SDG Insights | เมื่อค่าไฟถูก ≠ ค่าไฟแฟร์ การเปลี่ยนผ่านพลังงานที่เป็นธรรม จึงสำคัญต่ออนาคต

รศ. ดร.ชาลี เจริญลาภนพรัตน์
สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร (SIIT)
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ปัจจุบัน ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ประชาชนจำเป็นต้องจ่ายราคา ‘ค่าไฟ’ ที่แพงขึ้นเป็นอย่างมาก ซึ่งเป็นราคาที่ไม่สมเหตุสมผลกับความเป็นจริง เนื่องจากการแก้ไขปัญหาที่ไม่ตรงกับความต้องการของประชาชน ที่ผ่านมาพบว่า ประเทศไทย ได้มีการร่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (Power Development Plan: PDP) และร่างแผนพลังงานอื่น ๆ ขึ้นมาหลายฉบับ แต่แผนเหล่านั้น ล้วนไม่มีฉบับไหนที่พูดถึงการให้ประชาชนมีส่วนร่วมหรือแนวทางในการผลิตไฟฟ้าใช้ด้วยตนเอง มีเพียงการกล่าวถึงแนวทางการเปลี่ยนความมั่นคงทางพลังจากเชื้อเพลิงฟอสซิล สู่สังคมคาร์บอนต่ำ (Net Zero) ตามข้อบรรลุที่ตกลงไว้กับนานาประเทศเท่านั้น เกิดเป็นการตั้งคำถามเรื่องการจัดหาพลังงานว่า “ถ้าราคาค่าไฟฟ้าถูกลง จะเท่ากับการเปลี่ยนผ่านพลังงานที่เป็นธรรมหรือไม่” 

SDG Insights ฉบับนี้ ชวนตั้งคำถามและตอบปัญหาที่สังคมกำลังกังวลถึงสถานการณ์ “ราคาค่าไฟแพง” จึงจะพาผู้อ่านร่วมถกสนทนาปัญหาไปกับ ‘รศ. ดร.ชาลี เจริญลาภนพรัตน์’ สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร (SIIT) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หนึ่งในนักวิชาการสำคัญที่ติดตามและขับเคลื่อนปัญหานโยบายด้านพลังงาน


สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2566 เครือข่ายขับเคลื่อนค่าไฟฟ้าที่เป็นธรรม ออกแถลงการณ์หัวข้อ ‘ค่าไฟต้องแฟร์’ พร้อมจดหมายเปิดผนึก 5 ข้อเสนอ ร่วมกันของภาคเอกชน ประชาสังคม และประชาชน เพื่อสื่อสารข้อเสนอถึงรัฐบาลใหม่ ให้แก้ไขปัญหาค่าไฟฟ้าที่ถูกลง เป็นธรรม เป็นประชาธิปไตย และสร้างความยั่งยืนให้กับสังคมไทย นำมาสู่การตั้งคำถามดังนี้ 

01 – เบื้องหลังกว่าจะมาเป็น 5 ข้อเสนอหลักเกี่ยวกับนโยบายพลังงานถึงรัฐบาลใหม่

เริ่มต้นบทสนทนา เพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจถึงประเด็นการขับเคลื่อน ‘ค่าไฟฟ้า’ ที่เป็นธรรม อยากทราบถึงที่มาที่ไป เบื้องหลังกว่าจะมาเป็น 5 ข้อเสนอหลัก ถึงรัฐบาลใหม่ รศ. ดร.ชาลี กล่าวว่า

แท้จริงแล้วข้อเสนอ 5 ข้อนี้ ได้ถูกกล่าวถึงมาก่อนหน้าในหลายเวที อาทิ เวทีเสวนาค่าไฟแพง หรือ เวทีเสวนาโรงไฟฟ้าล้นเกิน ซึ่งจัดงานแลกเปลี่ยนความเห็นมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงก่อนเลือกตั้ง ที่ผ่านมาเราไม่ได้มองภาพรวมของค่าไฟฟ้าเป็นแบบองค์รวม ตามปกติคนมักมองเรื่องเหล่านี้แยกเป็นเรื่อง ๆ  เช่น ค่า FT แพงให้ลดค่า FT , โรงไฟฟ้าล้นเกิน ทำไมไม่หยุดสร้างเสียที, ทำไมแผนพลังงานอันใหม่ถึงไม่มีเรื่องการลดคาร์บอนไดออกไซด์ เป็นต้น

นำมาสู่การประชุมปรึกษาหารือร่วมกับองค์กรภาคีต่าง ๆ ถึงเรื่อง หน้าต่างแห่งโอกาส (windows of opportunity) ที่จะผลักดันอย่างการ ‘จัดตั้งรัฐบาลใหม่’ ที่กำลังจะมาถึง เพื่อแสดงถึงพลังภาพรวมของสังคมในการขับเคลื่อนเรื่องดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นจากภาคธุรกิจ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม หรือประชาชนทั่วไปที่ร่วมกันแสดงออก เพื่อให้รัฐบาลใหม่เป็นกำแพงยันหลังในการพลังดันเรื่องนโยบายพลังงาน รวมถึงแสดงความต้องการให้เห็นว่ายังมีภาคประชาชนและภาคเอกชนสนับสนุนอยู่เคียงข้างพวกเขาด้วย 

