพียงเป็นการตั้งแผนอยู่ลอยๆ แต่ไม่มีทรัพยากรเพื่อจัดการสิ่งนี้ให้เกิดขึ้น โครงการจะมาจากการวางแผนยุทธศาสตร์ ซึ่งการวางแผนยุทธศาสตร์ก็นำมาจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหรือปัจจัยที่เกี่ยวข้อง โดยดูว่าปัจจัยอะไรที่สำคัญที่สุดที่ต้องดำเนินการให้เห็นผล แล้วนำเอาปัจจัยนั้นมาสร้างเป็นโครงการให้สำเร็จในช่วงระยะสั้น ก็จะช่วยสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ “ผมมองว่าเรายังขาดการคิดเชิงยุทธศาสตร์ให้ชัดว่า การจะแก้ไขเรื่องนี้ควรจะแก้ไขตรงไหน อย่างไร”
นอกจากมิติการเจ็บป่วยทางเดินหายใจแล้ว PM2.5 ยังมีผลกระทบทางสุขภาพในมิติอื่นอีกหรือไม่?
ถ้าเป็นมิติสุขภาพทางกายว่าด้วยเรื่องโรคต่างๆ ที่เป็นแล้ว จะมีทั้งโรคเฉียบพลันและโรคเรื้อรัง โดยผลกระทบเฉียบพลันจาก PM2.5 เรามักจะเห็นชัดและวัดได้ แต่สำหรับผลกระทบเรื้อรังที่มีขนาดของ PM2.5 นั้นต้องอาศัยการศึกษาทางระบาดวิทยา คุณหมอวิรุฬกล่าวถึงที่มาของคำว่า “PM 2.5” ว่ามีการศึกษาทางระบาดวิทยาใน 6 เมือง ของประเทศสหรัฐอเมริกา ให้ทุนการศึกษาโดย U.S. Environmental Protection Agency (USEPA) ผลการศึกษานี้พบว่า อัตราการเสียชีวิตใน 6 เมืองนี้ มีความสัมพันธ์กันอย่างชัดเจนกับขนาดของ PM2.5 ผลของการที่ฝุ่นขนาดนี้สามารถเข้าไปถึงถุงลมฝอยในปอดได้นั้น หมายความว่ามันจะซึมเข้าสู่กระแสเลือด แล้วทำให้เกิดการอักเสบและระคายเคืองทั่วทั้งร่างกายได้ รวมถึงโรคเรื้อรังประเภท Metabolic Syndrome เช่น โรคเบาหวาน ที่เกิดจากเซลล์ที่ผลิตอินซูลินมีปัญหาเรื้อรัง
ปัจจุบันองค์การอนามัยโลกได้ประกาศให้เป็นที่ทราบโดยทั่วกันว่า PM2.5 เป็นหนึ่งปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคไม่ติดต่อ นอกเหนือจากการไม่ออกกำลังกาย หรือการสูบบุหรี่ เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่าผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวจาก PM2.5 นั้นมีอีกเยอะมาก นอกจากนี้ PM 2.5 ยังเป็นสารก่อมะเร็งอันดับหนึ่งอีกด้วย เพราะนอกจากตัวขนาดแล้วยังมีแกนคาร์บอนที่ดูดซับเอาสารพิษจำนวนมากถึง 500-600 ชนิด ขึ้นอยู่กับแหล่งกำเนิด
มองผลกระทบของฝุ่นจิ๋วด้วยเลนส์ที่กว้างขึ้น
เมื่อการศึกษาและข้อมูลเชิงการแพทย์ชี้ให้เห็นว่าฝุ่นจิ๋วนี้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพจริง ทว่าเมื่อถอยห่างออกมามองด้วยเลนส์ที่กว้างขึ้นจะพบว่าคนแต่ละกลุ่มนั้นได้รับผลกระทบไม่เท่ากันแม้จะอยู่ในพื้นที่เดียวกันอะไรเป็นปัจจัยที่ทำให้คนแต่ละกลุ่มได้รับผลกระทบแตกต่างกัน?