จากข้อเสนอ 5 ข้อหลัก ผ่านการระดมความเห็นและถูกคัดกรองมาแล้วว่า “ทำได้ง่าย ทำได้เลย และทำได้จริง” 

รศ. ดร.ชาลี ระบุว่า ข้อเสนอข้อที่ 1 หยุดลงนามสัญญารับซื้อไฟฟ้า (PPA) จะเห็นได้ว่าประเทศเรามีโรงไฟฟ้าที่ล้นเกินเป็นอย่างมาก ซึ่งที่จริงแล้วเราไม่ควรมีการลงนามซื้อโรงไฟฟ้าใหม่เพิ่มอีก ไม่เช่นนั้นอาจกลายเป็นโรงไฟฟ้าร้างที่มีแต่จะทำให้ค่าไฟแพงขึ้น โดยอาจไม่สร้างประโยชน์ใดเลย จึงถือว่าข้อเสนอการหยุดลงนามสัญญารับซื้อไฟฟ้า เป็นเรื่องที่เราควรให้ความสำคัญเป็นอันดับแรก

ขณะที่ ข้อเสนอที่ 2 คือ เรื่อง เร่งเดินหน้านโยบาย Net-metering หรือ ระบบหักลบหน่วยไฟฟ้า กับพลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานหมุนเวียนอื่น ๆ ซึ่งพยายามส่งเสริมให้ประชาชนสามารถพึ่งพาตนเองด้านพลังงาน ให้มีความสามารถในการผลิตเอง ใช้เอง ลดภาระสายส่ง ท้ายที่สุดแล้วจะส่งผลดีต่อภาพรวมโดยไม่ต้องไปซื้อพลังงานแพง ๆ มาผลิตไฟฟ้า เพราะแหล่งที่มาของพลังงานที่แตกต่างกันทำให้ต้นทุนการผลิตแตกต่างกัน ยิ่งใช้มากยิ่งแพงมาก 

ภาพจาก : Greennews

รศ. ดร.ชาลี ยกตัวอย่างว่า ให้คิดภาพหากแหล่งที่มาการผลิตไฟฟ้า 10% แรกผลิตจากถ่านหิน 30% ต่อมาผลิตจากก๊าซธรรมชาติ ส่วนเปอร์เซ็นต์ที่เหลือต้องไปหาอย่างอื่นมาผลิต ซึ่งคงหนีไม่พ้นน้ำมันดีเซลซึ่งแพงมาก เพราะฉะนั้น การติดตั้งพลังงานแสงอาทิตย์ หรือ โซลาร์เซลล์ (solar cell) จะช่วยให้ภาพรวมพลังงานดีขึ้น เพียงแค่รัฐบาลจำเป็นต้องอนุญาตหรือออกกฎหมายมารองรับการใช้งานอย่างถูกต้อง ซึ่งเราคิดว่าท้ายที่สุดแล้วถ้ามีการอนุญาตให้ติดตั้งได้อย่างถูกต้องเราอาจจะได้เห็นปรากฏการณ์ที่คนแห่กันติดตั้งโซลาร์เซลล์ อาจกลายเป็นการเปลี่ยนผ่านประเทศไปสู่การใช้พลังงานหมุนเวียน โดยไม่ต้องเป็นภาระงบประมาณของรัฐเลยก็ได้ รวมถึงสามารถช่วยให้บรรลุเป้าหมายเรื่องการลดคาร์บอนไดออกไซด์ที่ได้ทำข้อตกลงไว้มีความเป็นไปได้มากขึ้นอีกด้วย


02 – “ค่าไฟถูก ≠ ค่าไฟแฟร์” ความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นต่อผู้บริโภคในปัจจุบัน 

เมื่อทราบถึงที่มาของ 5 ข้อเสนอหลัก แล้วนำมาสู่การตั้งคำถามในการขับเคลื่อนค่าไฟฟ้าที่เป็นธรรมกับประเด็นที่ว่า “ค่าไฟถูก ≠ ค่าไฟแฟร์” ซึ่งเราอยากทราบความไม่เป็นธรรมของค่าไฟที่เกิดขึ้นต่อผู้บริโภค ว่าในปัจจุบันเกิดขึ้นในมิติใดบ้าง?