การได้รับผลกระทบที่แตกต่างกัน ในทางร่างกายอาจแบ่งได้เป็น 2 ส่วน อย่างแรก คือ ความเปราะบางทางร่างกายที่ไม่เหมือนกัน เช่น เด็กที่เป็นโรคหอบหรือภูมิแพ้จะได้รับผลกระทบมากกว่าเพื่อนคนอื่นที่อยู่ในห้องเดียวกัน หรือแม้กระทั่งความแตกต่างที่ขึ้นอยู่กับช่วงวัย เช่นผู้สูงอายุก็จะมีความเปราะบางมากกว่าวัยอื่น นอกจากนี้ยังมีกลุ่มสตรีมีครรภ์ที่จะมีความเปราะบางมากกว่าด้วยเช่นเดียวกันเนื่องจากสภาพร่างกาย และอย่างที่สอง คือ โรคประจำตัว ในบางโรคจะถูกกระตุ้นให้มีความรุนแรงขึ้นด้วยผลกระทบจาก PM2.5
ส่วนผลกระทบด้านสังคม อาจมีเรื่องความแตกต่างด้านอาชีพ ที่จำเป็นต้องอยู่กลางแจ้งตลอดเวลา เช่น ตำรวจจราจร พนักงานกวาดถนน หรือพนักงานขนส่งมวลชน เหล่านี้เป็นปัจจัยในแง่ของวิถีชีวิต แต่ในอีกมิติของความเหลื่อมล้ำ คือ ความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึง (access) สิ่งที่ช่วยปกป้องตัวเองจาก PM2.5 ทั้งในมุมของการเข้าถึงอุปกรณ์ป้องกันที่มีคุณภาพ ในราคาที่เข้าถึงได้ และในมุมของการเข้าถึงข้อมูลและความรู้ที่จะทำให้เกิดความเข้าใจว่าตนเองหรือสมาชิกในครอบครัวคนใดมีความเปราะบางทางร่างกาย ที่จำเป็นต้องได้รับการปกป้องเป็นพิเศษ รวมถึงการได้รับข้อมูลสถานการณ์อย่างถูกต้อง ให้กลุ่มเปราะบางสามารถได้รับการปกป้องผลกระทบได้ดีขึ้น
การทราบถึงความเสี่ยงทำให้คนสามารถหาทางลดความเสี่ยงหรือป้องกันได้ แต่ก็มีคนบางกลุ่มที่รู้ว่าตนเองเสี่ยงกับ PM2.5 แต่ก็ไม่สามารถปกป้องหรือดูแลตนเองได้ เช่น กลุ่มคนไร้บ้าน แม้จะมีระบบคุ้มครองทางสังคมที่ลงมาจัดการเรื่องที่อยู่อาศัย อาหาร และเครื่องนุ่งห่มแล้ว เราต้องคำนึงถึงความปลอดภัยทางอากาศเพิ่มขึ้นด้วยหรือไม่?
ในประเด็นนี้คุณหมอวิรุฬกล่าวว่า อุปกรณ์ส่วนหนึ่งที่สำคัญในการรับมือกับภัยพิบัติหรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพื่อป้องกันผลกระทบจาก PM2.5 ให้แก่กลุ่มเปราะบางนั้น สิ่งที่จะต้องเตรียมไม่ใช่แค่หน้ากากอนามัย หรือเครื่องฟอกอากาศ แต่คือสิ่งที่เรียกว่า “ห้องปลอดฝุ่น” สำหรับคนที่เป็นกลุ่มเปราะบาง ซึ่งถ้าหากเป็นกลุ่มคนที่มีบ้านอาจจะจัดการได้โดยการทำห้องให้ปิดมิชิด และมีเครื่องฟอกอากาศภายในห้อง แต่สำหรับกลุ่มคนไร้บ้านเขาจะสามารถเข้าถึงห้องปลอดฝุ่นเพื่อปกป้องตนเองได้อย่างไร อันนี้ต้องเป็นการจัดการเชิงระบบ ในการสร้าง Social Protection และ Health Security ซึ่งต้องมีการจัดการวางระบบให้คนใช้บริการสามารถค้นหาได้ว่าในสถานการณ์เสี่ยง เขาสามารถมาพึ่งพิงได้ที่นี่
ในฐานะที่คุณหมอได้ติดตามประเด็นนี้อยู่มีความเห็นว่า ประเทศไทยมีความพร้อมในการรับมือด้านสุขภาพมากน้อยแค่ไหนบ้าง? หรือมีมิติไหนที่ยังต้องจัดการอีกบ้าง?