“เราไม่ได้เรียกร้องเพียงเรื่องค่าไฟถูก แต่เราเรียกร้องไปถึงค่าไฟที่เป็นธรรม”

รศ. ดร.ชาลี อธิบายว่า มิติแรก คือ การปรับปรุงโครงสร้างและราคาของเชื้อเพลิงใหม่  ถ้าของที่ต้นทุนแพง เราก็ยินดีที่จะซื้อแพง แต่การบริหารต้นทุนต้องเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ถ้าเรามองว่าไฟฟ้า 1 หน่วยกว่าจะผลิตขึ้นมาได้ต้องมีเชื้อเพลิง โรงไฟฟ้า สายส่ง แต่ถ้ากล่าวถึงเรื่องเชื้อเพลิง ประเทศไทย มีแหล่งเชื้อเพลิงของตัวเองที่สำคัญ คือ ก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย ซึ่งถ้าหากนำก๊าซนี้ 60-80% มาใช้ผลิตพลังงานไฟฟ้าให้ทั้งประเทศนั้นก็เพียงพอและต้นทุนก็ถูกมาก แต่กลับนำก๊าซไปขายให้บริษัทปิโตรเคมีใช้ผลิตเม็ดพลาสติก ทำให้ก๊าซธรรมชาติที่ขุดได้ไม่เพียงพอต่อการผลิตไฟฟ้าภายในประเทศ เราเข้าใจในแง่ที่ต้องการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ซึ่งมีประเด็นอยู่ว่ามีบริษัทที่ซื้อก๊าซธรรมชาติไปในราคาที่ถูก 

“เปรียบเสมือนเรากำลังขายไม้สักในราคาไม้ซีก แต่เราเองกลับต้องไปซื้อไม้ซีกอย่างก๊าซธรรมชาติเหลว (Liquefied Natural Gas: LNG) จากต่างประเทศในราคาแพงอย่างกับไม้สักเสียเอง” กลายเป็นกลไกที่บิดเบี้ยวสร้างความไม่เป็นธรรมให้แก่ในประเทศ ซึ่งเป็นสิ่งที่ประชาชนควรได้รับผลประโยชน์ร่วมกันทั้งหมด ไม่ใช่กลุ่มทุนใดกลุ่มทุนหนึ่งได้ประโยชน์เพียงกลุ่มเดียว  รศ. ดร.ชาลี กล่าวต่อไปว่า เราต้องปรับโครงสร้างราคาใหม่ให้เหมาะสม ซึ่งปรากฏว่าไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานได้จัดทำหนังสือถึงกระทรวงพลังงาน ให้ปรับเปลี่ยนโครงสร้างราคาพลังงานอย่างที่เราได้กล่าวไป ซึ่งถ้ารัฐมนตรีกระทรวงพลังงานลงนามรับเรื่องนี้ก็จบทันที เราถึงได้บอกว่าข้อเสนอเรามันไม่ใช่เรื่องยาก

มิติที่สอง คือความไม่เป็นธรรมของโรงไฟฟ้า ในการจะสร้างโรงฟ้าแต่ละครั้งสิ่งที่ต้องทำ คือการประมาณการณ์การใช้ไฟฟ้าที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต แล้วนำมาวิเคราะห์ว่าจำเป็นต้องสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มกี่แห่ง ปรากฏว่ามีการฉ้อฉนเกิดขึ้น ซึ่งมีการประมาณการณ์การใช้ไฟฟ้าในอนาคตที่สูงเกินจริง เพราะหากมีการสร้างโรงไฟฟ้า ก็จะต้องเกิดการเงินลงทุน ตั้งแต่กระบวนการยังไม่สร้างด้วยซ้ำ ทั้งค่าสำรวจ ค่าอะไรต่าง ๆ ซึ่งค่าใช้จ่ายที่ใช้สำหรับสร้างโรงไฟฟ้าจะถูกบวกไปกับค่าไฟทันที ‘คนที่ได้กำไร คือผู้ผลิตกระแสไฟฟ้า แต่คนที่ขาดทุน คือประชาชน’

รศ. ดร.ชาลี เสนอว่า เช่นนั้นก่อนที่จะตัดสินใจสร้างโรงไฟฟ้า จึงควรมีการสอบถามประชาชนก่อน จะได้ช่วยตรวจสอบว่ามันควรสร้างหรือไม่ เพราะนั่นคือภาระของประชาชนที่ต้องแบกรับทุกบาททุกสตางค์ที่ต้องลงทุนไป จึงได้เกิดเป็นข้อเสนอที่ 3 เรื่องการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ว่าเมื่อใดที่มีการร่างแผนพัฒนากําลังผลิตไฟฟ้า (PDP) นั้นขอให้ประชาชนรับรู้รับทราบด้วยได้หรือไม่ รับฟังความเห็นเราได้หรือไม่ แล้วนำความเห็นเรากลับไปพิจารณาด้วย ประชาชนไม่ได้อยากดูแผนตอนที่เสร็จแล้วเท่านั้น แต่เราอยากทราบตั้งแต่ก่อนทำแผน ว่าใช้สมมติฐานอะไร ตัวแบบแนวความคิดคืออะไร ที่ผ่านมามีภาคประชาชนเพียงคนเดียวเท่านั้น ที่ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการจัดทำแผน ซึ่งมีบทบาทน้อยมากในการแสดงความคิดเห็น นอกจากนั้น คณะกรรมกรจัดทำแผน ส่วนใหญ่ก็จะเป็นตัวแทนจากภาคเอกชน โรงไฟฟ้าต่าง ๆ ฉะนั้นเรื่องธรรมาภิบาลก็ควรให้ความสำคัญ เพื่อรับรองว่าแผนที่ได้มานั้นมีความโปร่งใส และไม่มีประโยชน์ทับซ้อน


03 – กระบวนการรับฟังความเห็น เปิดโอกาสการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างเป็นรูปธรรม

“ไฟฟ้า” เป็นสาธารณูปโภคพื้นฐาน แต่ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมและเข้าถึงข้อมูลได้อย่างจำกัด – มองว่ากระบวนการรับฟังความเห็นตามข้อเสนอข้อ 3 จะเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมได้ต้องอาศัยปัจจัยใด 

สิ่งที่ต้องทำอันดับแรก คือการตรวจสอบและการเข้าไปมีส่วนร่วมกับกระบวนการร่างแผนพัฒนากําลังผลิตไฟฟ้า (PDP) ตั้งแต่ต้น ถ้าเราปล่อยให้ผู้ที่เขียนแผนพัฒนากําลังผลิตไฟฟ้า ไม่ต้องมีส่วนรับผิดชอบในสิ่งที่ทำผิด ไม่ว่าจะเป็นหากมีการประมาณการณ์ที่ผิดพลาด โดยที่ไม่ต้องถูกลงโทษหรือได้รับผลกระทบจากการทำที่ผิดพลาดต่อสิ่งใดเลย ก็ไม่อาจเกิดความโปร่งใส  ดังนั้น เรื่องที่จะต้องผลักดันจึงต้องเริ่มตั้งแต่การเปลี่ยนโครงสร้างคณะกรรมการจัดทำแผนให้มีความรับผิดชอบ ความโปร่งใส และสร้างช่องทางการมีส่วนร่วมให้เกิดขึ้นจริง 

ขณะที่  ข้อเสนอที่ 4 เรื่องพัฒนาระบบซื้อ-ขายส่งไฟฟ้าที่สร้างการแข่งขันที่เป็นธรรม รศ. ดร.ชาลี ระบุว่า ประเทศไทยไม่ควรมีระบบ “ผู้ซื้อไฟฟ้ารายเดียว (Single Buyer) คือ ไฟฟ้าทุกหน่วยที่ผลิตได้ต้องให้การไฟฟ้าเป็นผู้ซื้อเพียงรายเดียวเท่านั้น แต่อย่างในต่างประเทศ มีการขายไฟให้กับภาคเอกชนเจ้าอื่นได้เพียงแค่จ่ายค่าเชื่อมระบบสายส่ง (wheeling charge) ซึ่งหากดำเนินการเช่นนั้นได้ การซื้อ-ขายไฟฟ้าจะกลายเป็น “ตลาดไฟฟ้าเสรี” ภาคเอกชนจะสามารถขายไฟให้กับภาคเอกชนด้วยกันเองได้ 

สมมติมีโรงงานที่ผลิตสินค้าต้องการส่งออกสินค้าไปประเทศในยุโรป จะต้องโดนกำแพงภาษีจากมาตรการกีดกันทางการค้าจากสินค้าที่มีปริมาณการปล่อยคาร์บอนฟุตพริ้นท์ (carbon footprint) สูง ซึ่งถ้าหากมีตัวเลือกในการซื้อไฟฟ้าจากแหล่งที่ผลิตพลังงานสะอาดได้ ก็จะทำให้เกิดระบบไฟฟ้าสีเขียว (Utility Green Tariff) คือ เป็นไฟฟ้าที่ผลิตมาจากแหล่งที่ไม่ปล่อยคาร์บอน ซึ่งสินค้าก็จะผ่านกำแพงภาษีของต่างประเทศ

รศ. ดร.ชาลี อธิบายเพิ่มเติมว่า ด้วยเหตุนี้เป็นที่มาว่าทุกวันนี้คนไทยทุกคน จึงต้องใช้ค่าปริมาณการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกเฉลี่ย เพราะทุกคนใช้ไฟจากแหล่งที่มาเดียว นั่นหมายความว่า ไฟฟ้า 1 หน่วยของประเทศไทยจะปล่อยคาร์บอนประมาณ 470 กรัม ถ้าหากใช้ไฟฟ้านี้ไปผลิตสินค้า ก็ต้องนำเลข 470 นี้ไปบวกในค่าคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของสินค้าด้วยเสมอ ซึ่งถ้าหากใช้ระบบไฟฟ้าสีเขียวมาผลิต ถึงแม้จะต้องจ่ายค่าสายส่งไฟบ้างเล็กน้อย แต่ก็ช่วยลดราคาที่ต้องจ่ายให้แก่ค่าคาร์บอนฟุตพริ้นท์ที่บวกในราคาสินค้า ทำให้ผู้ผลิตสามารถส่งสินค้าไปขายในต่างประเทศได้ จะเห็นได้ว่าไม่ได้มีแค่ภาคประชาชนเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบ แต่ภาคธุรกิจและภาคเอกชนเองต่างได้รับผลกระทบจากกลไกตลาดผูกขาดนี้ด้วย