ความพร้อมในการรับมือด้านสุขภาพนั้น เรามีโครงข่ายในการบริการด้านสุขภาพที่เพียงพอ สิ่งที่เราต้องการคือการจัดการอย่างเป็นระบบ ที่พร้อมให้บริการแก่กลุ่มเปราะบางให้สามารถเข้าถึงได้ ส่วนในเรื่องความพร้อมด้านองค์ความรู้ผมคิดว่าเรามีเพียงพอแล้ว เช่นเดียวกับความพร้อมด้านความตื่นตัวของประชาชน ในการเชื่อมโยงกับระบบบริการดูแลสุขภาพในกรณีที่เกิดวิกฤติเรื่องฝุ่นขึ้นมาในพื้นที่นั้นๆ ในขณะที่ด้านความท้าทายคุณหมอวิรุฬมองว่า ยังมีความท้าทายในเรื่องความพร้อมของอุปกรณ์อย่างหน้ากากอนามัยนั้นมีอยู่ทั่วถึง
“ต้องขอบคุณโควิดที่ทำให้คนคุ้นชินกับการใช้ชีวิตด้วยการสวมใส่หน้ากากอนามัยด้วย อีกความพร้อมหนึ่งที่สำคัญคือความพร้อมในการรับมือกับภัยพิบัติขนาดใหญ่ด้านสุขภาพ ซึ่งโควิดทำให้เราได้เรียนรู้ว่า บางอย่างต้องอาศัยฟังสัญญาณจากส่วนกลาง ในการแนะนำว่าควรปฏิบัติตัวอย่างไรต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ทั้งนี้การเตรียมพร้อมเรื่องห้องปลอดฝุ่น เครื่องฟอกอากาศที่มีราคาถูกมากขึ้น เครื่องวัดปริมาณฝุ่นที่เข้าถึงได้ง่ายขึ้น รวมถึงความพร้อมเรื่องความเข้าใจคำว่า PM2.5 ได้เข้ามาเป็นคำหนึ่งในชีวิตประจำวันไปแล้วนั้น ถือว่าเหล่านี้เป็นความพร้อมเชิงวัฒนธรรมที่จะช่วยสร้างความเปลี่ยนแปลงในเรื่องนี้ได้”
เมื่อข้อมูลที่เป็นระบบและน่าเชื่อถือนั้นสำคัญต่อการวางแผนและการแจ้งเตือน แต่หากพิจารณาความพร้อมในเชิงทรัพยากร เราจะพบว่าปัจจุบันประเทศไทยเรามีสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศไม่ครอบคลุมทุกจังหวัด เราจึงชวนคุณหมอตั้งข้อสังเกตว่า แม้ว่าเครื่องตรวจวัดคุณภาพที่มีมาตรฐานจะมีราคาสูงถึงเครื่องละหนึ่งล้านบาท แต่ถ้ามีการติดตั้งครบทุกจังหวัดนั้น จะมีความคุ้มทุนในระยะยาวมากกว่ามิใช่หรือ ในประเด็นนี้คุณหมอวิรุฬให้ความเห็นว่า
“เมื่อพูดถึงเรื่องความคุ้มทุนในการลงทุนแล้ว เราอาจจะต้องไปถกเถียงในการใช้งบประมาณกับด้านอื่นๆ ด้วย เพราะงบประมาณนั้นมีอยู่อย่างจำกัด โดยหากมองลงลึกไปในที่มาของงบประมาณว่าหน่วยงานใดเป็นผู้รับผิดชอบ อย่างสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศเดิมทีอยู่ภายใต้การดูแลของกรมควบคุมมลพิษ การมีงบประมาณที่จำกัดนั้น ต่อให้กรมฯทำหน้าที่อย่างเต็มกำลังแล้ว ก็จะยังได้เท่านี้ ดังนั้น คำถามสำคัญ คือ ใครจะเป็นผู้มีส่วนในการรับผิดชอบต่อการติดตั้งสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศ?” คุณหมอวิรุฬกล่าวต่อว่า“คำถามนี้ควรจะเป็นสิ่งที่ตั้งคำถามขึ้นมาในสังคม ถ้าเราต้องการให้ปัญหา PM2.5 ได้รับการจัดการในลักษณะที่ปกป้องกลุ่มเปราะบางทางสุขภาพได้อย่างครอบคลุมทั่วถึงจริง ๆ”
พ.ร.บ.อากาศสะอาด ในฐานะเครื่องมือสำคัญเพื่อให้ทุกคนมีสิทธิที่จะหายใจในอากาศสะอาด
นอกจากความหนักหนาของสถานการณ์ฝุ่นยังมีอีกหนึ่งประเด็นที่หลายฝ่ายพยายามผลักดันนับแต่สถานการณ์ฝุ่น PM2.5 เริ่มเกิดขึ้นในประเทศไทยและเชื่อว่าจะเป็นกลไกสำคัญที่ให้อำนาจในการจัดการเรื่องนี้นั่นคือ “พ.ร.บ. อากาศสะอาด”
ถ้าหากมีการผ่านร่างกฏหมายได้สำเร็จและมีผลบังคับใช้ พ.ร.บ. อากาศสะอาด จะเป็นตัวช่วยในการอุดช่องว่างในการดำเนินการอย่างไรบ้าง?