04 – #ค่าไฟแฟร์ ตอบโจทย์กระบวนการเปลี่ยนผ่านพลังงานที่เป็นธรรมด้วย 5 ข้อเสนอ   

หากมีการดำเนินการตามข้อเสนอ 5 ข้อ #ค่าไฟแฟร์ จะหน้าตาเป็นอย่างไร และจะทำให้ไทยเข้าสู่กระบวนการที่เรียกว่าเปลี่ยนผ่านพลังงานที่เป็นธรรม หรือไม่ 

สิ่งที่จะเกิดขึ้นแน่นอน ก็คือค่าไฟจะถูกลงทันที หากมีการปรับโครงสร้างก๊าซ ซึ่งเราเคยคำนวณแล้วว่าค่าใช้จ่ายเชื้อเพลิงของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตจะถูกลงถึง 40,000 – 80,000 ล้านบาทขึ้นอยู่กับว่าจะมีการดำเนินการอย่างจริงจังหรือไม่ นั่นหมายความว่าค่าไฟฟ้าทุกบ้านจะราคาถูกลงหน่วยละ 20 – 40 สตางค์ ต่อมาหากยกเลิกการลงนามสัญญารับซื้อไฟฟ้า ต่อรองลดผลประโยชน์ของโรงไฟฟ้าคาดว่าจะทำให้ค่าไฟลดลงไปได้อีก 10 – 20 สตางค์ต่อหน่วย ซึ่งท้ายที่สุดแล้ว อาจทำให้ค่าไฟมีราคาที่ถูกลงกลับมาอยู่ในราคาเดิมที่ 3.70 กว่าบาทต่อหน่วย 


05 – ความท้าทายใน ‘การเปลี่ยนผ่านพลังงาน’ อย่างฉับพลัน

ความท้าทายของ “การเปลี่ยนผ่านพลังงานไม่ว่าจะเป็นพลังงานสะอาดหรือพลังงานหมุนเวียนก็แล้วแต่ ว่าหากค่อย ๆ เปลี่ยนผ่านนั้นไม่ทันแล้ว จำเป็นต้องเปลี่ยนอย่างฉับพลัน” การเปลี่ยนผ่านอย่างฉับพลันสามารถมองเห็นได้ อย่างที่เราคาดว่าอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกในสิ้นปี 2100 ต้องร้อนขึ้นไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส ปรากฏว่าเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเพิ่มขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส เพราะฉะนั้นจำเป็นต้องมีการดำเนินการอย่างเร่งด่วน 

หากมีการเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาด พลังงานหมุนเวียนอย่างรวดเร็ว จะส่งผลกระทบต่อการปรับตัวของภาคธุรกิจ แรงงาน หรือภาคส่วนอื่น ๆ อย่างไร ? 

ในประเด็นนี้ รศ. ดร.ชาลี กล่าวว่า จะมีการเปลี่ยนแปลงให้เราเห็นแน่นอน ถ้ากล่าวถึงการรองรับผู้ที่จะได้รับผลกระทบหรือการเปลี่ยนผ่านพลังงานที่เป็นธรรมนั้น รัฐบาลมีหน้าที่สำคัญ รวมถึงเราทุกคนมีหน้าที่ต้องช่วยกัน คือ การลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับกลุ่มคนที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ 

ยกตัวอย่างเช่น หากมีการเปลี่ยนผ่านจากพลังงานฟอสซิลเป็นพลังงานหมุนเวียน ก็ต้องมีการสร้างทักษะใหม่ (reskill) ให้กับแรงงานในโรงงานอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงจากฟอสซิล จำเป็นต้องสร้างทักษะเกี่ยวกับพลังงานหมุนเวียนหรือทักษะใดก็ตามที่พวกเขาพอจะทำได้เป็นการทดแทน เพื่อให้สามารถเปลี่ยนผ่านระบบการทำงานไปสู่การใช้หุ่นยนต์ (robotic) หรือการลดกำลังคนที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่ง รศ. ดร.ชาลี อธิบายต่อว่า “มันเหมือนกับการตัดสินใจว่า ถ้าเรือจะล่มเราจะมัวกังวลเรื่องอื่นอยู่ไม่ได้ สิ่งที่ต้องทำคือใส่เสื้อชูชีพให้ทุกคนบนเรือ เพื่อเป็นเกาะป้องกันให้รอดไปได้ด้วยกัน” 

อีกหนึ่งกรณีศึกษาที่น่าสนใจของโรงงานผลิต Jewelry ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ได้ตั้งฐานการผลิตอยู่ที่ประเทศไทย ซึ่งบริษัทระบุว่าภายในอีก 2 ปีจะย้ายฐานการผลิต ถ้าหากประเทศไทยยังไม่มีพลังงานสีเขียว (green energy) ให้แก่โรงงาน สินค้าที่ผลิตขึ้นจะไม่สามารถส่งไปขายทั่วโลกได้ ทำให้บริษัทอาจจำเป็นต้องหาฐานการผลิตใหม่ที่มีแหล่งพลังงานสีเขียว นั่นหมายความว่าแรงงานกว่า 40,000 คนจะตกงานทันที ดังนั้นถ้ารัฐบาลและพวกเรามีการเตรียมความพร้อมที่ดีก็จะสามารถรับมือต่อผลกระทบที่จะเกิดขึ้นได้


ท้ายที่สุดหาก 5 ข้อเสนอนี้ไม่ถูกนำมาแก้ไขจะเกิดสิ่งใดขึ้นต่อสังคม


หากเรายังเดินหน้าด้วยนโยบายแบบเดิม ถ้าเดินทางมาถึงวันที่ทั่วโลกตื่นตัวเปลี่ยนแปลงกันหมด แต่ประเทศไทยไม่มีขีดความสามารถในการแข่งขัน ค่าไฟฟ้าแพง ไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ไม่สามารถทำตามสิ่งที่ประเทศได้ทำข้อตกลงกับสังคมโลกไว้ได้ ย่อมส่งผลต่อภาพลักษณ์ของประเทศทั้งด้านอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว หรือการส่งออก จะถูกผลกระทบอย่างมาก ซึ่งรัฐบาลที่ทำให้ได้รับผลกระทบอาจไม่ต้องรับผิดชอบสิ่งที่เกิดขึ้น เพราะพ้นวาระไปแล้ว แต่คนที่ต้องรับผิดชอบก็คือประชาชนที่ต้องแบกรับภาระส่วนนี้ต่อไป 

อย่างไรก็ดีเรื่อง “ค่าไฟแฟร์” เราถือว่าเป็นเพียงจุดเริ่มต้นที่อยากจะเห็นค่าไฟที่เป็นธรรมตามกลไกที่ควรจะเป็น ซึ่งถ้าจะก้าวไปไกลกว่าเรื่องค่าไฟ เราคิดว่า ‘ไฟฟ้า’ ต้องนำไปสู่ความยั่งยืน หมายความว่าการผลิตไฟฟ้าต้องไม่เป็นเรื่องที่สร้างภาระให้กับโลก คนรุ่นต่อไป รวมถึงสิ่งแวดล้อม ซึ่งอาจจะเป็นเรื่องที่คิดไกลไปถึง “ไฟฟ้าสะอาด” ที่เป็นเรื่องที่จะผลักดันต่อไปหากผลักดันค่าไฟแฟร์สำเร็จ 

ดำเนินมาจนถึงบทสนทนาสุดท้ายที่ได้พูดคุยกับ รศ. ดร.ชาลี กับคำถามทิ้งท้ายชวนให้ผู้อ่านได้คิดตามต่อซึ่งนอกจาก 5 ข้อเสนอดังกล่าวอีกประเด็นสำคัญที่ รศ. ดร.ชาลี อยากกล่าวถึงก็คือเรื่อง ‘ธรรมาภิบาล’ เนื่องจากเรื่องของผลประโยชน์ที่ซ้อนทับก็เป็นเรื่องสำคัญ ให้คิดดูว่าเป็นไปได้หรือที่เราจะนำคนในภาคเอกชน ซึ่งเป็นผู้ผลิตไฟฟ้ามาเป็นผู้บริหารที่คอยควบคุมหน่วยงาน ซึ่งเป็นการนำกลุ่มคนที่อยู่ในฝ่ายเดียวกันเช่นนั้นมาบริหาร เขาก็ต้องรักษาผลประโยชน์ของตนเองอยู่แล้ว หรือการที่บุคคลเดียวทำหน้าที่ถึงสองตำแหน่ง ประเด็นนี้จึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างมากเพราะเป็นสิ่งที่สร้างให้เกิดกลไกของธรรมภิบาลที่บิดเบี้ยว 

หรือถ้าจะคิดไกลกว่านั้น เราอยากจะให้มีการปฏิรูปการไฟฟ้าใหม่ มีบทบาทอื่นเพิ่มขึ้น เช่น การทำระบบโครงข่ายไฟฟ้าที่แข็งแรงมากขึ้น เพื่อการสร้างตลาดให้มีความแข็งแรงในการซื้อขายไฟฟ้า ดูแลเรื่องความมั่นคงต่าง ๆ หรือการจัดเก็บค่าเชื่อมต่อระบบโครงข่ายไฟฟ้าได้ก็จะทำให้บทบาทของผู้ปฏิบัติงานมีความโปร่งใส เป็นระบบ ยุติธรรมมากยิ่งขึ้น’