คุณหมอวิรุฬกล่าวถึงความจำเป็นที่ พ.ร.บ. ฉบับประชาชนนี้จำเป็นต้องเกี่ยวข้องกับเงินทุนเพราะหากพิจารณาบนพื้นฐานของหลักการผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย ผู้ที่สร้างมลพิษ ก็ควรจะเป็นผู้ที่รับผิดชอบในการจ่ายเงินเข้ากองทุนเพื่อนำไปช่วยเหลือเยียวยา และในแง่ของการบริหารจัดการนั้นเราไม่สามารถไปบังคับอย่างเดียวได้ มาตรการที่ออกมาจึงต้องมีสมดุลทั้งในการบังคับและการให้รางวัลด้วย เพื่อให้การบริหารจัดการเป็นไปอย่างรอบด้าน ในส่วนของ (ร่าง) พ.ร.บ. อากาศสะอาดฉบับประชาชนที่คุณหมอวิรุฬมีโอกาสเข้าไปร่วมร่างนั้นเป็นประเด็นเกี่ยวกับการรับรอง “สิทธิที่จะรู้ (right to know)” ประชาชนมีสิทธิที่จะรับรู้ โดยเฉพาะการรู้สถานการณ์คุณภาพอากาศในพื้นที่ของตัวเอง ซึ่งการกำหนดสิทธิที่จะรู้ และสิทธิที่จะหายใจอากาศที่สะอาดไว้ในกฏหมายนี้ จะเป็นพื้นฐานในการที่เราจะไปหาผู้ที่มีส่วนรับผิดชอบ ผู้ที่มีหน้าที่พิทักษ์รักษาสิทธิเหล่านี้ให้ประชาชนได้ชัดเจนขึ้น
นอกจาก พ.ร.บ.อากาศสะอาดจะทำหน้าที่ให้เกิดการบริหารจัดการอย่างรอบด้าน และประกันสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนแล้ว คุณหมอวิรุฬยังชี้ให้เห็นอีกว่าการมีกฎหมายฉบับนี้เสมือนกับมีเครื่องมือ แต่ยังต้องอาศัยเครื่องมืออื่นเข้ามาร่วมด้วยนั่นคือ “การบริหารจัดการแบบบูรณาการ” เพราะเรามีกลไกที่เกี่ยวข้องกับการจัดการมลพิษอยู่หลายส่วน แต่มีความย้อนแย้งกัน ยกตัวอย่างเช่นมลพิษจากภาคอุตสาหกรรมอยู่ภายใต้การดูแลของกรมโรงงาน ซึ่งมีหน้าที่ทั้งในการควบคุมและการให้ใบอนุญาต แต่ยังขาดกฎหมายที่กระตุ้นให้โรงงานอุตสาหกรรมชี้แจงรายการที่ครอบครองและรายงานมลพิษที่ปล่อยออกมา หรือที่รู้จักกันในชื่อ “PRTR” อันสะท้อนถึงความจำเป็นต้องมีการบริหารจัดการแบบบูรณาการ โดยมองให้ครบทุกด้าน ทั้งแหล่งมลพิษในภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ ภาคการเกษตร ที่เป็นแหล่งหลักในการควบคุมมลพิษ ควรจะมีการบริหารจัดการที่เชื่อมโยงกัน รวมไปถึงการจัดการมลพิษข้ามแดน พ.ร.บ.อากาศสะอาดจึงมีส่วนสำคัญและจำเป็นต่อการแก้ไขปัญหา PM2.5 แต่มันไม่ใช่ยาสารพัดนึกจำเป็นต้องอาศัยการบริหารจัดการแบบบูรณาการเข้ามาร่วมด้วย
ความท้าทายของผู้เข้ามารับหน้าที่บริหารจัดการชุดต่อไปและสิ่งที่ต้องคิดคำนึง
ในวาระที่สังคมไทยกำลังเปลี่ยนผ่านรัฐบาลผู้มีบทบาทกำหนดนโยบายสิ่งที่คุณหมอวิรุฬมองว่าควรตระหนักคือ ต้องตระหนักว่าสิ่งนี้เป็นความต้องการของประชาชน (priority)