หมุดหมายสำคัญในการเปลี่ยนผ่านพลังงานที่เป็นธรรมไปสู่ความยั่งยืน


ตามการคาดการณ์ของกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change: UNFCCC) ระบุว่า ภายในปี 2040 ค่าการผลิตไฟฟ้าต้องเป็นการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์เสียก่อน ประเทศจึงจะสามารถมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ได้  ภายในปี 2050 กล่าวคือต้องเปลี่ยนแปลงการไฟฟ้าก่อนเป็น 10 ปี ซึ่งประเทศไทยจะเป็นเช่นนั้นได้ หมุดหมายสำคัญคือก่อนที่จะถึงเป้าหมายภายในปี 2040 การผลิตที่ใช้ฟอสซิลต้องลดลงจนหมดไปในที่สุด เพื่อให้ในปี 2040 พลังงานหมุนเวียน (renewable energy) เข้ามาแทนที่ ซึ่งระหว่างทางต้องมีการรักษาเสถียรภาพของระบบ ผ่านการพัฒนา ระบบส่งและระบบจำหน่ายไฟฟ้าให้มีความทันสมัย เพื่อรองรับการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่เพิ่มสูงขึ้น ดังนั้น การพัฒนาตลาดให้ไปสู่การเกิดการลงทุนและการเปลี่ยนผ่าน การทำระบบหักลบหน่วยไฟฟ้ากับพลังงานหมุนเวียน เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมโดยไม่เป็นภาระของโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่เพียงอย่างเดียว ซึ่งถ้าทุกอย่างเป็นไปตามเป้าจะนำไปสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ของการไฟฟ้า ซึ่งสิ่งนี้เองจะเป็นกลไกหลักทำให้เกิดความยั่งยืนและขับเคลื่อนไปสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี 2050 ของประเทศไทย

อย่างไรก็ดี ความยั่งยืนนี้อาจเป็นความยั่งยืนในมิติเดียวของเรื่องพลังงาน รศ. ดร.ชาลี เล็งเห็นว่า ความยั่งยืนยังมีอีกหลายมิติที่เราต้องช่วยกันขับเคลื่อน ทั้งการทำให้ทุกคนอยู่ได้ในโลกที่ผ่านการขับเคลื่อนแล้ว ต้องมีงานทำอย่างภาคภูมิ จากงานวิจัยที่ผ่านมาก็ได้สะท้อนให้เห็นว่าการเปลี่ยนผ่านพลังงานนั้นนำไปสู่สิ่งที่ดีกว่า เช่นระหว่างโรงงานผลิตพลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิลกับโรงงานผลิตพลังงานสะอาดที่มีกำลังการผลิตเท่ากัน แต่พบว่าความต้องการใช้แรงงานแตกต่างกันถึง 4 เท่า หมายความว่ายิ่งเปลี่ยนผ่านเรายิ่งต้องการแรงงานมากขึ้น ซึ่งไม่ได้เป็นเรื่องที่น่ากลัวว่าจะทำให้แรงงานลดลงเลย 

ฉะนั้นแล้ว การเปลี่ยนแปลงย่อมนำมาซึ่งผลลัพธ์ที่ดีกว่าการแก้ไขปัญหาในแบบเดิม ๆ ที่ยิ่งทำแล้วยิ่งอาจลงเหวและไม่นำพามาซึ่งความยั่งยืนใดเลย

แพรวพรรณ ศิริเลิศ – สัมภาษณ์และเรียบเรียง
พิมพ์นารา อินต๊ะประเสริฐ – บรรณาธิการ
วิจย์ณี เสนแดง  –  ภาพประกอบ


● อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
มาตรฐานใหม่ของภาคการไฟฟ้า ให้ SDG Roadmap for Electric Utilities นำทางสู่อนาคตของพลังงานสมัยใหม่ที่ราคาถูก มีคุณภาพ และยั่งยืน 
การลงทุนในพลังงานสะอาดจะช่วยสร้างงานสีเขียวสูงถึง 10 ล้านตำแหน่งทั่วโลก
ผู้เชี่ยวชาญทั่วโลกร่วมประชุมเตรียมพร้อมเพื่อทบทวนครึ่งเทอมแรกของการขับเคลื่อน SDG7 เน้นย้ำความสำคัญของการทำครัวโดยใช้พลังงานสะอาด
“Tracking SDG 7 ประจำปี 2565” ระบุ 773 ล้านคนทั่วโลกยังเข้าไม่ถึงไฟฟ้า และการศึกษาที่มีคุณภาพต้องอาศัยความเท่าเทียมด้านพลังงาน 
SDG Insights | ต่อจิ๊กซอว์การเปลี่ยนผ่านพลังงานอย่างเป็นธรรมของไทย ไปกับภาคประชาสังคม (EP. 11) 
SDG Updates | บทสรุปและข้อเสนอแนะ: เปลี่ยนผ่านอย่างไรให้เป็นธรรม? (EP. 18) 