“ผมมองคนไทยมีความพร้อมเชิงวัฒนธรรมที่เชื่อว่า ปัญหายากนั้นสามารถแก้ไขได้ เพราะฉะนั้นปัญหา PM2.5 เห็นได้ชัดว่าเป็นสิ่งที่ประชาชนตระหนักกันอยู่แล้ว ดังนั้น เราต้องการ 2 ส่วน คือ ความพร้อมทางด้านการเมืองที่ตอบสนองต่อความต้องการของประชาชน และความพร้อมของภาคประชาชน ที่เป็น Active Citizen ที่ติดตามสถานการณ์เรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง”
ความพยายามต่อไปของภาคประชาชน คือ การผลักดันประเด็น PM2.5 ให้เป็นนโยบายของรัฐบาลที่ประชาชนจะเฝ้าติดตาม รวมถึงมีการทำงานทางวิชาการ มีการเคลื่อนไหวทางสังคมที่ติดตามเรื่องนี้และสื่อสารกับสังคมอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดความเคลื่อนไหวไปสู่การเปลี่ยนแปลงทั้งการเชื่อมโยงจากภาคประชาชนและภาคการเมือง จึงจำเป็นต้องมีส่วนร่วมจากภาควิชาการเข้ามา ทั้งนี้ เครือข่ายอากาศสะอาดเองได้มีการรวมตัวกันของนักวิชาการจากหลากหลายสาขา ที่มีการทำงานแบบวิชาการอย่างชัดเจน มีมาตรฐาน และมีความต่อเนื่อง ที่จะสามารถเข้ามาสนับสนุนเรื่องนี้ได้
ไม่ใช่แค่ปัญหาแต่เป็นเครื่องมือสร้าง Literacy
“เราน่าจะมองการจัดการกับ PM2.5 ว่าเป็นเครื่องมือในการสร้าง Health Literacy หรือ เป็นการสร้างความฉลาดรู้ทางสุขภาพให้แก่ประชาชน”
คุณหมอวิรุฬมองว่าในปัญหาหนึ่ง ๆ มักมีปัจจัยที่มองไม่เห็นอยู่ ถ้าเราสามารถทำให้ประชาชนเข้าใจเรื่องนี้ มีความตื่นตัวที่จะมีความรู้ และมีการติดตามสถานการณ์ รวมถึงเข้าใจว่าการแก้ปัญหาเรื่องนี้ไม่ใช่แค่การแก้ปัญหาในระดับบุคคลแต่ต้องช่วยกันแก้ในเชิงระบบด้วย ความเข้าใจเหล่านี้จะสามารถนำไปใช้กับการแก้ปัญหาสุขภาพในด้านอื่นๆ ได้ด้วย
“เรื่องที่ผมมักเล่าในวงสนทนาให้ภาพชัดเจนและเข้าใจเรื่องความเหลื่อมล้ำทางสุขภาพ คือ การเล่าภาพเปรียบเทียบบ้าน 2 หลัง มีเด็กที่เป็นโรคหอบหืดในบ้านทั้งสองหลัง บ้านหลังหนึ่งอยู่ในรั้วของบ้านจัดสรร มีห้องแอร์ มีเครื่องฟอกอากาศ เวลาออกจากบ้านเด็กคนนั้นก็ขึ้นรถส่วนตัว แต่ตรงกันข้ามกับบ้านอีกหลังหนึ่ง เป็นบ้านที่อยู่ในชุมชนแออัด พ่อแม่ของเด็กคนนั้นไม่เคยรู้เรื่องเกี่ยวกับ PM2.5 จึงไม่ได้มีอะไรป้องกันเด็กเลย แม้ว่าเด็กสองคนนี้หายใจอากาศเดียวกัน กลับได้รับผลกระทบที่ต่างกันสิ้นเชิง”
การเชิญชวนคนให้ตระหนักให้เห็นอีกหลายมุมของปัญหาสุขภาพชวนให้คนมาร่วมเป็น Active Citizen ในการสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับสังคม เพื่อที่จะปกป้องสิทธิของตนเองและผู้อื่น จึงจะช่วยทำให้เราเห็นภาพการแก้ปัญหาได้ชัดเจนมากขึ้น และเราน่าจะมีความหวังในการสร้างความเปลี่ยนแปลงในสังคมได้มากขึ้นด้วย
แบ่งปันมุมมองในฐานะคนทำงานข้ามศาสตร์ สิ่งที่ได้จากการทำงานแบบบูรณาการกับเครือข่ายอากาศสะอาด
อยากแบ่งปันในมุมของการทำงานที่เราฟังกันและกัน เรียนรู้ซึ่งกันและกัน รู้จักขอความช่วยเหลือกัน เรื่องไหนที่เราเชี่ยวชาญก็แบ่งปัน ส่วนเรื่องไหนเราที่ไม่เชี่ยวชาญก็ให้คนที่เชี่ยวชาญทำ อย่างให้ผมรีวิวกฏหมายอากาศสะอาดก็สามารถทำได้แบบนักวิชาการ แต่เราจะไม่เข้าใจมิติกฏหมายที่ลึกซึ้งได้เท่ากับนักกฏหมายสิ่งแวดล้อมที่เป็นมืออาชีพ เพราะฉะนั้น วัฒนธรรมการทำงานเป็นทีมเป็นสิ่งสำคัญมากในประเด็นด้านสุขภาพ
พิมพ์นารา อินต๊ะประเสริฐ – สัมภาษณ์และเรียบเรียง
อติรุจ ดือเระ – พิสูจน์อักษร
วิจย์ณี เสนแดง – ภาพประกอบ
● อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
– SDG Insights | ชำแหละนโยบายแก้ฝุ่น PM2.5 ในภาคเกษตร : อะไรคือต้นเหตุของความไม่ยั่งยืน
– การแก้ไขปัญหา PM 2.5 อย่างยั่งยืน : เมื่อการสร้างความตระหนักไม่เพียงพอ
– คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติมีมติปรับลดค่ามาตรฐานฝุ่น PM2.5 ในรอบ 12 ปี ใกล้เคียงกับค่ามาตรฐานของ WHO มากขึ้น
– SDG Updates | สภาพความเป็นจริงที่รู้สึกได้ : ความแตกต่างในการจัดการปัญหาฝุ่น PM2.5 ระหว่างกรุงเทพฯ และจังหวัดในภาคเหนือและภาคใต้
– SDG Updates | พ.ร.บ. อากาศสะอาด หลักประกันให้คนไทยกลับมาสูดอากาศที่ดีต่อลมหายใจ – SDG Move
– SDG Insights | ส่องเพื่อนบ้าน IV : มาตรการล็อกดาวน์กับ PM2.5 ทั่วโลก
ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี
– (3.4) ลดการตายก่อนวัยอันควรจากโรคไม่ติดต่อให้ลดลงหนึ่งในสาม ผ่านทางการป้องกันและการรักษาโรค และสนับสนุนสุขภาพจิตและความเป็นอยู่ที่ดี ภายในปี 2573
– (3.9) ลดจำนวนการตายและการเจ็บป่วยจากสารเคมีอันตรายและจากมลพิษและการปนเปื้อนทางอากาศ น้ำ และดิน ให้ลดลงอย่างมาก ภายในปี 2573
#SDG11 เมืองและชุมชนที่ยั่งยืน
– (11.6) ลดผลกระทบทางลบต่อสิ่งแวดล้อมต่อหัวประชากรในเขตเมือง รวมถึงการให้ความสนใจเป็นพิเศษต่อการจัดการคุณภาพอากาศ การจัดการของเสียของเทศบาล และการจัดการของเสียอื่น ๆ ภายในปี 2573
#SDG16 ความสงบสุข ยุติธรรม เเละสถาบันเข้มเเข็ง
– (16.7) สร้างหลักประกันว่าจะมีกระบวนการตัดสินใจที่มีความรับผิดชอบ ครอบคลุม มีส่วนร่วม และมีความเป็นตัวแทนที่ดี ในทุกระดับการตัดสินใจ
– (16.10) สร้างหลักประกันว่าสาธารณชนสามารถเข้าถึงข้อมูลและมีการปกป้องเสรีภาพขั้นพื้นฐาน ตามกฎหมายภายในประเทศและความตกลงระหว่างประเทศ
Last Updated on มิถุนายน 8, 2023