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG7 พลังงานสะอาดที่เข้าถึงได้
– (7.1) สร้างหลักประกันว่ามีการเข้าถึงการบริการพลังงานสมัยใหม่ที่เชื่อถือได้ ในราคาที่สามารถซื้อหาได้ ภายในปี 2573
– (7.2) เพิ่มสัดส่วนของพลังงานทดแทนในการผสมผสานการใช้พลังงานของโลก ภายในปี 2573
– (7.3) เพิ่มอัตราการปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังานของโลกให้เพิ่มขึ้น 2 เท่า ภายในปี 2573
– (7.a) ยกระดับความร่วมมือระหว่างประเทศในการอำนวยความสะดวกในการเข้าถึงการวิจัย และเทคโนโลยีพลังงานที่สะอาด โดยรวมถึงพลังงานทดแทน ประสิทธิภาพการใช้พลังงาน และเทคโนโลยีเชื้อเพลิงฟอสซิลชั้นสูงและสะอาด และสนับสนุนการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานและเทคโนโลยีพลังงานที่สะอาด ภายในปี 2573
#SDG9 โครงสร้างพื้นฐาน นวัตกรรม และอุตสาหกรรม
– (9.4) ยกระดับโครงสร้างพื้นฐานและปรับปรุงอุตสาหกรรมเพื่อให้เกิดความยั่งยืน โดยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรและการใช้เทคโนโลยีและกระบวนการทางอุตสาหกรรมที่สะอาดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยทุกประเทศดำเนินการตามขีดความสามารถของแต่ละประเทศ ภายในปี 2573
#SDG13 การรับมือกับการเปลี่ยนเเปลงสภาพภูมิอากาศ
– (13.2) บูรณาการมาตรการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในนโยบาย ยุทธศาสตร์ และการวางแผนระดับชาติ
– (13.3) พัฒนาการศึกษา การสร้างความตระหนักรู้ และขีดความสามารถของมนุษย์และของสถาบันในเรื่องการลดปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การปรับตัว การลดผลกระทบ การเตือนภัยล่วงหน้า
#SDG16 สังคมสงบสุข ยุติธรรม สถาบันที่เข้มแข็ง
– (16.6) พัฒนาสถาบันที่มีประสิทธิผล มีความรับผิดชอบ และโปร่งใสในทุกระดับ
– (16.7) สร้างหลักประกันว่าจะมีกระบวนการตัดสินใจที่มีความรับผิดชอบ ครอบคลุม มีส่วนร่วม และมีความเป็นตัวแทนที่ดี ในทุกระดับการตัดสินใจ
#SDG17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
– (17.9) เพิ่มพูนการสนับสนุนระหว่างประเทศสำหรับการดำเนินการด้านการเสริมสร้างขีดความสามารถที่มีประสิทธิผลและมีการตั้งเป้าในประเทศกำลังพัฒนาเพื่อสนับสนุนแผนระดับชาติที่จะดำเนินงานในทุกเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน รวมถึงผ่านทางความร่วมมือแบบเหนือ-ใต้ ใต้-ใต้ และไตรภาคี
– (17.14) ยกระดับความสอดคล้องเชิงนโยบายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
– (17.16) ยกระดับหุ้นส่วนความร่วมมือระดับโลกเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยร่วมเติมเต็มหุ้นส่วนความร่วมมือจากภาคส่วนที่หลากหลายซึ่งจะระดมและแบ่งปันความรู้ ความเชี่ยวชาญ เทคโนโลยี และทรัพยากรด้านการเงิน เพื่อจะสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในทุกประเทศ โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา
– (17.17) สนับสนุนและส่งเสริมหุ้นส่วนความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาครัฐ-ภาคเอกชน และประชาสังคม สร้างบนประสบการณ์และกลยุทธ์ด้านทรัพยากรของหุ้นส่วน

ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ภายใต้โครงการเร่งรัดการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านสุขภาพของประเทศไทย

Last Updated on สิงหาคม 28, 2023

Authors

  • Praewpan Sirilurt

    Knowledge Communication | มนุษย์ผู้เชื่อว่า “การสื่อสารสามารถเชื่อมต่อความรู้สึกของกันและกันได้” ไม่ว่าจะเป็นใคร อยู่ที่ไหน หรือเผชิญกับอะไรอยู่ การสื่อสารจะช่วยบอกเล่าเรื่องราวส่งไปให้แก่ผู้อื่นได้รับรู้

  • Wijanee Sendang [Graphic designer]

    นักออกแบบนิเทศศิลป์

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น